ThaiPublica > คอลัมน์ > ความสามารถในการคาดการณ์อนาคตเเละการตัดสินใจในการรับทุนการศึกษาผูกมัดของเด็ก

ความสามารถในการคาดการณ์อนาคตเเละการตัดสินใจในการรับทุนการศึกษาผูกมัดของเด็ก

23 ตุลาคม 2016


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

คุณคิดว่าคุณเก่งในการคาดการณ์ความต้องการของคุณในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความต้องการในการกิน (“พรุ่งนี้จะกินอะไรดี”) หรือความต้องการในการดู (“พรุ่งนี้จะดูหนังอะไรดี”) เเค่ไหนครับ

เเล้วการคาดการณ์ความต้องการของคุณในเรื่องการทำงานปีหน้าล่ะ คุณคิดว่าคุณจะยังชอบงานที่ตัวเองทำอยู่ในอีก 365 วันข้างหน้าไหม เเล้วอีกห้าปีข้างหน้าล่ะ เเล้วถ้ามันเป็นสิบปีล่ะ

สำหรับคนส่วนใหญ่เเล้ว การคาดการณ์ความต้องการของตัวเองในอนาคตนี้ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยใช่ไหมครับ เเค่เรื่องว่าจะเลือกกินอะไรวันพรุ่งนี้ยังยากสำหรับเราหลายๆ คนเลย

เเล้วคุณว่าการที่เราให้เด็กอายุ 17-18 ปี ต้องรีบตัดสินใจเดี๋ยวนี้ว่าจะรับทุนหรือไม่รับทุนเพื่อไปเรียนต่อเมืองนอกโดยเเลกกันกับการต้องกลับมาทำงานชดใช้ทุนเป็นเวลาถึง 10-20 ปีนั้น เป็นการให้โอกาสในการตัดสินใจที่เเฟร์ๆ กับเด็กเขาไหมครับ

ความสุขของหมอฟัน

ผมเคยเล่าเรื่องความสุขของหมอฟันในหนังสือของผม (The Happiness Equation) ไว้ว่า มีนักเศรษฐศาสตร์สองคนชื่อว่า John Bennett เเละ Chuck Blackoby ไปงานวิชาการกัน ตอนที่มีพักบ่ายอยู่นั้นเขาทั้งสองก็ไปหาเบียร์กินในบาร์ของโรงเเรมที่จัดงานวิชาการกัน เขาทั้งสองได้พบเเละทำการพูดคุยกับคุณหมอฟันคนหนึ่งที่มางานของเขาที่โรงเเรมเดียวกัน

ตัว Chuck Blackoby ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ทฤษฏีที่จ๋ามาก (พูดง่ายๆ ก็คือเขาเชื่อปักใจว่าคนเราทุกคนใช้เหตุเเละผลอันสมควรในการตัดสินใจในเรื่องทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ซึ่งก็หมายความว่าคนเราทุกคนไม่มีทางตัดสินใจที่ผิดกับตัวเราเองเเน่ๆ ถ้าในการตัดสินใจของเรานั้นเรามีข้อมูลที่เกี่ยวกับการตัดสินใจทุกอย่างครบถ้วน) ก็ถามหมอฟันคนนี้ว่า

“คุณมีความสุขไหมกับการเป็นหมอฟันเนี่ย”
หมอฟันคนนี้ก็ตอบกลับมาว่า
“I’m very miserable as a dentist”
ไม่มีเลย ผมไม่มีความสุขกับการเป็นหมอฟันเลย
เมื่อได้ยินดังนั้น Chuck ก็ถามต่อไปว่า
“อ้าว ถ้าคุณไม่มีความสุขกับการเป็นหมอฟัน เเล้วคุณเลือกมาเป็นหมอฟันทำไม”
หมอฟันคนนี้ก็กระตุกเบียร์เขาขึ้นมาดื่มก่อนที่จะตอบ Chuck กลับไปว่า
“I didn’t choose to become a dentist.
ผมไม่ได้เลือกที่จะมาเป็นหมอฟัน
That stupid kid 18 years ago chose to become a dentist. Not me!”
ไอ้เด็กโง่เมื่อสิบเเปดปีที่เเล้วต่างหากล่ะที่เลือกจะเป็นหมอฟัน ไม่ใช่ผม!

ความกตัญญูรู้คุณของเด็กทุน

ผมเเน่ใจว่า 100% (หรือถ้าไม่ใช่ 100% ก็ 99.99%) ของเด็กที่รับทุนผูกมัดมาเรียนเมืองนอกทุกๆ คนเป็นคนที่มีความกตัญญูรู้คุณต่อคนที่ให้ทุนตัวเองมาเรียนด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะเด็กที่รับทุนตรี โท เอก มาเรียน เพราะถ้าไม่กตัญญูรู้คุณ เขาก็คงไม่ได้ถูกคัดเลือกเพื่อให้มาเรียนตั้งเเต่ตอนต้นเเล้ว เเละถ้าไม่กตัญญูรู้คุณ เด็กเกือบทั้งหมดก็คงจะหาวิถีทางหนีทุน หรือใช้ทุนเป็นเงินที่ติดอยู่มหาศาลเท่าที่จะทำได้เกือบทั้งหมดทุกคนไปเเล้ว

