ThaiPublica > บล็อก > ศึกชิงทำเนียบขาว (จบ): อิทธิพลสื่อต่อการชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ศึกชิงทำเนียบขาว (จบ): อิทธิพลสื่อต่อการชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

2 สิงหาคม 2016


พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เขียนเล่าประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการ International Visitor Leadership Program (IVLP) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อไปสังเกตุการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา

ตอนที่แล้ว เราได้รู้ว่า คู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 45 (ต่อจากบารัก โอบามา) น่าจะเป็นศึกระดับ Heavy Weight ระหว่าง “ฮิลลารี คลินตัน” จากพรรคเดโมแครต และ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกัน

มาวันนี้ เรามาศึกษากันว่า “กติกา” ของศึกนี้ว่ากันอย่างไรบ้าง ใครจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ วัดกันที่ตรงไหน

เส้นทางสู่การเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะต้องผ่านการเลือกตั้งสำคัญอยู่ 2 ด่าน ด่านแรกคือการเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรค และด่านที่สอง คือการเลือกตั้งทั่วประเทศพร้อมๆ กัน
เส้นทางสู่การเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะต้องผ่านการเลือกตั้งสำคัญอยู่ 2 ด่าน ด่านแรก คือการเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรค (Primary Election) ที่ใช้เวลายาวนานราว 7 เดือน และด่านที่สอง คือการเลือกตั้งทั่วประเทศ (General Election) ที่จะมีขึ้นพร้อมกันในวันเดียว ซึ่งทั้ง 2 ด่านจะไม่ใช่การเลือกตั้ง “ทางตรง” อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด แต่เป็นการเลือกตั้ง “ทางอ้อม” เพื่อเลือกผู้แทนเข้าไปเลือกผู้สมัครอีกทีหนึ่ง

ระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างซับซ้อน และเข้าใจได้ยาก

เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ซึ่งเคยทำเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่ง และเคยมีประสบการณ์การทำข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 2008 มาก่อน ใช้เวลาครึ่งวัน เพื่ออธิบายให้ผู้สื่อข่าวไทยเข้าใจอย่างคร่าวๆ จนเจ้าตัวต้องออกปากแซวระบบเลือกตั้งของบ้านเกิดตัวเอง ว่าเป็น “crazy system”

หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีด้วยกัน “2 ขยัก”

และไม่ใช่การเลือกตั้งทางตรงอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมเพื่อเลือก “ผู้แทน” ให้เข้าไปลงคะแนนเลือก “ผู้สมัคร” อีกทีหนึ่ง

– ขยักแรก คือ “การเลือกตั้งขั้นต้น” (primary election) เพื่อชิงสิทธิ์การเป็นตัวแทนพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี  ซึ่งความจริงในประเทศสหรัฐฯ มีพรรคการเมืองมากกว่า 2 พรรค แต่พรรคที่คนให้ความสนใจและมีความสำคัญจริงๆ กลับมีเพียง พรรคเดโมแครต (ก่อตั้งปี ค.ศ. 1828) กับพรรครีพับลิกัน (ก่อตั้งปี ค.ศ. 1854 ที่บางครั้งถูกเรียกด้วยชื่อเล่นว่า GOP ซึ่งย่อมาจาก Grand Old Party)

การเลือกตั้งในขั้นนี้จะเป็นการเลือก “ผู้แทน” ที่เรียกกันว่า delegates เพื่อเข้าไปเลือกผู้สมัครอีกทีหนึ่ง โดยจำนวนผู้แทนจะแตกต่างกันไปตามจำนวนประชากรในแต่ละรัฐ (50 รัฐ 5 เขตปกครองพิเศษ และ 1 เมืองหลวง คือ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.) ซึ่งแน่นอนว่า รัฐแคลิฟอร์เนียที่มีประชากรมากที่สุดก็ย่อมมีจำนวน delegates มากที่สุด ทั้งนี้ วิธีการเลือกตั้งจะมี 2 แบบ ทั้งไปหย่อนบัตรตามปกติ ที่เรียกกันว่า primary และไปประชุมเพื่อลงคะแนนแบบแสดงตัว ที่เรียกกันว่า caucus

