ThaiPublica > คอลัมน์ > เป้าหมายการต่อสู้ปัญหาโลกร้อนอยู่ที่ไหน

เป้าหมายการต่อสู้ปัญหาโลกร้อนอยู่ที่ไหน

23 ตุลาคม 2020


กฤษฎา บุญชัย

เสียงเตือนไม่รู้จักกี่ครั้ง จากนักวิทยาศาสตร์ ขบวนการสิ่งแวดล้อมถึงรัฐบาลและพลเมืองทั่วโลกให้เร่งปฏิรูปการพัฒนาและวิถีชีวิตขนานใหญ่เพื่อรับมือ แก้ไข ฟื้นฟูปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสภาวะโลกร้อนที่ฉายภาพภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย ภัยพิบัติทางอากาศแปรปรวนรุนแรง การสูญพันธุ์และเสี่ยงอันตรายของสัตว์และสรรพชีวิต ปะการังฟอกขาว อุณหภูมิร้อนสุดขีด ความมั่นคงอาหารที่เสื่อมโทรม ความยากจน ความขัดแย้งในการดำรงชีพ ทั้งหมดนี้บอกว่า มนุษยชาติไม่มีเวลาอีกแล้วที่จะธำรงการพัฒนาและวิถีชีวิตแบบเดิม

Sir David Attenborough นักสิ่งแวดล้อมที่ท่องโลกศึกษาชีวิตธรรมชาติตั้งแต่วัยรุ่นจนอายุ 90 กว่าปี ได้ย้อนอดีตและทำนายอนาคตโลกไว้ในสารคดี A life on Our Planet ที่กำลังฉายใน Netflix บ่งบอกว่าธรรมชาติมีขีดจำกัด การสูญพันธุ์ของสรรพชีวิตโลกที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้ง 6 โดยครั้งนี้เป็นฝีมือมนุษย์ในช่วงทุนนิยมในชั่วชีวิตเขานี่เอง เขาเปรียบเทียบระหว่างจำนวนประชากร อัตราการปลดปล่อยคาร์บอน และอัตราการลดลงของพื้นที่นิเวศธรรมชาติในทุกๆ 10 ปี โดยบ่งชี้ว่าเรากำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้ายแล้ว แต่แม้ปัญหาจะรุนแรง แต่ด้วยโครงสร้างประชากรโลกที่ลดลง สำนึกปกป้องธรรมชาติของมนุษย์กำลังก่อตัวขึ้น เรายังพอมีหวังที่จะกอบกู้โลกได้ด้วยการลุกขึ้นมาทำทันที

แม้โลกจะถูกกระตุกเตือนด้วยการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) เพื่อโลกก้าวสู่วิถีปกติใหม่ (New Normal) ที่เอาขีดจำกัดธรรมชาติเป็นตัวตั้ง แต่ดูเหมือนระบบทุนนิยมโลกที่อยู่บนฐานพลังงานฟอสซิล ทุนอุตสาหกรรรมนิยมก็ยังเดินหน้าต่อไปในวิถีทุนนิยมเข้มข้น พร้อมด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI ดิจิตอลเทคโนโลยี และอื่นๆ ที่ดูเหมือนจะแสดงตนว่าใช้ทรัพยากรให้ประหยัดขึ้น แต่ไม่มีคำมั่นสัญญาใดๆ ว่า เราต้องหยุดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้แล้ว หยุดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลโดยด่วน

เพราะระบบทุนนิยมกำลังจะเปลี่ยนปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาของระบบ โครงสร้างการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรมต่อธรรมชาติและประชาชนให้กลายเป็นสินค้าไปเสีย หลายประเทศอุตสาหกรรมที่ยังไม่ต้องการลดการใช้พลังงานฟอสซิลให้เป็นศูนย์ในทันที เสนอแนวคิดจากการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ กลายเป็น Carbon Neutral หมายถึงเอากิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนมาหักลบกับกิจกรรมที่ดูดซับคาร์บอนด้วยการซื้อ แลกเปลี่ยน ลงทุน ฯลฯ สินค้าและการลงทุน Carbon Neutral ถูกประเทศอุตสาหกรรมใช้ต่อรองกับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเพื่อให้ยอมรับการซื้อขายแลกกับเงินทุนช่วยเหลือที่ถูกกำหนดไว้ตามกรอบความตกลงปารีส 2558

