เส้นทางใหม่ของภาคอุตสาหกรรมได้เริ่มขึ้นหลังจากการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 มีความคืบหน้า ประกอบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวเข้ากับยุคโควิดและมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมได้แล้ว รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมได้กลับมาสู่ภาวะปกติหลังยกเลิกล็อกดาวน์
วิจัยกรุงศรี เผยแพร่ Krungsri Research ประจำเดือนตุลาคม 2563 Industry Horizon สรุปภาวะภาคอุตสาหกรรมและประเมินทิศทางธุรกิจหลังจากการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 มีความคืบหน้า
ทั่วโลกเร่งพัฒนาวัคซีน
การพัฒนาวัคซีนต้านโควิดครั้งนี้มีการเร่งดำเนินการอย่างมาก ตั้งแต่การทดสอบระยะที่ 1 ซึ่งใช้อาสาสมัครจำนวนน้อย โดยปกติแล้วจะใช้เวลา 1-2 ปีแต่ครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ส่วนการทดสอบระยะที่ 2 ก็เช่นกันเร่งการทดสอบให้เร็วขึ้นจาก 2-3 ปีเป็น 8 เดือน ด้านการทดสอบในคนระยะที่ 3 นั้นทั่วไปแล้วต้องใช้เวลานาน 2-4 ปี แต่วัคซีนต้านโควิดรวบไปรวมกับการทดสอบในคนระยะที่ 2 เพื่อให้มีวัคซีนออกใช้เร็วขึ้น
รายงานระบุว่า ขณะนี้มีวัคซีนถึง 213 ตัวที่อยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาอย่างเข้มข้น โดยมี 35 ตัวที่กำลังทดสอบทางคลีนิคที่เป็นการทดลองใช้ในคน ซึ่งในจำนวนนี้มี 8 ตัวอยู่ระหว่างการทดสอบในคนระยะที่ 3 อีกทั้งเป็นการทดสอบที่เร่งด่วนในเวลา 12-18 เดือนจากปกติที่ใช้เวลานาน 10 ปีขึ้นไป
หลายประเทศได้หันมาใช้แนวทางการพิจารณาอนุมัติวัคซีนแบบฉุกเฉิน Emergency Use Authorisation ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานอาหารและยา โดยจีน ในเดือนสิงหาคมและสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ในเดือนกันยายนได้อนุมัติแบบฉุกเฉินให้ผู้พัฒนาวัคซีน 3 รายให้ผลิตวัคซีนเพื่่อใช้ในวงจำกัดได้ แต่ต้องได้มาตรฐานความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งข่าวดีจากการพัฒนาวัคซีนจะช่วยให้ความรู้สึกของผู้คนดีขึ้น
การค้าโลกฟื้นมาที่เดิม
นอกจากนี้การค้าโลกและผลผลิตดีขึ้นใกล้ระดับเดิมก่อนการระบาดของโควิด-19 แต่การล็อกดาวน์รอบใหม่จะมีผลให้การฟื้นตัวชะงักงัน
การกลับมาเปิดเศรษฐกิจของหลายประเทศ ส่งผลให้การค้าโลกและผลผลิตฟื้นตัวมาที่ระดับก่อนการระบาด แต่แนวโน้มยังมีความไม่แน่นอนและเปราะบาง จากสาเหตุ 3 ประการ
-
1) การฟื้นตัวส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากจีนที่มีการกระตุ้นความต้องการ และไม่ใช่การฟื้นตัวจากปัจจัยพื้นฐาน
2) ผลผลิตอุตสาหกรรมดีขึ้นในภาพกว้าง แต่การนำเข้าซึ่งป็นตัวชี้วัดความต้องการในประเทศนั้นยังคงอ่อนแอ ยกเว้นจีน
3) ในบางประเทศเริ่มกระบวนการเปิดเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันการระบาดของไวรัสระลอกใหม่ก็เริ่มขึ้นเช่นกัน
เส้นทางใหม่อุตสาหกรรมปรับตัวรับยุคโควิด
สำหรับประเทศไทยสามารถปรับตัวรับกับยุคโควิดได้แล้ว แต่ยังคงใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ขณะที่กิจกรรมทางธุรกิจเริ่มดีขึ้น
การระบาดของโควิดสร้างผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในครึ่งแรกของปี อย่างไรก็ตามดัชนีชี้วัด (leading indicators) บ่งชี้ว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ปรับตัวให้เข้ากับยุคโควิดและยังคงยึดมาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพ นับตั้งแต่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม เมื่อมีการเริ่มผ่อนปรนมาตรการ ดัชนีภาคการผลิตขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่สามในเดือนสิงหาคม แม้ยังอยู่ในระดับติดลบ ส่วนภาคบริการเริ่มฟื้นตัวเมื่อไม่นานมานี้ แต่ยังเพิ่มขึ้นไม่มาก และยังไม่ผ่านพ้นจากสถานการณ์แย่สุดในรอบนี้
มองไปข้างหน้า การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง มาตรการการเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ และข่าวความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และกระตุ้นการใช้จ่าย โดยเฉพาะในช่วงเวลาเข้าสู่เทศกาลปลายปี
ภาครถยนต์
ผ่านพ้นสถานการณ์เลวร้ายสุดไปแล้วในรอบนี้ และกลับมาอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัว
ปริมาณรถยนต์ออกสู่ตลาดมีจำนวนกว่า 117,253 คัน ลดลง 29.5% จากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการระบาดของไวรัส เพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่ได้กลับมาดำเนินธุรกิจปกติ หลังจากที่หยุดชะงักในช่วงล็อกดาวน์ ส่งผลให้การจำหน่ายในประเทศและการส่งออกหดตัวน้อยลงนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563
การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศได้กลับมาสู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับระดับเดิมก่อนการระบาดของโควิดด้วยจำนวน 68,883 คันในเดือนสิงหาคม 2563 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดงานมอเตอร์โชว์ในเดือนกรกฎาคมและงานบิ๊กมอเตอร์เซลในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ยังจำหน่ายได้ 37,035 คัน สูงกว่ารถยนต์โดยสารที่ขายได้ 28,687 คัน เป็นผลจากการขยายตัวของการซื้อสินค้าออนไลน์และภาคโลจิสติกส์ รวมทั้งการส่งมอบรถออลนิวอีซูซุดีแม็กซ์ที่เริ่มขึ้นใน 2-3 เดือนที่ผ่านมาจากที่เปิดตัวไปในเดือนตุลาคมปีก่อน และจากการเปิดตัวรถโตโยต้าไฮลักซ์ไมเนอร์เชนจ์ในเดือนมิถุนายน ตลอดจนกิจกรรมทางการตลาดและการลดราคาที่มีผลต่อการฟื้นตัวและยอดขาย
