ThaiPublica > คอลัมน์ > ว่าด้วยความเขลาของมนุษย์เเละธุรกิจการทำนายอนาคต: a behavioral economist’s guide to the folly of predictions

ว่าด้วยความเขลาของมนุษย์เเละธุรกิจการทำนายอนาคต: a behavioral economist’s guide to the folly of predictions

29 เมษายน 2016


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

คุณผู้อ่านชอบดูดวงไหมครับ แล้วชอบฟังไหมครับเวลาที่มี “ผู้เชี่ยวชาญ” มาคอมเมนต์ถึงเรื่องการเมืองว่า ถ้าบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ต่อไปอนาคตจะออกมาเป็นยังไง แล้วการทำนายราคาหุ้นในอนาคตล่ะครับ คุณผู้อ่านอยากรู้ไหมครับว่าราคาของหุ้นตัวไหนจะขึ้นหรือตัวไหนจะลง

วันนี้ผมอยากจะถือโอกาสมาเขียนข้อแนะนำ หรือ guideline ที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ นานาของการทำนายอนาคต รวมไปจนถึงธุรกิจของการทำนายอนาคต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหมอดู ธุรกิจของนักวิจารณ์ทางด้านการเมือง ธุรกิจของผู้จัดการกองทุนรวมทั้งหลายแหล่ ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาให้คุณผู้อ่านลองอ่านกันดูนะครับ เริ่มด้วยข้อเท็จจริงข้อที่ 1 กันก่อน นั่นก็คือ

ข้อเท็จจริงข้อที่ 1: มนุษย์เราต่างก็ล้วนอยากรู้อนาคตของเรากันทั้งนั้น

เราจะสามารถพบเห็นกันได้ทั่วไปนะครับว่าคนเราส่วนใหญ่ รวมทั้งสื่อด้วย มักยอมที่จะจ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้กับหมอดูเพื่อให้หมอดูทำนายอนาคตของเรา ยกตัวอย่างนะครับ จากการวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่าปี 2550 นั้น คนกรุงเทพฯ จ่ายเงินดูหมอรวมกันประมาณ 2,500 ล้านบาทด้วยกัน แถมสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินมหาศาลให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเมืองทั้งหลายมาพูดออกสื่อให้เราฟังกันว่าอนาคตการเมืองของประเทศจะออกมามีหน้าตาเป็นยังไง และไม่ใช่แค่นั้น คนเราส่วนใหญ่ต่างก็ยอมที่จะจ่ายเงินให้กับผู้จัดการกองทุนรวม (mutual fund managers) เพื่อให้เขาดูแลอนาคตราคาของหุ้นที่เราถือเอาไว้โดยการซื้อขายหุ้นที่เขาคิดว่าจะส่งผลดีให้กับเราได้ในอนาคต

พูดง่ายๆ ก็คือ demand หรือความต้องการของมนุษย์ที่มีต่อผลการทำนายอนาคตนั้นมีค่าที่สูงมาก

และถ้า demand เยอะถึงขนาดนี้ แล้ว supply ของคำทำนายที่ดีล่ะ

ข้อเท็จจริงข้อที่ 2: มนุษย์เรามีความสามารถในการทำนายอนาคตที่แย่ถึงแย่มาก

จากงานวิจัยของฟิลลิป เทตลอก (Phillip Tetlock) ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาจากมหาลัยเพนซิลวาเนีย พบว่าคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” นั้นส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มีความสามารถในการทำนายอนาคตในเรื่องที่ตัวเองเชี่ยวชาญมากน้อยไปกว่าคนธรรมดาๆ คนหนึ่งทั่วไป

และจากงานวิจัยทางด้านไฟแนนซ์ของยูจีน ฟามา (Eugene Fama) นักเศรษฐศาสตร์ที่เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และอีกหลายๆ คนพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วนั้น ผลลัพธ์ หรือ return ของหุ้นที่มีผู้จัดการกองทุนรวมที่ค่อนข้าง active เป็นผู้ดูแล (นั่นก็คือ trade เกือบทุกวัน) ไม่ได้ดีไปกว่าผลลัพธ์ของหุ้นที่ไม่แทบไม่เคยถูกซื้อขายเลย พูดง่ายๆ คือไม่มีหลักฐานที่จะสามารถบอกกับเราได้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนเรามีความสามารถในการทำนายอนาคตราคาของหุ้นได้