ระบบค้าขาย การลงทุนพันธะสัญญา Carbon Neutral และอื่นๆ กำลังสร้างปัญหาสิทธิและความเป็นธรรมต่อภูมิอากาศ เมื่อประเทศยากจน ชุมชนที่ดำรงชีพกับทรัพยากรธรรมชาติกำลังถูกโครงการซื้อขายหรือลงทุนคาร์บอนเหล่านี้เข้ามากำหนดพื้นที่ การจัดการทรัพยากร การดำรงชีพของพวกเขา กิจกรรมการปลูกป่าทับที่ทำกิน การบีบบังคับให้ชุมชนต้องลดพื้นที่การเกษตรแลกกับพื้นที่ป่า และอื่นๆ อีกมากมายกำลังดำเนินไปทุกมุมโลก แต่ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ปลดปล่อยคาร์บอนมหาศาล ธุรกิจพลังงานฟอสซิล ธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม โครงการ CSR ของภาคธุรกิจก็ยังดำเนินต่อไปได้ เพราะซื้อคาร์บอนและอ้างอิงความเป็น Carbon Neutral ภาพดังกล่าวกำลังสะท้อนว่า ชุมชนท้องถิ่น ประชาชนธรรมดาที่มีวิถีการปล่อยคาร์บอนน้อย หลายชุมชนดูแลปกป้องระบบนิเวศเพื่อปากท้องและเพื่อโลก ก็จะถูกเรียกร้องให้เสียสละพื้นที่ ปัจจัยดำรงชีพ วิถีวัฒนธรรม เพื่อให้คาร์บอนเครดิตกับกลุ่มทุนและประเทศอุตสาหกรรม

พลังของทุนนิยมโลกทำให้ภาครัฐปรับตัวช้า ภาคเอกชนที่เกี่ยวกับพลังงานฟอสซิลยิ่งยาก แต่ภาคสังคมน่าจะเป็นความหวังของการสร้างจุดเปลี่ยนแปลงที่จะพลิกผันโลกให้รอดพ้นหายนะได้ แต่เราในฐานะประชาชนจะกำหนดเป้าหมายและแนวทางการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จำเป็นกำหนดทิศทางให้ชัดเจน โดยเฉพาะในบริบทประเทศไทย ที่ควรเชื่อมั่นดังที่ Sir David Attenborough บอกว่า “เราทำได้”

แม้ท่านเซอร์เดวิดจะกล่าวถึงมนุษย์แบบรวมๆ ไม่แยกแยะความเหลื่อมล้ำสังคมที่มีต่อการสร้างปัญหา แบกรับผลกระทบ และขับเคลื่อนฝ่าวิกฺฤติที่แฝงด้วยความไม่เป็นธรรมมากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมมนุษย์ต้องตระหนักและรับผิดชอบร่วมกัน (ตามหนักเบาของความเกี่ยวข้องกับปัญหา) ต่อหายนะที่จะทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ ดังนั้นการเร่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคล และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ พลังงาน ทรัพยากร การเกษตร เมือง และอื่นๆ เป็นสิ่งที่พลเมืองมุ่งหมายปกป้องโลกต้องทำพร้อมกันและเชื่อมโยงกัน

