ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยันสหรัฐฯ ตัด “GSP” ไม่เกี่ยวแบน 3 สาร – มติ ครม.ผ่านร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืน 850 ไร่ สร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

นายกฯ ยันสหรัฐฯ ตัด “GSP” ไม่เกี่ยวแบน 3 สาร – มติ ครม.ผ่านร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืน 850 ไร่ สร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

29 ตุลาคม 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายกฯ ยันสหรัฐฯ ตัด “GSP” ไม่เกี่ยวแบน 3 สาร – มติ ครม.ผ่านร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืน 850 ไร่ สร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม.เศรษฐกิจนัดพิเศษ โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน

ยันสหรัฐฯ ตัด “GSP” ไม่เกี่ยวแบน 3 สาร – เตรียมเจรจาทวงสิทธิคืน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการเจรจากับทางสหรัฐอเมริกา เพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) อย่างไรบ้าง ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งตนอยากเรียนว่าเรื่อง GSP นี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของกระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ และมีการพูดคุยตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมาแล้วซึ่งมีการเจรจากันทุกปี

“แต่ในปีนี้เมื่อมีการประกาศออกมาก็จำเป็นต้องไปดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และไปหาทางเจรจาพูดคุยกัน เพราะเราเคยเจรจาขอคืนสิทธิในเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้วแล้ได้คืนมา 7 รายการ แต่ในปีนี้มีการประกาศออกมาภายในครั้งเดียวหลายรายการด้วยกัน ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย แต่ประเทศในอาเซียนก็โดนไปด้วย ซึ่งก็เป็นสิทธิาของประเทศสหรัฐอเมริกา”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ต้องมองวิกฤตเป็นโอกาส โดยอันดับแรกการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ต้องหาทางเจรจาเพื่อขอคืนสิทธิ์ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งจะมีการประชุมหลังจากการประชุมอาเซียนซัมมิท จะมีการยกขึ้นเจรจาภายใต้กรอบการตกลงทางการค้า การลงทุนของไทยสหรัฐฯ ต่อไป ส่วนระยะยาวสิ่งที่ต้องทำคือ หาตลาดใหม่เพิ่ม ได้แก่ รัสเซีย ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลางเป็นต้น

ทั้งนี้มีวิธิการคือ ประเทศไทยจะมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี FCA 13 กรอบความตกลงอาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง และขยายการลงทุนไปยังประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP จากสหัฐฯ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีมากกว่าไทย รวมถึงต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า ยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดการค้าเสรีได้

“สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ขอพวกเราอย่าวิตกกังวลในเรื่องนี้ให้มากนัก นอกจากนี้ก็ยังต้องมีการหารือกับภาคเอกชนไทยเองด้วย ในการหามาตรการช่วยเหลืออย่างไรต่อไปหลังจากนี้ เป็นธรรมดาเมื่อมีการให้ เขาก็มีสิทธิที่จะเรียกคืนของเขา”

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ต้องไปดูเรื่องของแรงงานด้วย เนื่องจากมีกฎหาย หรือมาตรการบางมาตรการที่ไทยยังปฏิบัติไม่ได้เพราะเป็นเรื่องภายในของไทย ซึ่งต้องระมัดระวังผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอีกหลายอย่างด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง สิทธิประโยชน์ของสหภาพแรงงานต่างด้าว เป็นต้น

“เรื่องนี้หลายประเทศก็ไม่ได้ทำเหมือนกัน เดี๋ยวต้องไปดูอีกที อย่าไปยึดโยงกับเรื่องนู้นเรื่องนี้เลยมันไม่เกิดประโยชน์ วันนี้ขอให้ลดผลกระทบในเรื่องเหล่านี้ ฝากไปถึงบรรดาพี่น้องประชาชน สังคมต่างๆ ด้วย ให้ลดเรื่องนี้ลงไป เพราะไม่มีผลดีต่อการพูดคุยต่อไปในอนาคต เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเช้าได้มีการหารือกันในที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจไปแล้ว อยากกราบเรียนว่าเราทำมาตลอด เพียงแต่เราไม่ได้ทำฝ่ายเดียวต้องให้อีกฝ่ายเขายอมรับด้วย และเราต้องเข้มแข็งของเราให้ได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามว่าเรื่องการระงับ GSP จากสหรัฐฯ นั้นเกี่ยวกับการแบน 3 สารเคมีเกษตรของไทยหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการแบนสารเคมีในครั้งนี้ ส่วนกรณีที่สินค้าของสหรัฐฯ ส่งมาประเทศไทยไม่ได้เลยมูลค่ากว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นเรื่องนี้มีคนทำงานอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่จะต้องไปเจรจากันอีกครั้ง

ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีการถูกระงับ GSP ในครั้งนี้โดยระบุว่า ปัญหาเรื่องของแรงงานเป็นเพียงปัญหาย่อย ปัญหาใหญ่นั้นอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรางพาณิชย์ที่ต้องไปเป็นผู้เจรจา ซึ่งแรงงานมีติดอยู่เพียง 3 เรื่องเท่านั้น ซึ่งเวลานี้สิทธิของแรงงานต่างด้าวยังด้อยกว่าแรงงานไทย

“ยังมีข้อยังไม่สามารถทำให้ได้ เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับขบวนการเป็นมาของสังคมและกฎเกณฑ์ของประเทศ ซึ่งต่อไปอาจจะมีการเปิดเสรีในเรื่องนี้ แต่วันนี้กฎหมายไทยยังไม่ใช่กฎหมายสากล และในบางเรื่องต่อให้แก้กฎหมาแรงงานก็ติดกฎหมายอาญา หากจะแก้กฎหมายอาญาเพียงเพื่อแรงงานของประเทศหนึ่งก็คงเป็นไปไม่ได้ หากตกลงเรื่องจีเอสพีได้เขาก็ลืมเรื่องแรงงาน เพราะปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร เพียงแค่แรงงานต่างด้าวมีสหภาพแรงงานไม่ได้เท่านั้น เพราะต่างแรงงานด้าวมีจำนวนมากถึง 3 ล้านคน แต่สหภาพแรงงานไทยมีจำนวนไม่กี่หมื่นคน” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

ยกปัญหา “แชร์ลูกโซ่” เป็นนโยบายเร่งด่วน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการหามาตรการแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่ว่า เรื่องดังกล่าวรัฐบาลได้ยกให้เป็นวาระแห่งชาติไปแล้วเมื่อปี 2560 และเป็นหนึ่งใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้วย ในเรื่องการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งได้มีการแถลงต่อรัฐสภาไปแล้ว

โดยปัญหาแชร์ลูกโซ่นั้นมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเอาผิดอยู่หลายฉบับด้วยกัน ทั้งการเอาผิดทางอาญา และการยึดทรัพย์ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และภาคประชาชน ได้ระดมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามแชร์ลูกโซ่เพื่อให้การแก้ไขัปัญหานี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบกับที่มีคดีอยู่ตอนนี้ก็เข้าสู่กระบวนพิจารณาแล้ว

“สิ่งที่ผมอยากจะเตือนประชาชนก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการรู้ไม่เท่าทัน และกลไก เล่ห์เหลี่ยมในการทุจริตก็มีมากยิ่งขึ้น และมีโซเชียลมีเดียเข้ามาอีกด้วย ทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อง่ายขึ้น ฉะนั้นทุกคนต้องตั้งสติเวลาใครมาโน้มน้าวให้ลงทุนอย่างนู้นอย่างนี้ ลงทุนขนาดนี้แล้วได้เงินขนาดนี้ ซึ่งที่ผมได้ข้อมูลมาสมมุติว่า 1,000 บาท จะได้คืน 930 บาท จะมีการลงทุนที่ไหนที่ได้แบบนี้เป็นไปไม่ได้เลย ครั้งแรกอาจจะได้เงินคืนพอครั้งที่ 2 3 4 ก็หายไปเรื่อยๆ เขาก็เอาเงินครั้งแรกนั่นแหละมาหมุนเวียนจ่าย เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงเชื่อสิ่งเหล่านี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนข่าวลวง แนะปชช.เสพข่าวอย่างมีสติ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อเช้าได้มีการสร้างความเข้าใจไปแล้วในเรื่องศูนย์รับเรื่องร้องเรียนข่าวลวง (fake news) วันนี้ขอให้ประชาชนแจ้งเข้ามาเพื่อสอบสวนสืบสวนหาต้นตอ แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางโดยเร็วที่สุด ป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบในระยะยาว

“ฉะนั้นสติมาปัญญาเกิด พระท่านว่าไว้อยู่แล้ว ฉะนั้นสติเตลิดก็ไม่เกิดปัญญา ฉะนั้นต้องตั้งสติให้ดี” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม.มีดังนี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขาว)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

พาณิชย์ฯรายงานแผนรองรับ กรณีถูกตัด GSP

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงเช้ามีการประชุม ครม.เศรษฐกิจเพื่อหารือกันเกี่ยวกับเรื่องการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ซึ่งมีการชี้แจงจากหลายหน่วยงานแล้วในหลายวันที่ผ่านมา แต่สรุปอีกครั้งสั้นๆ ว่าสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นการให้สิทธิประโยชน์ให้เปล่ากับประเทศกำลังพัฒนาและทำให้สหรัฐฯ ก็เสียรายได้ของตัวเองไปด้วย แต่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ทั้งนี้ ประเด็นที่รายงานนายกรัฐมนตรีล่าสุดจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ตั้งแต่ครั้งที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือโดยมีเงื่อนไขหลัก 2 เรื่อง คือ การนำเข้าสุกรมายังไทยและประเด็นแรงงาน โดยกรณีหลังได้หารือมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว สหรัฐฯ อยากให้แก้ไข 7 ประเด็น ซึ่งประเทศไทยได้แก้ไขแล้ว 4 ประเด็น และที่เหลือกำลังพิจารณาอยู่ ได้แก่ การให้แรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงานได้ การให้ลูกจ้างเหมาสามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ การมีสิทธิคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกนายจ้างฟ้องกลับ เรื่องพวกนี้ก็กำลังรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและตัวกฎหมายอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคาดว่าจะรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อไป ส่วนประเด็นของการนำเข้าสุกร ครม.เศรษฐกิจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาตามความเหมาะสมแต่ให้คำนึงถึงสุขภาพของคนไทยเป็นหลัก

“กระทรวงพาณิชย์ก็ได้รายงานแผนรองรับหากถูกจัดสิทธิจริงๆ 500 กว่ารายการ แต่อันที่ใช้จริงอยู่ 370 รายการ โดยแผนรองรับจะมีการหาตลาดอื่นรองรับ เพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ผลิตและหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ และจะนำเรื่องนี้ขึ้นหารือและอุทรณ์ต่อไป ในอดีตก็เคยมีกรณีตัดสิทธิแบบนี้ เราก็ได้สิทธิคืนมาบางส่วน ก็ต้องเร่งแก้ไขและนำไปสู่การเจรจาต่อไป”

ในกรณีของประเทศไทยปัจจุบันได้รับสิทธิประโยชน์อยู่ 1,200 รายการและในครั้งนี้ได้พิจารณาตัดสิทธิไปบางรายการ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพียงแต่บังเอิญเป็นห้วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ สิทธิฯ มีการทบทวนเป็นระยะๆ อยู่แล้ว เช่นประเทศไหนไม่ได้อยู้ในหมวดของประเทศกำลังพัฒนาแล้วในหลายมิติอย่างรายได้ประชาชาติต่อหัว อย่างปี 2560 ต้องมีรายได้ไม่เกิน 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว ของไทยตัวเลขอยู่ประมาณ 6,600 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่ที่ถูกตัดสิทธิทุกรายการคือตุรกีกับอินเดีย ของเดิมอินเดียเป็นคนใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด ตอนนี้ไทยก็ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง

อุปทูต “มะกัน” ยันไทยมีสิทธิขอคืน GSP ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม ครม. นายไมเคิล ฮีท อุปทูตรักษาราชการเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เดินทางเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ห้องทำงานภายในตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยนายสมคิดเปิดเผยว่า การพูดคุยกับอุปทูตเป็นประเด็นเรื่องการเข้าร่วมประชุมการประชุมอินโด-แปซิฟิก บิสซิเนส ฟอรั่ม ช่วง การประชุมอาเซียนซัมมิท และการที่นักลงทุนสหรัฐฯ ต้องการมาลงทุนในประเทศไทย

ทั้งนี้ตนได้ใช้โอกาสนี้พูดคุยประเด็นที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิ GSP โดยสอบถามว่ามีผลอย่างเป็นทางการแล้วหรือยัง ซึ่งทางอุปทูตยืนยันว่ายังไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้าย ดังนั้น น่าจะยังสามารถเจรจาพูดคุยกันได้ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน จึงจะใช้โอกาสที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ มาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนหารือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป อีกทั้งเห็นว่าเรื่องนี้ต้องให้ทางกระทรวงพาณิชย์หารือกับสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือ USTR ด้วย

โดยนายสมคิดยืนยันว่า สิ่งที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยปฏิบัตินั้นทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป เรื่องเหล่านี้ยังคงต้องเจรจากันต่อไป เพราะจริงๆ ไทยเลยเวลาเป็นจีเอสพีมานานแล้ว จีเอสพีมีไว้สำหรับประเทศด้อยพัฒนา เป็นความช่วยเหลือมาแต่ดั้งเดิม

“ผมบอกเขาว่า มาถึงจุดนี้แล้วไทยพัฒนาแล้วหล่ะ แต่การเป็นเพื่อนเก่ากัน เก็บไว้ก่อนจะรีบร้อนไปทำไม ส่วนข้อห่วงใยจากสหรัฐฯ เรื่องการยกเลิกใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตรของไทยนั้น ไม่ได้หารือเรื่องนี้กัน เพราะเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่จะไปหารือกัน ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรเนื่องจากได้ออกมาร้องเรียนกันมาก” นายสมคิดกล่าว

ด้านนายไมเคิล ฮีท เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นเวลา 1 ชั่วโมงว่า ความสัมพันธ์ของไทยและสหรัฐฯ ช่วงนี้ถือว่าเป็นขาขึ้น จากการที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง และยืนยันว่ากระบวนการจีเอสพี เป็นเรื่องที่มีการตัดสินใจมานานแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงนี้ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแบน 3 สารพิษของไทย ซึ่งจีเอสพีเป็นสิทธิพิเศษที่ไทยได้รับมานานกว่า 30 ปี แม้จะถูกตัดสิทธิไปแล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังคงได้รับสิทธิพิเศษสูงที่สุดมากกว่าประเทศใดในโลกในปัจจุบัน ดังนั้น จะมีการหารือกับทางรัฐบาลไทยในข้อกฎหมายต่างๆ ในเรื่องของแรงงานว่าจะมีการดำเนินการร่วมกันอย่างไรซึ่งการตัดสิทธิจีเอสพี มีผลกระทบไม่มาก ตัวเลขไม่เยอะ และกระบวนการนี้ยังไม่ถือว่าสิ้นสุด ซึ่งต้องขอบคุณประเทศไทยในการจัดประชุมอาเซียนซึ่งคิดว่าจะเป็นไปด้วยดี โดยทางสหรัฐฯ จะส่งตัวแทนมาประชุมที่ประเทศไทย

เห็นชอบกฟผ. สร้างโรงไฟฟ้าโซล่าเซลล์ลอยน้ำ 2,266 ล้าน

ศ. ดร.นฤมล กล่าว ครม.มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี วงเงินลงทุนรวม 2,265.99 ล้านบาท เป็นเงินตราต่างประเทศ 1,537.74 ล้านบาท และเงินบาท 728.25 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน และมีมติการเบิกจ่ายงบลงทุนสำหรับปี 2562 เป็นจำนวนเงิน 643 ล้านบาท และเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดกระบวนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ตั้งอยู่ในพื้นที่เขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ติดตั้งทั้งหมด 450 ไร่ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 87.53 ล้านหน่วยต่อปี มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเดือนธันวาคม 2563 โดยจะบริหารจัดการร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธรที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 36 เมกะวัตต์ เป็นการผสมผสานระหว่างพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ

โดยคาดว่าจะทดแทนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติได้ 166 ล้านบาท และสามารถสงวนน้ำได้วันละ 3.3 ล้านลูกบากศ์เมตรในการผลิตไฟฟ้า อีกด้านหนึ่งสามารถลดการระเหยของน้ำในเขื่อนได้ 460,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีและทำให้มีพื้นที่ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ส่วนด้านผลตอบแทนโครงการนี้มีผลตอบแทนทางการเงิน 7.55% มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 19.24% และมีผลตอบแทนต่อทุน หรือ ROE 9.27%

กำหนด 30 ธ.ค.นี้ เป็นวันหยุดราชการเพิ่ม

ศ. ดร.นฤมล ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2562 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ อีก 1 วัน ในปี 2562 ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ

ทั้งนี้ในกรณีที่หน่วยงานใดมีภารกิจในการให้บริการประชาชน หรือมีความจำเป็นหรือราชการสำคัญในวันดังกล่าวโดยได้กำหนดหรือนัดหมายไว้ก่อนแล้ว ซึ่งหากยกเลิกหรือเลื่อนไปจะเกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร โดยมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและประชาชน ส่วนรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงแรงงาน พิจารณาความเหมาะสมให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

“โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดให้วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม 2562 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ในปี 2562 เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสนับสนุนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว” ศ. ดร.นฤมล กล่าว

เตรียมแผนรับมือน้ำประปาขาดแคลน 22 จว. หวั่นชาวบ้านเดือดร้อน 7.2 แสนราย

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.รับทราบรายงานสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งปี 2562/63 และพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ปี 2562 พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามมาตรการรองรับโดยด่วนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น มีรายละเอียดดังนี้

พื้นที่เสียงภัยแล้งปี 2562/63 ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 มีดังนี้

1. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค

1.1 พื้นที่ในเขตการประปาส่วนภูมิภาค ต้องเฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ จำนวน 22 จังหวัด 56 อำเภอ (รวม 42 สาขา) ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้ใช้น้ำ 7.17 แสนราย ได้แก่

  • ภาคเหนือ จำนวน 7 จังหวัด 19 อำเภอ (12 สาขา) คือ เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา เชียงราย นครสวรรค์ พิจิตร และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกฉัยงเหนือ จำนวน 10 จังหวัด 32 อำเภอ (25 สาขา) คือ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย สกลนคร และบุรีรัมย์
  • ภาคตะวันออก จำนวน 1 จังหวัด 1 อำเภอ (1 สาขา) คือ ชลบุรี
  • ภาคใต้ จำนวน 4 จังหวัด 4 อำเภอ (4 สาขา) คือ พังงา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี

1.2 นอกเขตพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาค ได้รับผลกระทบ จำนวน 38 จังหวัด ได้แก่ (1) ภาคเหนือ 16 จังหวัด (2) ภาคกลาง 10 จังหวัด (3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด (4) ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และ (5) ภาคตะวันตก 2 จังหวัด

2. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร

2.1 พื้นที่ในเขตชลประทาน

  • มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร จำนวน 5 แห่ง ใน 8 จังหวัด ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกระเสียว (สุพรรณบุรี) ทับเสลา (อุทัยธานี) อุบลรัตน์ (ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์) ลำนางรอง (บุรีรัมย์) และจุฬาภรณ์ (ขอนแก่น ชัยภูมิ)
  • มีปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อการเกษตรต่อเนื่อง (พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น) จำนวน 9 แห่ง ใน 28 จังหวัด ได้แก่ 4 เขื่อนหลัก (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ครอบคลุม 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา) แม่กวงอุดมธารา (เชียงใหม่ ลำพูน) แม่มอก (ลำปาง สุโขทัย) มูลบน (นครราชสีมา) ลำพระเพลิง (นครราชสีมา) และคลองสียัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี)
  • มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อเพื่อทำนาข้าวรอบที่ 2 บางพื้นที่ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล (เชียงใหม่) กิ่วลม (ลำปาง) กิ่วคอหมา (ลำปาง) น้ำอูน (สกลนคร) น้ำพุง (สกลนคร นครพนม) ลำตะคอง (นครราชสีมา) ลำแซะ (นครราชสีมา) บางพระ (ชลบุรี) ประแสร์ (ระยอง) รัชชประภา (สุราษฎร์ธานี) และบางลาง (ปัตตานี ยะลา)

