น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร พูดกี่ครั้งก็เป็นเรื่องเก่าที่ถูกหยิบมาพูดเสมอๆ ว่าฝนตก น้ำท่วม รถติด ทำให้คนเข้าใจว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่แก้ไม่ได้ไปเสียแล้ว
แต่หากได้พูดคุยกับผู้รู้เรื่องน้ำก็จะมีคำตอบว่า “แก้ได้ ไม่ยาก” อยู่ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร/สำนักงานระบายน้ำพร้อมทำหรือไม่
“พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ของกรุงเทพมหานคร ที่ทำให้คนกรุงเทพมีความหวังว่า ในห้วงอำนาจของ คสช. จะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จสั่งการแก้ปัญหายากๆ ได้สำเร็จ โดยเฉพาะการเอาคนขึ้นจากคลอง เพื่อทำเขื่อนคลอง และขุดลอกลอกคลองให้ลึกเพียงพอ (2-3 เมตร) ในการรองรับน้ำรอระบายได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะคลองลาดพร้าวที่ริเริ่มในยุคนั้น บัดนี้ทำมา 4 ปีแล้ว ยังทำไม่ถึงไหน
ตามคำประกาศของกรุงเทพมหานครที่ว่าระบุว่า รองรับปริมาณฝนตกในระดับ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงได้สบายๆ แต่สภาพความเป็นจริงเป็นอย่างที่เห็น ทุกครั้งที่ฝนตก น้ำท่วมขังรอระบายเป็นชั่วโมง ซึ่งกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ แม้ยังไม่มีการถอดออกมาเป็นมูลค่าความเสียหายก็ตาม
โดยทั่วไปปริมาณฝนตกแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากันอยู่แล้ว หากตกในพื้นที่ใดเกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ก็คำนวนได้ง่ายๆ ว่าน้ำที่รอระบายจะถูกสูบระบายหายไปในกี่นาที กี่ชั่วโมง อย่างกรณีวันที่ 2 ตุลาคม 2563 พื้นที่รัชดาภิเษกฝนตกประมาณ 75 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง นั่นหมายความว่า 15 นาที ต้องระบายน้ำท่วมขังได้หมด แต่ทำไมต้องรอถึง 2 ชั่วโมงกว่าน้ำบริเวณหน้าศาลรัชดาลดลง
เช่นเดียวกันกับน้ำท่วมในพื้นที่อื่นๆ ใช้เวลาในการระบายน้ำบนท้องถนน/ซอย ค่อนข้างนานมาก สร้างความวิบัติให้กับวิถีคนเมืองอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น
ดังนั้นการที่น้ำรอระบายที่ค้างท่อนานเกิน เป็นการพิสูจน์คำพูดของผู้ว่าฯ กทม. ที่ว่ารองรับปริมาณฝนตกในระดับ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป
คำชี้แจงที่ดูจะโบราณเมื่อเทียบกับการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ผู้ว่าฯ กทม. หลายยุคหลายๆ คนอ้างเช่นนี้มาต่อเนื่อง เช่น ขยะเยอะปิดทางไหลของน้ำ เครื่องสูบน้ำไม่ทำงาน ไฟฟ้าดับทำให้เครื่องสูบน้ำทำงานไม่ได้
แล้วความจริงนี้มันสามารถแก้ได้หรือไม่ ทำไมยังเป็นคำแก้ตัวซ้ำๆ ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีก้าวไกลไปไหนๆ
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ปรากฏว่าสถานีสูบน้ำคลองบางซื่อ ซึ่งเป็นหนึ่งสถานีหลักในการระบายน้ำ
คลองบางซื่อ เป็นคลองที่ขวางตัดยอดน้ำของคลองลาดพร้าว เพื่อไม่ให้น้ำในคลองลาดพร้าวเข้าสู่เมืองมากเกินไป โดยน้ำในคลองลาดพร้าวจะไหลไปที่อุโมงค์พระราม 9 ซึ่งอุโมงค์พระราม 9 เป็นอุโมงค์รองรับ เพื่อระบายน้ำจากคลองลาดพร้าวและคลองแสนแสบ
คลองบางซื่อซึ่งตัดยอดน้ำคลองลาดพร้าวตั้งแต่ถนนรัชดาภิเษก หน้าโรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค มาออกวิภาวดี กำแพงเพชร เกียกกาย ไปลงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีคลองบางซื่อและอุโมงค์อยู่ใต้คลองบางซื่อเป็นตัวระบายน้ำ