แถมแดเนียล คาห์นีแมน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ยังเคยเขียนเอาไว้ในหนังสือ Thinking, Fast and Slow ของเขาว่า “Intuition cannot be trusted in the absence of stable regularities in the environment” หรือแปลเป็นภาษาไทยในบริบทที่เขาอยากจะสื่อก็คือ “เราไม่ควรเชื่อคำทำนายของอนาคตถ้าอนาคตที่เราอยากจะทำนายนั้นเกิดขึ้นมาจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีความคงที่หรือความสม่ำเสมอเป็นหลัก”

พอมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านหลายท่านอาจจะกำลังคิดว่า “แต่แดเนียล คาห์นีแมน ไม่ใช่คนไทยนี่ แล้วเขาจะมารู้ความสามารถในการทำนายอนาคตของหมอดูเก่งๆ ของไทยเราได้ยังไงกัน”

ก็มีส่วนที่ถูกนะครับ แต่ถ้าพูดกันเชิงสถิติและทฤษฏีเศรษฐศาสตร์แล้วล่ะก็ ที่ไหนที่มี demand สูงแล้วมี supply ไม่เยอะเท่ากับ demand นั้น ที่นั่นสามารถก่อให้เกิด fake supply (หรือพูดง่ายๆ ก็คือสินค้าปลอม) ขึ้นมาได้ ซึ่งทั้งนี้หมายความว่า โอกาสที่เราจะเจอคนที่ไม่มีความสามารถในการทำนายอนาคตมักจะสูงกว่าโอกาสที่เราจะเจอกับคนที่มีความสามารถในการทำนายอนาคตได้จริงๆ

แต่ผมก็เห็นด้วยว่ามันก็อาจจะมีคน (ส่วนน้อย) ที่มีความสามารถในการทำนายอนาคตของเรา หรือของหุ้น หรือของประเทศชาติได้จริงๆ ก็ได้ ปัญหาก็คือเราจะสามารถแยกแยะ real supply ออกจาก fake supply ที่มีอยู่เกลื่อนตลาดยังไงกันดี

ข้อเท็จจริงข้อที่ 3: คนที่ไม่เก่งในการทำนายจริงๆ มักจะใช้คำศัพท์ที่ฟังดูกำกวมในการทำนาย

เรามักจะเห็นกันอยู่เป็นประจำว่า คนที่เป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่เราพบเห็นส่วนใหญ่นั้นมักจะใช้คำศัพท์ที่ฟังดูกำกวมในการทำนาย ยกตัวอย่างเช่น การใช้คำว่า “อาจทำให้” “อาจส่งผล” “เพราะดวงเป็นอย่างนี้ อนาคตน่าจะเป็นอย่างนี้” เป็นต้น เหตุผลที่คนที่ไม่มีความสามารถในการทำนายอนาคตได้จริงส่วนใหญ่ใช้คำศัพท์เหล่านี้นั้นก็เป็นเพราะว่า ไม่ว่าเขาจะทำนายอะไรออกมา โอกาสที่เขาจะทำนายผิดในสายตาของผู้ที่ถูกทำนายนั้นน้อยมาก นั่นก็เป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้จริงๆ ว่าคำว่า “อาจทำให้” นั้นหมายความถึงกี่เปอร์เซ็นต์กัน

90%? 82%? 50%? 37%? หรือน้อยกว่านั้นอีก คนเราไม่สามารถรู้คำตอบจากคำศัพท์ที่ใช้นี้ได้นะครับ เพราะคำว่า “อาจทำให้” สามารถที่จะสื่อออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์อะไรก็ได้ที่มีค่ามากกว่าศูนย์เปอร์เซ็นต์ (ลองคิดดูกันนะครับว่าขนาดความน่าจะเป็นที่จะมีอุกกาบาตขนาดยักษ์พุ่งมาชนโลกของเราในอีกสามสิบวันข้างหน้ายังมีค่ามากกว่าศูนย์เปอร์เซ็นต์เลย)