สำหรับกระบวนการเลือกตั้งขั้นต้น มักใช้เวลาราว 7 เดือน คือระหว่างเดือนมกราคม – เดือนกรกฎาคม ของปีเลือกตั้ง โดยจะไปจบที่การประชุมใหญ่ระดับชาติ (National Convention) ของแต่ละพรรค ซึ่งมักจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม อันเป็นพิธีกรรมทางการเมือง เพื่อเปลี่ยน “ผู้ได้คะแนนสูงสุด” ให้กลายเป็น “ผู้สมัครประธานาธิบดี” ของพรรค อย่างเป็นทางการ

นี่หน้าตา "บัตรออกเสียงลงคะแนน" หรือบัตรเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่ได้จากคูหาแห่งหนึ่งในรัฐเพนซิลวาเนีย เหตุที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ เนื่องในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง จะไม่ได้เลือกหลายๆ ตำแหน่งพร้อมๆ กัน อย่างเช่นครั้งนี้ ก็ไม่ได้เลือกเฉพาะประธานาธิบดี ยังเลือกผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองสำคัญๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นไปในตัวด้วย
นี่คือหน้าตา “บัตรออกเสียงลงคะแนน” หรือบัตรเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่ได้จากคูหาแห่งหนึ่งในรัฐเพนซิลวาเนีย เหตุที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ เนื่องจากในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะไม่ได้เลือกแค่ตำแหน่งเดียว แต่เลือกหลายๆ ตำแหน่งพร้อมกัน อย่างการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2016 นอกจากประธานาธิบดี ยังมีการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองสำคัญๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นในเวลาเดียวกันด้วย (แต่การลงคะแนนจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เข้าไปกาในกระดาษแล้วหย่อนบัตรลงกล่องเหมือนประเทศไทย)

– ขยักที่สอง “การเลือกตั้งทั่วไป” (general election) จะมีขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศในวันเดียว ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนของปีเลือกตั้ง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559

การเลือกตั้งทั่วไป จะมีขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศเพื่อไปเลือกผู้แทนอีกเช่นกัน ที่เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้ง” หรือ electoral college ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 538 คน ด้วยวิธีหย่อนบัตรเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ รัฐส่วนใหญ่จะใช้วิธีคิดคะแนนแบบ “ผู้ชนะกินรวบ” (winner-take-all) ที่แปลว่า ผู้ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในรัฐนั้นๆ จะได้จำนวน electoral college ของรัฐนั้นไปทั้งหมด (เช่น หากชนะการเลือกตั้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็จะได้ electoral college ของรัฐนี้ ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 55 คนไปทั้งหมด โดยที่ผู้แพ้ไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว)

และผู้สมัครที่ได้จำนวน electoral college เกินครึ่ง หรือตั้งแต่ 270 คนขึ้นไป จะได้เป็น “ผู้นำทำเนียบขาว” คนใหม่!

แม้วิธีคิดคะแนนแบบ winner-take-all จะทำให้เกิดปัญหา กรณีที่ผู้สมัครที่ได้จำนวน electoral college ไม่ใช่ผู้ที่ได้คะแนนเสียงรวมสูงสุด (popular vote) สูงสุด มาแล้วถึง 4 ครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ทั้งในปี ค.ศ. 1824, 1876, 1888 และ 2000 และผู้เกี่ยวข้องก็เห็นถึงจุดอ่อนข้อนี้แล้ว แต่ไม่พยายามแก้ไขกติกาดังกล่าว เพราะมองว่า หากใช้คะแนนเสียงรวมสูงสุดมาตัดสิน จะทำให้ผู้สมัครไปเน้นหาเสียงในรัฐที่มีประชากรมากๆ อย่างแคลิฟอร์เนีย เท็กซัส ฟลอริดา นิวยอร์ก หรืออิลลินอยส์ เท่านั้น

