ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > EIC > EIC วิเคราะห์ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้แข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกไทย

EIC วิเคราะห์ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้แข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกไทย

15 มิถุนายน 2021


EIC NOTE ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้แข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการส่งออกไทย ส่วนอัตราเงินเฟ้อโลกที่เร่งตัวขึ้นนั้น คาดว่าจะปรับชะลอลงในระยะข้างหน้า โดยมองว่า

  • เศรษฐกิจโลกโดยรวมฟื้นตัวได้แข็งแกร่งแต่ไม่เท่าเทียม โดยยังคงมีความแตกต่างกันในรายประเทศและภาคส่วนขึ้นอยู่กับอัตราการฉีดวัคซีนรวมทั้งขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ โดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและจีนจะฟื้นตัวได้ดีกว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) อื่นๆ
  • ภาคการผลิตโลกในภาพรวมฟื้นตัวได้ดี โดยได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ (pent-up demand) และเงินออมส่วนเกิน (excess savings) ที่ปรับสูงขึ้นหลังจากการปิดเมืองมานาน อีกทั้ง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ผลิตที่ปรับดีขึ้นตามความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน รวมถึงการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงวิกฤติ COVID-19 อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อในบางกลุ่มประเทศ ส่งผลให้ภาคการผลิตในเดือนพฤษภาคมเริ่มขยายตัวชะลอลงบ้าง จึงจำเป็นต้องจับตามองสัญญาณของ supply chain disruption ต่อภาคการผลิตในระยะต่อไป
  • นอกจากนี้ ดัชนี PMI โลกรายอุตสาหกรรมยังบ่งชี้ว่า กลุ่มสินค้าคงทนโดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ฟื้นตัวได้ดีกว่ากลุ่มสินค้าอื่น ตามอุปสงค์ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เพิ่มขึ้นภายใต้ความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น อีกทั้ง การบริการที่ยังมีจำกัด ทำให้ประชาชนหันมาบริโภคสินค้าคงทนมากขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมาความกังวลต่อโรคระบาดทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและมีความต้องการสินค้าเพื่อการทำงานที่บ้าน (work-from-home) และการเรียนออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้สินค้ากลุ่มเหล่านี้ฟื้นตัวได้ดีกว่าสินค้ากลุ่มอื่นๆ
  • สำหรับภาคบริการในภาพรวมยังคงฟื้นตัวช้ากว่าจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่า ภาคบริการจะมีบทบาทในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น จากการแจกจ่ายวัคซีนที่มีความคืบหน้าทำให้มีการเปิดเมืองเป็นวงกว้างมากขึ้นโดยเริ่มจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก่อน
  • การกลับมาระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ไม่ส่งผลต่อแนวโน้มการค้าโลกโดยรวมนัก โดยการส่งออกของหลายๆ ประเทศรวมถึงไทยยังคงขยายตัวได้ดี ทั้งนี้พบว่าภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของจีนและสหรัฐฯ สามารถขยายตัวได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น สำหรับภาคการส่งออกไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมเช่นกัน โดยล่าสุด EIC ปรับประมาณการขึ้นมาอยู่ที่ 15.0%YOY ในปี 2021 จากประมาณการเดิมที่ 8.6%YOY
  • ในช่วงที่ผ่านมาอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่อุปทานบางกลุ่มยังคงมีข้อจำกัดในการผลิต ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นเร็ว นอกจากนี้ การขยายตัวต่อเนื่องของตลาดที่อยู่อาศัยโลกในช่วงไตรมาสที่ผ่านมายังส่งผลให้ราคาบ้านและค่าเช่าที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น ด้านตลาดแรงงานในบางประเทศก็ปรับตึงตัวขึ้นเนื่องจากกำลังแรงงานบางส่วนยังไม่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานเต็มที่ ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับสูง ด้วยเหตุนี้ อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศจึงปรับสูงขึ้นเร็ว
  • ในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากอุปสงค์ต่อสินค้าบางชนิด เช่น medical supply จะทยอยลดลงตามการฉีดวัคซีนที่คืบหน้า ประกอบกับการขยายตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางกลุ่มอาจปรับชะลอลงหลังจากอุปทานในระยะถัดไปจะเริ่มปรับขึ้นตามราคา ด้านแรงกดดันค่าจ้างจะลดลงหลังแรงงานกลับเข้าตลาดมากขึ้น ขณะที่ Base Effect จากฐานที่ต่ำก็จะเริ่มลดลงในช่วงปลายปี 2021
  • อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเร็วในหลายๆ ประเทศ ส่งผลให้ภาวะการเงินตึงตัวขึ้นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางหลักได้เข้าดูแลภาวะการเงินผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ EIC คาดว่า ธนาคารกลางหลักจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีหน้า อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีโอกาสที่ Fed จะส่งสัญญาณชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (ลดการทำ QE) และเริ่มลดปริมาณการเข้าซื้อในช่วงต้นปีหน้า ส่วน ECB มีโอกาสที่จะปรับลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินผ่านโครงการ PEPP ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