การส่งออกในเดือนสิงหาคมมีจำนวน 57,402 คัน สูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน แม้การส่งออกโดยรวมของประเทศยังไม่ดีขึ้น เป็นผลจากการคลายล็อกดาวน์และการกลับสู่ภาวะปกติ
แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์แย่น้อยกว่าที่คาด โดยคาดว่าปริมาณรถยนต์จะลดลงเล็กน้อยในปีนี้ วิจัยกรุงศรีได้ปรับคาดการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์ปีนี้จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 36-37% เป็นติดลบน้อยลง -32 ถึง-33% จากปีก่อนหน้า หรือมีปริมาณการผลิต 1.35-1.37 ล้านคัน จากสองปัจจัยคือ
ตลาดรถยนต์ในประเทศแข็งแกร่งกว่าที่คาด เพราะรัฐบาลสกัดการแพร่ะระบาดของไวรัสได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ช่วงการล็อกดาวน์สั้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคธุรกิจส่วนใหญ๋กลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของปีนี้จะไม่รุนแรงตามที่ประเมินไว้
วิจัยกรุงศรีประเมินว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศจะหดตัว 30-31% จากปีก่อนหน้าโดยมีจำนวน 0.70-0.71 ล้านคัน จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 39-40%
การส่งออกยังคงลดลงเพราะตลาดส่งออกหลายแห่งยังคงมีการระบาดของโควิด รวมทั้งความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย วิจัยกรุงศรีจึงคงคาดการณ์การส่งออกรถยนต์ไว้ที่ -34% ถึง-35% จากปีก่อนหรือมีจำนวน 0.69-0.70 ล้านคัน
ภาคอสังหาริมทรัพย์
ความชื่นชอบใหม่ของผู้บริโภค ที่อยู่อาศัยแนวราบกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้ซื้อ เนื่องจากการบังคับใช้ข้อกำหนดใหม่เพื่อสกัดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ความจำเป็นในการรักษาระยะห่างทางกายภาพ และการทำงานกับการเรียนทางไกล ทำให้ความต้องการพื้นที่ส่วนตัว สำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัวเพิ่มขึ้น นำไปสู่ความต้องการพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วที่อยู่อาศัยแนวราบจะมีจำนวนห้องมากกว่าคอนโดมิเนียมขนาดเล็ก สิ่งนี้กระตุ้นให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งแสนสิริ, เอพี (ไทยแลนด์) และออริจิ้นพร็อพเพอร์ตี้ ปรับแผนธุรกิจ เพื่อให้ครอบคลุมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบมากขึ้น
พื้นที่ใช้สอย จากการสำรวจลูกค้าของไนท์แฟรงค์ที่เจาะลึกความต้องการที่อยู่อาศัยหลังโควิด-19 พบว่า การระบาดของโควิดทำให้ผู้ซื้อทำงานจากที่บ้านมากขึ้น และส่งผลให้เกิดความต้องการพื้นที่ในห้องนั่งเล่นมากขึ้นโดยเพิ่มขึ้น 43% ความต้องการ ห้องอเนกประสงค์เพิ่มขึ้น 28% และห้องครัวเพิ่มขึ้น 19%
ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์กำลังชะลอการก่อสร้างในโครงการใหม่และหันไปให้ความสำคัญกับทาวน์เฮาส์ที่ยอดขายมาจากความต้องการที่แท้จริง
ในรอบ 7 เดือนแรกของปี ซัพพลายใหม่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดลง 46.1% จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวน 32,297 หน่วย ซึ่งห้องชุดใหม่ลดลงถึง 72.5% ตามด้วยบ้านเดี่ยวที่ลดลง 19.4% แต่จำนวนทาวน์เฮาส์เปิดขายใหม่เพิ่มขึ้น 13.4% เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการต้องการตอบสนองความต้องการที่แท้จริง โดยมีโครงการใหม่ตั้งอยู่ในถนนวงแหวนรอบนอก และในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ระบบรถไฟฟ้าขยายออกไป นอกจากนี้มีความสนใจในที่อยู่อาศัยแนวราบมากกว่าบ้านเดี่ยวที่มีราคาสูงขึ้นและคอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่ใช้สอยจำกัด ในหลายๆ กรณีราคาที่สูงขึ้นทำให้ไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป
ในช่วงที่เหลือของปี 2563 คาดว่าซัพพลายจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการตึงตัวอย่างรวดเร็วในครึ่งปีแรก ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มที่จะเปิดโครงการใหม่ออกสู่ตลาดอีกครั้ง แม้จะปรับแผนโดยชะลอการพัฒนาคอนโดมิเนียม และหันไปพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบแทน อย่างไรก็ตาม ในด้านความต้องการ รายได้ของผู้ซื้อบ้านได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอและการฟื้นตัวที่ยังไม่แน่นอน หนี้ครัวเรือนที่สูงยังส่งผลกระทบต่อการซื้อของผู้ซื้อในอนาคต ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงกำหนดตลาดเป้าหมายให้แคบลง นอกจากนี้ผู้ซื้อชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือโอนกรรมสิทธิ์ได้ ดังนั้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้จะยังคงอ่อนแอมาก โดยคาดว่าซัพพลายใหม่จะหดตัว 48.0% ในปีนี้ ส่งผลให้ยอดรวมทั้งปีลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปีและยอดจองลดลง 34.8%
