วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา
สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำปีละแสนห้าหมื่นล้าน ลบ.เมตร( 153,578 ล้านลบ.ม.) ถ้าเป็นชาวบ้านจะเรียกว่าแสนห้าหมื่นล้านคิว
แต่ละปี ฝนตกลงในประเทศไทย 7 แสนห้าหมื่นล้านคิว
แต่มันตกลงมาแล้วไม่ยักไหลไปลงอ่างเก็บน้ำและเขื่อนสักเท่าไหร่
ตอนสร้างอ่างและเขื่อนไว้เก็บน้ำนั้น เตรียมไว้รับน้ำได้ 76,067 ล้านคิว
แต่พอมีตะกอนสะสมเข้า อ่างและเขื่อนก็ตื้น เหลือเป็นภาชนะเก็บน้ำได้แค่ ไม่เกิน 52,165 ล้านคิว
ที่เหลือก็ซึมลงดิน ไหลลงลำธารและแม่น้ำไป
ที่ไหลไปลงอ่างลงเขื่อนนั้น ปีนึงๆจะอยู่ราวๆ 42,620 ล้านคิว เท่านั้น
แปลว่า เรามีความต้องการน้ำมากกว่าที่เรากักไว้ได้ ถึง 4 เท่าตัว!!
ฝนที่ตกมาเยอะแยะนั้น เราจึงไม่ได้เอามาใช้ในที่ๆเราเพาะปลูก
ฝนในภาคเหนือไหลไปลงตามเขื่อนตามอ่างเพียง 8.6%
ฝนในภาคใต้ไหลไปลงอ่างและเขื่อนเพียง 4%
ฝนในภาคกลาง เข้าเขื่อน และลงอ่างได้สูงหน่อยแล้ว แต่ก็แค่ 11.4%
ฝนภาคอีสานทั้งภาค ไหลลงเขื่อนลงอ่าง 3.3%
ส่วนที่ภาคตะวันออกและอีอีซี ฝนตกแล้วเข้าอ่างเก็บน้ำเพียง 1.7%
สถิตินี้ทำให้เรารู้ว่า เรามีฝนแยะพอควร แต่เราไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำฝนให้ไหลไปลงบ่อได้เท่าที่ควร
มิพักจะต้องบอกเพิ่มด้วยว่า ที่เก็บน้ำของไทยตื้นเขินด้วยตะกอนเต็มก้น บ่อและเขื่อนจึงไม่ลึกอย่างเดิม
ทางน้ำที่จะนองไหลไปเก็บที่เขื่อนที่อ่างถูกสิ่งปลูกสร้างขวางไว้โดยไม่ตั้งใจมากมาย
เช่น ถนน ทางรถไฟ เมืองและชุมชนที่ถมดินยกระดับ
ล่าสุดคณะกรรมการปฏิรูปประเทศโดย ดร.รอยล จิตรดอน ไปพบว่าน้ำฝนที่ลงมาท่วมบางจุดในแถบสระบุรี โคราช มาจากการที่มีกำแพงแบริเออร์ปูนทึบยาวเหยียดของมอเตอร์เวย์ที่ยังไม่ได้เปิดใช้ด้วยซ้ำขวางทางไหลของฝน โดยไม่ตั้งใจ
ถ้าออกแบบเป็นรั้วก้นสูงขึ้นให้น้ำผ่านง่าย น้ำก็จะไหลผ่านไปตามผิวทาง ไม่ท่วมขังบนผิวถนนทำเลนถนนหายไปเฉยๆยาวหลายกิโล
ถนนและทางรถไฟบางสายใส่ท่อลอดไว้ไม่ถี่พอ ทำให้น้ำผ่านไปอีกฝั่งไม่ทันจึงยกตัวสะสมจนน้ำต้องไหลบ่าข้ามผิวทาง และทำให้ฝั่งที่น้ำล้น มีน้ำท่วมขังนานกว่าที่ควร และยังไหลไปตามริมถนนจนเลยจุดที่จะสามารถย้อนมาลงอ่างเก็บน้ำไปอย่างน่าเสียดาย
ว่ากันว่าบางปีเราอาจมีน้ำเข้าเขื่อนและอ่างรวมๆราว 2 หมื่นล้านคิว แค่นั้นเอง
