ThaiPublica > คอลัมน์ > เรียนรู้พฤติกรรมผู้ส่งออกไทย ขายมาก ขายน้อย ขายใคร?

เรียนรู้พฤติกรรมผู้ส่งออกไทย ขายมาก ขายน้อย ขายใคร?

1 ตุลาคม 2020


ดวงดาว มหากิจศิริ [email protected] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิศรุต สุวรรณประเสริฐ [email protected] Middle Tennessee State University

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “พฤติกรรมการส่งออกแบบสองขั้วของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย” เผยแพร่ใน website ของ

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=7708

เวลาพูดถึงผู้ส่งออก เรามักจะนึกถึงภาพบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทที่มีรายได้ส่วนมากมาจากการขายให้กับตลาดต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว งานวิจัยเศรษฐศาสตร์ด้านการค้าระหว่างประเทศกลับพบว่า ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้จากการส่งออกเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา กว่า 66% ของผู้ส่งออกมีรายได้จากการส่งออกน้อยกว่า 10% ของรายได้รวม และมีเพียงแค่ 4.3% ของผู้ส่งออกเท่านั้นที่มีรายได้จากการส่งออกเกินครึ่งหนึ่งของรายได้รวม ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยของสัดส่วนรายได้ที่มาจากการส่งออกของเหล่าผู้ส่งออกในสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 14 ซึ่งรายได้จากการส่งออกที่มีสัดส่วนน้อยนี้ยังพบในประเทศอื่น ๆ ด้วย อาทิ ประเทศฝรั่งเศส และ โคลัมเบีย จึงอาจสรุปได้ว่า ผู้ประกอบการที่ส่งออกมักพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก และรายได้จากการขายให้ตลาดต่างประเทศเป็นเพียงรายได้เสริม

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว นำมาสู่คำถามที่ชวนหาคำตอบคือ ในกรณีของผู้ส่งออกไทย เราพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลักเช่นเดียวกันกับตัวอย่างในต่างประเทศหรือไม่ ซึ่งคำตอบของคำถามนี้จะเกี่ยวเนื่องถึงระดับความรุนแรงของผลกระทบของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนต่อเศรษฐกิจไทย เมื่อนำสัดส่วนการส่งออกของผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยมาพิจารณาการกระจายตัวดังแสดงในรูปที่ 1 จะเห็นได้ชัดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกเป็นแบบสองขั้ว โดยสัดส่วนการส่งออกจะมีการกระจุกตัวอยู่ในช่วงขวา (กลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งออก) และช่วงซ้าย (กลุ่มที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่) โดยมีเพียง 23% ของผู้ส่งออกที่มุ่งเน้นตลาดต่างประเทศมีรายได้จากการส่งออกสูงกว่า 90% ของรายได้รวม และราว ๆ ครึ่งหนึ่งของผู้ส่งออกไทยมีรายได้จากตลาดในประเทศมากกว่าตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ รูปแบบการส่งออกแบบสองขั้วดังกล่าวยังปรากฏให้เห็นในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลการส่งออกของกรมศุลกากรร่วมกับฐานข้อมูลบริษัทจดทะเบียน Corporate Profile and Financial Statement (CPFS) ของกระทรวงพาณิชย์

รูปแบบการส่งออกแบบสองขั้วที่พบในกรณีของไทยนั้น นำมาสู่โจทย์งานวิจัยเรื่อง “Understanding the Bimodality of Export Intensity in Thailand” ของ Mahakitsiri and Suwanprasert (2020) ซึ่งพยายามศึกษาว่าเพราะเหตุใดผู้ส่งออกของไทยจึงมีพฤติกรรมการส่งออกที่หลากหลาย โดยเฉพาะการกระจุกตัวแบบสองขั้ว (กลุ่มแรกเน้นการส่งออกเป็นหลักหรือส่งออกเกือบทั้งหมดของผลผลิต และอีกกลุ่มที่ส่งออกเพียงเล็กน้อยและมุ่งเน้นตลาดในประเทศ)

ผู้ส่งออกมากและผู้ส่งออกน้อยแตกต่างกันอย่างไร อะไรคือปัจจัยที่กำหนดการเลือกส่งออกในระดับที่แตกต่างกัน

