ThaiPublica > Sustainability > Contributor > แหล่งน้ำขนาดเล็กที่ต้องซ่อม โอนและเชื่อมถึงกัน (ตอน 3)

แหล่งน้ำขนาดเล็กที่ต้องซ่อม โอนและเชื่อมถึงกัน (ตอน 3)

22 พฤศจิกายน 2020


วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา

เฉพาะอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศที่กรมชลประทานกรมเดียวได้ถ่ายโอนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไปตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ถึง 2561 หรือใน 15 ปี ที่ผ่านมาก็มีถึง 3,000 อ่างแล้วครับ

ถ้านับฝายที่กรมชลประทานสร้างและถ่ายโอนให้ อบต. ต่างๆ ในช่วง 15 ปี ก็มีอีก 4,324 ฝาย

มีประตูระบายน้ำ ทำนบดิน สระเก็บน้ำและอะไรทำนองเดียวกันอีก 2,078 แห่ง ที่ถ่ายโอนให้ อบต. เทศบาลแล้ว

มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ถ่ายโอนออกไปแล้วอีก 2,400 แห่ง

แปลว่ามีโครงการชลประทานขนาดเล็กรวมๆ กันจากกรมชลประทานกรมเดียวที่ถูกถ่ายโอนออกไปให้ท้องถิ่นแล้ว 11,846 แห่ง ใน 15 ปี

นี่ยังไม่นับที่ถ่ายโอนไปอีกหลังปี 2561 จนถึงปัจจุบันคือ 2563 นะครับ

ทิศทางนี้ทำถูกต้องแล้วครับ

ลองคิดดูว่าถ้าทั้งหมดนี้ยังคงต้องบริหารโดยกรมเดียว งานจะคับคั่งขนาดไหน ทั้งการคัดเลือกสับเปลี่ยนเวียนและแทนเจ้าหน้าที่ประจำของแต่ละจุด การรักษาและซ่อมบำรุง การเก็บเอกสารบัญชีควบคุม

ถูกล่ะครับ ว่ากรมเป็นหน่วยราชการ ย่อมสามารถมีสำนักงานย่อยๆ และผู้บริหารตามโครงสร้างตามลำดับชั้นลงไปที่จะกำกับรับผิดชอบไปจนถึงทุกจุดที่ว่าข้างต้น

แต่ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผู้บริหารจะสามารถรู้จักลึกๆ และสามารถไปถึงจุดปลายทางของโครงการได้บ่อยๆ เพราะแต่ละจุดที่สร้าง ที่ทำขึ้นนั้นมีฤดูกาลของมัน มีช่วงการรับมือน้ำมาก น้ำน้อย มีอุปกรณ์ชำรุดทรุดเสื่อมลงตามเหตุและปัจจัยเสมอ และหลายโครงการก็อยู่ไกลปืนเที่ยงน่าดู

ดังนั้น การถ่ายโอนออกไปให้องค์กรปกครองท้องถิ่นที่สิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นอยู่ใกล้ และชุมชนคนแถวนั้นเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากการจัดการแหล่งน้ำเหล่านั้นจึงถูกต้องแล้ว

แต่เมื่อคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภาได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรทางบก ซึ่งมีพลเอก จีระศักดิ์ ชมประสพ เป็นประธานได้ไปรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษา ติดตาม สำหรับนำมาเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

คณะอนุกรรมาธิการพบว่า โครงการชลประทานที่ถ่ายโอนออกไปข้างต้นนั้น สิ่งที่เรียกว่า อ่างเก็บน้ำจำนวน 3,044 แห่งนั้น ใช้งานได้ 2,038 แห่ง ที่เหลืออีก 1,006 อ่างไม่ได้ถูกเรียกว่า “ใช้งานได้”

ฝายที่เรียกว่าใช้งานได้ มี 2,758 ฝาย อีก 1,566 ฝายชำรุดเสียหาย

ประตูน้ำ ทำนบดิน และสระเก็บที่ใช้งานได้มี 1,374 แห่ง ส่วนอีก 704 แห่งชำรุดเสียหาย

สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ยังใช้งานได้มี 1,622 แห่ง ส่วนอีก 778 แห่งชำรุด

ไม่มีใครผิดหรอกครับ

เพราะน้ำมีพลัง ดินเองก็มีการทรุด โลหะมีการกร่อนสึก และการซ่อมบำรุงสิ่งต่างๆ ที่สร้างขึ้นต้องอาศัยความรู้พอประมาณ ไม่ใช่ท่อไอเสียหรือปะยางสตีมที่จะแวะอาเฮียตามร้านห้องแถวให้จัดการได้ง่ายๆ

แต่ในเมื่อโอนถ่ายไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

กรมชลประทานจะขอตั้งงบประมาณไปตามซ่อมให้อีกก็ไม่ได้ตามกติกาปกติ

ความชำรุดเสียหายต่อโครงการชลประทานขนาดเล็กๆ เหล่านี้ ถ้ามองทีละชิ้นอาจดูเล็กในสายตาระดับประเทศ แต่ในสายตาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กอย่าง อบต. ซึ่งมักจะมีรายได้ท้องถิ่นน้อย ก็ย่อมจะมองค่าซ่อมแซมเป็นเรื่องใหญ่ แถมความรู้ทางเทคนิคก็อาจจะไม่พอเพียง หาผู้รับจ้างที่รอบรู้ไม่สะดวก