และถึงแม้ว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” เหล่านี้จะทำนายผิด การใช้คำศัพท์ที่ฟังดูกำกวมเหล่านี้ทำให้พวกเขาแก้ตัวในการทำนายผิดได้ง่ายๆ โดยการอธิบายว่า “ถึงแม้ว่าผมจะทำนายอนาคตคุณ/หุ้น/ประเทศชาติผิด แต่ผมก็ผิดไปแค่นิดเดียวนะครับ” นั่นก็เป็นเพราะว่าเราไม่มีตัวเลขที่เป็นเปอร์เซ็นต์ของการเป็นไปได้จากการทำนายของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มาเป็นตัววัดว่าจริงๆ แล้วเขาผิดน้อยหรือผิดมากกันแน่

แต่พอมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านอาจจะกำลังสงสัยว่า แล้วพวกคนที่ใช้คำว่า “ฟันธง” หรือ “คอนเฟิร์ม” ที่สื่อถึงว่าคำทำนายของพวกเขามีโอกาสที่จะถูกต้องถึง 100% ล่ะ พวกนี้เขากล้าพูดขนาดนั้นได้ยังไงกัน แล้วถ้าเขาทายผิดล่ะ เขาไม่เสียเหรอ

ไม่เสียครับ เพราะว่าเรามีข้อเท็จจริงข้อที่ 4 นี้อยู่

ที่มาภาพ : http://whatismyfuture.net/wp-content/uploads/2015/10/crystal-ball-future-predictions-600x400.jpg
ที่มาภาพ : http://whatismyfuture.net/wp-content/uploads/2015/10/crystal-ball-future-predictions-600×400.jpg

ข้อเท็จจริงข้อที่ 4: แทบไม่เคยมีใครเก็บประวัติการทำนายผิดพลาดของ “ผู้เชี่ยวชาญ” เหล่านี้เอาไว้เลย

นอกจากการใช้คำพูดที่ฟังดูกำกวมของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ส่วนใหญ่แล้วนั้น พวกเขาเหล่านี้ก็แทบจะไม่เคยถูกใครคนไหนนำเอาประวัติความผิดพลาดของการทำนายในอดีตชมาพิสูจน์ให้คนส่วนใหญ่เห็นกันว่าเขาเก่งจริงหรือไม่เก่งจริง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีแรงจูงใจ (incentive) ที่อยากจะนำเอาการทำนายผิดพลาดของพวกเขาเหล่านี้มาแฉให้กับคนส่วนใหญ่ได้รู้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ “ผู้เชี่ยวชาญ” เหล่านี้ทำนายอนาคตถูกล่ะก็ พวกเขาก็มักจะอดไม่ได้ที่จะหยิบเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้นมาพูดให้คนส่วนใหญ่ฟังอยู่ตลอดเวลา และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนเราส่วนใหญ่ได้ยินแต่ความสำเร็จ แต่ในทางกลับกัน กลับแทบไม่เคยได้ยินถึงความผิดพลาดในการทำนายอนาคตของ “ผู้เชี่ยวชาญ” เหล่านี้เลย

ข้อเท็จจริงข้อที่ 5: “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่เราเห็นออกสื่อบ่อยๆ มักจะมีความสามารถในการทำนายอนาคตน้อยกว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ไม่ออกสื่อ

คุณผู้อ่านทราบไหมครับว่า แรงจูงใจที่สูงเกือบที่สุดในการทำงานของสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์นั้นไม่ใช่ความต้องการที่อยากจะให้ความรู้ที่แท้จริงกับประชาชน แต่เป็นการให้ความบันเทิงกับประชาชนต่างหาก (นั่นก็เป็นเพราะว่าความบันเทิงขายสิ่งที่สื่อเหล่านี้อยากจะขายได้ดีกว่าความรู้ที่แท้จริงที่ฟังแล้วไม่ค่อยจะบันเทิงเสียเท่าไหร่)

