ThaiPublica > เกาะกระแส > บทพิสูจน์การแก้น้ำท่วม เมื่อ “คลองลาดพร้าว-เปรมประชากร” ระดับน้ำวิกฤติ น้ำรอระบายท่วมนานกว่า 12 ชม.

บทพิสูจน์การแก้น้ำท่วม เมื่อ “คลองลาดพร้าว-เปรมประชากร” ระดับน้ำวิกฤติ น้ำรอระบายท่วมนานกว่า 12 ชม.

21 ตุลาคม 2020


น้ำรอระบาย(ท่วม)ในหมู่บ้าน ย่านรามอินทราซอย 5 ในวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ท่วมขังเป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมง

ต่อจากตอนที่แล้ว น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร “ความจริงที่แก้ได้…ง่ายนิดเดียว”

“ฝนตกน้ำท่วม” New normal ของคนกรุงเทพฯ!!!

เมื่อไหร่ที่น้ำรอระบายท่วมขังนานๆ จนประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นนอกของกรุงเทพมหานครโวยวายเสียงดังๆ ก็มีภาพผู้ว่าราชการกรุงเทพฯในภาพรองเท้าบูท เดินลุยน้ำลงพื้นที่ ให้เห็นตามสื่อต่างๆ

ถามว่าเราจะเห็นภาพแบบนี้อีกนานแค่ไหน ท่ามกลางเทคโนโลยี่ที่ก้าวไกล สามารถดีไซน์เพื่อตอบโจทย์ได้แล้ว

วัฏจักร “น้ำท่วม” กรุงเทพ เกิดซ้ำๆทั้งสถานที่และช่วงเวลา ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ เข้าใจดีว่าท่อระบายน้ำขนาดเล็ก หรือขยะปิดทางระบายน้ำหน้าอุโมงค์ ไฟฟ้าดับเครื่องสูบน้ำไม่ทำงาน ไม่ใช่ต้นตอหลัก แต่การออกสื่อยังเป็นข้ออ้างซ้ำๆ พร้อมระบุการดำเนินการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยวิธีการดังนี้ (ดูกราฟิกด้านล่าง) ซึ่งในทางปฏิบัติ ทำจริง ทำแบบไหน ทำอย่างไร และทำได้แค่ไหน ได้ตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างไร หรือเป็นแค่อีเวนท์เป็นคราวๆ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ชุมชนน้ำท่วม เขตหลักสี่ ดอนเมือง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563

ตามที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่าการแก้น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เบื้องต้นที่สามารถทำได้เลย คือ

1.ซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามที่สำนักการระบายน้ำระบุ 743.62 ลบม.ต่อวินาที ในฝั่งพระนคร และรองรับปริมาณฝนตกได้ประมาณ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่ด้วยเครื่องสูบน้ำส่วนใหญ่ใช้มานาน ประสิทธิภาพเสื่อม และบางสถานีไม่สามารถใช้ปั้มน้ำได้ทุกตัว ส่งผลต่อขีดความสามารถในการระบายน้ำอย่างมาก ทั้งที่ปัจจุบันเทคโนโลยี่เครื่องสูบน้ำหรือปั้มน้ำก้าวหน้าไปมากแล้ว

2.ขนคนออกจากคลองเพื่อขุดลอก กดระดับคลองให้ลึกอย่างน้อย 3 เมตร เป็นแก้มลิงรองรับน้ำและระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

มีการตั้งข้อสังเกตว่า แม้ท่อระบายน้ำจะมีขนาดเล็กตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพกล่าวอ้าง แต่ยังสามารถระบายน้ำได้ ถ้าหากมีเครื่องสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพ และมีคลองสายหลักที่รองรับน้ำได้ ก็สามารถระบายน้ำออกจากคลองย่อย คลองรองในพื้นที่ต่างๆได้ทันเวลา แต่ถ้ามีท่อระบายน้ำใหญ่ แต่เครื่องสูบน้ำไม่ได้รับการซ่อมบำรุง ประสิทธิภาพต่ำ และคลองสายหลักไม่ได้รับการขุดลอกให้ลึกเพียงพอ ปัญหาน้ำรอระบาย ก็ไม่รู้จะระบายอย่างไรและไปที่ไหน

แหล่งข่าวจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ยิ่งเป็นสถานีที่ต้องสูบน้ำลงเจ้าพระยา กำลังแรงของปั้มน้ำที่จะให้น้ำพุ่งไปไกลมีความจำเป็นมาก เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงกว่าพื้นที่กรุงเทพ จำเป็นต้องใช้ปั้มที่มีประสิทธิภาพในการทะลวงน้ำออกไป คนที่เข้ามาแก้ปัญหาต้องเข้าใจปัญหาแต่ละจุดอย่างถ่องแท้ ถ้าแก้ตรงจุด น้ำรอระบายก็ไม่ท่วมขังนานเกินไป

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา(12-18 ตุลาคม 2563) เป็นการพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าระดับน้ำในคลองสายหลักอย่างคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าวอยู่ในระดับวิกฤติ ทั้งที่ปริมาณฝนไม่ได้ตกหนัก