จากผลพวงของโควิด-19 เจ้าของพื้นที่ค้าปลีกพยายามช่วยเหลือผู้เช่า โดยกระตุ้นผู้บริโภคด้วยกลยุทธ์การขายและการตลาด และการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ บางรายได้ลดค่าเช่าให้กับผู้เช่ามากขึ้น เพิ่มความถี่ในการจัดโปรโมชัน จัดกิจกรรมภายในศูนย์การค้า และปรับเงื่อนไขการเช่าให้ยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับผู้เช่ารายปัจจุบัน ในขณะเดียวกันผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีกได้ทบทวนแผนธุรกิจของตนเอง ผู้ค้าปลีกที่เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่กำลังหันไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น และหลายรายกำลังพิจารณาการขายที่มีหน้าร้าน และอาจลดขนาดพื้นที่ร้านค้าหรือเครือข่ายร้านลง
ซีบีริชาร์ดเอลลิส (CBRE) ได้สำรวจผู้ค้าปลีกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของในเดือนพฤษภาคม ด้วยคำถามที่ว่า โควิด-19 จะส่งผลต่อธุรกิจค้าปลีกของคุณในช่วงที่เหลือของปีอย่างไร พบว่า การล็อกดาวน์ได้ผลักดันให้ผู้ค้าปลีกหันไปใช้ช่องทางจัดจำหน่ายออนไลน์ และเมื่อคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ก็ทำต่อเนื่อง แม้มีการยกเลิกล็อกดาวน์ โดยคำตอบที่ได้จากการสำรวจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
- ธุรกิจที่เน้นการเพิ่มยอดขายทางออนไลน์ ได้แก่ ผู้ค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้ามูลค่าสูง เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าไลฟ์สไตล์ และแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย โดย 40-80% ของผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่มนี้ ให้ข้อมูลว่า จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างยอดขายออนไลน์เป็นหลักในครึ่งหลังของปี 2563
- ธุรกิจที่เน้นเครือข่ายสาขา ได้แก่ ร้านอาหาร และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ธุรกิจที่ขายประสบการณ์ และคลินิกสุขภาพและความงาม โดย 30-60% ของผู้ตอบแบบสำรวจในกลุ่มนี้ระบุว่า แผนกลยุทธ์หลักคือการยุบรวมเครือข่ายสาขา
อัตราการเช่าพื้นที่จะลดลงเนื่องจากผู้ค้าปลีกบางรายต้องหยุดดำเนินกิจการหรือลดพื้นที่เช่าทั้งหมด
ในครึ่งแรกของปี พื้นที่ค้าปลีกใหม่มีเพียง 62,000 ตารางกิโลเมตร ต่ำสุดในรอบ 6 เดือนแรกของหลายปี ทำให้พื้นที่ค้าปลีกรวมเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 ล้าน ตารางกิโลเมตรหรือ 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนในไตรมาสสองอัตราการเช่าพื้นที่โดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 95.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน อัตราการเช่าพื้นที่ในเมืองลดลงเพียง 1.4% จากไตรมาสแรก เนื่องจากการเช่าพื้นที่นี้ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว การฟื้นตัวของร้านค้าปลีกกลุ่มนี้จะล่าช้าออกไปจนกว่าประเทศจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
แม้ว่าอัตราการเช่าพื้นที่โดยรวมจะยังคงมากกว่า 90% แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการช่วยเหลือหลายด้านจากเจ้าของพื้นที่ ผู้เช่าส่วนใหญ่ได้รับส่วนลดการเช่าตลอดครึ่งปีแรก แต่เมื่อมองไปข้างหน้าธุรกิจที่กำลังมีปัญหา อาจต้องยุติกิจการโดยปริยายและยกเลิกสัญญาเช่า ในขณะเดียวกันผู้ค้าปลีกที่ประสบความสำเร็จในการขายทางออนไลน์ก็เริ่มลดจำนวนหน้าร้านลง ดังนั้นวิจัยกรุงศรีคาดว่าอัตราการเช่าพื้นที่ค้าปลีกจะลดลงในครึ่งหลังของปี
ภาคธุรกิจโรงแรม
ปักหัวลงหลังจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นศูนย์ 5 เดือนติดต่อกันจนถึงเดือนสิงหาคม
ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นศูนย์เป็นเวลา 5 เดือน ติดต่อกัน (ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์) เนื่องจากข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ อันเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 8 เดือนแรกมีจำนวน 6.7 ล้านคนลดลง 75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าทั้งปีนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลง 83% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากทั้งข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศและวิกฤติเศรษฐกิจโลก
การท่องเที่ยวในประเทศส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดโดยหดตัวน้อยลงในเดือนกรกฎาคมที่ -45.5% จากระยะเดียวกันของปีก่อน จากที่หดตัวกว่า 99% ในเดือนเมษายน โดยได้รับแรงหนุนจาก 1) รัฐบาลได้เริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ เช่น การยกเลิกเคอร์ฟิวและอนุญาตให้เดินทางไปต่างจังหวัด และ 2) มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ (กรกฎาคม-ตุลาคม 2563) เช่น เราเที่ยวด้วยกัน
วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวไทยจะหดตัว 40% ในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจอ่อนแอ และความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด หลังจากการท่องเที่ยวในประเทศหดตัว 57.2% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้