และถ้าแยกจัดการ ค่าบริหารการจ้างซ่อมก็อาจจะสูงกว่ารวมจัดการได้เช่นกัน

แม้แต่การยื่นขอรับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน บาง อบต. ก็ทำไม่คล่อง และยื่นแล้วก็ไม่สามารถไปตามถึงสำนักงบประมาณเพราะไม่รู้จักคน ไม่คุ้นเคยระเบียบ ไม่คุ้นเคยกับตารางประเพณีปฏิทินงบประมาณ

ดังนั้นการหาทางช่วยให้โครงการที่รับถ่ายโอนและเกิดปัญหาทำนองนี้มีทางออกจึงสำคัญ

เพราะหากยังใช้งานไม่ได้ ก็น่าเสียดายมาก

น้ำดิบทั้งนั้นที่ไม่ได้บริหาร และเงินทั้งนั้นที่เคยลงทุนกันไปแล้ว

ปัญหานี้จึงเป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของ อบต. หลายๆ แห่ง จะโอนคืนให้กรมเจ้าของเดิมได้หรือเปล่า หรือจะโอนให้ไปอยู่กับหน่วยอื่นใดช่วยรับไปจะได้หรือไม่

เช่น โอนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 นี้ เพราะ อบจ. มักมีศักยภาพสูงกว่า มีรายได้มากกว่า และสามารถผูกรวมหลายโครงการชลประทานย่อยๆ เข้ามาร่วมบริหารจัดการได้สะดวกกว่า

นี่แค่โครงการด้านน้ำจากกรมชลประทานกรมเดียวนะครับ

เอาเข้าจริง ยังมีโครงการถ่ายโอนแหล่งน้ำจากกรมอื่นๆ ของราชการส่วนกลางกระจายอยู่กับกรมอื่นอีก เช่น

  • แหล่งน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
  • จากสำนักงาน ส.ป.ก. กระทรวงเกษตรฯ
  • จากกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรฯ
  • จากหน่วยงานในกองทัพบก เป็นต้น

แปลว่าถ้าจะลุยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง โดยยังไม่พูดถึงพื้นที่ต้นน้ำอย่างพื้นที่ในกรมอุทยาน พื้นที่ในกรมป่าไม้ หรือพื้นที่เก็บน้ำเพื่อเพาะพันธุ์สัตว์น้ำโดยกรมประมง พื้นที่ทางน้ำของกรมเจ้าท่า พื้นที่แหล่งน้ำในที่ดินสาธารณะและแหล่งน้ำในที่ดินราชพัสดุ

เราก็ต้องช่วยให้สิ่งที่สร้างมาเพื่อจัดการน้ำใช้งานได้ !

ที่เล่ามาถึงบรรทัดนี้ยังเป็นงานระดับช่าง งานบนกระดานและแผนที่ในสนามกับงานระเบียบบริหารทรัพย์สินระหว่างหน่วยงานของรัฐกันเองเท่านั้นนะครับ

ยังมีงานระดับบริหารบนกระดาษที่ต้องเสนอเข้าที่ประชุมตามกฎหมายทรัพยากรน้ำ 2561 ที่ต้องให้คณะกรรมการรายลุ่มน้ำ คณะกรรมการจังหวัด และคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ และคณะกรรมการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มาร่วมรับรู้และพิจารณาเห็นชอบให้การซ่อมแซม การถ่ายโอนแหล่งน้ำและสถานีสูบน้ำตลอดจนประตูน้ำข้างต้นไปอยู่ในมือที่เหมาะสมให้ได้

และแม้ทำทั้งหมดข้างต้นสำเร็จแล้ว ก็ยังต้องคำนึงว่า ยังต้องให้เกิดการขุดทางน้ำเชื่อม การต่อท่อเชื่อม การใส่ท่อลอด และขจัดสิ่งกีดขวางการรวมน้ำเข้าแหล่งน้ำ และบริหารการแจกจ่ายใช้น้ำให้เรียบร้อย และภาวนาให้ฝนฟ้าตกลงมาใกล้ระบบบริหารรายลุ่มน้ำ รายจังหวัดด้วย

นี่ยังไม่ได้พูดถึงการปรับปรุงให้เกิดระบบการใช้น้ำซ้ำด้วยนะครับ

ทีนี้เห็นมั้ยครับ ว่าน้ำเนี่ย ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ…

แม้มีเงิน มีกฎหมาย มีช่างเชี่ยวชาญประจำจุดแล้ว สิ่งที่สำคัญคือยังต้องมีนักบริหารจังหวะที่รู้จักธรรมชาติของน้ำด้วย

ยิ่งบางพื้นที่ไม่ใช่เพียงการบริหารแต่น้ำผิวดินกับน้ำจากฟ้าตามชุดบทความนี้เสียด้วย แต่ยังต้องรู้จังหวะกับการบริหารน้ำใต้ดิน และระบบน้ำขึ้นน้ำลงตามแรงดึงดูดของดวงจันทร์

และวันน้ำทะเลหนุน เพราะเป็นพื้นที่ที่เข้าใกล้อิทธิพลของชายฝั่ง

นี่ว่าเฉพาะปริมาณน้ำนะครับ ถ้าจะเอาคุณภาพน้ำไม่กร่อย น้ำไม่เสีย น้ำไม่เป็นกรด และน้ำไม่เคลื่อนไหวนานๆ แล้วเน่าอีกด้วย ยิ่งซับซ้อนใหญ่

นี่แหละครับ ที่ทำให้คนรุ่นผมพอจะเข้าใจว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำอะไรคิดอะไรมาต่อเนื่องตั้งแต่คนรุ่นผมยังไม่เกิด และทำไมจึงเป็นสิ่งที่เจ้านายของไทยจึงทรงติดตามเรื่องน้ำมากมายขนาดที่เป็นอยู่นี้