ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: ” ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’ ในหลวงตรัส” และ “ปธน. ไนจีเรียสอนหยุดชุมนุม แต่ไม่กล่าวถึงการกราดยิง”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: ” ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’ ในหลวงตรัส” และ “ปธน. ไนจีเรียสอนหยุดชุมนุม แต่ไม่กล่าวถึงการกราดยิง”

25 ตุลาคม 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 17-23 ต.ค. 2563

  • “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” — ในหลวงตรัส
  • นายกฯ แถลง วอนม็อบ ถอยคนละก้าว แถลงเสร็จจับผู้ชุมนุม
  • ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ
  • พบหญิงฝรั่งเศสที่สมุยติดโควิด-19 หลังกักตัว 14 วันไม่พบเชื้อ
  • ปธน. ไนจีเรียสอนหยุดชุมนุม แต่ไม่กล่าวถึงเหตุการณ์กราดยิง

  • “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” — ในหลวงตรัส

    ช่วงหัวค่ำวันที่ 23 ต.ค. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย หรือวันปิยมหาราช ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

    มีคลิปวิดีโอมากมายจากช่วงเวลาที่ทรงเสด็จมีพระราชปฏิสันฐานแก่พสกนิกรที่มาเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดเผยแพร่ในโลกออนไลน์ โดยคลิปหนึ่งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปฏิสันฐานแก่ชายคนหนึ่ง โดยมีเนื้อหาในคลิปช่วงหนึ่งดังนี้

    พระราชินี: “คนนี้ไปยืนถือป้าย คนนี้ไปยืนชูป้ายท่ามกลางผู้ประท้วง ขอบคุณมาก ๆ เราจำได้ ขอบคุณมาก ๆ เป็นกำลังใจให้ ขอบคุณมาก ๆ”
    พระเจ้าอยู่หัว: (ทรงชี้พระดัชนีไปยังชายคนหนึ่ง) “ใช่ไหม คนนี้”
    พระราชินี: “ใช่ คนเดียวถือป้าย”
    พระเจ้าอยู่หัว: “กล้ามาก ๆ เก่งมาก ขอบใจ”
    ชายคนหนึ่ง: “ทรงพระเจริญครับ รักในหลวงมาก ๆ ทรงพระเจริญ”
    พระเจ้าอยู่หัว: “ขอบใจมาก ขอบใจ”
    ชายคนหนึ่ง: “อูย เป็นบุญของผมมาก ๆ ครับ ทรงพระเจริญ หาที่สุดไม่ได้”
    พระราชินี: “ขอบคุณนะคะ เราก็ภูมิใจที่คุณทำมาก ขอบคุณมาก”
    พระเจ้าอยู่หัว: “กล้ามาก ขอบใจมาก”

    อนึ่ง ชายคนดังกล่าวคือ นายฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ซึ่งเป็นผู้อัญเชิญภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปยืนอยู่ใกล้พื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วม “ราษฎร” ด้านศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — ในหลวง ร. 10 ตรัสทักทาย “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ต่อชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ไว้เหนือหัว
    เว็บไซต์เนชั่นทีวี — ได้ใจ! คนทั้งชาติ ยืนถือรูปในหลวง ประจันหน้าม็อบ

    นายกฯ แถลง วอนม็อบ ถอยคนละก้าว แถลงเสร็จจับผู้ชุมนุม

    พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

    วันที่ 21 ต.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) เรื่องสถานการณ์และการร่วมกันนำพาประเทศเดินต่อไปข้างหน้า โดยมีใจความบางช่วงบางตอน ดังนี้

    นายกฯ ยืนยันว่า ตน “ต้องบริหารประเทศบนพื้นฐานหลักการตามกฎหมาย และตามแนวทางและการตัดสินใจจากรัฐสภา ในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนไทย นั่นคือระบบรัฐสภาที่เราต้องเคารพ เราไม่สามารถบริหารประเทศตามเสียงประท้วง หรือความต้องการของผู้ประท้วงกลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่มประท้วงได้ แม้ผมจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า ผมได้ยินเสียงความต้องการของผู้ประท้วงก็ตาม”

    “เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เราได้เห็นเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่มีใครอยากเห็นว่าเกิดขึ้นในประเทศไทย เราได้เห็นการกระทำที่น่าหดหู่ใจอย่างมากที่เกิดขึ้นกับตำรวจ มีการทุบตีทำร้ายตำรวจ ด้วยคีมเหล็กขนาดใหญ่ และพฤติกรรมรุนแรงอีกหลายอย่างต่อเจ้าหน้าที่ เป็นการตั้งใจทำร้ายคนไทยด้วยกัน”

