ThaiPublica > Sustainability > Contributor > แผนซ่อมโอนแหล่งน้ำให้ท้องถิ่น (ตอนที่4)

แผนซ่อมโอนแหล่งน้ำให้ท้องถิ่น (ตอนที่4)

27 พฤศจิกายน 2020


วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

ความคิดว่าจะถ่ายโอนแหล่งน้ำจากที่ดูแลโดยราชการส่วนกลางไปให้องค์กรส่วนท้องถิ่นดูแลนั้น เริ่มขึ้นราวปี2543 คือสมัยรัฐบาลชวน2 (นายชวน หลีกภัย)

การพยายามกระจายอำนาจต่างๆจากราชการส่วนกลางเกิดขึ้นเป็นระบบจากบรรยากาศการปฏิรูปการเมืองปี2538 อันนำไปสู่การมีเรื่องนี้บรรจุในรัฐธรรมนูญ2540

จึงทำให้มีแผนที่มีชื่อเป็นภาษาราชการตามมา แผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2543 ซึ่งฝ่ายข้าราชการประจำนำแผนการนี้ไปผลิตอีกระดับ เรียกว่าแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับ พ.ศ. 2545 ซึ่งแปลว่าเอกสารชิ้นนี้ล่วงมาถึงยุครัฐบาลทักษิณ1 (นายทักษิณ ชินวัตร)แล้ว

กล่าวคือมีแผนการฯก่อน แล้วค่อยมีแผนปฏิบัติการฯตามเข้ามา

จากนั้นพอปี พ.ศ.2551 สมัยรัฐบาลสมัคร (สุนทรเวช) ก็มีการออกแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและตามด้วย แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรียกว่าเป็นฉบับที่2

จากนั้นไทยก็เผชิญน้ำท่วมใหญ่ มหาอุทกภัยปี2554

พอจบน้ำท่วม งานผลิตแผนฯฉบับที่ 3 ก็เดินต่อไป

ขณะนี้ร่างแผนการฉบับที่ 3 ซึ่งถูกร่างไว้เมื่อปี 2560 แต่กว่าที่จะสามารถได้รับมติเห็นชอบโดยบอรด์สภาพัฒน์ก็ล่วงมาอีก 2 ปี และบอรด์ให้ส่งบางประเด็นกลับไปทบทวนในอนุกรรมการ ซึ่งกว่าจะทบทวนในระดับอนุกรรมการเสร็จก็เมื่อ 10 มีนาคม 2563 ปีนี้เอง คือช่วงโควิดอาละวาดพอดี นี่ก็จะสิ้นปี2563แล้ว ดังนั้นเรื่องคงรอเดินไปจ่อเข้าครม.ได้แล้วล่ะ

ใช้เวลาเดินทางนานถึง3ปี และหวังว่าแผนปฏิบัติการฯ ที่จะออกมาจะคลอดให้ไวๆขึ้นได้

ระบบราชการนี่ขั้นตอนแยะจริงๆ …..

การรื้อระบบขั้นตอนพิจารณาและตั้งเวลาทำงานให้ระบบราชการจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนอะไรที่เป็นงานที่ไม่จำเป็นก็ควรหยิบออกจากโต้ะของระบบราชการ เพื่อเค้าจะได้มีเวลามาเร่งงานที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนชีวิตของบ้านเมืองและประชาชนได้จริงมากขึ้น

และด้วยความสำคัญของระบบน้ำ ป่า การจัดระบบที่ดินและความซับซ้อนของกฏระเบียบแบบไทยๆนี่เอง

คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา ที่มีพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นประธาน มีพลเอกพลเอกจีระศักดิ์ ชมประสพ เป็นประธานอนุกรรมาธิการด้านทรัพยากรธรรมชาติทางบก จึงทำการศึกษาติดตามงานเรื่องน้ำทั้งระบบ ทำเรื่องระบบที่ป่าและที่ดินทำกิน โดยตามไปแคะแกะค้นมากางแผ่ดูกันว่ามีอะไร ติดที่ไหน และจะมีข้อแนะนำอะไรได้บ้าง