คลองลาดพร้าว ปริมาณน้ำที่อยู่ในภาวะวิกฤติ ในวันที่ 17-18 ตุลาคม 2563
คลองเปรมประชากร ปริมาณน้ำอยู่ในภาวะวิกฤติ ในวันที่ 17-18 ตุลาคม 2563

สถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องตลอดคืนวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2563 ต่อถึงเช้าวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ทำให้พื้นที่ในเขตกรุงเทพชั้นนอกที่เชื่อมต่อกับคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร หากดูจากกราฟที่แสดงระดับน้ำในคลองลาดพร้าว ช่วงที่อยู่ในระดับวิกฤติตั้งแต่เสนานิคม รามอินทราซอย5 ไปจนถึงซอย 23 วงเวียนหลักสี่ บางเขน ทำให้หมู่บ้านต่างๆในละแวกเหล่านี้น้ำท่วมสูงเพราะน้ำจากท่อระบายเอ่อขึ้นมาเป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมง

น้ำท่วมซอยรามอินทรา19 และในรามอินทราซอย21 ซอยรามอินทรา 23 น้ำท่วมทั้งซอย ในวันที่ 18 ตุลาคม 2563

ทั้งที่วันที่ 18 ตุลาคม 2563 ปริมาณฝนตกบริเวณบางเขน 73.5 มิลลิเมตร/ชั่วโมง

เช่นเดียวกับคลองเปรมประชากร ตั้งแต่วัดเทวสุนทร หลักสี่ ถนนสรงประภา ดอนเมือง ที่ระดับน้ำในคลองสูงอยู่ในระดับวิกฤติ (ดูกราฟประกอบ)

น้ำท่วมถนนประชาอุทิศ ดอนเมือง ในวันที่ 18 ตุลาคม 2563

กรณีดังกล่าวนี้ ยิ่งตอกย้ำว่า กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องมีแก้มลิงรองรับน้ำให้มากขึ้น นั่นหมายถึงคลองสายหลักต้องเร่งเอาคนขึ้นจากคลองและขุดลอกอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับน้ำรอระบายได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามในวันดังกล่าวพื้นที่รามอินทราตั้งแต่ รามอินทรา5 รามอินทรา 19 รามอินทรา 21 น้ำรอระบายต้องระบายลงคลองรางอ้อรางแก้วซึ่งเป็นคลองย่อย จากนั้นไหลไปลงคลองลาดพร้าว เมื่อน้ำในคลองลาดพร้าววิกฤติ เอ่อเต็มคลอง คลองย่อยก็ไม่สามารถระบายน้ำได้ นี่คือหัวใจหลักของการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ทำไมกรุงเทพมหานครไม่เร่งดำเนินการขนคนขึ้นจากคลองและขุดลอกคลองให้แล้วเสร็จ เมื่อเทียบกับคลองในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพ มีการขุดลอกคลองให้ลึกรองรับน้ำได้ แต่ทำไมพื้นที่ชั้นนอกไม่เร่งดำเนินการ ทั้งที่คลองลาดพร้าว กินพื้นที่ 8 เขตของกทม.

ตามที่ได้กล่าวในตอนที่แล้วว่า ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพแก้ได้ แต่จะ “จริงจังและจริงใจ” ทำแค่ไหน

ถ้าดูจากกราฟ แสดงให้เห็นวิกฤติของคลองซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ ซึ่งเป็นแก้มลิงหลักของการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ไม่สามารถรองรับน้ำระบายได้ ทั้งๆที่ปริมาณฝนตกไม่ได้เกินกว่าเกณฑ์ที่ระบายได้

การขุดลอกคลองหรือกดระดับคลองให้ลึกเพียงพอที่จะรับน้ำ โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลคสช.ในสมัยนั้น มีนโยบายการย้ายคนออกจากคลองลาดพร้าว เป็นโครงการนำร่อง เพื่อจะขุดลอกคลองให้ลึก 3 เมตร จากปัจจุบันประมาณ 1.5 เมตร แต่ดำเนินการมา 4 ปี มีความคืบหน้าแค่ 47% (ตามสัญญาต้องแล้วเสร็จในปี 2562) และกรุงเทพมหานครยังไม่ดำเนินยกเลิกสัญญาเพื่อเดินหน้าโครงการนี้ต่อแต่อย่างใด

น้ำท่วมวงเวียนหลักสี่ ทั้งๆที่มีวอเตอร์แบงก์ เพื่อหน่วงน้ำรอระบาย ก็เอาไม่อยู่ (ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2563)

เช่นเดียวกับคลองเปรมประชากร ซึ่งเป็นคลองสายหลักในรองรับน้ำจากคลองย่อยต่างๆ เพื่อระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ดำเนินการที่ย้ายคนออกจากคลองเช่นกัน หากดำเนินการแล้ว ผู้รับเหมาทำงานไม่เสร็จ ไม่สามารถขุดลอดกดระดับคลองให้ลึกเพื่อรับน้ำได้ คนกรุงเทพที่อยู่ในพื้นที่รอบนอกก็ต้องก้มหน้ารับน้ำท่วมต่อไป

นี่คือวงจร(อุบาว์ท)ของการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ที่ไม่ลงมือสะสางอย่างจริงจัง!!