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตเริ่มจากคนชั้นกลางในเมือง

ภาคส่วนที่มีวิถีการปลดปล่อยคาร์บอนมากที่สุดก็คือ สังคมเมือง โดยเฉพาะคนชั้นกลางที่มีอัตราการบริโภคไฟฟ้า และทรัพยากรสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับคนจนเมือง คนในชนบท ชุมชนท้องถิ่น แบบแผนชีวิตแบบคนอเมริกันถือเป็นแบบแผนที่ปล่อยคาร์บอนสูงสุด และกลายเป็นแบบแผนของคนทั่วโลกที่ไม่เพียงอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบคนอเมริกัน แต่อยากหรูหรากันอย่างเท่าเทียมด้วย เช่นเดียวกับแบบแผนของคนชั้นสูงและชั้นกลางของกรุงเทพฯ ที่เป็นที่ถวิลหาของคนจนและชนบทในไทย

แต่ทรัพยากรและปัญหาโลกร้อนไม่สามารถรองรับแบบแผนชีวิตที่ฟุ่มเฟือยสุดได้แล้ว ก้าวแรกที่ประชาชนจะปกป้องโลกได้ คนชั้นกลางในเมืองต้องลดการเติบโตของแบบแผนการใช้ทรัพยากรลง การลดการใช้ทรัพยากรไม่ได้หมายถึงการลดคุณภาพชีวิต แต่พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ใช้ทรัพยากรให้ยั่งยืน

พฤติกรรมการบริโภคที่คนชั้นกลางต้องเร่งปรับเปลี่ยน มุ่งไปที่การใช้พลังงานในด้านต่างๆ ทั้งทำอุณหภูมิ (แอร์ เครื่องทำความร้อน ฯลฯ) เพื่อการเดินทาง (รถ เครื่องบิน) โดยใช้พลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซ แม้กระทั่งพลังงานไฟฟ้า (พลังงานไฟฟ้าบ้านเราส่วนใหญ่ทำมาจากก๊าซ ถ่านหิน น้ำมัน ดังนั้นแม้จะไปใช้รถไฟฟ้าก็ยังมีส่วนทำให้โลกร้อน) ตามมาด้วยการใช้พลาสติก (พลาสติกผลิตจากน้ำมัน) การบริโภคอาหาร (สัตว์ที่เรานำมาทำอาหาร ต้องบริโภคอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ ที่มีส่วนปล่อยก๊าซมีเทน, อาหารที่มาจากเกษตรเคมี ซึ่งปุ๋ยเคมีทำมาจากพลังงานฟอสซิล ก็ปล่อยก๊าซคาร์บอน และอาหารเหลือทิ้งก็ปล่อยก๊าซมีเทน)

การปรับแบบแผนชีวิตและการบริโภคหลายกรณีทำได้ในระดับปัจเจก แต่หากคนเมืองร่วมกันสร้างความเป็นชุมชน กลุ่มเพื่อออกแบบระบบ แบ่งปัน หมุนเวียนทรัพยากรกัน ก็จะมีส่วนลดภาระโลกได้มาก เช่น ระบบ Car pool การแลกเปลี่ยนสิ่งของ จัดการพื้นที่ การคมนาคมสาธารณะ ซึ่งจะเป็นไปได้ดีก็ต่อเมื่อภาครัฐเข้ามาร่วมจัดการจริงจัง เช่น ระบบผังเมืองที่ลดการจราจรรถยนต์ส่วนตัว เพิ่มพื้นที่สีเขียว มุ่งระบบขนส่งสาธารณะ ระบบการเข้าถึงและกระจายอาหาร ระบบจัดการขยะหมุนเวียน ระบบจัดการน้ำ การใช้ที่ดินเพื่อผลิตอาหาร เป็นต้น ดังนั้นรัฐต้องลงทุนสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนและกำกับให้คนเมืองมีวิถีชีวิตคาร์บอนฯ ต่ำโดยด่วน

ปฏิรูปพลังงานจากฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน

ภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือ ภาคพลังงาน แต่ปัญหาไม่ได้มีวิถีบริโภคของคนเมือง โครงสร้างปัญหาแท้จริงอยู่ที่ระบบการผูกขาดพลังงานฟอสซิลของประเทศ