และด้วยเหตุผลนี้นี่เอง “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่มักจะถูกสื่อเชิญไปออกบ่อยๆ มักจะมีลักษณะที่คล้ายกันดังนี้

  • มีประวัติว่าเคยทำนายสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้หรือสิ่งที่ไม่มีใครเคยคาดเดามาก่อนถูกต้อง
  • มีทฤษฎีใหญ่ๆ ที่เขาใช้ในการทำนายอนาคตอยู่ทฤษฎีเดียว
  • ไม่ค่อยเปิดรับ information ใหม่ๆ จากคนที่คิดต่าง พูดง่ายๆ คือไม่ค่อย update การทำนายของตนเอง
  • พูดเก่ง เด็ดขาด มีการฟันธงในการทำนาย มี showmanship

แต่จากงานวิจัยของฟิลลิป เทตลอก พบว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่มีความสามารถในการทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำนั้นมักจะมีลักษณะที่คล้ายกันดังนี้

  • แทบไม่เคยมีประวัติว่าเคยทำนายสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้หรือสิ่งที่ไม่มีใครเคยคาดเดามาก่อนถูกต้อง
  • แทนที่จะมีทฤษฎีใหญ่ๆ ที่ใช้ในการทำนายอนาคตอยู่ทฤษฎีเดียว พวกเขามักจะมีทฤษฎีย่อยๆ อยู่หลายทฤษฎีที่อาจจะขัดแย้งกันเอง
  • เปิดรับ information ใหม่ๆ จากคนที่คิดต่างอยู่ตลอด พูดง่ายๆ คือ มีการ update การทำนายของตนเองอยู่ตลอดเวลา
  • มักจะไม่ค่อยออกตัวและไม่ฟันธงว่าอะไรจะเกิดหรือไม่เกิด เพราะพวกเขารู้ว่าคำทำนายอาจจะเปลี่ยนได้ถ้ามี information ใหม่ๆ เข้ามา

จะเห็นได้ชัดว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนะครับ ระหว่างลักษณะของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่เก่งและไม่เก่ง แต่ปัญหาก็คือ สื่อมักจะชอบลักษณะของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ไม่เก่งมากกว่า เพราะคนพวกนี้สามารถให้ความบันเทิงในการทำนายได้มากกว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่เก่งจริงๆ

ก็แหม มีใครบ้างที่อยากจะฟังคนที่มาออกทีวีพูดว่า “ผมไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าสิ่งที่คุณถามมาจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นถ้าผมยังไม่ได้รับ information ใหม่ๆ ที่จะออกมาในอีกหนึ่งปีข้างหน้า” เมื่อเทียบกันกับ “ผมฟันธงว่าสิ่งที่คุณถามมามันจะเกิดขึ้นจริงๆ ”

มาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านอาจจะกำลังสงสัยว่าแล้วประวัติการทำนายในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ถูกต้องนั้นมันผิดตรงไหน

จากงานวิจัยของคริสตินา แฟง (Christina Fang) และเยิร์กเกอร์ เดนเรลล์ (Jerker Denrell) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กและวอริกพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว “ผู้เชี่ยวชาญ” ในตลาด Wall Street ที่สามารถทำนายในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ (หรือ extreme events) ถูกต้องมักจะมีความสามารถในการทำนายทั้งหมดที่ต่ำ นั่นก็เป็นเพราะว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” เหล่านี้มักจะหากินโดยการให้คำทำนายแต่ในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ และด้วยเหตุผลที่ว่าสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้มักจะไม่ค่อยเกิดขึ้น (เพราะเปอร์เซ็นต์การเกิดขึ้นของสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นมักจะตำ่โดยธรรมชาติ) อัตราการทำนายที่ถูกของคนพวกนี้จึงไม่ค่อยจะสูงสักเท่าไหร่เมื่อเทียบกันกับ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่มักจะไม่ค่อยให้คำทำนายในสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น

แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าเราแทบไม่เคยมีการเก็บข้อมูลการผิดพลาดของบุคคลเหล่านี้ (จากข้อเท็จจริงข้อที่ 4) เราก็มักจะจำแต่สิ่งที่ค่อนข้างเหลือเชื่อที่พวกเขาเหล่านี้ทายถูก และแทบไม่เคยรู้ถึงตอนที่พวกเขาทายผิดอย่างมหาศาลเลย

ข้อเท็จจริงข้อที่ 6: ไม่มีระบบการรับผิดชอบ (accountability) เวลาที่ “ผู้เชี่ยวชาญ” เหล่านี้ทำนายผิด

แล้วสมมติว่าถ้าเราจับได้ว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” เหล่านี้ทำนายผิดล่ะ (แล้วบางทีผิดอย่างมหาศาลด้วย ดูได้จากตัวอย่างของ “ผู้เชี่ยวชาญ” หลายๆ คนใน Federal Reserve ในสหรัฐอเมริกาที่ไม่สามารถทำนายถึงความล้มเหลวที่กำลังจะมาจาก subprime loans ของแบงก์ต่างๆ ได้) เรามีการลงโทษเขายังไงกัน คำตอบก็คือ ไม่มีครับ นั่นก็เป็นเพราะว่าสังคมของเราไม่มีระบบการรับผิดชอบเวลาที่ “ผู้เชี่ยวชาญ” เหล่านี้ทำนายผิด สังคมของเรามีแค่การให้รางวัล (reward system) กับคนที่ทายถูกแค่อย่างเดียว

และเพราะเรามี incentive system อย่างนี้นี่เอง จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจเลยที่เรามี supply ของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ไม่มีความสามารถจริงๆ ในตลาดเยอะ

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณผู้อ่านเป็นหนึ่งในจำนวนลูกค้าของตลาดการทำนายเหล่านี้แล้วล่ะก็ ผมขอแนะนำให้คุณผู้อ่าน

  • ซื้อคำทำนาย หรือคำแนะนำ จากคนที่สามารถพูดความเป็นไปได้ออกมาเป็นตัวเลขที่เป็นเปอร์เซ็นต์เท่านั้น
  • ขอดูประวัติความผิดพลาดทั้งหมดของเขา
  • ขอดูประวัติว่าเขาเคยทำนายถูกต้องในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน
  • ถามเขาว่าเขาเคยเปลี่ยนใจในสิ่งที่เขาทำนายไว้ตอนต้นหรือเปล่า หรือเวลาทำนายแล้วคำไหนคำนั้นตลอด
  • ทำหนังสือสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ถ้าเขาทำนายผิด เขาจะต้องรับผิดชอบเป็นเงินที่คืนกลับมาเท่าไหร่

ผมเชื่อว่าคงจะมี “ผู้เชี่ยวชาญ” น้อยคนนักที่จะยอมรับเงื่อนไขของคุณข้างบนนี้ แต่ถ้าคุณสามารถหาพวกเขาเจอได้ล่ะก็ คุณก็อย่าปล่อยเขาไปนะครับ นั่นก็เป็นเพราะว่าพวกเขาน่าจะเป็นบุคคลที่ฟิลลิป เทตลอก บรรยายในหนังสือของเขาว่าเป็น Superforecasters หรืออภิมนุษย์แห่งการทำนายอนาคตนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม
Denrell, J. and Fang, C., 2010. Predicting the next big thing: Success as a signal of poor judgment. Management Science, 56(10), pp.1653-1667.
Fama, E.F., 1991. Efficient capital markets: II. The journal of finance, 46(5), pp.1575-1617.
Kahneman, D., 2011. Thinking, fast and slow. Macmillan.
Powdthavee, N. and Riyanto, Y.E., 2012. Why Do People Pay for Useless Advice? Implications of Gambler’s and Hot-Hand Fallacies in False-Expert Setting.
Tetlock, P., 2005. Expert political judgment: How good is it? How can we know?. Princeton University Press.
Tetlock, P. and Gardner, D., 2015. Superforecasting: The art and science of prediction. Random House.