ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ระบบน้ำใช้และการเวียนใช้น้ำซ้ำ (ตอน 2)

ระบบน้ำใช้และการเวียนใช้น้ำซ้ำ (ตอน 2)

8 พฤศจิกายน 2020


วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

ต่อจากตอนที่แล้ว ฝนตกเยอะ แต่ทำไม มีภัยแล้งตามมาเสมอ

ถ้าเราออกแบบระบบและมีวัฒนธรรมที่เชื่อในการเวียนน้ำกลับมาใช้ในการเกษตร

เมืองไทยอาจจะไม่มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง

คนไทยโบราณออกแบบให้น้ำในลุ่มเจ้าพระยามีการเวียนใช้เพื่อทำนา โดยทำคลองรังสิตกับคลองพระพิมลไว้ ดึงน้ำที่ผ่านการทำนาในแปลงเหนือน้ำมาใช้ต่อในลุ่มนาแปลงที่อยู่ท้ายน้ำได้ แต่ฤดูการปลูกต้องเว้นจังหวะให้พอดีส่งและรับช่วงกัน ลงตัว

ในฟิลิปปินส์และจีนมีการทำนาขั้นบันไดบนภูเขา นั่นก็ได้ใช้น้ำที่ถ่ายจากแปลงข้างบนลงมาเรื่อยๆ เช่นกัน แต่ต้องเว้นระยะเวลาการปลูกตามความสูงของภูเขา นี่ก็จะใช้น้ำได้คุ้มค่า

ถ้าแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลซึ่งมีฝายกั้นราว 18 จุดอยู่ในเวลานี้มีระบบต่อเนื่องในการดึงน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ นาในอีสานหลายๆ แห่งอาจสามารถทำนาได้หลายรอบต่อปีมากขึ้น

ช่วยแก้จน และลดเหลื่อมล้ำได้อีกนิดก็ยังดี

เวลาที่สมาชิกวุฒิสภาออกไปพบเยี่ยมรับฟังความต้องการราษฎรที่จังหวัดน่าน ต้นแม่น้ำน่านซึ่งคิดเป็น 40% ของปริมาณน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏว่าราษฎรขอถนนมากกว่าขอแหล่งน้ำ

ความสงสัยนี้ถูกขุดรื้อไปจนพบข้อมูลว่า ที่น่านมีอ่างเก็บน้ำพอควร แต่ชาวบ้านพบว่าไม่สู้จะเป็นประโยชน์กับตัวเอง เพราะอ่างน้ำเหล่านั้นแม้ในวันมีน้ำ แต่มันก็จ่ายให้ชาวบ้านใช้ไม่ได้เพราะไม่ได้สร้างระบบส่งน้ำมาให้ด้วย ใครอยู่ห่างออกไปก็ได้แต่ทำตาปริบๆ

ชาวบ้านเลยขอรับงบทำถนนดีกว่า เพราะทำเสร็จ ชาวบ้านได้ใช้!!!
เรื่องแบบนี้มีอีกแยะในแทบทุกภาคของไทย
ระบบงานราชการที่แบ่งกรมไปเยอะแยะทำให้ระบบน้ำ ไม่เป็นระบบ

น้ำในแต่ละแหล่งเก็บก็แบ่งกรมไป บ้างก็กรมชลประทาน บ้างก็กรมประมง บ้างก็ของ อบต. บ้างก็อยู่กับหน่วยอื่น เช่น กรมป่าไม้, กรมอุทยานฯ, ของจังหวัด, ของกองพัน, ของการประปาก็มี ต่างหน่วยต่างเก็บ ต่างหน่วยต่างบริหาร

ระบบงบประมาณของแหล่งน้ำจึงกระจัดกระจายไปจนมองแผนเงินด้านน้ำไม่ได้ถนัด บางหน่วยไม่ได้รับจัดสรรเพราะไม่ได้ขอ

