ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ปลดล็อกการเมืองแล้ว นักการเมือง-ปชช. ทำกิจกรรมการเมืองได้ แถมเลิกอายัดบัญชีม.44” และ “กราดยิงฝรั่งเศส คนไทยเสียชีวิต”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ปลดล็อกการเมืองแล้ว นักการเมือง-ปชช. ทำกิจกรรมการเมืองได้ แถมเลิกอายัดบัญชีม.44” และ “กราดยิงฝรั่งเศส คนไทยเสียชีวิต”

15 ธันวาคม 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 1-7 ธ.ค. 2561

  • ปลดล็อกการเมืองแล้ว นักการเมือง-ปชช. ทำกิจกรรมการเมืองได้ แถมเลิกอายัดบัญชีม.44
  • แก้ประกาศ ป.ป.ช. ยกเลิกนิยามเดิม “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” – แย้ม กก.สภามหา’ลัยอาจต้องยื่น แต่ไม่เปิดเผย
  • จำคุก 1 ปีทันที “ธาริต” หมิ่น “สุเทพ” คดีโรงพักฉาว
  • รัฐแจกเงินปีใหม่ 7,250 ล้าน – กรุงไทยแจง “ไม่หาย” ไม่ต้องรีบกด
  • กราดยิงฝรั่งเศส คนไทยเสียชีวิต
  • ปลดล็อกการเมืองแล้ว นักการเมือง-ปชช. ทำกิจกรรมการเมืองได้ แถมเลิกอายัดบัญชี

    เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า วันที่ 11 ธ.ค. 2561 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ ๒๒/๒๕๖๑ เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยเป็นการยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช. 9 ฉบับ ที่เคยห้ามเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคลที่มารายงานตัว คำสั่งห้ามการชุมนุม

    ในส่วนสาระสำคัญ และผลของการยกเลิกคำสั่งต่างๆ เหล่านั้น เว็บไซต์ข่าวสดได้รายงานเพิ่มเติมเอาไว้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น

    การยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ ๑๐/๒๕๕๗ โดยยกเลิกเฉพาะข้อ ๒ ของข้อ ๑ ในคำสั่งดังกล่าว จะเป็นการยกเลิกการห้ามทำธุรกรรมทางการเงินของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคไทยรักษาชาติ

    การยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ ๒๖/๒๕๕๗ จะเป็นการยกเลิกการห้ามทำธุรกรรมทางการเงินของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน และ จ.ส.ต. ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย

    การยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ ๘๐/๒๕๕๗ จะเป็นการยกเลิกการห้ามมิให้บุคคลเหล่านี้ออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งยกเลิกการห้ามบุคคลเหล่านี้เคลื่อนไหวหรือชุมนุมทางการเมือง คือ 1. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 2. พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ 3. นายชูศักดิ์ ศิรินิล 4. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา 5. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ 6. นายจตุพร พรหมพันธุ์ 7. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 8. นางธิดา โตจิราการ 9. นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ 10. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 11. นายจุติไกรฤกษ์ 12. นายศิริโชค โสภา 13. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ 14. นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ 15. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 16. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 17. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และ 18. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข

    การยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ โดยยกเลิกเฉพาะข้อ ๑๒ จะเป็นการยกเลิกการห้ามชุมนุม/มั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

    การยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๕๓/๒๕๖๐ ข้อ ๔, ข้อ ๕ และข้อ ๗ จะเป็นการการยกเลิกการห้ามพรรคจัดประชุมใหญ่ จัดตั้งสาขาพรรค ประชุมสมาชิกพรรค หรือหากมีพรรคที่จะตั้งขึ้นใหม่ การจัดประชุมก่อตั้งพรรคก็ต้องไม่ต้องขออนุญาต คสช.

    นอกจากนี้ เว็บไซต์ไทยโพสต์ ได้รายงานถึงคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรื่องในการปลดล็อกพรรคการเมืองดังกล่าว โดยนายวิษณุบอกว่า ขณะนี้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมได้ทุกอย่าง อย่างการประชุมสมาชิกพรรคก็สามารถทำได้ ส่วนที่ต้องยกเลิกถึง 9 ฉบับนั้น มีคำสั่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพียง 2 ฉบับ แต่ที่ปลดมีทั้งเรื่องการเงินอะไรต่างๆ ด้วยวันนี้จึงเคลียร์ทั้งหมด 

    ตอนนี้พรรคการเมืองสามารถลงพื้นที่พบปะประชาชนได้ ทั้งนี้ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ระบุว่าการหาเสียงจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อ พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้ง ส่วนจะหาเสียงอย่างไรให้เป็นไปตามวิธีการที่กกต.กำหนด ถ้าพูดไปแล้วก่อนมี พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้ง ถ้าปลดล็อกให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ก็ทำไปแต่ไม่ถือว่านี่คือการหาเสียง