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
    นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

    และบอกว่า

    “ในเวลานี้ เราต้องถอยกันคนละก้าว เพื่อออกห่างจากทางที่จะนำไปสู่ปากเหว เส้นทางที่จะพาประเทศไทยของเราค่อยๆ ตกลงไปสู่หายนะ และสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมจะเริ่มเกิดขึ้นมากขึ้นๆ การใช้อารมณ์ความรู้สึกนำ ก็จะยิ่งสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ร้อนมากยิ่งขึ้น และการใช้ความรุนแรง จะยิ่งนำมาซึ่งความรุนแรงที่มากกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ได้สอนเรามาแล้วหลายครั้ง ซึ่งตอนจบของทุกครั้งก็คือความเสียหายที่ทิ้งไว้กับประเทศ”

    นอกจากนี้ นายกฯ ยังกล่าวด้วยว่า

    “มีวิธีเดียว ที่เราจะก้าวผ่านปัญหาไปได้อย่างยั่งยืน แน่นอนว่าต้องเกิดขึ้นจากการพูดคุยกัน จากการเคารพกระบวนการของกฎหมาย และจากการมองเห็นความต้องการของประชาชน ที่แสดงออกมาผ่านทางกระบวนการรัฐสภา นี่คือวิธีการเดียว

    ผู้ประท้วงได้แสดงความคิดของเค้าแล้ว เสียงและความคิดของพวกเค้า ถูกได้ยินโดยทุกฝ่ายและทุกคนเป็นที่เรียบร้อย

    ตอนนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่จะนำความคิด และความต้องการของผู้ประท้วง มาพิจารณาร่วมกับความต้องการของประชาชนส่วนอื่นๆ ในสังคมไทย หาเส้นทางที่เหมาะสมและเห็นชอบร่วมกันส่วนใหญ่ ผ่านกระบวนการในระบบรัฐสภา ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชน โดยคณะรัฐมนตรี เห็นชอบการเปิดประชุมวิสามัญ และได้ทูลเกล้าพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาแล้ว คาดว่าจะเปิดประชุมสภาได้ประมาณวันจันทร์ที่ 26 และวันอังคารที่ 27 ตุลาคมที่จะถึงนี้”

    ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ สมาชิกคณะประชาชนปลดแอก ถูกจับตัวภายหลังนายกมีแถลงการณ์ขอให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าว
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์

    แถลงการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในขณะที่กลุ่มประชาชนที่มาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง โดยการชุมนุมดังกล่าวสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 22.00 น. ทว่า หลังจากนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบนำหมายจุบเข้าจับกุม ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ สมาชิกคณะประชาชนปลดแอก ณ คาเฟ่แห่งหนึ่งบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

    ในการจับกุมนั้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะนำตัวภัสราวลีไปยังสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี แต่เมื่อขึ้นแล้วกลับถูกนำตัวไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ปทุมธานี แทน

    แม้วันต่อมา ศาลจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวภัสราวลีโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่การกระทำดังกล่าวของเจ้าที่ตำรวจ ก็ทำให้สังคมบางส่วนเกิดความกังขาว่า “ถอยคนละก้าว” ที่ พล.อ. ประยุทธ์ ว่านั้น มีความจริงใจแค่ไหน

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — นายกฯ แนะ ทางออก “ถอยคนละก้าว” เข้าสภา ใช้สติปัญญา แก้ปัญหาร่วมกัน (คลิป)
    เว็บไซต์เดลินิวส์ — สรุปไทม์ไลน์ทั้งวัน!ตร.ฉีดน้ำสีฟ้า สลายม็อบแยกปทุมวัน
    เว็บไซต์ไทยพีบีเอส — “ไอลอว์” เปิดหลักสากล “การชุมนุม-สลายการชุมนุม”
    เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ — ด่วน! นอกเครื่องแบบบุกจับ “น้องมายด์” ในซอยเปลี่ยว แถมไม่แสดงบัตร
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราว “มายด์ ภัสราวลี” ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน

    ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ

    วันที่ 22 ต.ค. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ประกาศ ช้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง โดยระบุว่าสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้คลี่คลายและยุติลง จึงให้ยกเลิกประกาศที่ออกมาก่อนหน้า รวมทั้งข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่ออกมาเนื่องจากการประกาศก่อนหน้า