บางหน่วยขอไปแต่ไม่ได้รับสนับสนุน

บางแหล่งน้ำถูกถ่ายโอนส่งให้ท้องถิ่นไปแล้วแต่ท้องถิ่นไม่มีงบและไม่มีความรู้ อีกทั้งขาดเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญในการรักษาหรือพัฒนาระบบ

บาง อบต. ทำเรื่องของบยังไม่เป็น ในขณะที่บางแหล่งหน่วยผู้โอนแหล่งน้ำยังยื่นของบดูแลซ่อมบำรุงไว้ที่ตัวเองอย่างเดิม หน่วยผู้รับจึงไม่ได้รับจัดสรรงบ

บางแหล่ง สภาพชำรุดเก็บน้ำไม่ได้ตั้งนานแล้วแต่ก็ถ่ายโอนออกไปให้ท้องถิ่น หลายแหล่งน้ำทำขึ้นเพื่อเป้าประสงค์ทางยุทธวิธีช่วงต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ จากนั้นก็ถูกทิ้งร้าง

ฝายชะลอน้ำ โครงการปิดทองหลังพระ จ.เชียงใหม่

บางแหล่งมีน้ำแต่ไม่มีระบบกระจายน้ำ

บางแหล่ง น้ำไม่ไหลมาลงที่เก็บเพราะมีเนินดินและสิ่งปลูกสร้างขวางแนวการไหลมาหาของน้ำฝนจนกลายเป็นแอ่งแห้งๆ มีน้ำพอให้เป็นเลนแฉะๆ ไม่นานในแต่ละปี และบางบ่อก็ขุดกันในที่ดินร่วนปนทราย เก็บน้ำยังไงก็ไม่อยู่

บางบ่อน้ำก็ขุดกันอย่างโกงๆ เพราะแบบกำหนดให้ขุดลึกสามเมตร แต่ผู้รับจ้างใช้วิธีขุดดินก้นบ่อมาพอกเป็นคันเหนือดินริมปากบ่อ เพื่อให้วัดจากก้นสระถึงขอบบนได้สามเมตร

คือนอกจากน้ำฝนหล่นใส่แล้ว สระนี้จะไม่ได้รับการเติมจากน้ำที่นองมาผ่านแน่เพราะขอบบ่อดันขวางเอาไว้เสียยังงั้นเอง

บ่อและสระในไทยมีเยอะ แต่ที่มันยังแก้ภัยแล้งไม่ได้ก็ด้วยปัจจัยข้างต้นปะปนเข้ามา

เรื่องสระเรื่องบ่อประจำไร่นายังมีบทบาทสำคัญแน่ แต่ต้องทำให้มีความเชื่อมโยงกันเป็นทอดๆ จากบ่อเล็กเชื่อมเป็นพวง จากพวงเชื่อมบึงใหญ่ บึงใหญ่เชื่อมอ่างเก็บ และแก้มลิงอื่นๆ และเชื่อมกับทางน้ำไหลต่างๆ

ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมชี้ว่าไทยมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นมากในทุกภาคการผลิตและจากการขยายตัวของเมือง

และผลการใช้น้ำ จึงสูงล้นเกินแผนที่ตั้งไว้มาตลอด

ในปี 2553 เราขึ้นแท่นเป็นประชากรโลกที่ใช้น้ำสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก เมื่อเทียบต่อหัวต่อคน!!(water footprint per capita, m3\year)

เป็นแชมป์ที่เราควรเร่งแก้ไขแน่ เหมือนที่เราก็ได้แชมป์อันดับ 5 ของการเป็นประเทศผู้ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเล

แชมป์แห่งการเปลืองน้ำต่อหัวประชากรอันดับหนึ่งของโลกคืออเมริกา ต่อด้วยกรีซ มาเลเซีย อิตาลี แล้วก็มาไทย

แล้วถ้ายังขืนมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยเสียอีก ก็แปลว่าคงเกินความสามารถในการปันส่วนแน่