เศรษฐกิจโลกโดยรวมฟื้นตัวได้แข็งแกร่งแต่ไม่เท่าเทียม โดยยังคงมีความแตกต่างกันในรายประเทศและภาคส่วน ขึ้นอยู่กับอัตราการฉีดวัคซีนรวมทั้งขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ

EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2021 จะขยายตัว 5.8% ดีกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 5.6% เทียบกับการหดตัวที่ -3.6% ในปี 2020 โดยการฟื้นตัวจะนำโดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (AE) ที่ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนสูง ซึ่งการเร่งฉีดวัคซีนที่รวดเร็วจนสามารถควบคุมการระบาดได้ดีและสามารถผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองได้ก่อน ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐขนาดใหญ่ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ความต้องการบริโภคของครัวเรือน (pent-up demand) ฟื้นตัวเร็ว และมีแนวโน้มกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติมตามการทยอยเปิดเมืองที่มากขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ดีจากทั้งภาคการส่งออกที่เข้มแข็งตามอุปสงค์โลกและการบริโภคภายในประเทศที่ยังเติบโตได้เร็วตามความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID-19

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM) อื่นๆ ยังคงช้า เนื่องจากการแจกจ่ายวัคซีนทำได้ล่าช้า และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐมีขนาดจำกัด โดยอุปสรรคในการจัดหาและแจกจ่ายวัคซีนทำให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ส่วนใหญ่จะไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในปี 2021 และเป็นเหตุให้ภาครัฐของประเทศเหล่านั้นยังคงต้องบังคับใช้มาตรการ lockdown ที่เข้มงวดและยาวนานกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อีกทั้ง มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐในกลุ่มประเทศ EM ส่วนใหญ่มีขนาดจำกัด เนื่องด้วยข้อจำกัดในการระดมทุนจากทั้งความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพการเงินการคลังของภาครัฐที่ต่ำกว่าและอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ ประเทศที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูง เช่น ไทย จะมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มผ่อนคลายค่อนข้างช้า

แนวโน้มการฟื้นตัวที่เร็วและสูงของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะช่วยฟื้นฟูมูลค่าทางเศรษฐกิจที่หายไปจากวิกฤติ COVID-19 กลับขึ้นมาได้ ขณะที่การฟื้นตัวที่ช้าและน้อยกว่าของ EM จะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นกลับมาสู่ระดับศักยภาพเดิมในปี 2022 ได้ การฉีดวัคซีนที่รวดเร็วและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจที่หายไปในปีก่อนสามารถฟื้นกลับคืนมาได้เกือบทั้งหมดภายในปี 2022 (รูปที่ 1 กลาง)

โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม ณ ก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 เพียงราว 1ppt ในปี 2022 (รูปที่ 1 ขวา) ขณะที่กลุ่มประเทศ EM (ยกเว้นจีน) ที่มีการฉีดวัคซีนล่าช้าและมาตรการทางการคลังที่จำกัดจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวช้าและไม่สามารถฟื้นฟูมูลค่าทางเศรษฐกิจที่หายไปในปีก่อนกลับขึ้นมาได้จนเกิดเป็น permanent output loss (รูปที่ 1 กลาง) ซึ่ง IMF คาดว่าเศรษฐกิจกลุ่ม EM จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมถึง 5.8ppt ในปี 2022 (รูปที่ 1 ขวา) โดยแนวโน้มที่กล่าวมาข้างต้นนี้สอดคล้องกับประมาณการ GDP โลกล่าสุดของ World Bank เดือนมิถุนายน 2021 ที่คาดว่า ในปี 2022 GDP ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะกลับมาขยายตัวเท่ากับระดับศักยภาพเดิมก่อนเกิดวิกฤติได้ ขณะที่ GDP ของกลุ่มประเทศ EM และประเทศรายได้ต่ำในปี 2022 จะยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับศักยภาพก่อนเกิดวิกฤติCOVID19 อย่างมีนัยที่ 4.1ppt และ 4.9ppt ตามลำดับ

ข้อมูลเร็วล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ EM ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมที่เข้มงวดและยาวนานกว่า ในระยะต่อไปภาครัฐยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการออกมาตรการเพิ่มเติม โดยการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาครัฐโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องเลือกใช้มาตรการ lockdown ที่เข้มงวดและยาวนานกว่า เพื่อควบคุมการระบาดระลอกล่าสุด สะท้อนได้จากดัชนี Oxford Stringency Index ที่เพิ่มสูงขึ้นในเดือนเมษายน-มิถุนายน 2021 (รูปที่ 2 ซ้าย) ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงอย่างมีนัย

นอกจากนี้ ข้อจำกัดด้านการระดมทุนทำให้ภาครัฐหลายประเทศในเอเชียไม่สามารถออกมาตรการขนาดใหญ่เพิ่มเติมได้ และมีแนวโน้มใช้งบประมาณขาดดุลที่ลดลงในปี 2021 (รูปที่ 2 ขวา) แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวนักเหมือนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม

ขณะเดียวกัน แม้ว่าธนาคารกลางของประเทศเอเชียยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายแต่แรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก และอุปทานอาหารที่ลดลงจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Flu) และภัยธรรมชาติ จะเป็นข้อจำกัดต่อการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม อีกทั้งประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ เช่น ตุรกี และรัสเซีย กลับต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจด้วย