ระบบเดิมแม้จะซับซ้อนและพิลึกพิลั่นไปสักหน่อย แต่ก็บังคับให้ผู้สมัครต้องเดินทางไปพบปะกับประชาชนทั่วประเทศอย่างแท้จริง ตั้งแต่การสู้ศึกภายในพรรค มาถึงการสู้ศึกชิงเก้าอี้ยักษ์ของประเทศ

นอกจากนี้ การเลือกตั้งที่ใช้เวลายาวนานแรมปี แถมมีเวทีบังคับให้ “คนอยากเป็นผู้นำประเทศ” ต้องขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ถึงนโยบายและจุดยืนด้านต่างๆ ด้วยการ debate นับสิบเวที ทั้งในระดับรัฐและระดับชาติ ก็เป็นการกรองคนที่ไม่พร้อม หรือหวังจะส้มหล่น ได้รับเลือกให้เป็น “ประธานาธิบดีคนนอก” ไปในตัว

ใครอยากมีอำนาจต้องเข้ามาต่อสู้ในระบบ

และนี่คือข้อดีของ crazy system ในการเมืองสหรัฐฯ

หนังสือพิมพ์อเมริกันหลายๆ ฉบับถูกหาว่าเลือกข้างในช่วงเลือกตั้งประธานาธิดี ?
หนังสือพิมพ์อเมริกันหลายๆ ฉบับถูกหาว่าเลือกข้างในช่วงเลือกตั้งประธานาธิดี?

เขาว่าสื่ออเมริกันเลือกข้าง …จริงไหม?

ระหว่างเดินตามรอยประวัติศาสตร์ในเมืองฟิลาเดลเฟีย เมืองหลวงแห่งแรกของประเทศสหรัฐฯ ผมได้มีโอกาสเข้าชมพิพิธภัณฑ์รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ Liberty Bell ระฆังประกาศอิสรภาพ และ Independence Hall สถานที่ซึ่งผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ ใช้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1787

โชคดีที่ช่วงเวลาดังกล่าวกำลังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเส้นทางสู่ทำเนียบขาว (Headed to the White House) พอดี ผมใช้เวลาถึงครึ่งวันดื่มด่ำกับข้อมูลและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของประเทศสหรัฐฯ ที่มีมากว่า 200 ปี ของประธานาธิบดี 44 คน

ที่น่าสนใจก็คือ มุมหนึ่งของนิทรรศการ ได้บอกเล่าถึง “อิทธิพลของสื่อ” ต่อการชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งแต่อดีต – ปัจจุบัน

ตลอดสิบปีแห่งความขัดแย้งในประเทศไทย เวลาเกิดข้อครหาเรื่อง “สื่อเลือกข้าง” ก็มักมีคนยกตัวอย่างสื่อสหรัฐฯ ว่าก็เลือกข้างเหมือนกัน โดยเฉพาะในช่วงของการเลือกตั้งประธานาธิบดี …คำถามก็คือ สื่อสหรัฐฯ เลือกข้างอย่างที่มีคนพยายามโน้มน้าวให้เชื่อ จริงหรือไม่?

เมื่อนำคำถามนี้ไปถามกับบรรณาธิการคนหนึ่งของ The Philadelphia Inquirer หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอันดับหนึ่งของเมืองฟิลาเดลเฟีย

เธอก็ตั้งคำถามกลับว่า แล้วหนังสือพิมพ์หลักในประเทศไทยมีทั้งสิ้นกี่ฉบับ?

“ประมาณยี่สิบฉบับครับ” หลังจากผมตอบออกไป เธอก็ให้ข้อมูลว่า แต่ในประเทศสหรัฐฯ หากไม่ใช่รัฐหรือเมืองใหญ่ๆ จะมีหนังสือพิมพ์หลักๆ อยู่เพียง 1-2 ฉบับเท่านั้น ดังนั้น การประกาศว่าผู้สมัครคนไหนที่น่าสนับสนุน หรือที่เรียกกันว่า endorsement จึงเป็นการให้ข้อมูลอย่างหนึ่งกับคนอ่าน ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังเป็นการแฟร์กับคนอ่านด้วย ในการประกาศว่าเราสนับสนุนใคร