ศึกชิงน้ำจะดุมาก

หลายปีก่อนหน้านี้ มีชาวบ้านไปลักลอบทำฝายเถื่อนขวางลำน้ำ รวมๆ แล้วสักสี่ร้อยจุดก่อนที่น้ำจะไหลไปถึงอ่างแม่งัด ที่เชียงใหม่ ผลคือชาวบ้านริมน้ำได้น้ำเก็บไว้นานขึ้นนิดหน่อย แต่อ่างแม่งัดไม่มีน้ำเข้า ร้อนถึงทางการต้องส่งกองทัพภาคที่สองไปร่วมกับทางจังหวัดลุยรื้อฝายเถื่อนเหล่านั้นออก ซึ่งตอนนี้รื้อไปแล้วสักครึ่งหนึ่งคือ 200 แห่ง น้ำจึงเริ่มไหลไปถึงแม่งัด ซึ่งต้องมีน้ำใช้ปั่นกระแสไฟฟ้าและใช้น้ำไปส่งต่อให้พื้นที่รอบข้าง

ฝายชะลอความชุ่มชื้นแก่ป่านั้นดีหรอก แต่ถ้าฝายขวางลำน้ำจนน้ำไม่ไปถึงคนอื่นๆ บ้างย่อมเป็นปัญหา

ฝายชะลอน้ำ โครงการปิดทองหลังพระร่วมกับชาวบ้านช่วยกันทำด้วยงบ 800 บาท/ฝาย เพื่อกักเก็บน้ำลงดิน และป้องกันการพังทะลายของหน้าดิน

ศึกชิงน้ำแบบนี้มีให้เห็นอีกหลายๆ ที่ ที่บางระกำซึ่งกินพื้นที่ราวสองแสนกว่าไร่ นั่นก็เคยต้องเอากำลังทางการไปคุมไม่ให้คนต้นน้ำชิงสูบน้ำจากคลองส่งน้ำไปทำนาจนท้ายน้ำไม่เหลือน้ำไว้ทำนาบ้าง แต่เมื่อตกลงกันว่ากลุ่มต้นน้ำจะเริ่มปลูกก่อนล่วงหน้า แล้วท้ายน้ำค่อยตามหลังห่างช่วงสักระยะ น้ำปล่อยคืนจากต้นคลองก็มีพอให้ได้ใช้กันที่ปลายคลอง

ราจะปล่อยให้เกิดศึกชิงน้ำในหน้าแล้ง และศึกทลายกระสอบกั้นน้ำท่วมขังในหน้าฝนแบบนี้ไปอีกไม่ได้แน่ และอาจเกิดที่ไหนก็ได้ เพราะทางน้ำเดิมถูกขวางโดยไม่ตั้งใจได้เสมอ พื้นที่เกิดการขวางกับพื้นที่เกิดศึกชิงน้ำอาจอยู่ห่างกันไปหลายร้อยกิโลเมตร

คนที่จำใจต้องชิงน้ำจึงอาจไม่มีทางเข้าใจที่สาเหตุ

ในหลวงรัชกาลที่เก้าเคยรับสั่งว่า “…อย่าเอาแต่แก้ที่ปัญหา ให้แก้ที่สาเหตุ…”

ถ้าจำข้อมูลจากบทความตอนที่ 1 ของผมในเรื่องนี้ได้

เรามีฝนเกินพอครับ แต่เราไม่ได้เก็บฝนไว้ แถมเราไม่ใช้น้ำเวียนซ้ำ

ดังนั้น น้ำไม่พอ จึงไม่ได้มาจากฝนน้อยท่าเดียวหรือไม่ใช่เพราะมีแหล่งเก็บน้อยเท่านั้น

แต่เพราะน้ำไม่ไหลลงที่เก็บ ที่เก็บตื้นเขิน เก็บแล้วไม่มีระบบจ่ายออก จ่ายไปแล้วไม่ดึงไปใช้ซ้ำหรือเปล่า