อัตราการเข้าพักทั่วประเทศลดลงสู่ระดับต่ำสุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ 2.3% และ 3.8% ตามลำดับ แต่ดีขึ้นเล็กน้อยในเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การอนุญาตให้เดินทางระหว่างจังหวัด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่หดตัวลงอย่างรวดเร็วฉุดให้อัตราการเข้าพักแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 28.1% ในรอบ 8 เดือนของปีนี้ (เทียบกับ 72.1% งวดเดียวกันของปีก่อน)
รัฐบาลอาจขยายมาตรการการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพราะได้รับความสนใจน้อยและกระจุกตัวในบางพื้นที่
รัฐบาลอาจขยายแคมเปญเราเที่ยวด้วยกันไปจนถึงปลายฤดูท่องเที่ยว เนื่องจากผลตอบรับต่ำกว่าที่คาด เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม (โดยเฉพาะในเมืองรอง) อัตราการเข้าพักยังคงอยู่ในระดับต่ำและมีการลงทะเบียนน้อยเกินคาด โดยมีการแลกใช้ห้องพักเพียง 1.2 ล้านคืนจากที่เตรียมไว้ทั้งหมด 5 ล้านคืน นอกจากนี้รัฐบาลยังให้สิทธิจูงใจท่องเที่ยวเพิ่มเติม (มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เช่น การเพิ่มสิทธิ์การเข้าพักจาก 5 วัน ถึง 10 วันและคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินเป็น 2,000 บาทจาก 1,000 บาท
อุตสาหกรรมโรงแรมจะอยู่ภายใต้ภาวะกดดันจนถึงไตรมาส 4 ของปี แต่โครงการ Special Tourist Visa (STV) ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ จะเป็นประโยชน์ต่อรายที่ปรับการดำเนินงานและได้รับอนุมัติให้เป็นสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine: ASQ) หรือสถานที่กักกันระดับจังหวัด (Alternative Local State Quarantine: ALSQ) ในประเทศ ซึ่งมี 88 แห่งในกรุงเทพฯ 8 แห่งในภูเก็ต ในชลบุรี บุรีรัมย์ และปราจีนบุรี จังหวัดละ 1 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการระดับ 4-5 ดาวในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ยกเว้นบุรีรัมย์ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในพื้นที่อื่นมักพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปจะเดินทางแบบสั้น และใช้จ่ายน้อยกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ กลุ่มแรกที่ฟื้นตัวจะเป็นกลุ่มเจาะผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับบน เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง แต่กลุ่มที่เจาะผู้มีรายได้ระดับกลางและระดับล่าง (70% ของตลาด) จะฟื้นตัวช้า เนื่องจากความไม่แน่นอนของรายได้และการจ้างงานในอนาคต
นอกเหนือจากการลงทะเบียนเป็น ASQ และ ALSQ แล้วโรงแรมยังได้นำกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้เพื่อสร้างแหล่งรายได้ทางเลือกอื่นๆ รวมถึง การทำงานจากโรงแรม บริการจัดส่งอาหาร แพ็คเกจการเข้าพักระยะยาว และแพ็คเกจการเข้าพักสำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศและชาวต่างชาติ
จากการที่การเดินทางระหว่างประเทศยังคงถูกจำกัด วิจัยกรุงศรีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนน้อยในไตรมาส 4 ซึ่งไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นอุตสาหกรรมโรงแรมอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยจะลดลง 83% ในปีนี้และการท่องเที่ยวในประเทศจะหดตัว 40% ซึ่งจะทำให้อัตราการเข้าพักลดลงมาที่ระดับ 35%
ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน “Beyond Healthcare, Trust Thailand”
สถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นจะดึงดูดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้มากขึ้น
คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ได้เห็นชอบหลักการ 3 หลักการในการรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหลังจากควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศได้ ส่งผลให้ประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลกด้านการฟื้นตัวจากโควิด-19
ประการแรก คือ จัดทำแนวทางการรักษาพยาบาลพร้อมเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ารับการรักษาพยาบาลต่อเนื่องในประเทศไทย โดยแบ่งเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาล (Hospital Quarantine) กักกันตัวผู้ป่วยชาวไทยที่เดินทางกลับเข้ามาในไทย และสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) สำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติและผู้ติดตาม โดยรักษาและกักกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน กรณี AHQ ผู้ป่วยต่างชาติและคนไทยที่สมัครใจต้องชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
ประการที่สองคือ การส่งเสริมให้ “ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงด้านการดูแลสุขภาพของโลก” หน่วยงานภาครัฐจะประชาสัมพันธ์แนวคิด “Beyond Healthcare, Trust Thailand” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในการกลับเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทยหลังโควิด
ประการที่สาม คือ มาตรการพัฒนาชุดเครื่องมือแพทย์รองรับการระบาดของโควิด-19 เพื่อรับมือและลดโอกาสติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยเน้นการผลิตในประเทศไทย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ เครื่องมือแพทย์สำหรับการคัดกรองและตรวจสอบโรค เครื่องมือแพทย์สำหรับการป้องกันและควบคุมโรค เครื่องมือแพทย์สำหรับการคัดแยกและการฆ่าเชื้อ และเครื่องมือแพทย์สำหรับการบำบัดรักษาโรค โดยเน้นการผลิตในประเทศไทย
กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศโครงการ STV อย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับนักท่องเที่ยวที่พำนักระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ประเทศในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หลังจากที่สกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนี้มีผลในวันที่ 30 กันยายน 2020 และมีอายุ 1 ปี
โมเดิร์นเทรด
การค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น
ในไตรมาสสองดัชนียอดค้าปลีกยังคงหดตัว เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ การปิดห้างชั่วคราว และกำลังซื้อที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตาม การล็อกดาวน์ และการทำงานอยู่กับบ้านทำให้พฤติกรรมการช็อปปิ้งออนไลน์พุ่งสูงขึ้น ดัชนียอดค้าปลีกจึงปรับตัวขึ้นและมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านหลายช่องทาง (ที่ทำการไปรษณีย์ ทีวี วิทยุ โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต)
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ยอดขายน่าจะเริ่มฟื้นตัวและหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการอัดฉีดเงินจำนวน 68 พันล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย (1) มาตรการกระตุ้นเพื่อรักษากำลังซื้อและกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ 4.5 หมื่นล้านบาท และ (2) การจ้างนักศึกษาจบใหม่ 23 พันล้านบาทซึ่งจะกระตุ้นการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ รวมทั้งยังมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มยอดขายในซูเปอร์มาร์เกต ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และร้านสะดวกซื้อ
ห้างสรรพสินค้าจะมียอดขายออนไลน์ที่สูงขึ้น แต่วิจัยกรุงศรีประเมินว่าโมเดิร์นเทรดจะมีรายได้ลดลง 5-8% ในปีนี้
ห้างสรรพสินค้ากำลังมุ่งไปที่การขายออนไลน์ที่กำลังเติบโต ซึ่งคาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 47%
ภาวะปกติใหม่หรือ new normal ที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้อีคอมเมิร์ซได้รับแรงกระตุ้นอย่างมาก ส่งผลให้ยอดขายออนไลน์ในปี 2020 เพิ่มเป็น 4.9 ล้านล้านบาทจาก 4.02 ล้านล้านบาทในปี 2562 โดยอีคอมเมิร์ซแบบ B2B (หรือธุรกิจกับธุรกิจ) เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่า 2.37 ล้านล้านบาท ตามด้วย B2C (ธุรกิจกับลูกค้า) จำนวน 1.86 ล้านล้านบาทและ B2G (ธุรกิจกับรัฐบาล) อีก 0.69 ล้านล้านบาท การขยายตัวของกลุ่ม B2C ส่วนใหญ่เกิดจากมาตรการล็อกดาวน์และการทำงานจากที่บ้าน ซึ่งนำไปสู่การใช้จ่ายออนไลน์มากขึ้น
การระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ในเวลาต่อมา ทำให้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าปิดชั่วคราว ผู้ค้าปลีกและผู้ค้าส่งจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดจำหน่ายทางออนไลน์เพื่อให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติ ทำให้ยอดขายอีคอมเมิร์ซของห้างสรรพสินค้าพุ่งสูงขึ้น
เมื่อแยกยอดขายผ่านอีคอมเมิร์ซตามประเภทของกิจกรรมทางธุรกิจหรืออุตสาหกรรมในปี 2563 ตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือค้าปลีกและค้าส่งมีมูลค่า 1.89 ล้านล้านบาท รองลงมาคือที่พัก 1.06 ล้านล้านบาท และภาคการผลิต 0.53 ล้านล้านบาท
ในหมวดค้าปลีกและค้าส่ง ห้างสรรพสินค้ามียอดขายสูงสุด 1.39 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 0.94 ล้านล้านบาทในปี 2562 ตามด้วยเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำหอมและผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม แฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับ
ภาคธุรกิจขนส่ง
การเดินทางในประเทศดีขึ้น จากสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลาย และวันหยุดที่เพิ่มขึ้น
หลังจากการเปิดให้กลับมาดำเนินธุกิจอีกครั้งใหม่และกลับสู่สภาวะเศรษฐกิจปกติมากขึ้น การเดินทางในประเทศก็พุ่งสูงขึ้น สวนทางกับกิจกรรมในเดือนเมษายน
การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทกลับมาอยู่ที่ 66% ของระดับในช่วงต้นปี แม้การเดินทางด้วยรถไฟจะฟื้นตัวเร็วกว่าการเดินทางทางถนน ทางน้ำ หรือทางอากาศก็ตาม ส่วนการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวกลับมาอยู่ที่ 95% ของระดับในช่วงต้นปี ขณะที่การขนส่งสาธารณะทางถนนอยู่ที่ 63% และการขนส่งทางรางที่ 79% ของระดับในช่วงต้นปี
การเดินทางทางอากาศอยู่ที่ 55% ของระดับเมื่อต้นปี ส่วนการเดินทางโดยเรือยังคงไม่ดีมากนักเพียง 35% ของปริมาณก่อนหน้านี้
ปัจจัยที่ยังมีผลต่อแนวโน้มระยะสั้น คือ
- มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศช่วยส่งผลต่อพฤติกรรมการเดินทางของผู้บริโภคในวันหยุดยาว โดยบางคนเลือกที่จะเพลิดเพลินกับการพักผ่อน และคนอื่นๆ ตัดสินใจเดินทางโดยรถยนต์มากกว่า ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ส่งผลให้มีผู้โดยสารใช้รถโดยสารสาธารณะและรถโค้ชน้อยกว่าที่คาดไว้