“แต่การ endorsement ของเรา จะมีการแยกหน้าออกมาเป็นพิเศษ แล้วบอกว่านี่เป็นความเห็นของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ โดยเราจะไม่เอาความเห็นนี้ไปปะปนกับการทำข่าวเด็ดขาด” เธอกล่าวย้ำ

โดนัลด์ ทรัมป์ มันแสดงความเห็นต่างๆ ไปยังผู้มีสิทธิออกเสียงโดยตรงผ่านทางทวิตเตอร์ @realDonaldTrump โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อพื้นที่โฆษณาในสื่อดั้งเดิมอีกต่อไป
ปัจจุบัน โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้ทวิตเตอร์ @realDonaldTrump เป็นอีกช่องทางในการสื่อสารไปยังชาวอเมริกันได้โดยตรง (ปัจจุบันเขามีผู้ติดตามถึง 10 ล้านบัญชี) แต่ นิกกี้ อัชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กลับระบุว่า ข้อเสียของการสื่อสารในช่องทางนี้ก็คือ คนที่รับสารส่วนใหญ่มักจะเป็นแฟนคลับหรือคนที่มีแนวโน้มว่าจะโหวตให้ทรัมป์อยู่แล้ว ไม่ใช่คนใหม่ๆ ที่ทรัมป์ต้องการเปลี่ยนใจให้มาเลือกเขา

อย่างไรก็ตาม การ endorsement ผู้สมัครรายใดจะมีเฉพาะในหนังสือพิมพ์เท่านั้น วิทยุและโทรทัศน์ส่วนใหญ่จะไม่ทำอย่างเด็ดขาด โดยนักข่าววิทยุและทีวีหลายคนที่เราได้พบกล่าวว่า การ endorsement เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานในหนังสือพิมพ์เท่านั้น วิทยุและทีวีจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะต้องการนำเสนอข่าวให้ไม่มีข้าง (impartial) มากที่สุด

แต่ก็ใช่ว่าการประกาศ endorsement ของหนังสือพิมพ์ชื่อดังในเมืองหรือในรัฐนั้นๆ จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินผลแพ้ชนะเสมอไป อย่างกรณี New Hampshire Union Leader หนังสือพิมพ์ชั้นนำของรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ประกาศสนับสนุน “คริส คริสตี้” ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซี ให้เป็นผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน แต่ผลปรากฏว่า คริสตี้กลับแพ้ทรัมป์อย่างยับเยินในการเลือกตั้งที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ จนต้องถอนตัวโดยทันที

และหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็ถูกทรัมป์นำไปฉีกบนเวทีหาเสียง

นิกกี้ อัชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ระบุว่า บทบาทของสื่อดั้งเดิม อย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ ไปจนถึงโทรทัศน์ ต่อการเลือกตั้งในสังคมอเมริกัน จะค่อยๆ ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ เนื่องจากคนรุ่นใหม่หันไปติดตามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น การประกาศ endorsement ผู้สมัครรายใดแทบไม่มีนัยสำคัญอะไรอีกแล้ว เพราะปัจจุบัน ผู้สมัครต่างส่งสารไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวกลางอย่างสื่อ

เธอมองว่า ปัจจุบัน เฟซบุ๊กเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดการรับรู้ข่าวสารของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการเขียนอัลกอริทึมที่ช่วยคัดกรองข่าวสารที่เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กนั้นๆ จะได้พบเห็นตามความสนใจ

ข้อมูลจากนักวิชาการรายนี้ ทำให้พอมองเห็นว่า พฤติกรรมการติดตามข่าวสารที่เปลี่ยนไป อาจส่งผลกระทบต่อการเมืองสหรัฐฯ และของทั่วโลกในอนาคต