    เมื่อถามว่าพรรคการเมืองจัดเวทีปราศรัยหรือเรียกประชุม ส.ส. โดยไม่ต้องขอ คสช. ได้เลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทำไปเถอะอยากทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น และถ้าจะพูดว่าห้ามหาเสียงก็เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะหากพูดว่าห้ามหาเสียงก็ต้องพูดว่าหาเสียงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบคือควรจะมีความผิด แต่มันไม่มีความผิดไม่มีโทษ ดังนั้นเอาเป็นว่าเอาเป็นว่า สิ่งที่เรียกว่าหาเสียง จะเริ่มก็ต่อเมื่อมี พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้งแล้วคิดค่าใช่จ่ายตั้งแต่วันนั้น ก่อนหน้านั้นไม่มีการคิดค่าใช่จ่าย วันนี้คุณจะขึ้นป้ายคัตเอาท์อะไรก็สามารถทำได้ แต่เมื่อมี พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้ง ก็ต้องเอาลง 

    เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทุกอย่างได้ นายวิษณุตอบว่า ทำได้ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่เช่นกฎหมายรักษาความสะอาด กฎหมายความสงบเรียบร้อย แม้แต่การเชิญชวนให้เลือกพรรคก็สามารถทำได้ แต่เมื่อ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบและจะเริ่มคิดค่าใช้จ่ายกันตั้งแต่วันนั้น อะไรที่เคยคิดว่าอิสระ ก็ต้องมาดูแล้วว่ากติกาการหาเสียง ทางวิทยุ โทรทัศน์ ทางสื่ออิเล็กทรอนิกเป็นอย่างไร แต่ขณนี้ถือว่ายังไม่มีกฎเกณฑ์อะไร

    ถามย้ำว่า คำสั่งปลดล็อกฉบับนี้ ถือว่าเป็นการปล่อยผีให้พรรคการเมืองใช่หรือไม่ รองนายกฯตอบว่า แล้วแต่คุณจะเรียก เพราะปล่อยหมดแล้วจนไม่มีอะไรเหลือ และถือว่าดีกว่าช่วงที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งเสียอีก เพราะต้องเข้าไปอยู่ในกฎเกณฑ์ตามกฎหมาย เมื่อถามว่าเวลานี้พรรคการเมืองแต่ละพรรค สามารถบอกได้เลยใช่หรือไม่ว่าจะสนับสนุนให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ กล่าวว่าอยากจะพูดก็พูดไป

    ม.44 แก้ประกาศ ป.ป.ช. ยกเลิกนิยามเดิม “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” – แย้ม กก.สภามหา’ลัยอาจต้องยื่น แต่ไม่เปิดเผย

    เว็บไซต์ WORKPOINT NEWS รายงานว่า วันที่ 11 ธ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ ๒๑/๒๕๖๑ เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

    ใจความสำคัญระบุถึง การที่ประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานรัฐทุกแห่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

    การกำหนดตำแหน่งของ “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” ที่นิยามไว้ ทำให้ ป.ป.ช. ไม่อาจกำหนดเองได้ว่าใครเข้าข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และต้องออกประกาศให้ กรรมการและผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานอื่นของรัฐทุกแห่งต้องยื่นทั้งหมด จนส่งผลให้การบริหารจัดการภายในหน่วยงานบางแห่งประสบปัญหา

    คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ยกเลิกบทนิยาม “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” เดิม โดยให้กำหนดเป็น ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สำหรับข้าราชการพลเรือน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ สำหรับข้าราชการทหาร และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัด กทม. กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนด

    และมีตำแหน่งที่ ป.ป.ช. กำหนดเองได้ คือ “ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด” นอกจากนี้ยังระบุให้กรณีที่มีปัญหาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการตีความและวินิจฉัย และให้ ป.ป.ช. ไปแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของตนเอง ให้สอดคล้องกับ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้

    ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ. วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึง แนวทางการแก้ปัญหากรณีมีผู้กังวลเรื่องการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เช่น กรรมการสภามหาวิทยาลัย ว่าอาจจะกำหนดให้ยังต้องยื่นแต่ไม่ต้องเปิดเผยแทน เพื่อทำให้สถานการณ์เบาลงไป แต่จะไม่ให้ยื่นเลยเป็นไปได้ยาก

    จำคุก 1 ปีทันที “ธาริต” หมิ่น “สุเทพ” คดีโรงพักฉาว

    นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มาภาพ: http://www.thairath.co.th/content/493811