การฟื้นตัวยังมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจ ภาคการผลิตโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังคงขยายตัวได้ดี แต่การผลิตของประเทศที่มีการระบาดระลอกใหม่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอลงบ้าง ดัชนี manufacturing PMI ของประเทศเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ยังคงส่งสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง (ดัชนีสูงกว่า 50) จากการที่โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงเปิดทำการมาอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 3 ซ้าย) ซึ่งการขยายตัวของภาคการผลิตที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป สะท้อนถึง pent-up demand ที่ฟื้นตัวได้เร็ว และการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ท่ามกลางวิกฤติ COVID-19

อย่างไรก็ดี ข้อมูลเดือนพฤษภาคมบ่งชี้ว่า ดัชนี manufacturing PMI และดัชนี Google Mobility Index ด้านกิจกรรมการทำงานของประเทศเอเชียบางประเทศที่มีการระบาดรุนแรง เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงบ้าง (รูปที่ 4) โดยเป็นผลจากการปิดโรงงานชั่วคราว เช่น ในอินเดียและฟิลิปปินส์ และการลดอัตรากำลังการผลิตของโรงงานในมาเลเซีย นอกจากนี้ ดัชนี PMI ของเวียดนามที่ชะลอตัวลงล่าสุดยังสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงหลังการติดเชื้อของแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมซัมซุง ซึ่งหากขยายเป็นวงกว้าง จะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในระยะต่อไปได้ แม้ดัชนี manufacturing PMI จะปรับชะลอตัวลงบ้างในบางภูมิภาคเอเชีย แต่ภาคการผลิตโลกโดยรวมยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากประเทศเศรษฐกิจสำคัญ

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบภาคการผลิตในรายกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่ากลุ่มสินค้าคงทนโดยเฉพาะยานยนต์
และอิเล็กทรอนิกส์ฟื้นตัวได้ดีกว่ากลุ่มสินค้าอื่น (รูปที่ 5) โดยได้รับอานิสงส์มาจากเงินออมส่วนเกิน (Excess Savings) ที่สูงขึ้นจากการปิดเมืองมานานและทางเลือกในการบริโภคสินค้าอื่นๆ รวมถึงการบริการที่ยังมีจำกัด

ขณะเดียวกันความกังวลต่อโรคระบาดจนนำไปสู่การงดใช้ระบบขนส่งสาธารณะก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้มีความต้องการรถยนต์สูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความต้องการสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งเพื่อใช้ในการทำงานที่บ้าน (work-from-home) และการเรียนออนไลน์

สำหรับภาคบริการในภาพรวมยังคงฟื้นตัวช้ากว่าจากมาตรการควบคุมที่เข้มงวด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่การฉีดวัคซีนล่าช้า ทำให้มาตรการจำกัดการเดินทางหลายส่วนยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ นอกจากนี้ภาคบริการยังส่งสัญญาณชะลอตัวลงอีกครั้ง ในประเทศที่มีการระบาดระลอกใหม่รุนแรงและการฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง เช่น ญี่ปุ่น บราซิล และ อินเดีย ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่การฉีดวัคซีนคืบหน้า เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และกลุ่มประเทศยุโรป ภาคบริการส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นบ้างแล้ว สะท้อนได้จากดัชนี Service PMI ที่เร่งตัวขึ้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2021 (รูปที่ 3 ขวา) ท่ามกลางการทยอยผ่อนคลายมาตรการ lockdown จากภาครัฐ

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ HIS Markit

ในด้านการค้าระหว่างประเทศ พบว่าการกลับมาระบาดของ COVID-19 โดยรวมไม่ส่งผลต่อการค้าโลกมากนัก สะท้อนได้จากมูลค่าการค้าโลกที่ขยายตัวได้ถึง 10%YOY และยังขยายตัว 3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2019 ซึ่งเป็นระดับก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 ทั้งนี้การฟื้นตัวนำโดยการซื้อขายสินค้าเป็นหลักขณะที่การค้าภาคบริการ ยังคงฟื้นตัวช้าและอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติ โดยการประมาณการของ UNCTAD ล่าสุดคาดว่า การซื้อขายสินค้าจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2021 นี้ ขณะที่การค้าภาคบริการคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป (รูปที่ 6 ซ้าย)

การซื้อขายสินค้าล่าสุดยังส่งสัญญาณฟื้นตัวได้ดีในเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยกลุ่มที่ขยายตัวดีที่สุด ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 เช่น เวชภัณฑ์ และการทำงานที่บ้าน (work-from-home) เช่น อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์ออฟฟิศ และแร่ธาติในการผลิตชิป อย่างไรก็ดี สินค้ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบินยังคงหดตัว (รูปที่ 6 ขวา)