ในยุคปัจจุบัน สื่อจะเลือกข้างหรือไม่ อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่กำหนดผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี เท่ากับว่าผู้สมัครรายใดใช้ประโยชน์กับการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อได้มากกว่ากัน ดังเช่น “จอห์น เอฟ เคนเนดี้” เคยใช้ประโยชน์จากการบูมของสื่อโทรทัศน์ จนคว่ำ “ริชาร์ด นิกสัน” สำเร็จ เมื่อปี ค.ศ. 1960

หรือกรณี “บารัก โอบามา” ที่ขี่กระแสโซเชียลมีเดียเพิ่งบูม เมื่อกว่า 8 ปีก่อน จนเข้าวินในท้ายที่สุด

ศึกชิงทำเนียบขาวครั้งนี้ ไม่ว่าฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายชนะ ก็จะเป็นประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น
ศึกชิงทำเนียบขาวครั้งนี้ ไม่ว่าฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายชนะ ก็จะเป็นประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น

บทสรุป คือ “ประวัติศาสตร์” หน้าใหม่

ต้นเดือนพฤษภาคม 2559 แม้จะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน และคนท้องถิ่นบอกว่า จะเป็นช่วงเวลาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.  อากาศดีที่สุดในรอบปีก็ตาม แต่จู่ๆ ฝนก็เทลงมาอย่างหนัก จนกรุ๊ปทัวร์ชาวจีนที่มายืนเซลฟี่ตัวเองกับ The Capitol อาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ ต้องแตกกระเจิงหาที่หลบฝนกันอลหม่าน

เส้นทางสู่ทำเนียบขาวก็อาจต้องประสบกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่าง “ฝนเดือนพฤษภาฯ” ในเมืองหลวงของสหรัฐฯ แห่งนี้

ตลอดเส้นทางการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ทั้งความขัดแย้งภายในพรรครีพับลิกัน และระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้คัคด้าน ถึงขั้นมีคนที่คิดจะลอบสังหารเขา

สำหรับฮิลลารี คลินตัน ผลโพลที่เคยนำคู่แข่งชนิดไม่เห็นฝุ่นก็กลับมาสูสี และมีบางครั้งที่ต้องกลายเป็นผู้ตาม หรือเหตุการณ์เมื่อครั้งที่แพ้โอบาม่าอย่างพลิกความคาดหมายจะกลับมาซ้ำรอย

แต่ไม่ว่าผู้สมัครรายใดจะเข้าวิน ก็สร้าง “ประวัติศาสตร์หน้าใหม่” ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “ประธานาธิบดีหญิงคนแรก” หรือ “ผู้นำอายุมากสุดในวันเข้ารับตำแหน่ง”

…..

คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ แล้วทำไม “คนไทย” ต้องสนใจการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ?

ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็คือ เนื่องจากประเทศสหรัฐฯ ถือเป็น “มหาอำนาจ” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน มีอิทธิพลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงการทหาร

แต่ถ้าตอบในเชิงข้อมูล ประเทศสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย ถึงปีละกว่า 1.2 ล้านล้านบาท (มูลค่าเกือบครึ่งของบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลไทย) โดยเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีจำนวนคนไทยทั้งไปทำงานและเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐฯ จำนวนมากกว่า 3 แสนคน ซึ่งกว่า 70% จะอาศัยอยู่ในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย จนอาจเรียกได้ว่าเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

ในเชิงประวัติศาสตร์ ทั้ง 2 ประเทศยังมีสัมพันธ์ทางการทูตกันมากว่า 180 ปีแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ เคยให้ความช่วยเหลือรัฐบาลไทยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ถ้าตอบในเชิงอารมณ์ความรู้สึก การติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจเป็น “โชว์แก้เหงา” ในระหว่างที่คนไทยไม่ได้หย่อนบัตรลงคะแนนเสียงมากว่า 5 ปีแล้ว และไม่มีใครการันตีได้ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นภายในปี 2560 อย่างที่ผู้นำ คสช. ให้คำมั่นสัญญาไว้หรือไม่

นี่คือผลที่ได้จากการเดินทางไปดูการเลือกตั้งสหรัฐฯ แล้วย้อนกลับมาเปรียบเทียบกับการเมืองภายในประเทศไทย