- บริษัทต่างๆ ได้ปรับรูปแบบธุรกิจ เช่น 1) บริษัทรถเช่า ลดราคาจัดโปรโมชันพิเศษ เสนอตัวเลือกเพิ่มเติมฟรี และทำการตลาดบริการของบริษัทเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะ และ 2) ผู้ให้บริการรถประจำทางเริ่มให้เช่ารถเพื่อใช้บริการขนส่งและจัดส่งในราคาโปรโมชัน และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบสมาชิก เพื่อสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งในระยะยาว
กิจกรรมการชอปปิงออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับ บริษัทบริการรับส่งสินค้า
ก่อนที่การระบาดใหญ่ของโควิด 19 จะแตะระดับสูงสุด และการล็อกดาวน์ การขนส่งสินค้าได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือนมีการกักตุนสินค้า แต่ในระหว่างที่มีการล็อกดาวน์ ผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางได้อย่างอิสระและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้ยอดค้าปลีกและการใช้จ่ายของผู้บริโภคตกลง ปริมาณสินค้าที่จัดส่งจากผู้ค้าปลีก (ทั้งโมเดิร์นเทรดและร้านค้าดั้งเดิม) ลดลงจาก 90% ของสินค้าทั้งหมดที่จัดส่งเหลือเพียง 45% ส่วนแบ่งของสินค้าที่ขายโดยผู้จัดจำหน่ายออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 20% หรือ 2 เท่าของระดับ 10% ก่อนล็อกดาวน์ ในขณะเดียวกัน บริษัทบริการจัดส่งส่วนใหญ่ ได้ปรับแผนธุรกิจและขยายไปสู่การส่งของชิ้นเล็กที่ซื้อบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แม้มีเป้าหมายไปที่กลุ่ม C2C
ส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่รองรับความต้องการจากอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นกว่า 60% ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ตลาดโลจิสติกส์โดยรวมขยายตัวกว่า 200% และการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคโดยผู้ค้าปลีกแบบดั้งเดิมก็กลับมาเติบโต
ธุรกิจสายการบิน
การเดินทางเริ่มกลับมา แต่ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาด
องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) เปิดเผยผลการวิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ต่อปริมาณการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกในปี 2563 เทียบกับปี 2562 (ข้อมูล ณ วันที่ 23 กันยายน 2020) ว่า ปริมาณผู้โดยสารทั่วโลก (ระหว่างประเทศและในประเทศ) จะลดลงราว 57%-61% ในปี 2563
ธุรกิจสายการบินคาดว่า รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารทั้งหมดอาจลดลงราว 375-395 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเที่ยวบินระหว่างประเทศอาจสูงถึง 249-2.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเที่ยวบินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอาจสูงถึง 126-133 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airports Council International: ACI)คาดการว่า สนามบินจะสูญเสียรายได้รวม 104.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562
IATA คาดการว่า สายการบินจะมีปริมาณผู้โดยสารลดลง 54.7% (RPKs ทั้งในและต่างประเทศ) ในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ระบุว่า ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารทั่วโลกจะกลับสู่ระดับเดิมก่อนการระบาดภายในปี 2566 แต่หน่วยงานอื่นมองว่าช้ากว่านั้น
สถานการณ์ของไทย ณ วันที่ 4 ตุลาคม CAAT ยังไม่ได้เปิดน่านฟ้าไทยให้เที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ การไม่มีผู้เดินทางระหว่างประเทศจะมีผลต่อรายได้ของสายการบิน
CAAT คาดการณ์ว่าในปี 2563 รายได้ของสายการบินไทย 9 สายการบินจะลดลงจาก 315 พันล้านบาทเหลือเพียง 82.8 พันล้านบาท (-73.5% จากระยะเดียวกันของปีก่อน) นอกจากนี้ยังมองว่าการเดินทางของผู้โดยสารจะกลับสู่ระดับปี 2562 ภายในปี 2566 แต่จะขึ้นอยู่กับ
- มีข้อตกลง travel bubble กับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ
- ระยะเวลาการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
- มียารักษาโควิด-19 ใช้อย่างแพร่หลาย
ปัจจุบันเส้นทางในประเทศมีบินเพียง 50% ของปริมาณที่นั่ง
อุตสาหกรรมสายการบินได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโควิด-19 สถานการณ์เลวร้ายลงจากการปิดเส้นทางบินในประเทศและต่างประเทศ แม้จะมีการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางภายในประเทศ แต่เที่ยวบินในประเทศก็ยังไม่กลับมาที่ระดับเดิมก่อนการระบาดใช้บริการ
ขณะนี้มีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของเส้นทางที่เปิดอีกครั้ง ซึ่งสร้างแรงกดดันกระแสเงินสดและต้นทุนของสายการบิน สายการบินจำเป็นต้องจัดการคุมต้นทุนให้ได้อย่างรวดเร็ว แม้ตอนนี้กำลังเรียกร้องรัฐบาลให้ความช่วยเหลือมากขึ้นเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติ
สายการบินกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยสภาพคล่องของอุตสาหกรรม โดยได้ร้องขอซอฟต์โลน ขอให้ระงับการเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการใช้สนามบิน และขอขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเครื่องบิน ซึ่งรัฐบาลยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอ
กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาคำขอซอฟต์โลนของสายการบิน 7 แห่งในวงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท (อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปีเป็นเวลา 60 เดือน) สินเชื่อซอฟต์โลนจะช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของอุตสาหกรรมสายการบินของไทย (ไทยแอร์เอเชีย แอร์เอเชียเอ็กซ์ นกแอร์ ไทยเวียตเจ็ทแอร์ ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยสมายล์ และบางกอกแอร์เวย์ส)
ส่วนการยกเว้นและลดค่าธรรมเนียม กระทรวงการคลังได้ตกลงที่จะลดค่าธรรมเนียมการบินขึ้นและลงจอด รวมทั้งค่าจอดไปจนถึงเดือนมีนาคม 2565
การขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน กรมสรรพสามิตได้ตกลงที่จะขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินออกไป 6 เดือน สำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ
สำหรับมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ได้แก่
ภาคก่อสร้าง
การก่อสร้างภาครัฐฟื้นตัว แต่การก่อสร้างภาคเอกชนยังคงอ่อนตัว
ในไตรมาส 2 ปีนี้การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างโดยรวมของไทยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างภาครัฐที่เพิ่มขึ้น 14.1% จากระยะเดียวกันของปีก่อน (หลังจากหดตัวในไตรมาส 1) เนื่องจากการใช้จ่ายที่เร่งตัวขึ้นหลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 โดยเฉพาะโครงการต่อเนื่องขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม การปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณบางส่วนเพื่อเป็นทุนในการเยียวยาวผลกระทบโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างถนนเพียงเล็กน้อยและโครงการขนาดเล็กที่ไม่ได้ทำสัญญา อย่างไรก็ตาม มาตรการที่เข้มงวดเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างบางโครงการ
การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างภาคเอกชนยังคงหดตัว 3.6% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ตามความล่าช้าของโครงการใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่อาศัย เนื่องจากกำลังซื้อที่ซบเซาจากระบาดของไวรัสและมาตรการ LTV ที่เข้มงวดขึ้น (มีผลเดือนเมษายน 2562) การก่อสร้างอาคารพาณิชย์และโรงงานยังคงหดตัว เนื่องจากความต้องการลงทุนชะลอตัวลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในรอบ 7 เดือนแรก ใบอนุญาตก่อสร้าง (ตามพื้นที่ที่สร้างขึ้น) สำหรับอาคารสูง อุตสาหกรรม และโรงแรมหดตัว 76%, 39.9% และ 22.9% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมการก่อสร้างภาคเอกชนจะยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง
ผลกระทบที่เห็นชัดเจนต่อโครงการก่อสร้างในไตรมาส 2
1) วิกฤติขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ 300,000 คน เพราะเดินทางกลับประเทศ 200,000 คน และวีซ่าหมดอายุอีก 50,000-80,000 คน (ปิดด่านชายแดน) ส่งผลให้
2) การขาดแคลนเครื่องจักรและอุปกรณ์ ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีนและยุโรป แต่ระบบโลจิสติกส์หยุดชะงัก
3) มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมทำให้งานชะงัก
รายได้จะเติบโตช้าลงในปี 2563 ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง
กลยุทธ์ปัจจุบันของผู้รับเหมาในการจัดการกับวิกฤติ
1) ผู้รับเหมารายใหญ่
2) SME
การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างภาครัฐจะผลักดันการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ตามการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณ มีการเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับโครงการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 11.4% ในไตรมาส 3 (GFMIS) ส่วนใหญ่เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังดำเนินอยู่และโครงการรถไฟทางคู่ ขณะเดียวกันเมกะโปรเจกต์ใหม่จะเริ่มในไตรมาส 4 พร้อมการออกแบบระบบ และการรื้อถอนโครงสร้างสาธารณูปโภค คาดว่าในปีนี้การใช้จ่ายเพื่อการก่อสร้างภาครัฐจะขยายตัว 3.0-4.0% การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างโดยรวมจะขยายตัว 0.0-1.0%
การก่อสร้างภาคเอกชนจะยังคงซบเซาเนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ ต้นทุนการก่อสร้างที่ลดลงอาจกระตุ้นให้ผู้พัฒนาบางรายดำเนินโครงการโดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมตามเส้นทางรถไฟฟ้าที่ขยายออกไป การก่อสร้างอาคารพาณิชย์และการก่อสร้างโรงงานน่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าโครงการบ้านจัดสรร เนื่องจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานจะเร่งตัวในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในการก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะหดตัว 3.0-4.0% ในปีนี้
นิคมอุตสาหกรรม
ยอดขายที่ดินลดลงพร้อมกับการก่อสร้างพื้นที่อุตสาหกรรมและโรงงาน