วันที่ 2 ตุลาคม 2563 ฝนตกน้ำท่วมมีน้ำรอระบายบริเวณถนนรัชดา เวลาประมาณ 17.00 น. ถึง 20.00 น. โดยคลองบางซื่อ มีปั๊มน้ำ 17 ตัว แต่มีเครื่องสูบน้ำทำงานได้แค่ 11 ตัว โดยโชว์ประสิทธิภาพของปั๊มทุกตัวเท่ากันหมดคือสามารถสูบน้ำได้ 3 ลบม. ต่อวินาทีต่อตัว เต็มกำลังการสูบ
“แต่ในความเป็นจริงเครื่องสูบน้ำซึ่งใช้งานมานาน มันไม่สามารถสูบได้เต็มกำลัง 3 ลบม. ต่อวินาที สูบได้แค่ 70% ของกำลังสูบที่ระบุไว้ก็เก่งแล้ว เพราะปั๊มเป็นเครื่องจักร ต้องมีการสึกหรอ ไม่มีทางที่จะสูบได้ 100 % เมื่อเครื่องสูบทำงานแค่ 11 ตัว จึงไม่แปลกใจว่าทำไมน้ำรอระบายจึงใช้เวลานานมาก”
ในวันเดียวกันที่สถานีสูบน้ำพระขโนงเป็นอีกหนึ่งสถานีที่สำคัญของการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร และเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร มีปั๊มสูบน้ำทั้งหมด 51 ตัว วันที่ 2 ตุลาคม 2563 ในช่วง 17.00 น. ถึง 20.00 น. ปั๊มสูบน้ำใช้ 26 ตัว ไม่ทำงาน 25 ตัว นั่นหมายความว่าปั๊มสูบน้ำทำงานได้ครึ่งเดียว
และทุกตัวโชว์ว่าทำงานเต็มประสิทธิภาพ สูบน้ำได้ 3 ลบม. ต่อวินาที แต่ความเป็นจริง ไม่สามารถระบายน้ำได้จริงตามที่ระบุ
แล้วน้ำ…จะไม่ท่วมได้อย่างไร!!!
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำให้ความเห็นว่า “ในวันที่ 2 ตุลาคม แถวรัชดาฯ ฝนตกประมาณกว่า 70 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ทำไมน้ำท่วมนานขนาดนั้น เพราะเอาน้ำออกไม่ได้ ด้วยคลองลาดพร้าวน้ำมันเต็มอยู่ ต้องนึกภาพก่อนว่าถนนรัชดา การเอาน้ำออกทำได้ 3 ทาง คือ 1. คลองรัชดาออกโรงสูบน้ำอาภาภิรมย์ จากซอยอาภาภิรมย์ออกสู่คลองลาดพร้าว 2. เอาออกสู่คลองเปรมประชากร และ 3. เอามาออกสถานีรับน้ำคลองบางซื่อ ตรงเจ้าพระยาปาร์ค แต่ปรากฏว่าน้ำท่วมอยู่ 2-3 ชั่วโมง ทั้งที่มีทางระบายออก 3 ทาง ดังนั้น ถ้า กทม. บอกว่าสามารถรองรับปริมาณฝนตกได้ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่ฝนตกกว่า 70 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ทำไมท่วมนาน 2-3 ชั่วโมง ถ้าประสิทธิภาพของโรงสูบน้ำปลายแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางซื่อมีเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 17 ตัว แต่ทำงานแค่ 11 ตัว หรือ พระโขนงมี 51 แต่เดินเครื่อง 26 ตัว ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเครื่องสูบน้ำกทม.มีหลายตัว แต่เดินเครื่อง ทำงานจริงเกินครึ่งมาเล็กน้อย”
“ดังนั้น กทม. อ้างไม่ได้เลยว่ารับน้ำฝนตกได้ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เมื่อฝนตก 75 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง คิดแบบง่ายๆ 15 นาที ต้องแห้ง แล้ว แต่ทำไมไม่แห้ง หรือ ตกหนัก 119 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ภายใน 1 ชั่วโมง น้ำต้องแห้ง แต่ทำไมไม่แห้ง ต้องถามว่าที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม. ไปทำอะไรอยู่”
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครเคยประกาศว่ากำลังการสูบน้ำปลายฝั่งพระนครลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ประมาณ 700 ลบม. ต่อวินาที ถ้าประสิทธิภาพของปั๊มสูบน้ำลดลงไป 10% เท่ากับการระบายน้ำหายไป 70 ลบม. ต่อวินาที เทียบเท่ากับการระบายน้ำ 1 อุโมงค์ เพราะอุโมงค์คลองบางซื่อสามารถระบายน้ำได้ 60 ลบม. ต่อวินาที