เผอิญผมเคยเป็นรองประธานกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ของวุฒิสภามาครบหนึ่งปี ได้รับรู้ปูฐานปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำว่ามีหลายสาเหตุ แต่ที่เป็นเหตุใหญ่มากๆคือ ปัจจัยของที่ทำกิน ปัจจัยเรื่องน้ำ และปัจจัยด้านระเบียบราชการและข้อกฏหมายที่เป็นภาระแก่ทุกฝ่ายโดยไม่จำเป็น นี่แหละ ที่ทำให้ไทยติดอันดับสากลด้านความเหลื่อมล้ำไปโดยไม่ตั้งใจ

เมื่อรู้เหตุ ผมจึงย้ายข้ามมาร่วมกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติฯ ตามวิสัยทัศน์สหประชาชาติ 2030 ที่มุ่งเป้าการพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่าสังคมโลกควร เน้นความรู้ฐานรากให้ดี5 อย่าง คือ People -planet- peace-public private partnership-แล้วก็เรื่อง prosperity

งานในกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติฯจึงเป็นเหมือนหลักสูตรปีที่สองของผมในวุฒิสภา…

กลับมาที่เรื่องระบบน้ำ ครับ

ในบทความซีรี่ย์ ชุด”น้ำ”ที่ผมเขียนเผยแพร่ก่อนหน้านี้ 3 ตอน พอจะสรุปได้ว่า

บทความตอนที่ 1 ชี้ว่าไทยมีฝนแยะกว่าที่อื่นๆในโลก แต่หลังน้ำท่วมเราก็เจอภัยแล้งเรื่อย เพราะฝนไม่สามารถไหลไปรวมในที่กักเก็บเนื่องจากเราพัฒนาประเทศโดยไม่อ่านผังการไหลของน้ำมานานมากแล้ว ผลคือได้น้ำท่วม แถมท้ายด้วยแล้ง ซึ่งหลังบทความที่1เผยแพร่แล้ว ปรากฏว่าเมื่อวันที่17 พฤศจิกายน2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินมาสร้างถนนหรือขยายถนนทั่วไทยว่าทีนี้จะต้องคำนึงถึงการกีดขวางทางไหลของน้ำ และต้องคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาด้วย นับว่าเยี่ยมไปเลย

บทความตอนที่ 2 ชี้ว่า แม้มีน้ำในที่เก็บกัก แต่เราก็เวียนใช้น้ำซ้ำกันน้อยไป ไม่มีวัฒนธรรมการจัดลำดับเวลาให้คนท้ายน้ำรอใช้น้ำที่ผ่านทุ่งผ่านสวนของคนเหนือน้ำ แล้วทำเป็นทอดๆ ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตกันทุกฝ่าย เพียงแต่ต้องใจกว้างสามัคคี มีลำดับการเข้าคิวปลูก พืชในไทยปกติปลูกเดือนไหนก็ได้ เป็นพืชเขตร้อนชื้น อุณหภูมิตลอดปีไม่ต่างมาก ขอแค่มีน้ำพอต่างหาก

บทความตอนที่ 3 ชี้ว่าแหล่งกักเก็บขนาดเล็กที่รับถ่ายโอนออกมาจากราชการส่วนกลางนั้น ผุกร่อนใช้งานไม่ได้ดีเป็นจำนวนมาก และควรซ่อมแซมกันยกใหญ่

บทความตอนนี้เป็นตอนที่ 4 เพื่อจะบอกเล่าว่า แผนปฏิบัติการถ่ายโอนแหล่งน้ำฉบับใหม่ที่กำลังจะออกมา มีข้อมูลสังเขปอะไรบ้าง

ก็ขอเรียนว่า รอบนี้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กบถ.)สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีแนวทางใหม่ๆเพิ่มครับ ว่าแหล่งน้ำที่ส่วนกลางควรรับดูแลต่อไปคือแหล่งขนาดเกิน 1 ล้านคิว และมีระบบส่งน้ำกินพื้นที่ 500 ไร่ ขึ้นไป หรือมีพื้นที่ครอบคลุมการจ่ายน้ำเกินหนึ่งจังหวัด ถ้าเป็นคลองส่งน้ำก็ควรยาวเกินเขตหนึ่งจังหวัด ส่วนถ้าบ่อบาดาลที่ต้องใช้ความรู้ทางอุทกธรณีวิทยาชั้นสูง เช่นเสี่ยงเรื่องชั้นน้ำเค็มแทรก พื้นที่หินแข็ง หรือพื้นที่เสี่ยงปนเปื้อน หรือในพื้นที่วิกฤตเช่นดินทรุด ก็จะให้รับผิดชอบโดยราชการส่วนกลางต่อไปก่อน