การแก้ไขจึงต้องคิดเชิงผังเมืองประกอบผังน้ำ ไม่งั้นเราจะคิดแค่เมืองกับการเดินทางของ “คน” แต่ไม่ได้คำนึงว่า “น้ำ” ก็ต้องเดินทาง
ถ้าคนต้องเดินทางจากบ้านไปกลับที่ทำงาน
น้ำก็ควรได้เดินทางไปถึงแหล่งกักเก็บไว้ใช้เลี้ยงคนและแปลงเพาะปลูกแล้วก็ไปรอในแหล่งเก็บถัดไปด้วย
ฝนเมืองไทยที่ผ่านๆมาจึงได้เลี้ยงป่า แต่ไม่ยักค่อยได้เลี้ยงแปลงเพาะปลูก
แต่กระนั้น ไทยก็ยังอุตส่าห์เป็นประเทศส่งออกอาหารรายสำคัญของโลก ดินเราดี ฝนเรามี
เทวดาไทยเลี้ยงดูเราดีมาก ให้ฝนให้ดินอุดม ให้ป่า ให้เขา
เพียงแต่เรา ทำร้ายป่าเขา ทำเอาดินไหลลงมา แล้วเราก็เอาดินและทรายมาถมที่ ถมอ่าง สร้างนั่นสร้างนี่ขวางทางไหล จนน้ำท่วมตัวเราเอง จนมีภัยแล้ง
แล้งเพราะไม่ได้เก็บน้ำ ไม่ใช่แล้งเพราะไม่มีฝน
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสังเกตว่า อิสราเอลเป็นทะเลทรายมีฝนตกน้อยแต่ปัจจุบันเก็บน้ำและส่งน้ำใส่ท่อไปขายจอร์แดนเป็นล่ำเป็นสัน แถมอิสราเอลส่งออกพืชผลการเกษตร และดอกไม้ เข้าสู่ยุโรปอย่างมหาศาล
สิงคโปร์มีฝนตกลงเกาะให้ได้เก็บเพียงน้อยนิด แต่ปัจจุบันมีน้ำใช้จากการ วนน้ำ ที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำได้ ดื่มกินได้ มีการแปลงน้ำทะเลเป็นน้ำจืดสำรอง โดยหากสัญญาซื้อน้ำจากมาเลเซียหมดอายุลงเมื่อไหร่ แทนที่สิงคโปร์จะต้องอ้อนวอนขอต่อสัญญากลับจะเป็นว่า ผู้ขายต้องง้อขอให้ฝ่ายซื้อ”ช่วย” ซื้อต่อหน่อย เพราะฝ่ายขายจำเป็นต้องรักษารายได้
ทั้งหมดนี้จึงอยู่ที่การ “รู้ข้อมูลที่จริงแท้เป็นรายพื้นที่แล้วจัดการในแต่ละพื้นที่อย่างถี่ถ้วน”
เพราะฝนของไทยยังคงตกดี แต่ฝนตกแล้วน้ำต้องไหล ถ้าขังจะเน่า การไหลต้องพาไปแหล่งเก็บ มีระบบกระจายน้ำไปใช้ และมีวิธีเอาน้ำมาวนใช้ซ้ำ ยิ่งวนใช้ได้หลายรอบก็ยิ่งคุ้มค่า ก่อนจะปล่อยลงทะเลไปในสภาพที่สะอาด รักษาทะเลไปด้วย
ทั้งหมดจึงต้องมองให้เห็นเป็นองค์รวม แล้วจัดการอย่างตั้งใจ ไม่แบ่งกรม ไม่แบ่งกระทรวง แต่แบ่งภาค แบ่งลุ่มน้ำกันให้ดี
ฝนในไทยมีสถิติเพิ่มลดราว 20% ในรอบสิบปี แต่ฝนในออสเตรเลียและแคลิฟอร์เนียลดลงไป 75% ในรอบ 10 ปี ไฟป่า ปี 2020 ทั้งในแคลิฟอร์เนียและออสเตรเลียถึงได้เผาผลาญทั้งป่าและไหม้เมืองไปเป็นเมืองๆได้ และแทบทั้งหลายไม่ได้มาจากการเผาโดยมนุษย์ด้วยซ้ำ
ดังนั้นจากที่ผมเคยเขียนซีรี่ย์บทความเรื่อง ฝุ่นควัน จึงขอขยับมาแตะเรื่องน้ำ ในคราวนี้
(รออ่านตอน2ต่อนะครับ)