ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk
“นิยามของความสุขคืออะไร” เป็นคำถามที่ผมถูกถามอยู่บ่อยๆ เป็นอันดับรองจากคำถามที่ว่าวันนี้เรากินอะไรกันดี (ซึ่งเป็นคำถามที่ภรรยาของผมถามผมบ่อยที่สุด)
ถ้าต้องตอบตรงนี้คงต้องใช้เวลานานมาก เอาเป็นว่านิยามความสุขสามารถเเบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ นะครับ
อย่างเเรกก็คือ ความพึงพอใจ (satisfaction) ไม่ว่าจะเป็นความพึงพอใจในชีวิต หรือกับงาน กับชีวิตเเต่งงาน เป็นต้น ความพึงพอใจตัวนี้มีความสัมพันธ์หลักๆ กับเป้าหมายในชีวิตที่เรามีบวกลบกับความเป็นจริงที่เราเจอ ถ้าเราคาดหวังอะไรไว้มากๆ เเล้วไม่ได้ตามที่เราหวังเอาไว้ ความพึงพอใจของเราก็จะลดน้อยลงกว่าเดิม ความพึงพอใจตัวนี้มีตัวเเปรเป็นอดีต ปัจจุบัน เเละอนาคต
อย่างที่สองก็คือ ประสบการณ์ที่เป็นอารมณ์ของเราในเเต่ละวัน ตัวนี้เป็นปัจจัยส่งผลซึ่งมีได้ทั้งอารมณ์ที่ดี () และไม่ดี (negative emotional experiences) สามารถปรับตัวขึ้นลงได้ตามเวลา ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังใช้เวลาทำอะไรอยู่ในขณะนั้น อารมณ์ตัวนี้มีตัวเเปรที่ไม่ค่อยเกี่ยวกันกับความคาดหวังหรือเเม้เเต่สถานะต่างๆ นานา ของเรา (พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่ต้องตกจากรวยมาจนก็สามารถที่จะมี positive emotional experiences เท่าๆ กันกับคนที่รวยล้นฟ้าได้)
เเละตัวที่สามก็คือ ความหมายของชีวิต (meaningfulness) ความหมายของชีวิตตัวนี้ก็คือการที่เรารู้สึกว่าเรากำลังใช้ชีวิตของเราอย่างมีคุณค่าหรือเปล่า เรามักจะพบว่าในหลายๆ กิจกรรมที่เราใช้เวลาทำกับมันไม่ค่อยให้ผลสุทธิประสบการณ์ของอารมณ์ (net affects) ที่เป็นด้านบวกสักเท่าไหร่ (ยกตัวอย่างคือ เวลาที่เราใช้ในการเลี้ยงลูกประจำวัน เป็นต้น) เเต่กลับมีผลลัพธ์ที่ค่อนข้างดีต่อความรู้สึกที่ว่าชีวิตเรานี้มีความหมายจริงๆ
ระหว่างสามนิยามของความสุขนี้ คนเรา “อยาก” มีความสุขเเบบไหนมากที่สุด
ด้วยเหตุผลที่ว่าตัวเเปรหลายๆ ตัวของนิยามความสุขทั้งสามนั้นไม่เหมือนกันเสียทีเดียว (ยกตัวอย่างเช่น เงินซื้อความพึงพอใจในชีวิตได้ เเต่กลับไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพในการเพิ่มจำนวนของอารมณ์ที่ดีในเเต่ละวันของเราได้ เเละถึงเเม้ว่าการมีลูกจะไม่มีประสิทธิผลต่อความพึงพอใจในชีวิตของเรามากนัก เเต่การมีลูกทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเรามีความหมายขึ้นเยอะมากกว่าเเต่ก่อน) คำถามที่สำคัญสำหรับคนเราทุกคนที่พยายามขวนขวายหาความสุขที่สมดุลในเเต่ละเเบบก็คือ “เราควรให้น้ำหนักกับนิยามความสุขเเบบไหนมากกว่ากัน”
จากผลการวิจัยของ Andrew Oswald ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Warwick และ Gus O’Donnell ในประเทศอังกฤษพบว่า คนเราส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ ให้น้ำหนักกับความพึงพอใจในชีวิตมากที่สุด รองลงมาก็คือความหมายของชีวิต เเละตามด้วยความมีอารมณ์ที่ดีในเเต่ละวัน
เเต่ในความเป็นจริง ในสังคมปัจจุบันของเรา เราอาจจะไม่ค่อยให้ความหมายกับความสุขที่เป็น meaningfulness มากนักเท่าไหร่ (ซึ่งก็อาจจะขัดกับน้ำหนักของนิยามความสุขที่ Andrew Oswald และ Gus O’Donnell เจอในงานวิจัยของเรา) ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายเพราะความสุขที่เป็น meaningfulness เป็นความสุขที่มี virtue หรือคุณธรรมที่สุด
เเล้วคุณล่ะ วันนี้คุณจะกินอะไรดี
อ่านเพิ่มเติม
O’Donnell, G. and Oswald, A.J., 2015. National well-being policy and a weighted approach to human feelings. Ecological Economics, 120, pp.59-70.