    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า วันที่ 14 ธ.ค. 2561 ภายหลังศาลฎีกาฯ พิพากษากลับ ให้จำคุก นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีที่ถูกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีแถลงข่าวเรื่องเกี่ยวกับเสนอราคาในการประมูลโครงการก่อสร้างโรงพัก 396 เเห่ง โดยคดีผ่านศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ศาลมีคำพิพากษยกฟ้องโจทก์   

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกาได้นัดอ่านฎีกาครั้งเเรกในวันที่ 24 ต.ค. 2561 ที่ศาลอาญา ซึ่งในวันดังกล่าวนายธาริต ไม่ได้เดินทางมาศาลอาญาเนื่องจากมีการป่วยติดเชื้อในลำไส้ ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ พร้อมแสดงใบรับรองแพทย์ต่อศาล ทั้งยังได้มอบหมายทนายยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อประธานศาลฎีกาขอให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ศาลฎีกาวินิจฉัย

    ศาลอาญาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เอกสารถ้อยคำที่มีการยื่นเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ เชื่อว่าศาลฎีกายังไม่ได้พิจารณาเอกสารดังกล่าว เอกสารทั้ง 3 ชุดที่ยื่นมานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงพักทั้ง 396 แห่ง ซึ่งเป็นมูลเหตุในการฟ้องหมิ่นประมาทในคดีนี้ จึงเห็นควรมีคำสั่งให้ส่งคำร้องของจำเลย รวมถึงถ้อยคำในเอกสารส่งขึ้นให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อไป และเมื่อมีคำสั่งส่งคำร้องแล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้หรือไม่ จึงมีคำสั่งให้เลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไป จนศาลฎีกานัดฟังคำสั่งในวันที่ 14 ธ.ค. 2561

    โดยก่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 นายธาริตจำเลยในคดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอถอนคำให้การเดิมและเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง พร้อมขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 14 ธันวาคม 2561 ออกไปก่อน 60 วัน โดยอ้างเหตุว่าได้มีการขอขมาต่อนายสุเทพ ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด รับเป็นคนกลางในการเจรจา โดยทำหนังสือแสดงความสำนึกผิดและขอขมาลาโทษ เเละยื่นขอให้การใหม่เป็นให้การ รับสารภาพตามฟ้องเพื่อให้สอดคล้องหนังสือสำนึกผิดและขอขมาลาโทษต่อนายสุเทพไปแล้ว พร้อมทั้งส่งบันทึกรับรองข้อเท็จจริงผลการเจรจาประนีประนอมฯ ที่นายคณิตได้รับรองยื่นต่อศาล แต่หากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีก็ขอความกรุณาต่อศาลฎีกาลงโทษสถานเบาโดยรอการลงอาญา ทั้งนี้ต่อมานายธาริตยังได้ส่งทนายความยื่นคำร้องพร้อมวางเงิน 1 เเสนบาทต่อศาล เพื่อเยียวยาบรรเทาผลร้ายต่อโจทก์

    ขณะเดียวกันในวันที่ 11 ธ.ค. นายสุเทพ โจทก์ยื่นคำร้องมาที่ศาลฎีกาสรุปเนื้อหาตามที่มีข่าวปรากฏตามสื่อสรุปว่าจำเลยในคดีได้ให้ทนายความเเถลงว่ามีการประนีประนอมพร้อมขอขมาลาโทษเเละขอบพระคุณกับโจทก์ที่จะได้เมตตายกโทษในคดีตามที่โจทก์เห็นสมควรให้นั้น ไม่เป็นความจริง โจทก์จึงขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตามที่นัดไว้ในวันที่ 14 ธ.ค.61 ตามเดิม

    สำหรับการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 ที่บัญญัติว่า ศาลฎีกาจะอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลฎีกาหรือจะส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้ และระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา พ.ศ.2550 ข้อ 3 (3) กำหนดให้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ในคดีที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือเป็นที่สนใจของประชาชนหรือคดีอื่นใดซึ่งประธานศาลฎีกาเห็นสมควรให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ศาลฎีกา โดยใน 07.30 น. นายธาริต เดินทางมาศาล ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันเเล้วเห็นว่า การเเถลงข่าวเรื่องเกี่ยวกับเสนอราคาในการประมูลโครงการก่อสร้างโรงพัก 396 เเห่งของนายธาริตเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์นายสุเทพตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยพิพากษาลงโทษจำคุก จำเลย 1 ปีที่จำเลยขอถอนคำให้การเป็นรับสารภาพ ไม่อาจถอนคำให้การได้ในชั้นฎีกาให้ยกคำร้อง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้มีการบรรเทาผลร้ายเเละการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นผลสำเร็จมีการทำตามข้อตกลงสิทธิในการดำเนินคดีอาญาต้องระงับไป ศาลเห็นว่ายังอยู่ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ย เเละการเจรจาไกล่เกลี่ยต้องคำนึงถึงคู่ความทั้งสองฝ่าย ซึ่งโจทก์ไม่ประนีประนอม ให้จำเลยนำเงินวางคืนได้