ดังนั้นหากกำลังการสูบน้ำลดลงไป 10% เท่ากับการระบายน้ำหายไป 70 ลบม. ต่อวินาที หรือเทียบเท่ากับการระบายน้ำ 1 อุโมงค์
พร้อมตั้งคำถามดังๆ ว่า การแก้ปัญหาน้ำรอระบาย ทำไมไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพของปั๊มสูบน้ำให้ดีขึ้น ทำไม กทม. เลือกที่จะลงทุนสร้างอุโมงค์ระบายน้ำแทน
แล้วรู้ไหมว่าการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำต้องใช้เงินเท่าไหร่
ล่าสุดที่ กทม. กำลังจะก่อสร้างคืออุโมงค์คลองเปรมประชากร มีมูลค่าการก่อสร้างประมาณ 10,000 ล้านบาท และทำสองอุโมงค์ ประมาณ 20,000 ล้านบาท
ถามต่อว่าทำไม กทม. ไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำให้เต็มกำลังการสูบจริงๆ …เมื่อประกาศว่าเครื่องสูบน้ำทั้งหมดของกรุงเทพมหานครสามารถสูบได้ 700 ลบม. ต่อวินาที แต่ในทางปฏิบัติจริง หากสูบได้ 60% ก็นับว่าเก่งแล้ว ซึ่งสามารถระบายน้ำได้ 420 ลบม. ต่อวินาที
ดังนั้นถ้าปรับประสิทธิภาพปั๊มสูบน้ำจาก 60% ขึ้นมาอีกสัก 20% เป็น 80% ก็จะระบายน้ำได้ 560 ลบม. ต่อวินาที เท่ากับว่าสามารถเพิ่มการระยายน้ำได้อีก 140 ลบม. ต่อวินาที เท่ากับ 2 อุโมงค์ในการระบายน้ำ โดยที่ไม่ต้องสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใหม่ที่ต้องลงทุนถึง 20,000 ล้านบาท
เมื่อคำถามว่าถ้าไปปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำ จะใช้เงินเท่าไหร่
ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ คำนวนว่า ถ้า กทม. ระบุว่ากำลังการสูบน้ำปลายฝั่งพระนครลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 700 ลบม.ต่อวินาที หากตีเป็นจำนวนเครื่องสูบน้ำทั้งหมดจะคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษาประมาณ 10% ต่อปี ตกปีละ 1,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสูบน้ำให้ได้มากขึ้น จึงต้องถามว่าการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำดีกว่าการลงทุนสร้างอุโมงค์ใหม่ เพราะใช้งบฯน้อยกว่ากันมากมายหรือไม่ อย่างไร
คนที่คลุกวงใน ให้ข้อมูลว่า การลงทุนในโครงการใหม่ ๆ มักจะมีเงินทอน นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดโครงการใหม่ๆมากกว่าการซ่อมบำรุง/รักษา
ดังนั้นเมื่อเครื่องสูบน้ำไม่ได้ซ่อม/บำรุงรักษาและพัฒนาตามเทคโนโลยีเครื่องสูบน้ำที่ก้าวหน้าไปมากแล้ว ประกอบกับการสั่งการเปิดปิดเครื่องสูบน้ำ ยังใช้ระบบ manual ที่ใช้คน ถ้าเป็นกลางคืน บางครั้งคนก็ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมทำงาน และระบบการสั่งการด้วยห้องคอนโทรลรูมน้ำท่วม ยังไม่สามารถปฏิบติด้วยระบบอัตโนมัติได้จริง จึงเป็นปัญหาทับซ้อน พร้อมการสั่งการโดยคนคนเดียวที่อยู่หน้างานในพื้นที่ก็สามารถเห็นแค่พื้นที่เดียว การสื่อสารก็ด้วยวิทยุสื่อสาร การบริหารจัดการจึงไม่ทันสถานการณ์เหมือนอยู่ในห้องคอนโทรลรูปที่สมบูรณ์แบบอย่างในต่างประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญยื่นยันว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครทำได้ แค่นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของไทย ไม่ว่าพัฒนา/ซ่อมบำรุงให้เครื่องสูบน้ำทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ หรือห้องคอนโทรลรูมน้ำท่วมที่มีระบบสมบูรณ์พร้อมสั่งการได้จริง
แต่สิ่งเหล่านี้ ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งที่เห็นคือมีเครื่องสูบน้ำไปโชว์อยู่บนถนนแทน!!