การฟื้นตัวของการค้าโลกมีความแตกต่าง โดยการค้าที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ และเอเชีย-แปซิฟิก ขยายตัวสูงกว่าในระยะต่อไป ต้องจับตาแนวโน้มห่วงโซ่การผลิตที่สั้นลงและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจกระทบทิศทางการค้าโลกได้ แม้ภาพรวมการส่งออกจะขยายตัวได้ดีในหลายๆ ประเทศ แต่เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวได้เร็วและแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่น ทำให้การค้าในภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของสองเศรษฐกิจหลักนี้ ได้แก่ ภูมิภาคอเมริกาเหนือ และเอเชีย-แปซิฟิก สามารถขยายตัวได้เร็วกว่าภูมิภาคอื่น (รูปที่ 7)

ทั้งนี้การฟื้นตัวของการค้าที่ไม่เท่ากันอาจดำเนินต่อไปจากแนวโน้มห่วงโซ่การผลิตที่สั้นลง โดยผู้ผลิตส่วนมากจะตั้งโรงงานใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ตามความเสี่ยงในขั้นตอนการผลิตและราคาค่าขนส่งที่สูงขึ้นท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 รวมทั้งแรงจูงใจจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ และการมีข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ (เช่น RCEP) เพิ่มมากขึ้น การค้าโลกยังอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การขึ้นภาษีคาร์บอน ของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งอาจทำให้การนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องหดตัวลงได้

ในระยะต่อไป คาดว่าการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการค้าขายสินค้าโลกจะดำเนินได้ต่อเนื่อง ส่วนภาคบริการก็จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นตามความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยการแจกจ่ายวัคซีนอย่างทั่วถึงจะช่วยทำให้กลุ่มธุรกิจประเภท face-to-face สามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ต่างๆ ที่เกิดจากมาตรการควบคุมโรคจะทยอยลดลง ทำให้ในระยะต่อไปคาดว่าการลงทุนในสินค้าทุน (capital investment) จะมีมากขึ้น พร้อมกับการสั่งซื้อเพื่อเติมสินค้าคงคลัง (inventory restocking) ซึ่งจะช่วยให้ภาคการผลิตและการค้าขายสินค้าขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการกลับมาใช้ธุรกิจบริการที่เพิ่มมากขึ้นหลังการฉีดวัคซีนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ภาคบริการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น สะท้อนได้จากภาคบริการของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งหลังการผ่อนคลายมาตรการ lockdown ที่เร็วตามการฉีดวัคซีนที่คืบหน้ามาก (รูปที่ 8) โดยตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป EIC คาดว่าภาคบริการของประเทศหลักอื่น (เช่น ยุโรป) จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเช่นกัน หลังการฉีดวัคซีนเร่งตัวขึ้นทั่วภูมิภาค

สำหรับนัยต่อเศรษฐกิจไทยนั้น การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของภาคการผลิตและการค้าโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะส่งผลให้ภาคการส่งออกและการผลิตของไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้นตามไปด้วย โดยล่าสุดมูลค่าส่งออกหักทองคำของไทยใน 4 เดือนแรกขยายตัวถึง 12.8%YOY และกระจายตัวไปในกลุ่มสินค้าหลักเกือบทุกประเภท ซึ่งสอดคล้องกับมูลค่าการค้าโลกในภาพรวมที่ฟื้นตัวเป็นวงกว้างในไตรมาส 1 ปี 2021

สำหรับในระยะถัดไป ด้วยแนวโน้มการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาด ประกอบกับปัจจัยฐานที่ต่ำในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ทำให้ EIC มองว่าแนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้จะดีกว่าที่คาดไว้เดิม EIC จึงได้ปรับประมาณการขยายตัวมูลค่าส่งออกของไทยขึ้นมาที่ 15.0%YOY ในปี 2021 จากประมาณการเดิมที่ 8.6%YOY ซึ่งการส่งออกของไทยที่ปรับดีขึ้นนี้ ยังเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคการผลิต โดยล่าสุดพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเหล็กของไทยมีการฟื้นตัวเร็วกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่น สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกเช่นกัน

อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเร็วในหลายๆ ประเทศ ส่งผลให้ภาวะการเงินตึงตัวขึ้นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินอีกด้วย อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2021 เป็นต้นไป คาดว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะทยอยปรับลดลงจากอุปสงค์ที่ชะลอลง ขณะที่อุปทานจะเพิ่มขึ้นตามราคาที่สูงขึ้น

อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นจากปัจจัยใด?

อุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่อุปทานยังคงมีข้อจำกัดจากการขาดแคลนสินค้าและปัจจัยการผลิต
บางกลุ่ม ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นเร็วในหลายประเทศ โดยล่าสุดในเดือนเมษายน 2021 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI Inflation) ของประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลกส่งสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างมาก (รูปที่ 9) โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นถึง 4.2%YOY (เทียบกับ 2.6%YOY ในเดือนมีนาคม) ส่วนอัตราเงินเฟ้อของยุโรป (1.6%YOY เทียบกับ 1.3%YOY ในเดือนมีนาคม)และจีน (0.9%YOY เทียบกับ 0.4%YOY ในเดือนมีนาคม) ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยเช่นกัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกปรับสูงขึ้นเร็วมาจากหลายปัจจัยด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการเปิดเมือง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นเร็ว ตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัว รวมถึงมาตรการภาครัฐที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยรายละเอียดของแต่ละปัจจัยมีดังต่อไปนี้

1.นโยบายการเปิดเมืองและการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางพื้นที่ ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการ (Pent-up Demand) ปรับเพิ่มขึ้นและมีการนำเงินออมส่วนเกิน (Excess Savings) บางส่วนออกมาใช้ โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายและมีอัตราการติดเชื้อใหม่ลดลงได้เริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ลงบ้างแล้ว ส่งผลให้ข้อจำกัดในการบริโภคสินค้าและบริการลดลง ครัวเรือนบางส่วนจึงทยอยนำเงินออมที่สะสมไว้บางส่วนออกมาจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะในส่วนภาคบริการที่เคยถูกจำกัดกิจกรรมลง เช่น ร้านอาหาร และสายการบิน มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าและบริการเร่งตัวหลังมีการเปิดเมือง

2.การเร่งตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Price) เป็นแรงกดดันสำคัญให้ต้นทุนของผู้ผลิตสูงขึ้น และส่งผลให้ราคาสินค้าบางกลุ่มปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำหรับภาคการผลิตโดยเฉพาะน้ำมันดิบ, โลหะ rare earth, เหล็ก และทองแดง ได้เร่งตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 (รูปที่ 10) โดยปัจจัยด้านอุปสงค์มาจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกตามแนวโน้มการเปิดเมือง และการดำเนินนโยบายโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โดยเฉพาะในจีนก็ทำให้อุปสงค์ปรับเพิ่มขึ้นเร็วเช่นกัน

ส่วนปัจจัยด้านอุปทานที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นมาจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบโดยเฉพาะโลหะ rare earth ซึ่งมีไม่พอกับความต้องการนำไปใช้ผลิตสินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และชิป อีกทั้งความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีระหว่างจีน-สหรัฐฯ ก็ทำให้ปัญหาการขาดแคลนรุนแรงขึ้น โดยล่าสุดการขาดแคลนชิปสำหรับผลิตรถยนต์ใหม่ได้ส่งผลให้ราคารถยนต์มือสองในสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยถึง 21%YOY ในเดือนพฤษภาคม 2021

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2021)

3.การขยายตัวต่อเนื่องของตลาดที่อยู่อาศัยโลกในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาบ้านและค่าเช่าที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น จากข้อมูลล่าสุดในไตรมาส 4 ปี 2020 พบว่าราคาบ้านในกลุมประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นค่อนข้างเร็วโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่เร่งตัวเร็วกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ราคาบ้านในจีนและเกาหลีใต้ก็ปรับสูงขึ้นเร็วเช่นกัน (รูปที่ 11) โดยราคาบ้านปรับสูงขึ้นมาต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดวิกฤติ COVID-19 เนื่องจาก มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและแนวโน้มการ work-from-home เป็นแรงจูงใจสำคัญให้ครัวเรือนเลือกลงทุนในที่อยู่อาศัยมากขึ้น เช่น การเลือกลงทุนซื้อบ้านชานเมืองแทนการเช่าอะพาร์ตเมนต์ในเมืองใหญ่ อีกทั้งตัวเลือกการบริโภคอื่นๆ ก็มีจำกัดในช่วงที่มี lockdown จึงทำให้ประชาชนบางส่วนหันมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เช่น ในจีนและสหรัฐฯ เป็นต้น

นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐก็มีส่วนช่วยสนับสนุนอุปสงค์เพิ่มเติมด้วย ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ตามมาตรการผ่อนคลายของธนาคารกลางทำให้อัตราสินเชื่อบ้านลดต่ำลงมาก และมาตรการช่วยเหลือที่ทำให้มีเงินออมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ราคาบ้านที่ปรับสูงขึ้นยังทำให้อัตราค่าเช่าที่อยู่อาศัยปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา

4.ตลาดแรงงานในบางประเทศที่ตึงตัว ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานยังคงอยู่ในระดับสูง (รูปที่ 12) โดยตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ยังคงตึงตัวจากการที่กลุ่มแรงงานรายได้ต่ำซึ่งส่วนมากอยู่ในภาคธุรกิจที่ไม่สามารถปฏิบัติงานแบบ work-from-home ได้ออกจากตลาดแรงงานไปในช่วงวิกฤติและยังไม่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างเต็มที่ ซึ่งสัญญาณล่าสุดสะท้อนจากจำนวนการจ้างงานใหม่นอกภาคเกษตร (Non-farm Payrolls) ที่ยังคงต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมมีการจ้างงานใหม่เพียงแค่ 2.7 แสน และ 5.6 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ถึง 9.8 แสน และ 6.5 แสนตำแหน่ง ตามลำดับ

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ลดแรงจูงใจต่อการกลับมาทำงานของกลุ่มแรงงานรายได้ต่ำในสหรัฐฯ คือมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนต่างๆ รวมทั้ง เงินประกันรายได้แรงงานที่ตกงาน (Unemployment Insurance: UI) ที่ส่วนมากถูกต่ออายุออกไป ถึงอย่างน้อยในไตรมาส 3 ของปี 2021 ซึ่งเงินช่วยเหลือนี้มีมูลค่าสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของแรงงานหลายกลุ่ม จึงลดแรงจูงใจในการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน อัตราค่าจ้างในช่วงที่ผ่านมาจึงปรับสูงขึ้น