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา — ประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ประกาศ ช้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง

    พบหญิงฝรั่งเศสที่สมุยติดโควิด-19 หลังกักตัว 14 วันไม่พบเชื้อ

    วันที่ 23 ต.ค. 2563 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 เป็นหญิงสัญชาติฝรั่งเศส อายุ 57 ปี ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Workpoint TODAY

    สำหรับผู้ติดเชื้อรายนี้เดินทางจากประเทศฝรั่งเศสพร้อมครอบครัว 2 ราย เป็นสามีและลูก ถึงประเทศไทยวันที่ 30 กันยายน 2563 ด้วยสายการบินไทย TG 933 เข้ารับการกักตัวในสถานที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) จ.สมุทรปราการ อาการปกติ ได้รับการตรวจเชื้อ 2 ครั้ง วันที่ 3 ตุลาคม และวันที่ 11 ตุลาคม ผลเป็นลบทั้ง 2 ครั้ง เมื่อครบกำหนดออกจากสถานที่กักกัน วันที่ 15 ตุลาคม ไปสถานทูตฝรั่งเศส และช่วงบ่ายเดินทางไปเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เที่ยวบิน PG 167 เมื่อถึงมีเพื่อน 1 คน มารับด้วยรถยนต์ส่วนตัวไปส่งบ้านพัก

    สำหรับผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อในกรณีนี้ แบ่งเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 15 ราย ได้แก่ สามีและลูก ผู้โดยสารเที่ยวบินเดียวกัน 10 ราย และลูกเรือ 2 ราย และเพื่อนที่ไปรับที่สนามบิน 1 ราย เบื้องต้นผลการตรวจสมาชิกในครอบครัวไม่พบเชื้อและรับไว้ในห้องแยกโรค รพ.เกาะสมุยแล้ว อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังอาการ ส่วนเพื่อนอยู่ระหว่างการรอผลตรวจ ขณะที่ผู้โดยสารและลูกเรือกำลังติดตามมารับการตรวจ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำมีทั้งหมด 21 ราย คาดว่าผู้ติดเชื้อรายนี้มีโอกาสเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์Workpoint TODAY — หญิงฝรั่งเศสติดโควิด-19 ที่เกาะสมุยหลังกักตัวครบ 14 วัน เบื้องต้นมีผู้สัมผัสใกล้ชิด 40 ราย

    ปธน. ไนจีเรียสอนหยุดชุมนุม แต่ไม่กล่าวถึงเหตุการณ์กราดยิง

    วันที่ 22 ต.ค. 2563 ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี กล่าวในแถลงการณ์เมื่อคืนวันที่ 22 ต.ค. ว่า ขอให้ผู้ประท้วงหยุดชุมนุม และหัน “มาหาทางออก” ร่วมกันกับรัฐบาล

    ทว่า แถลงการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากทหารกราดยิงใส่ผู้ชุมนุมที่มาชุมนุมอย่างสันติ

    แถลงการณ์ของบูฮารี ที่ขอให้ผู้ชุมนุมหยุดประท้วงและหันมาหาทางออกร่วมกันกับรัฐบาล โดยไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่รัฐบาลทำกับประชาชน จึงทำให้หลายคนมองว่าบูฮารีไม่ได้เข้าใจปัญหา และไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม

    อนึ่ง การชุมนุมในไนจีเรียครั้งนี้เริ่มต้นจากการประท้วงหน่วยตำรวจพิเศษต่อต้านการโจรกรรม (Special Anti-Robbery Squad) หรือที่มีชื่อย่อว่า Sars โดยเกิดเป็นแฮชแท็ก #EndSars ในทวิตเตอร์เรียกร้องให้ยุบหน่วยดังกล่าว

    หลายปีที่ผ่านมา มีข้อกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยตำรวจพิเศษนี้เองที่ลักทรัพย์ ทำร้าย และแม้กระทั่งสังหารประชาชน แต่การประท้วงเพิ่งมาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี สั่งยุบหน่วยตำรวจพิเศษนี้เมื่อวันที่ 11 ต.ค. แต่การประท้วงก็ยังดำเนินต่อไป กลายเป็นการเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศในหลายประเด็น ทั้งในแวดวงทหาร ตำรวจ และการบริหารประเทศ

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — นองเลือดในไนจีเรีย : รัฐบาลส่งทหาร-ตำรวจเข้าปราบประชาชนที่ต้องการการปฏิรูป