ปัจจุบันมีพลเมืองห่วงใยปัญหาโลกร้อนเกิดขึ้นในสังคมไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับวิถีการบริโภคพลังงาน เช่น หันไปใช้รถไฟฟ้า ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ กันมากขึ้น แต่ระบบการผลิตไฟฟ้าหลักที่ประชาชนใช้ก็ยังอยู่กับกลุ่มผลประโยชน์พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน) และพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งอื่นที่ทำลายธรรมชาติรุนแรง แช่น พลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นแม่โขง เป็นต้น

ดังนั้นภาคส่วนที่ต้องรับผิดชอบและปรับตัวโดยด่วนที่สุดคือ ภาคอุตสาหกรรมพลังงานที่ยังยืนหยัดอยู่กับความมั่งคั่งจากพลังงานฟอสซิลไม่เปลี่ยนแปลง

หัวใจอยู่ที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ซึ่งเป็นแผนระยะ 20 ปี แผนดังกล่าวกำหนดขึ้นจากการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ แต่ปัญหาคือ แผนกำหนดปริมาณกำลังสำรองไฟฟ้าไว้สูงเกินความจำเป็น รัฐต้องทุ่มงบประมาณในการผลิตโรงไฟฟ้าซึ่งส่วนมากเป็นพลังงานน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินที่ทำลายธรรมชาติ ปล่อยฝุ่น pm 2.5 และก๊าซคาร์บอนฯ ในสัดส่วนที่มากที่สุดของประเทศ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากกำลังสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกิน แต่กลับต้องร่วมกันแบกรับค่าใช้จ่ายเพื่อประกันผลกำไรของกลุ่มผลประโยชน์พลังงาน

ยิ่งในภาวะวิกฤติโควิด ปรากฏพลังงานไฟฟ้าสำรองเหลือเกือบร้อยละ 70 ภาคประชาชนที่ห่วงใยต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควรต้องพุ่งเป้าไปที่การปรับรื้อแผน PDP ลดระดับกำลังสำรองผลิตไฟฟ้า และเร่งแทนที่พลังงานฟอสซิลด้วยพลังงานหมุนเวียน

ปรับสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

เบื้องหลังเกษตรกรที่ทำเกษตรพาณิชย์ที่ไม่ยั่งยืน คือระบบธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ที่ควบคุมกำกับชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคมของเกษตรกรรายย่อย และเกษตรพาณิชย์แปลงใหญ่ปล่อยทั้งก๊าซเรือนกระจก ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความเสื่อมโทรมระบบนิเวศ ผืนดิน สายน้ำปนเปื้อนมลพิษ และทำให้เกษตรกรเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองไปสู่เศรษฐกิจพึ่งพาตลาด และผันไปสู่แรงงานทั้งในและนอกภาคเกษตร เกษตรพาณิชย์จึงเป็นต้นเหตุสำคัญของกระบวนการล้างผลาญทรัพยากร สร้างผลกระทบนิเวศรุนแรง เกษตรกรจนลง แต่กลุ่มธุรกิจการเกษตรยิ่งมั่งคั่ง เพราะผลักต้นทุนสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมให้เกษตรกรรายย่อย ประชาชน และสาธารณะแบกรับ

กลุ่มแรกที่จะต้องปรับตัวสู่การทำผลิตที่ยั่งยืนก็คือ กลุ่มธุรกิจเกษตรพาณิชย์นั่นเอง กลุ่มทุนที่ผูกขาดผลประโยชน์ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม ฟาร์มปศุสัตว์ ขนาดใหญ่ ต้องเร่งปรับจากเกษตรเชิงเดี่ยวสู่เกษตรนิเวศที่หลากหลายและสมดุล เลิกการใช้สารเคมีที่เป็นส่วนสำคัญของโลกร้อน (ปุ๋ยเคมีคือผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี)