5.ปัจจัยเชิงเทคนิคจากฐานต่ำในปีก่อน (Base Effect) เป็นอีกปัจจัยเสริมที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเร็ว ในไตรมาส 2 ในปี 2021 โดยราคาสินค้าและบริการปรับลดลงสู่จุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 ท่ามกลางมาตรการ Lockdown เต็มรูปแบบทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ ดัชนีราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกจึงเร่งตัวอย่างมากในไตรมาสที่ 2 ของปี 2021

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปเป็นอย่างไร และมีปัจจัยใดที่ต้องจับตามอง?

แม้ว่าหลายปัจจัยหลักที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นแรงผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นในไตรมาส2 ของปี 2021แต่ EIC คาดว่าแรงกดดันจากปัจจัยเหล่านั้นมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจาก

  • อุปสงค์ต่อสินค้าบางชนิดที่จะลดลงตามการฉีดวัคซีนที่คืบหน้า ได้แก่ ความต้องการสินค้ากลุ่ม medical supply ทั้งหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการรักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่จะลดลง รวมทั้งความต้องการสินค้าที่จำเป็นต่อการ work-from-home อาจจะลดลงเช่นกัน หลังมีการกลับเข้าปฏิบัติงานในออฟฟิศเพิ่มมากขึ้น
  • การขยายตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจชะลอลง หลังจากอุปทานในระยะถัดไปจะเริ่มปรับขึ้นตามราคา โดยข้อจำกัดด้านการผลิตจะมีน้อยลงในระยะยาว ในขณะเดียวกัน อุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกจากเอเชีย (เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์) คาดว่าจะชะลอลง นอกจากนี้ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งนโยบายการคลังที่ตึงตัวขึ้นจะเป็นแรงกดดันให้อุปสงค์ในจีนลดลง และส่งผลให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นต้นทุนในการผลิตลดลงตามมาเช่นกัน
  • ต้นทุนผู้ผลิตที่สูงขึ้นอาจไม่ส่งผลต่อราคาค้าปลีกเต็มที่ โดยผู้ผลิตอาจมีแนวโน้มรักษาฐานลูกค้าไว้และเลือกที่จะรับอัตราส่วนกำไร (profit margin) ที่ลดลงแทน ด้วยเหตุนี้ราคาค้าปลีกของสินค้าอุปโภคบริโภคจึงไม่น่าจะเพิ่มขึ้นเร็วเท่าอัตราราคาสินค้าต้นทุนของผู้ผลิต สะท้อนได้จากดัชนีสินค้าผู้ผลิต (PPI) ที่เร่งตัวสูงขึ้นกว่าดัชนีสินค้าผู้บริโภค (CPI) เช่น CPI ของสหรัฐฯในเดือนเมษายน 2021 อยู่ใน 4.2%YOY (จาก 2.6%YOY ในเดือนมีนาคม) ขณะที่ PPI อยู่ที่ 6.2%YOY (จาก 4.2%YOY ในเดือนมีนาคม) เป็นต้น
  • แรงกดดันด้านค่าจ้างจะลดลงหลังแรงงานกลับเข้าตลาดมากขึ้น โดยการฉีดวัคซีนที่แพร่หลายนำไปสู่การเปิดสถานที่ทำงานเพิ่มเติม รวมทั้งการเปิดโรงเรียนที่ทำให้พ่อแม่มีเวลากลับมาทำงานมากขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญให้ตลาดแรงงานตึงตัวน้อยลง นอกจากนี้ การหมดอายุของมาตรการประกันรายได้แรงงานตกงานของสหรัฐในเดือนกันยายนเป็นต้นไป จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้กลุ่มอาชีพที่รายได้ต่ำกว่าเงินช่วยเหลือเลือกกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นเช่นกัน
  • Base Effect จากฐานที่ต่ำจะเริ่มลดลงในปลายปี 2021 เนื่องจากฐานราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เริ่มกลับตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2020

ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่รวมถึงธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักต่างมองว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับชะลอลงในระยะต่อไป สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ที่ไม่ปรับสูงขึ้นมากนัก โดยเครื่องชี้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในสหรัฐฯ ต่างบ่งชี้ว่า แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์จะปรับสูงขึ้นจากระดับต่ำมากในช่วง COVID-19 แต่ยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกันตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจากทั้งธนาคารกลางและผู้ร่วมตลาดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักต่างก็มีแนวโน้มปรับลดลงในระยะถัดไป (รูปที่ 13) ซึ่งปัจจัยด้านการคาดการณ์นี้จะมีส่วนช่วยให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจริงในระยะต่อไปไม่เพิ่มขึ้นเร็วนัก เนื่องจากในอดีตพบว่า หากอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ปรับเพิ่มขึ้นเร็วจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและพฤติกรรมการตั้งราคาของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคจนทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ล่าสุดที่ยังไม่มีสัญญาณเปลี่ยนแปลงชัดเจนนักจะช่วยให้ทั้งครัวเรือนและภาคธุรกิจคงความเชื่อมั่นในกรอบราคาสินค้าและบริการเดิม และไม่เป็นการเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้อัตราเงินเฟ้อโดยรวมจะมีแนวโน้มปรับชะลอลงในระยะต่อไป แต่ก็มีสินค้าและบริการบางกลุ่มที่อาจยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปได้ คือ