คณะผู้วิจัยนำข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรม ปี พ.ศ. 2550 2555 และ 2560 ที่เก็บรวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทั้งในรูปแบบ Panel และ Repeated cross-sectional มาวิเคราะห์เจาะลึกพฤติกรรมการส่งออกของผู้ประกอบการไทย โดยครอบคลุมข้อมูลจำนวน 246,390 รายการ หรือจำนวนสถานประกอบการเฉลี่ยกว่า 80,000 รายต่อปี พบว่าการส่งออกแบบสองขั้วพบได้ในเกือบทุกสาขาอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนของผู้ส่งออกที่เน้นขายให้กับตลาดต่างประเทศสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การผลิตเฟอร์นิเจอร์ การผลิตเครื่องแต่งกาย และการผลิตอุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสาร ดังแสดงในรูปที่ 2

งานวิจัยพบว่า เมื่อเปรียบเทียบผู้ส่งออกที่เน้นตลาดต่างประเทศเพียงอย่างเดียว (ผู้ผลิตเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียว หรือ Pure exporter) และผู้ส่งออกที่เน้นขายในประเทศด้วย (ผู้ส่งออกทั่วไป หรือ General exporter) ผู้ผลิตเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียวมีคุณลักษณะพิเศษทั้งด้านขนาด ระยะเวลาการดำเนินกิจการ การใช้ปัจจัยการผลิต ชนิดผลิตภัณฑ์ และตลาดเป้าหมาย ผู้ผลิตเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียวใช้ปัจจัยทุนมากกว่าผู้ส่งออกทั่วไปประมาณ 11.5% และมีการจ้างงานที่มากกว่าถึง 29.1% ทั้งแรงงานทักษะและแรงงานไร้ทักษะ แต่กลับมีสัดส่วนปัจจัยทุนต่อแรงงานที่ต่ำกว่าผู้ส่งออกทั่วไปประมาณ 17.9%

นอกจากนี้ ผู้ผลิตเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียวมักมีระยะเวลาการดำเนินกิจการที่น้อยกว่า มีผู้ถือหุ้นต่างชาติในสัดส่วนที่มากกว่า มีการผลิตสินค้าในหมวดสินค้าน้อยชนิด และส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศที่มีรายได้สูง (เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร) โดยคณะผู้วิจัยไม่พบความแตกต่างระหว่างประสิทธิภาพในการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียวและผู้ส่งออกทั่วไป

จากข้อค้นพบนี้ นำมาสู่คำถามเชิงนโยบายที่สำคัญคือ รัฐบาลควรกระตุ้นการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยวิธีสนับสนุนผู้ประกอบการที่ไม่เคยส่งออกเปิดหาตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศ หรือควรส่งเสริมให้ผู้ส่งออกที่คุ้นเคยอยู่ในสนามการค้าระหว่างประเทศอยู่แล้ว หันมาแสวงหารายได้จากตลาดต่างประเทศมากขึ้น

งานวิจัยชิ้นนี้จึงศึกษาประสิทธิภาพของนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ (Board of Investment: BOI) ที่มีผลต่อการการส่งออก และพบว่าผู้ผลิตที่ได้รับสิทธิประโยชน์ BOI มีปริมาณผลผลิตสูงกว่าผู้ลิตอื่น ๆ 64.3% และมีมูลค่าการส่งออกสูงกว่าผู้ผลิตอื่น ๆ 92% โดยเฉลี่ยแล้วผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ BOI มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าผู้ผลิตที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ BOI 27.7% และมีแนวโน้มเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น 3.5%

ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบเชิงบวกต่อกิจกรรมการส่งออกในหลากหลายมิติ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเชิงนโยบายที่ภาครัฐพึงมีในการช่วยสร้างผู้ประกอบการค้ารายใหม่ พัฒนาผู้ส่งออกรายเดิม หรือผลักดันให้ผู้ประกอบการผันตัวมาดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศแบบเต็มกำลัง

ทั้งหมดนี้ เพื่อผลสัมฤทธิ์ในการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศนั่นเอง

หมายเหตุ :ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์