ที่ผ่านมา สังคมมักเรียกร้องให้เกษตรกรรายย่อยปรับระบบการผลิตสู่การผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งเกษตรกรรายย่อยหลายรายที่ทนปัญหาการพังทลายระบบนิเวศ ปัญหาสุขภาพ และปัญหาเศรษฐกิจไม่ไหวก็หันมาทำเกษตรกรรมยั่งยืนหลายรูปแบบ และเป็นที่พิสูจน์ทางวิชาการแล้วว่า ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อยเกื้อกูลต่อระบบนิเวศ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย และยังดูดกลับก๊าซคาร์บอนได้มาก นอกจากใช้ทรัพยากรน้อยแล้ว ยังช่วยพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพ ป้องกันภัยพิบัติ และปรับตัวได้ดีในภาวะภูมิอกาศเปลี่ยนแปลง

แต่สังคมยังไม่ค่อยเรียกร้อง กดดันต่อกลุ่มธุรกิจเกษตรรายใหญ่ให้ปรับระบบเกษตรเชิงเดี่ยวสู่ระบบเกษตรนิเวศที่ไม่สร้างปัญหาโลกร้อนและทำลายทรัพยากร ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศและสังคมมากที่สุด ดังนั้นภาคสังคมต้องกดดันกลุ่มธุรกิจเกษตรรายใหญ่ให้เร่งรับผิดชอบต่อการกอบกู้โลกมากที่สุด พร้อมกับหนุนเสริมให้เกษตรกรรายย่อยพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน โดยมีการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน มีระบบตลาดผลผลิตอาหารเกื้อกูลธรรมชาติที่มั่นคง

อุตสาหกรรมไม่ยั่งยืนต้องยุติ

อุตสาหกรรมเคยเป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่อุตสาหกรรมส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมทุติภูมิ (รับจ้างบริษัทต่างชาติผลิตส่งออก) และเป็นอุตสาหกรรมสกปกรกที่สร้างมลภาวะอย่างรุนแรง (ฝุ่น สารพิษก่อมะเร็ง) ใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลที่เคยอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งความมั่นคงอาหารจากทะเล และสามารถดูดซับคาร์บอนฯ ได้มาก ต้องถูกทำลายเปลี่ยนเป็นเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมตะวันออก (Eastern Seaboard) เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และล่าสุดคือ เขตอุตสาหกรรมจะนะ สงขลา ที่จะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทำลายทรัพยากรฯ และสร้างหายนะแก่ระบบนิเวศอ่าวไทยอย่างรุนแรง จึงทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้านด้วยชีวิต

ความลักลั่นไม่เป็นธรรมอยู่ที่อุตสาหกรรมเหล่านี้ ส่วนมากเป็นการเปิดให้ทุนต่างชาติมาลงทุน แสวงกำไร ผลิตส่งออก หาได้กระจายเศรษฐกิจสู่ประชาชนเท่าที่กล่าวอ้าง (ยิ่งในภาวะโควิดยิ่งปรับไปสู่การใช้หุ่นยนต์ AI มากกว่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือ) แต่ผลักให้สังคมไทยโดยเฉพาะคนจนต้องรับผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมอย่างมาก

พลเมืองที่ห่วงใยต่อปัญหาโลกร้อน จึงไม่ควรทำแค่การลดใช้พลาสติก เก็บขยะ ลดใช้พลังงานเท่านั้น เพราะยังไม่เพียงต่อการแก้ปัญหา ควรต้องร่วมกันผลักดันให้ยุติอุตสาหกรรมที่ทำลายนิเวศ ยุติอุตสาหกรรมรับจ้าง และเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลต่อนิเวศ และวิถีชีวิตชุมชน สร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนให้แก่สังคมไทยอย่างแท้จริง

