ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ขยะพลาสติกไทยแยะแล้ว: ขยะพลาสติกนอกยิ่งน่ากังวล (ตอนที่2)

ขยะพลาสติกไทยแยะแล้ว: ขยะพลาสติกนอกยิ่งน่ากังวล (ตอนที่2)

28 กันยายน 2021


วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

ความตอนที่แล้วเล่าถึงเถ้าแก่จากต่างประเทศย้ายโรงรีไซเคิลพลาสติกมาอยู่เมืองไทย เพราะไม่ค่อยเป็นที่ต้อนรับของประเทศเจ้าบ้านเดิม ทำให้ยอดสั่งเศษพลาสติกเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบการผลิตสินค้าพลาสติกในแผ่นดินไทยทะยานพรวด 10 เท่าตัวในปี 2561

กล่าวคือไต่จาก 3 หมื่นตันเศษในปี 2555 ไปเป็น 7 หมื่น 5 พันตันในปี 2557 แล้วพรวดไปเป็นแสนห้าหมื่นตันในปี 2560

แต่แสบกว่านั้นเมื่อเพิ่มเป็น 5 แสนห้าหมื่นตันในปี 2561

และเมื่อตรวจสถิติรายปี ที่อ้างว่าจะนำเศษพลาสติกเข้ามาหลอมใหม่เพื่อผลิตเป็นสินค้าส่งออกไปนั้น กลับปรากฏว่ายอดส่งออกเศษพลาสติกมีแต่ลดน้อยลงจนชัดเจนว่าไม่เป็นสัดส่วนกันกับการนำเข้า และลดลงเรื่อยมาโดยตลอด ไม่มีผงกหัวขึ้นเลยจนบัดนี้

เครื่องหมายคำถามตัวใหญ่จึงเกิดทันทีว่า ที่อ้างกับกระทรวงอุตสาหกรรมว่าต้องนำเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตนั้น

เอาเข้าจริงมีขยะพลาสติกตกค้างเหลืออยู่ในแผ่นดินไทยอีกเท่าไหร่

ช่วงปลายปี 2560 นั้น ผมกลับมาเป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยวพอดี พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราคุยกันเรื่องปัญหาขยะพลาสติกในทะเลและชายหาด ตลอดจนปัญหาขยะพลาสติกตามอุทยานต่างๆ อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยบ่อยครั้ง

พลเอก สุรศักดิ์เริ่มลุยกับการวางกติกาห้ามสูบบุหรี่ตามริมหาดสำคัญ เพราะเราเคยเก็บก้นกรองบุหรี่ซึ่งก็เป็นใยสังเคราะห์ของพลาสติกแล้วตกใจ ที่หาดเดียวเก็บแต่ก้นกรองบุหรี่มารวมแล้วชั่งน้ำหนักได้ถึง 5 กิโลกรัม!!

แปลว่าขนาดยังไม่ต้องนำเข้าเศษพลาสติกก็ยังมีขยะพลาสติกในประเทศที่ไปรบกวนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากขนาดนี้แล้ว

เราทั้งสองตระหนักว่าเรื่องการใช้พลาสติกอย่างไม่ตระหนักและไม่รับผิดชอบนั้น จะทิ้งร่องรอยความเสียหายต่อไปได้อีกนานมาก

ปี 2561 มีการประสานงานหลายฝ่ายจัดชุดตรวจค้นโรงงานที่นำเข้าเศษพลาสติกในนิคมอุตสาหกรรมทั้งที่ลาดกระบังและที่ชลบุรีในช่วงกลางปี สิ่งที่พบคือ มีการสำแดงเท็จ เพราะเจอขยะสารพัดแบบ ทั้งที่เป็นขยะพลาสติก และขยะอื่น ไม่ใช่เศษพลาสติกอย่างที่แจ้งทางการหรอก แถมเจอซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งกำจัดยากมาก

มันน่าจะคือการเปิดกิจการมาบังหน้าเพื่อรับค่าจ้างเอาขยะอันตรายออกจากประเทศที่เขามีความเข้มงวดและจริงจังกับเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อมมากกว่า

จากนั้นมีการเร่งจับกุมต่อในเรื่องนี้จนมีจำนวนถึง 103 คดี

แม้พลเอก สุรศักดิ์จะยินดีร่วมกับผมโปรโมตการนำปิ่นโตมาชวนให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาไปเที่ยวเกาะ ไปเดินป่าชมอุทยานต่างๆ เพราะปีนั้นเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาเมืองไทยก็ร่วม 35 ล้านคน หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของปริมาณประชากรไทยเข้าไปแล้ว แต่พลเอก สุรศักดิ์ไปไกลกว่าและกว้างกว่านั้นมาก เพราะท่านได้เขียนแผนไว้ล่วงหน้าชื่อ แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ 2559-2564 และเสนอให้รัฐบาลประกาศเรื่องปัญหาขยะเป็น วาระแห่งชาติ และยังทำโรดแมป การจัดการขยะและของเสียอันตราย รวมทั้งให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเรื่อง ขยะทะเลอีกต่างหาก

ท่านอธิบายเป้าหมายจะให้ไทยก้าวสู่สังคม ปลอดขยะ หรือ Zero Waste Society บนฐานคิด การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง การทำ 3 R คือ Reduce-Reuse-Recycle ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

จากนั้นก็ออกแผนปฏิทินการลดใช้ งดแจกฟรีถุงพลาสติกจากระดับห้างใหญ่ไล่เรียงไปจนเกิดความพร้อมของร้านค้าและร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กๆ ไปจนรวมถึงเรื่องให้ลดโควตานำเข้าแม้แต่เศษพลาสติกที่อ้างว่าสะอาดนั่นแหละ เพื่อให้นำเข้าเศษพลาสติกเป็นศูนย์ในปี 2564 ในที่สุด

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และภาคเอกชนและประชาสังคมขานรับเรียบร้อย

แล้วเราก็เริ่มเห็นคนไทยคุ้นเคยขึ้นเรื่อยๆ กับการพกถุงผ้ามาเดินซูเปอร์มาร์เกต เข้าร้านสะดวกซื้อปากซอย นับแต่นั้นเรื่อยมา

อ่านต่อตอนที่ 3