ส่วนแหล่งน้ำที่ไม่ใช่กรณีข้างต้นให้ทำการซ่อมแซมให้ดีก่อนถ่ายโอน ให้ส่วนท้องถิ่น และถ้าต้องมีเงื่อนไขเทคนิคประกอบในการบำรุงรักษา ก็ให้หน่วยราชการส่วนกลางกำหนดขีดความสามารถและสมรรถนะของท้องถิ่นที่จะรับโอนมา โดยแจ้งกบถ. เป็นรายกรณีด้วย

ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่ไม่สามารถบริหารจัดการบำรุงรักษาหรือใช้งานแหล่งน้ำที่รับโอนมาก่อนหน้านี้ ให้สามารถขอการสนับสนุนช่วยเหลือจาก อบจ. แต่ถ้าเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการได้

ฝายกักเก็บน้ำ

นอกจากนี้ ยังให้ส่วนราชการวางมาตรฐานการเก็บค่าใช้น้ำจากผู้ใช้รายใหญ่ และผู้ใช้น้ำนอกภาคเกษตร รวมทั้งสนับสนุนให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อการดังกล่าวได้

ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งงบเงินอุดหนุนด้านแหล่งน้ำ และให้ส่วนราชการที่ถ่ายโอนมีหน้าที่ทำแผนพัฒนาแล้วให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยงานตั้งคำของบประมาณ ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างไปหรือแย่งกันยื่นงบ

ให้ส่วนราชการติดตามผลหลังถ่ายโอน หากเจอปัญหาให้เข้าไปตามช่วยแก้ไข และเมื่อซ่อมแซมทั้งระบบแล้วเสร็จก็ให้ส่งมอบท้องถิ่นโดยเสนอ กกถ.ให้ความเห็นชอบเป็นรายกรณี

ทั้งนี้ยังได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอตามอัตราคำนวณ โดยถ้าจัดหาน้ำกินน้ำใช้ครัวเรือนทั่วไปให้คิดว่าต้องจัดหามาให้หัวละ 100 ลิตร ทุกวัน/ปี หรือ 36.5คิว/คน/ปี

ถ้าจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ให้คำนวณ ว่าต้องใช้ที่ 1 คิว/ไร่/ปี

สิ่งที่ยังจะต้องตามศึกษาต่อคือ เมื่อมีแหล่งน้ำที่ทำงานได้ ตานี้ก็จะมาว่าเรื่องการส่ง การกระจายน้ำและการเชื่อมทางน้ำและแหล่งน้ำ ซึ่งถ้าเป็นการไปขุดในที่ดินรัฐก็คงพอมีกติกาแล้ว แต่ที่ยังมีอุปสรรคคือพื้นที่ทางผ่านจำนวนมากอยู่บนที่ดินราษฏร ที่ดินเอกชน และมักไม่ค่อยได้รับความยินยอมเพราะราษฏรยังไม่อยากให้ความร่วมมือ

จะเวนคืนก็กระทบต่อขนาดที่ชิ้นสุดท้ายที่จะใช้ทำกินต่อ รวมทั้งเมื่อทางน้ำผ่านที่เอกชนแล้ว เอกชนจะมีสิทธิดึงน้ำข้างที่ดินที่เหลือของตนไปใช้อย่างเป็นธรรมได้อย่างไร

หรือจะส่งน้ำระบบท่อกันเหมือนท่อส่งก๊าซ

อันนี้ท้าทาย

นี่แหละครับ ผมถึงได้พยายามสกัดข้อมูลจากคณะกรรมาธิการของวุฒิสภามาบอกเล่าต่อให้สังคมได้ร่วมรับรู้

เรารู้มานานแล้วว่าน้ำสำคัญแน่ แต่เรามักไม่ค่อยรู้ว่าหน่วยไหน คณะกรรมการอะไรที่เกี่ยวบ้าง กติกาเก่าเขาทำมายังไง และกติกาใหม่ๆกำลังไปในทิศทางใด

เมื่อสังคมรู้ สังคมจะได้ช่วยวิเคราะห์สนับสนุนให้การจัดการทรัพยากรน้ำทำได้ดีขึ้นมากๆ และสามารถช่วยแก้ความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ ได้จริงจัง