…
นอกจากทางออกในการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำแล้ว ทางออกของการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกทางหนึ่งคือการเอาคนขึ้นจากคลอง เพื่อทำเขื่อนคลองและกดระดับคลองให้ลึก เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำได้มากขึ้น
คลองลาดพร้าวเป็นคลองหลัก ที่ครอบคลุมพื้นที่ 8 เขตของกรุงเทพมหานครและเป็นคลองนำร่อง ที่รัฐบาล คสช. ในขณะนั้นตั้งเป้าที่จะทำเป็นตัวอย่าง เพื่อขุดลอกคลองให้ลึกลงไป 3 เมตร แต่โครงการนี้ว่าจ้างผู้รับเหมาซึ่งหมดสัญญาไปเมื่อปี 2562 แต่งานแล้วเสร็จไปแค่ 47% จนบัดนี้ ใช้เวลาไปแล้ว 4 ปี แต่ไม่สามารถกดระดับคลองลาดพร้าวเพื่อรองรับน้ำรอระบายได้
แหล่งข่าวใน กทม. ระบุว่า สำนักระบายน้ำ เป็นสำนักฯ ที่มีผู้รับเหมาทิ้งงาน และทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลามากที่สุด แต่ผู้รับเหมารายเดิม ๆ เหล่านี้ยังคงได้รับการคัดเลือกเข้ามารับงานอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการถูกแบล็กลิสต์แต่อย่างใด
“กรณีคลองลาดพร้าว จนถึงขณะนี้ทางกทม. ยังไม่ดำเนินการยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมา ทั้งที่ทำงานได้แค่ 47% ตราบใดที่คลองลาดพร้าวไม่เสร็จ คนกรุงจะต้องเผชิญน้ำท่วมต่อไป และขณะนี้ กทม. ได้ทำโครงการเดียวกันนี้กับคลองเปรมประชากรเพื่อทำเขื่อนคลอง เอาคนขึ้นฝั่ง และขุดลอกคลอง กดระดับคลองให้ลึกขึ้น ก็เกรงว่าจะประสบปัญหาเดียวกันอีก การแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็คงจะยืดเยื้อยาวนานต่อไป” แหล่งข่าวระบุ
พร้อมย้ำว่า “หัวใจของของการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่เอาเงินมาทำอุโมงค์ 1 อุโมงค์ มูลค่า 10,000 ล้านบาท และการระบายน้ำในอุโมงค์ขึ้นอยู่กับเครื่องสูบน้ำ 6-7 ตัว ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 200 กว่าล้านบาท หากเครื่องสูบน้ำไม่ทำงานอุโมงค์ ก็ระบายน้ำไม่ได้ เงินหมื่นล้านที่ทำอุโมงค์มาก็เสียเปล่า เราได้ยินคำถามนี่บ่อยๆ ว่าเครื่องสูบน้ำไม่ทำงาน ไฟฟ้าดับ เงินหมื่นล้านไปทิ้งกับเครื่องสูบน้ำ 200 กว่าล้านบาท ไม่ทำงาน หากเอาเงินหมื่นล้านบาท ไปพัฒนาคลองให้ลึกขึ้น ขนคนขึ้นไปอยู่บนเขื่อน มันเห็นด้วยตา สามารถกดระดับคลองลงไปเพื่อรัองรับน้ำได้ หรือทำไมไม่ไปเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องสูบน้ำที่โรงสูบปลายทาง ทำไมไม่ปรับเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำตามสถานีสูบน้ำต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จะดีกว่าไหม นี่เป็นคำถามที่คาใจว่าทำไมไม่ทำ”
นี่คือความสูญเปล่าในการใช้เงินภาษีประชาชน
นี่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ประมาณค่ามิได้
เป็นเรื่องที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องแสดงจุดยืนที่มีต่อส่วนรวมว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในเรื่องนี้