  • ราคาที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ จากอุปสงค์ที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงตามปัจจัยภูมิประชากรศาสตร์ (demographic) ที่ในปัจจุบันประชากรกลุ่มวัยทำงานใหม่ (อายุ 20-30 ปี) มีสัดส่วนสูงที่สุดของประชากรสหรัฐฯ โดยประชาชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความต้องการและกำลังซื้อบ้านใหม่มากที่สุด อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยที่จะยังคงต่ำต่อเนื่องและรายได้ครัวเรือนที่ยังเข้มแข็งก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนอุปสงค์ต่อไปได้ ขณะที่อุปทานจะยังมีจำกัด จากการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างโดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนจากความต้องการจ้างแรงงานก่อสร้างใหม่ที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2010 และยังคงอยู่ในระดับสูงท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 (รูปที่ 14) นอกจากนี้ มาตรการลดหย่อนค่าเช่าต่างๆ ในปี 2020 ที่จะทยอยหมดวาระลง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ค่าเช่าในหลายพื้นที่ยังคงอยู่ในระดับสูงได้ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่อไป

  • อัตราค่าจ้างแรงงานของประเทศกลุ่มยุโรปและญี่ปุ่นที่ยังคงต่ำอยู่ในปัจจุบัน มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในระยะต่อไป หลังมาตรการลดชั่วโมงการทำงาน (furlough scheme) สิ้นสุดลง โดยในช่วงวิกฤติ COVID-19 นั้น ประเทศในกลุ่มยุโรปและญี่ปุ่นเลือกใช้นโยบายลดชั่วโมงการทำงานลงเพื่อลดผลกระทบต่อระดับการจ้างงานโดยรวมภายในประเทศ ทำให้ผลกระทบต่อรายได้แรงงานแตกต่างจากนโยบายสนับสนุนรายได้ แรงงานที่ถูกดำเนินในสหรัฐฯ โดยแรงงานในยุโรปและญี่ปุ่นจะยังไม่ตกงาน แต่เวลาทำงานที่ไม่เต็มเวลาในช่วงที่มาตรการเหล่านี้มีผลบังคับใช้ทำให้ค่าจ้างเฉลี่ยลดต่ำลง อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปคาดว่า หลังมาตรการสิ้นสุดลงในไตรมาส 3 ปี 2021 ค่าจ้างเฉลี่ยในประเทศเหล่านี้จะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น และจะเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปได้
  • ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้อีกเล็กน้อยจากอุปสงค์ที่เร่งตัวตามการเปิดเมืองมากกว่าอุปทานที่เพิ่มขึ้น โดยกิจกรรมด้านการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและการกลับมาเปิดตัวของภาคบริการในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนคืบหน้า จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันโลกคาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงนัก จึงทำให้ตลาดน้ำมันมีลักษณะเป็น deficit คือมีอุปสงค์มากกว่าอุปทาน ราคาน้ำมันจึงยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ดี อุปสงค์จากอินเดียที่ลดลงตามตามการแพร่ระบาดและการปิดเมืองจะเป็นปัจจัยที่จะจำกัดการขยายตัวของอุปสงค์และราคาน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้อีกไม่มาก

นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงโครงสร้าง (structural factors) ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะแนวโน้มห่วงโซ่การผลิตโลกที่สั้นลง และโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น อาจเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะกลางถึงระยะยาว โดยความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตาม

อีกทั้ง มาตรการกำแพงทางภาษีอาจส่งผลต่อราคาและทำให้ตัวเลือกของผู้บริโภคมีจำกัด นอกจากนี้ สัดส่วนประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วจะนำมาสู่ทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานการผลิตและราคา ค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นตามมาซึ่งจะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะกลางถึงระยะยาวต่อไปได้ ราคาสินค้าเกษตรที่อาจอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหากอุปทานไม่เพิ่มขึ้นตามที่ประเมินไว้ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปปรับสูงขึ้นกว่าที่คาดได้

โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาสินค้าเกษตร จาก United Nation’s Food and Agriculture Organization (FAO) ปรับสูงขึ้นถึง 40%YOY และอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี ส่งผลให้ผู้ร่วมตลาดกังวลถึงผลกระทบต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและภาคเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ตัวเลขราคาสินค้าเกษตรนี้อาจเป็นสัญญาณของผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ต่อภาคการผลิตและอุปทานของสินค้าเกษตรได้ (supply chain disruption) โดยราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นเร็วอาจเพิ่มแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตร เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศรายได้ต่ำที่มีสัดส่วนการบริโภคอาหารเทียบต่อการบริโภครวมสูง อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นจะเป็นผลดีต่อกลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้า เช่น ไทย และมาเลเซีย โดยในไทยพบว่า รายได้ภาคเกษตร (farm income) ปรับสูงขึ้นถึง 14% ในเดือนเมษายน สำหรับในระยะต่อไป หากการแพร่ระบาดยังคงรุนแรงและยืดเยื้อก็อาจส่งผลต่อแนวโน้มการผลิตและอุปทานสินค้าเกษตรต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์มากกว่าที่คาด และส่งผลให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปสูงกว่าที่ประเมินไว้ได้

นัยของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อภาวะการเงิน และการดำเนินนโยบายทางการเงิน

อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้ภาวะการเงินปรับตึงตัวขึ้นแม้ธนาคารกลางจะไม่ได้ปรับการดำเนินนโยบายการเงินภายในประเทศ เงินเฟ้อคาดการณ์ของสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นเร็วส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ภาวะการเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ตึงตัวขึ้นแม้นโยบายการเงินภายในประเทศจะไม่ถูกปรับให้ตึงตัวขึ้นก็ตาม โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่สูงขึ้นนี้ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้น (รูปที่ 15) โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2021 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับสูงขึ้นถึง 68 bps ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วยราว 40-50 bps แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ EM จะยังอ่อนแอ และธนาคารกลางยังคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอยู่ก็ตาม ภาวะการเงินในกลุ่มประเทศดังกล่าวจึงปรับตึงตัวขึ้น

ทั้งนี้ตั้งแต่เกิดวิกฤติ COVID-19 ธนาคารกลางหลักต่างเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินในปริมาณที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไม่ให้ปรับสูงขึ้นเร็ว อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธนาคารกลางหลังจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินลง โดยคาดว่า ECB มีแนวโน้มลดระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์ก่อนสหรัฐฯ และอาจทำได้อย่างเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) : ในการประชุมนโยบายการเงินล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นแต่ยังคงมีความเสี่ยงและการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วนอยู่ EIC จึงมองว่า Fed จะยังเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินอย่างต่อเนื่องที่ระดับปัจจุบันในปีนี้ โดยเป็นการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และซื้อ mortgage back securities (MBS) 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ส่วนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกนั้น อาจต้องรอไปถึงครึ่งหลังของปี 2023 หรือต้นปี 2024 อย่างไรก็ดี คาดว่า Fed อาจเริ่มสื่อสารถึงการลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินในช่วงปลายปี 2021 นี้
  • ธนาคารกลางยุโรป (ECB) : ในการประชุม International Monetary and Financial Committee (IMFC) เดือนเมษายน 2021 นางคริสติน ลาการ์ด กล่าวว่า ECB ประเมินเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วขึ้นจากอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างเร็ว และตัวเลขการติดเชื้อใหม่ที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง EIC จึงมองว่า ECB อาจเริ่มปรับลดการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลภายใต้โครงการ PEPP ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยอาจลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเหลือ 7.5 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน (จากระดับเดิมที่ 8.5 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน) อย่างไรก็ดี คาดว่าการเข้าซื้อผ่านโครงการ APP จะมีอยู่จนถึงปี 2023 และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกนั้นอาจต้องรอไปถึงปี 2025

อัตราเงินเฟ้อไทยปรับสูงขึ้นเร็วในเดือนเมษายนเช่นกัน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยก็ปรับเพิ่มขึ้นเร็วตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนเมษายนและพฤษภาคมอยู่ที่ 3.4% และ 2.4% ปรับสูงขึ้นจากไตรมาสแรกค่อนข้างเร็วโดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นราคาพลังงานเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ฐานค่อนข้างต่ำจากมาตรการปิดเมืองทั่วโลก

สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยนั้นปรับสูงขึ้นเร็วโดยได้รับผลจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินโดยเฉพาะของภาคธุรกิจที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำปรับเพิ่มขึ้นมากจาก credit spread ที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี EIC คาดว่าอัตราเงินเฟ้อไทยในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มปรับชะลอลงจากฐานราคาน้ำมันที่จะเริ่มปรับสูงขึ้น ทำให้คาดว่าทั้งปี 2021 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.3% ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สูงนัก

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจปรับสูงขึ้นอีกไม่มากทำให้ต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้จะไม่ปรับเพิ่มขึ้นเร็วเหมือนในไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งนี้ EIC มองว่า ในระยะต่อไปหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับสูงขึ้นเร็วและต่อเนื่อง ธปท. ก็สามารถเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยในตลาดรองเพื่อกดให้อัตราผลตอบแทนปรับลดลงเหมือนที่เคยดำเนินการในช่วงไตรมาส 2 ปีที่แล้วได้ สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น EIC มองว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2023 และอาจมีการขยายมาตรการลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) และมาตรการผ่อนคลายการจัดชั้นคุณภาพสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินออก ซึ่งจะหมดอายุลงในเดือนธันวาคม 2021 ออกไปได้

ผู้เขียนบทวิเคราะห์:วชิรวัฒน์ บานชื่น นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส และดร.ปพน เกียรติสกุลเดชานักวิเคราะห์