ในครึ่งแรกของปีมีนิคมอุตสาหกรรมใหม่เปิดตัว 2 แห่ง ได้แก่ 1) นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 6) ในจังหวัดชลบุรีซึ่งมีพื้นที่ 1,322 ไร่ และ 2) นิคมอุตสาหกรรม World Food Valley Thailand ในจังหวัดอ่างทองซึ่งมีพื้นที่ 1,392 ไร่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของประเทศ และเพื่อเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมครบวงจรแห่งแรกสำหรับอุตสาหกรรมของไทย และในภูมิภาค การเปิดพื้นที่ใหม่ทั้งสองนิคมส่งผลให้มีจำนวนนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 61 แห่งในครึ่งแรกของปี 2563 โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 165,000 ไร่กระจายอยู่ทั่ว 17 จังหวัด
ยอดขายและให้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมมีปริมาณ 759 ไร่ในครึ่งแรกของปีกลดลง 33.3% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เพราะการก่อสร้างโรงงานและหน่วยอุตสาหกรรมใหม่ที่ลดลง 39.9% จากระยะเดียวกันของปีก่อน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ทำให้ธุรกิจต้องเลื่อนการโอนและขายที่ดินออกไป ในภาคตะวันออก (ที่ตั้งของ EEC) ยังคงเป็นตลาดที่คึกคักที่สุด มียอดขายและสัญญาเช่าสูงถึง 706 ไร่ (ลดลง 31.0%) โดยการโอนและขายที่ดินแล้วเสร็จถึง 93% ในครึ่งแรกของปี
การขายและให้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมน่าจะดีขึ้นในครึ่งปีหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่สงครามการค้าของสหรัฐฯ กับจีนอาจทำให้ผู้ผลิตบางรายย้ายโรงงานผลิตมายังไทย และบางรายอาจเซ็นสัญญาและวางเงินมัดจำ
ข้าว
การส่งออกจะลดลงเนื่องจากราคาที่สูงขึ้น รสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และความพยายามของจีนในการลดปริมาณสต็อก
การส่งออกในปี 2563คาดว่าจะลดลง 20-24% เป็น 5.8-6 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจาก 1) ราคาส่งออกที่ค่อนข้างสูงกว่าคู่แข่ง (ภัยแล้งโรคภัยและน้ำไม่เพียงพอสำหรับการชลประทานทำให้ผลผลิตในประเทศไทยลดลง แต่ประเทศผู้ผลิตข้าว เช่น อินเดีย ได้รับผลผลิตที่สูงขึ้น) 2) ผู้บริโภคในตลาดส่งออกเปลี่ยนไปชอบข้าวขาวนุ่ม (คู่แข่งหลักในเรื่องนี้คือเวียดนาม) และ 3) จีนพยายามลดปริมาณข้าวในสต็อกที่มีปริมาณมากลง (จีนเคยเป็นผู้นำเข้าข้าวไทยรายใหญ่)
ยาง
การส่งออกยางแผ่นรมควันและยางแท่งตกต่ำ แต่การขนส่งน้ำยางเพิ่มขึ้น
ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้การส่งออกยางแผ่นรมควันและยางแท่งลดลง สถานการณ์เลวร้ายลงเนื่องจากอุปทานส่วนเกินในจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำยางข้นได้รับประโยชน์จากความต้องการถุงมือยางลาและอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้จากการส่งออกให้กับไทย มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย และคาดว่าความต้องการน้ำยางจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสกัดการระบาดได้สำเร็จ
สำหรับถุงมือยาง ในเดือนสิงหาคมการส่งออกเพิ่มขึ้น 52.3% จากระยะเดียวกันของปีก่อน มาที่ระดับสูงสุดใหม่ที่กว่า 2.3 ล้านตันเทียบกับค่าเฉลี่ยรายเดือนที่ 1.5 ล้านตัน ส่งผลให้ผู้ผลิตหลายรายลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต แม้จะคาดการณ์ความต้องการถุงมือยางที่เพิ่มขึ้นจนถึงปี 2568 แต่ผู้ผลิตจำเป็นต้องพิจารณาถึงการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มาจากอุตสาหกรรมการแพทย์
ด้านยางรถยนต์ ความต้องการควรฟื้นตัวหลังจากการกลับมาให้บริการของภาคธุรกิจส่วนใหญ่ และจากความต้องการที่จะเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัว (แทนที่จะใช้ระบบขนส่งสาธารณะ) เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม
ไก่
การขายไก่แช่แข็งเพิ่มขึ้นจากเหตุผลอาหารปลอดภัยและถือเป็นการทดแทนเนื้อหมูโดยตรง
การบริโภคไก่ในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.9% ในปี 2563 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ที่ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง และจากการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ กำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะดีขึ้น
การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่คาดว่าจะขยายตัว 1.0-2.0% ในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการไก่ไทยที่เพิ่มขึ้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การผลิตและการแปรรูปไก่หยุดชะงักในบางประเทศ ไข้หวัดนกยังคงติดเชื้อในฝูงสัตว์หรือประเทศผู้ผลิตหลัก รวมถึงสหรัฐอเมริกาจีน และสหภาพยุโรป และไข้หวัดใหญ่ในสุกรแอฟริกันยังคงเป็นปัญหาโดยเฉพาะในจีน
การผลิตเนื้อไก่ของไทยก็จะได้รับประโยชน์จากมาตรฐานอุตสาหกรรมระดับสูง และจากผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยปราศจากสารปนเปื้อนทางชีวภาพ ทำให้บางประเทศ (สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์) ลดการนำเข้าจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคและซื้อจากประเทศไทย ในส่วนของผลิตภัณฑ์แต่ละกลุ่ม การส่งออกไก่แช่แข็งน่าจะเพิ่มขึ้น 15.5% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็น 350,000 ตันซึ่งจะช่วยชดเชยยอดขายไก่แปรรูปที่ลดลง 5.7% หลังจากสหภาพยุโรป (ตลาดส่งออกหลัก) เข้มงวดการคัดกรองเชื้อซาลโมเนลลา