    รัฐแจกเงินปีใหม่ 7,250 ล้าน – กรุงไทยแจง “ไม่หาย” ไม่ต้องรีบกด

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ PPTVHD36 (http://bit.ly/2SMrVmT)

    เว็บไซต์ PPTVHD36 รายงานว่า สำหรับมาตรการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ซื้อสินค้าและบริการในช่วงปีใหม่  โดยโอนเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 500 บาท นั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา โดยมติ ครม. ระบุว่าเป็นไปเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อยในช่วงปลายปี 2561  สำหรับกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 11.4 ล้านคน และผ่านการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืนจำนวน 3.1   ล้านคน รวมทั้งหมดจำนวน 14.5 ล้านคน

    สำหรับงบประมาณ กรมบัญชีกลางจะนำเงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ใส่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการผ่านเครื่อง EDC แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ และถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติได้ โดยใช้งบประมาณ 7,250 ล้านบาท

    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานถึงคำชี้แจงของธนาคารกรุงไทยhttp://bit.ly/2SPnA2iเรื่องเงินในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวว่า จะไม่จำกัดเวลาในการใช้ ไม่มีการดึงเงินกลับ โดยจะแตกต่างจากวงเงินสวัสดิการซื้อสินค้าธงฟ้า 200/300 บาทที่ให้มาก่อนหน้านี้ ที่ผู้ถือบัตรต้องใช้จ่ายภายในเดือนนั้นๆ

    ดังนั้น ผู้มีสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องถอนเงินตอนนี้ เงินของขวัญ 500 บาทจะคงอยู่ในบัตรตลอดไปจนกว่าผู้มีสิทธิ์มีความจำเป็นต้องใช้ โดยสามารถกดเป็นเงินสดผ่านตู้ ATM กรุงไทย ถอนเงินจากบัตรที่สาขาธนาคารกรุงไทย หรือใช้จ่ายเงินดังกล่าวที่ร้านธงฟ้า รวมทั้งร้านค้าเอกชนอื่นที่รับบัตรสวัสดิการได้

    กราดยิงฝรั่งเศส คนไทยเสียชีวิต

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เนชั่นทีวี (http://bit.ly/2SPmfZc)

    เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า เกิดเหตุคนร้ายใช้ปืนกราดยิงในบริเวณใกล้ตลาดคริสต์มาส เมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ช่วงเย็นของวันที่ 11 ธ.ค. 2561 ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวไทยคือนายอนุพงษ์ สืบสมาน ซึ่งเดินทางมาพร้อมภรรยาคือนางนัยนา สืบสมาน และเดินทางถึงฝรั่งเศสได้เพียงวันเดียว เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของฝรั่งเศสได้ปิดพื้นที่เกิดเหตุ และได้นำตัวผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลในท้องถิ่น

    ด้านรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสเปิดเผยว่า มีผู้บาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก และรัฐบาลได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยกู้ภัยให้เดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งส่งกองกำลังบางส่วนไล่ล่าผู้ก่อเหตุที่หลบหนีการจับกุมไปได้

    ขณะที่ทำเนียบประธานาธิบดี ออกแถลงการณ์ว่าประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ได้รับรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างรอฟังสรุปสถานการณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ทวีตข้อความระบุว่า ตกใจ และเสียใจต่อเหตุการณ์กราดยิงในเมืองสตาร์สบูร์ก พร้อมแสดงความห่วงใยต่อประชาชนชาวฝรั่งเศสที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้

    เหตุการณ์ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นการก่อการร้ายในฝรั่งเศสครั้งล่าสุดนี้ เกิดขึ้นหลังการประท้วงรัฐบาลของกลุ่มคนเสื้อกั๊กเหลือง ที่ไม่พอใจการขึ้นภาษีเชื้อเพลิง และการบริหารเศรษฐกิจของประธานาธิบดีมาครง จนสุดท้าย ประธานาธิบดีมาครง ได้ออกมาประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 100 ยูโร เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2562 พร้อมยุติแผนปรับภาษีเชื้อเพลิง โดยหวังให้เกิดความสงบในบ้านเมือง