เเต่สิ่งที่ผมกำลังอยากจะสื่อดังต่อไปนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกันกับความกตัญญูรู้คุณของคนเลย เเต่เกี่ยวกับ bias (อคติ) ที่คนเรามีในการตัดสินใจให้กับตัวเองในอนาคตต่างหาก

ข้อสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะสื่อก็คือ มันมีโอกาสน้อยนักนะครับที่ตัวเราเองในวันนี้เเละตัวเราเองในอีก 20 ปีข้างหน้านั้นจะยังเป็นตัวคนเดียวกันอยู่ (ทั้งๆ ที่เรามักจะคิดว่าตัวเรา ซึ่งรวมไปถึงความชอบของเราด้วย จะไม่เปลี่ยนไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหนก็ตาม)

อีกสิ่งที่ผมอยากจะสื่อเป็นอย่างที่สองก็คือ ความสามารถในการคาดการณ์ว่าตัวเราจะชอบอะไรในอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ยากมากๆ ที่ยากก็เป็นเพราะว่าเรามักจะคิดว่าสิ่งที่เราชอบในอนาคตจะเหมือนๆ กันกับสิ่งที่เรากำลังชอบในขณะนี้ (อันนี้เราเรียกกันว่า present bias ถ้าจะให้อธิบายอีกเเง่ก็คือเวลาที่เรากำลังอิ่มอยู่เเล้วเราต้องออกไปหาซื้อของเพื่อกลับมาทำกินพรุ่งนี้ เรามักจะซื้อของน้อยกว่าที่จำเป็น ถึงเเม้ว่าความอิ่มของเราในขณะนี้จะไม่มีทางอยู่กับเราไปจนถึงวันพรุ่งนี้ได้)

การที่ให้เด็กต้องตัดสินใจรับทุนผูกมัดก็เหมือนๆ กันนะครับ ความต้องการของเด็กในขณะนั้นก็คือ การรับทุนมันดูเท่จัง ได้ไปเรียนเมืองนอกด้วย ดีจะตาย ซึ่งก็อาจจะไม่เหมือนกันกับความต้องการของเขาตอนที่เขากำลังใกล้จะเรียนจบก็ได้ (อันนี้ผมพูดตามประสบการณ์ในการได้พูดคุยกับเด็กนักเรียนทุนที่ใกล้จะเรียนจบหลายๆ คนที่อังกฤษนะครับ เพราะสิ่งที่ผมได้รับจากการฟังก็คือพวกเขาเเละเธอเกือบทุกคนรู้ซึ้งถึงโอกาสที่พวกเขาเเละเธอได้รับมากันทั้งนั้น เเต่ถ้าถามพวกเขาเเละเธอว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะยังรับทุนเหมือนเดิมมากันหรือเปล่า เกินครึ่งของคนที่ผมได้มีโอกาสพูดด้วยตอบผมเเบบลับๆ ว่า คงจะไม่ ถ้าต้องเเลกกันกับการต้องกลับไปรับใช้ทุนเป็นสิบๆ ปีโดยที่จะไม่ได้นำเอาความรู้ที่ตัวเองรำ่เรียนมาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่เลย)

ผมไม่ได้บอกว่าเราควรที่จะยกเลิกการให้ทุนเด็กมาเรียนต่อนะครับ ผมเเค่อยากจะบอกว่า เราควรที่จะรับรู้เกี่ยวกับ bias พวกนี้เเละย้ำให้กับเด็กที่กำลังตัดสินใจว่าจะรับทุนหรือไม่รับดีรุ่นต่อๆ ไปให้รู้ถึง bias ตัวนี้ด้วย ให้เขารู้ว่าการตัดสินใจที่เขากำลังจะทำนี้เป็นการตัดสินใจที่สำคัญมากๆ กับชีวิตของเขา เเละเขาไม่ควรที่จะให้ความต้องการของเขาในขณะนี้มาบังตาความต้องการของเขาที่เขาจะมีในอนาคต

เเละเราก็ต้องคิดอีกในเรื่องการรองรับคนที่ตัดสินใจไปเเล้วเเละกำลังจะกลับมาว่า เรามีระบบที่รองรับความสามารถเเละความต้องการของบุคคลคุณภาพเหล่านี้มากน้อยขนาดไหน เพราะเงินที่ประชากรเสียภาษีให้บุคคลเหล่านี้ไปเรียนนั้นมากมายมหาศาลเหลือเกิน เเต่ถ้าเราไม่ทำให้เขากลับมาเพราะเขาอยากที่จะกลับมา ไม่ใช่เพราะเเค่ติดทุนเเละเพราะความกตัญญูรู้คุณที่เขามีจึงต้องกลับมานั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับการเอาเงินประชาชนมากมายไปตำน้ำพริกละลายเเม่น้ำดีๆ นั่นเอง