และส่วนใหญ่ แหล่งน้ำยังไม่มีการเชื่อมเข้าหากันเป็นระบบพวง กรณีอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลำประดู่ ลำพระเพลิง ก็ยังไม่ได้เชื่อมกัน นี่แค่ตัวอย่าง และต่างหน่วยต่างทำงานเรื่องน้ำมานาน

จนเพิ่งมีรัฐบาลปี 2557-2562 ที่ตั้งหน่วยบริหารน้ำเชิงระบบขึ้นมา แต่ยังต้องมีการทำอีกหลายอย่าง ปัญหาน้ำเชิงระบบจึงจะแก้ไขได้

ทางออกที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ชุด ดร.รอยล (จิตรดอน) และคณะกรรมาธิการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภาชุดพลเอกสุรศักดิ์ (กาญจนรัตน์) จึงประชุมพบปะและเห็นสอดคล้องกันว่า ประเทศเราต้องจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำเพื่อความมั่นคงของประเทศ ที่มุ่งไปสู่การกระจายหน้าที่และบริหารเชิงพื้นที่ โดยมีการกำกับและอำนวยการจากส่วนกลางอย่างมีข้อมูลที่แม่นยำ

ทั้งต้องมีกลไกประสานงานกันทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง เพื่อสร้างเอกภาพให้สามารถมีวิธีจัดการที่แตกต่างกันตามลักษณะจริงของพื้นที่

อ่างเก็บน้ำบางพระที่ชลบุรีสำคัญต่อพื้นที่อีอีซี แต่เมืองถูกขยายมาล้อมทุกทิศทางของอ่างจนอ่างต้องรอน้ำฝนตกตรงอ่างอย่างเดียวมานาน

บัดนี้มีน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยยานุชิตที่สมุทรปราการสูบเข้าท่อตรงส่งมาลงอ่างเก็บน้ำบางพระวันละ 5 แสนคิว แทนที่จะปล่อยลงทะเลไปเปล่าๆ นี่ก็ตัวอย่างอีกแบบที่ได้เวียนเข้ามาใช้ซ้ำ

น้ำที่ปลายทางจึงยังไม่หมดทางไป

ภูโกร๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ และบ่อพวงสันเขา การบริหารจัดการน้ำที่จัดสรรกันเองตามพื้นที่ ตามเงื่อนไขและข้อตกลงกันในกลุ่ม โดยใช้ท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ของแต่ละครอบครัว
ภูโกร๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน และบ่อพวงสันเขา การบริหารจัดการน้ำที่จัดสรรกันเองตามพื้นที่ ตามเงื่อนไขและข้อตกลงกันในกลุ่ม โดยใช้ท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ของแต่ละครอบครัว

ไทยมีป่าต้นน้ำ ซึ่งต้องจัดการแบบหนึ่ง

มีพื้นที่ในเขตชลประทานราว 30 ล้านไร่

มีพื้นที่นอกเขตชลประทาน 119 ล้านไร่

มีพื้นที่ชุ่มน้ำ 27 ล้านไร่

มีเมือง ซึ่งต้องการบริหารน้ำอีกแบบ

กับเขตอุตสาหกรรมซึ่งก็ต้องบริหารอีกแบบ

แต่ทุกพื้นที่ต่างต้องรับผิดชอบต่อกันและกัน
และช่วยกันดูแลผู้อยู่ต้นน้ำเพื่อให้พวกเขาได้ทำภารกิจช่วยรักษาต้นน้ำได้อย่างเป็นธรรม

โครงการหลวงและโครงการจัดการน้ำตามพระราชดำริจำนวนมากจึงเกิดขึ้นในพื้นที่ต้นน้ำมาตั้งแต่ผมยังไม่เกิดด้วยซ้ำ และหวังใจว่าจะมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเพื่อเข้าใจเรื่องน้ำให้มากขึ้นตามลำดับ