กระจายอำนาจการจัดการป่าสู่ชุมชน

ภาคป่าไม้ เป็นภาคเดียวที่ได้รับการยอมรับว่าช่วยดูดซับคาร์บอนฯ ที่ปล่อยออกมาจากภาคเศรษฐกิจอื่นๆ รัฐมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ และรวมกับพื้นที่สีเขียว (ปลูกต้นไม้นอกพื้นที่ป่าของรัฐ) ให้ได้ร้อยละ 50 ของพื้นที่ประเทศ นอกจากนี้ภาคป่าไม้ยังเป็นภาคที่มีการลงทุนคาร์บอนเครดิตมากที่สุด ด้วยกิจกรรมการปลูกป่าที่กลายเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว

พลเมือง และภาคธุรกิจที่สนใจกิจกรรมการฟื้นฟูป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนฯ ไม่ควรมองข้ามโครงสร้างระบบรวมศูนย์จัดการป่าของรัฐที่สร้างปัญหา ทั้งการละเมิดสิทธิชุมชนที่ดำรงชีพในพื้นที่ป่า ด้วยการแย่งยึดพื้นที่ป่าและที่ดินของชุมชนมาประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์และพื้นที่ปลูกป่า หรือกดดันให้ชุมชนเปลี่ยนจากระบบนิเวศเกษตรที่ยั่งยืน เช่น ไร่หมุนเวียน มาเป็นเกษตรพาณิชย์คงที่ที่ให้ประโยชน์ธุรกิจการเกษตร การปลูกป่าลงบนพื้นที่ความขัดแย้งเท่ากับดึงพลังบวกของสังคมไปละเมิดสิทธิชุมชน และยังไม่นับว่าการปลูกป่าเชิงเดี่ยวขาดความหลากหลายชีวภาพ ไม่ได้มีส่วนช่วยดูดซับคาร์บอนฯ นั่นทำให้โครงการลดโลกร้อนด้วยการปลูกป่ายิ่งสร้างปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และนิเวศของท้องถิ่น

การสร้างการจัดการป่าที่ยั่งยืนที่คงความหลากหลายทางชีวภาพและดูดซับคาร์บอนฯ ได้ดี อยู่ที่การสนับสนุนบทบาทของชุมชนท้องถิ่นไม่ว่าจะอยู่ในเขตพื้นที่ป่าของรัฐประเภทไหน ทั้งป่าสงวนแห่งชาติหรือป่าอนุรักษ์ ให้พัฒนาวิถีการดูแลฟื้นฟูป่าที่เข้มแข็ง สร้างความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นฐานความมั่นคงอาหารและปัจจัยดำรงชีพแก่ชุมชนและสังคม ให้ป่าสร้างบริการทางนิเวศในการดูดซับคาร์บอนฯ ป้องกันภัยพิบัติ และสร้างเศรษฐกิจชุมชน คุณภาพชีวิตชุมชนให้มั่นคงจากทรัพยากรป่า ดังที่ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ป่านับหมื่นแห่งทั่วประเทศได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว การจัดการป่าที่ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของรับผิดชอบจะมีความสมบูรณ์และยั่งยืนกว่าการจัดการป่าแบบอำนาจนิยมของรัฐ

บทสรุปพลเมืองตื่นรู้ปกป้องโลกร้อน

Sir David Attenborough มีความหวังว่า “เรา” ยังมีโอกาสกอบกู้โลกจากหายนะโลกร้อนและการสูญพันธุ์สรรพชีวิตได้ บทเรียนของขบวนการชุมชน ประชาชนสิ่งแวดล้อมทั่วโลกก็เห็นตรงกันว่า “เรา” ที่ว่า ไม่ใช่แค่ปัจเจกบุคคล แต่ต้องเป็นขบวนการทางสังคมที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดจากคนรากหญ้าสู่คนชั้นกลางในเมืองที่ต้องเร่งปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต พร้อมไปกับเคลื่อนไหวอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างปัญหาของระบบทุนนิยมและระบบรัฐผูกขาดอำนาจให้หยุดสร้างความหายนะต่อโลกโดยทันที เราจึงจะมีโลกเย็นที่เป็นธรรมได้