2.2 พื้นที่นอกเขตชลประทานได้รับผลกระทบ 20 จังหวัด 54 อำเภอ ได้แก่

  • ภาคเหนือ จำนวน 9 จังหวัด 35 อำเภอ คือ เชียงราย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 จังหวัด 13 อำเภอ คือ ยโสธร หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา และเลย
  • ภาคกลาง จำนวน 2 จังหวัด 4 อำเภอ คือ ลพบุรี และสุพรรณบุรี
  • ภาคตะวันตก จำนวน 1 จังหวัด 2 อำเภอ คือ กาญจนบุรี

นอกจากนี้ ครม.ยังรับทราบมาตรการรองรับพื้นที่เสียงภัยแล้ง ปี 2562/63 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในด้านน้ำต้นทุน (supply) ได้แก่ จัดทำแผนสำรองน้ำและแหล่งน้ำสำรอง ขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่เสี่ยง ขุดลอกลำน้ำที่ตื้นเขิน และดึงน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง ปฏิบัติการเติมน้ำในแหล่งน้ำและพื้นที่การเกษตร ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ กำหนดปริมาณน้ำจัดสรรในฤดูแล้งให้ชัดเจน จัดทำทะเบียนจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำและผู้ใช้น้ำ

ในด้านควมต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ให้มีการควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ตอนบนให้เป็นไปตามแผน และควบคุมการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้เป็นไปตาม, การรักษาระบบนิเวศ ควบคุมการการปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม ควบคุมและขึ้นทะเบียนการเลี้ยงปลากระชังในแหล่งน้ำ และเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดิบสำรองอย่างใกล้ชิด และการเกษตร ให้วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและจัดทำทะเบียนผู้ปลูกโดยระบุพื้นที่เพราะปลูกและแหล่งน้ำที่ใช้ให้ชัดเจน และติดตามและประเมินผลควบคุมการจัดสรรน้ำและประเมินสถานการณ์การใช้น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้ทุกหน่วยงานและประชาชนทราบ

สำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย น้ำล้นตลิ่ง และน้ำป่าไหลหลากภาคใต้ ปี 2562 ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม 2562 มีจำนวน 7 จังหวัด 37 อำเภอ ได้แก่ ระนอง 3 อำเภอ ชุมพร 6 อำเภอ สุราษฎร์ธานี 7 อำเภอ นครศรีธรรมราช 12 อำเภอ พัทลุง 1 อำเภอ สงขลา 4 อำเภอ และนราธิวาส 4 อำเภอ โดยมาตรการรองรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ปี 2562 ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ (1) ตรวจสภาพอาคารบังคับน้ำ ระบบระบายน้ำ ให้มีความพร้อมใช้งาน (2) สำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำและเร่งแก้ไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ (3) จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำหลากและแผนเผชิญอุทกภัย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า (4) สำรวจแหล่งน้ำที่มีปริมาณวิกฤติและพื้นที่เสียงอุทกภัย (5) เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อสนับสนุนในพื้นที่เสี่ยง และ (6) ใช้เกณฑ์บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ (rule curve) ที่ได้ปรับปรุงใหม่

รับรองเอกสารประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 22 ฉบับ

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบต่อเอกสารที่จะมีการลงนามหรือรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง จำนวน 22 ฉบับ (ตามข้อ 1-3) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) หรือส่วนราชการเจ้าของเรื่องดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป

ทั้งนี้ เอกสารที่จะมีการลงนามหรือรับรองในการประชุมฯ จำนวน 22 ฉบับ ดังนี้

1. เอกสารที่ผู้นำจะรับรอง (to be adopted) จำนวน 13 ฉบับ ได้แก่

  • ร่างปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ในอาเซียน
  • ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิของเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐาน
  • ร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยืนยันคำมั่นในความก้าวหน้าการดำเนินงานสิทธิเด็กในอาเซียน
  • ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนในภูมิภาคอาเซียน [สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน)]
  • ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียน-จีน ว่าด้วยข้อริเริ่มความร่วมมือด้านเมืองอัจฉริยะ
  • ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีนว่าด้วยการสอดประสานแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 กับข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง
  • ร่างแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศและแนวทางที่ไม่มีข้อผูกมัดสำหรับการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลในทะเลจีนใต้
  • ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยข้อริเริ่มการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง
  • ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียน-สหรัฐอเมริกาว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน
  • ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการต่อต้านการแพร่ระบาดของยาเสพติดผิดกฎหมาย
  • ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ
  • ร่างแถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน
  • ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ว่าด้วยความเชื่อมโยง

2. เอกสารที่ต้องออกแถลงการณ์ของประธานการประชุมฯ (to be issued) จำนวน 8 ฉบับ ได้แก่

  • ร่างแถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
  • ร่างแถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22
  • ร่างแถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 16
  • ร่างแถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10
  • ร่างแถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22
  • ร่างแถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 7
  • ร่างแถลงการณ์ของประธานการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 14
  • ร่างแถลงการณ์ประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22

3. เอกสารที่รัฐมนตรีต่างประเทศจะลงนาม จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ ร่างตราสารขยายจำนวนอัครภาคีในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รับทราบผลการประชุมการค้าไทย-ภูฏาน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2562 ณ กรุงทิมพู ภูฏาน โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

  1. ภาพรวมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าระหว่างไทยและภูฏานขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จาก 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 57 เป็น 39.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 61 7 โดยทั้งสองประเทศตั้งเป้าหมายการค้าระหว่างกันไว้ที่ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 64
  2. ด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน ไทยยินดีให้การสนับสนุนภูฏานในการส่งออกสินค้ามายังไทย โดยภูฏานสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้โครงการการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Duty Free Quota Free – DFQF) ซึ่งครอบคลุมสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมกว่า 6,998 รายการ รวมทั้งได้เชิญชวนผู้ประกอบการภูฏานเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติที่จัดขึ้นเป็นประจาทุกปี อาทิ งาน STYLE Bangkok Fair (งานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์) และงาน THAIFEX (งานแสดงสินค้าอาหาร)
  3. ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
    • ด้านท่องเที่ยว สนับสนุนการหารือและผลักดันความร่วมมือ ด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “2 อาณาจักร 1 จุดหมายปลายทาง” (Two Kingdoms One Destination) รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
    • ด้านหัตถกรรม ไทยยินดีให้การสนับสนุนด้านหัตถกรรมแก่ภูฏาน ภายใต้ MOU ว่าด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านศิลปหัตถกรรมระหว่างศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ของไทย กับกรมอุตสาหกรรมครัวเรือนของภูฏาน
  4. ประเด็นอื่นๆ
    • การพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือบก (dry port) ซึ่งภูฏานมีนโยบายในการพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือบกเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและอำนวยความสะดวก ทางพิธีการศุลกากรสาหรับการส่งออกและนำเข้า โดยแสดงความสนใจที่ร่วมมือกับไทย ไทยจึงขอให้ภูฏานแจ้งข้อมูลกฎระเบียบด้านการลงทุนและโครงการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้ไทยทราบ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับนักลงทุนไทยที่สนใจต่อไป

ผ่านร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืน 850 ไร่ สร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน จำนวน 850 ไร่ ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่เขตลาดกระบัง, กรุงเทพมหานคร, อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ, อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน พ.ศ. …. เพื่อก่อสร้างย่านสถานี ทางเข้าออกสถานี ทางรถไฟ และดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ ตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หรืออยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย

และภายหลังจากที่ ครม.ให้ความเห็นชอบและมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้วให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการสำรวจที่ดินที่จะดำเนินการเวนคืนภายใน 60 วัน โดยก่อนหน้านี้ที่ประชุม ครม.ได้มีการอนุมัติกรอบวงเงินในการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน และค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ในโครงการนี้ไว้แล้วในกรอบวงเงิน 3,570.29 ล้านบาท โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้ รฟท.ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

ตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลตำรวจ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญให้จัดตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ สังกัดโรงพยาบาลตำรวจ ตช. ดังนี้

หน่วยงานภายใน ประกอบด้วย ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายวิทยบริการ และฝ่ายการศึกษา โดยมีอำนาจหน้าที่ สนับสนุนการศึกษาเพื่อผลิตแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรทางการสาธารณสุข ดำเนินการสอน ฝึกอบรมและพัฒนาแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรทางการสาธารณสุขของ ตช. และหน่วยงานอื่น ส่งเสริม สนับสนุนการทำวิจัยทั้งรายบุคคล และการทำวิจัยร่วมกับสถาบันอื่น

รวมทั้งการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ดำเนินงานสารบรรณ สารสนเทศ อุปกรณ์การศึกษา การบริการวิชาการงานปกครองแก่ผู้เข้ารับการศึกษา หรืออบรมดำเนินงานด้านประกันคุณภาพการศึกษา งานทะเบียนและวัดผล ส่งเสริมการศึกษาทางการแพทย์ และแพทยศาสตรศึกษา ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ออกกฎกระทรวงดูแลสุขภาพลูกจ้างทำงานเสี่ยงภัย

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการจัดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  • การกำหนดบทนิยามคำว่า “การตรวจสุขภาพ” และ “งานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง” ได้แก่ งานที่เกี่ยวกับสารเคมี ความร้อน เย็น สารกัมมันตภาพรังสี ความกดอากาศ เชื้อไวรัส และแบคทีเรีย
  • กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง โดยให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้างครั้งแรก ภายใน 30 วันนับแต่วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน และครั้งต่อไปอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในกรณีที่ลูกจ้างหยุดงาน 3 วันทำงานติดต่อกัน เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้าง ให้นายจ้างขอความเห็นจากแพทย์ หรือจัดให้มีการตรวจสุขภาพ ก่อนให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน
  • กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบันทึกผล การแจ้ง และการส่งผลการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง เช่น ให้นายจ้างจัดให้มีสมุดสุขภาพประจำตัวของลูกจ้าง และให้บันทึกผลการตรวจสุขภาพ นายจ้างเก็บบันทึกผลการตรวจสุขภาพไว้ไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันสิ้นสุดการจ้าง
  • กำหนดให้กรณีที่พบความผิดปกติของลูกจ้าง หรือลูกจ้างมีอาการ หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันที และให้ส่งผลการตรวจสุขภาพต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยตามแบบและวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด
  • กรณีลูกจ้างมีหลักฐานทางการแพทย์แสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมได้ ให้นายจ้างเปลี่ยนงานให้ตามสมควร โดยคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง

ทั้งนี้ที่บทเฉพาะกาล กำหนดให้การดำเนินการของนายจ้างตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ. 2547 อยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามกฎกระทรวงฉบับนี้

นายกฯลงพื้นที่เมืองกาญจน์-ราชบุรี 11-12 พ.ย.นี้

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.รับทราบการตรวจราชการ และประชุม ครม. อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2562 ที่จังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2562 นี้

โดยวันที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 08.00 น. นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมคณะจะลงพื้นที่ตรวจภูมิประเทศเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โครงการทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อสามแยกวังมะนาว-บรรจบทางหลวงหมายเลย 3510 (จุดเชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ-ภาคใต้ และภาคตะวันออก-ภาคตะวันตก) บริเวณสามแยกวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี จากนั้นจะเดินทางไปที่โรงยิมเนเซียม อบจ.ราชบุรี เพื่อเป็นประธานสักขีพยานในโอกาสที่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมอบหนังสือ แสดงโครงการป่าขุมชน ให้ผู้ว่าฯราขบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี โดยที่ผู้ว่าฯ ราชบุรีจะมอบสมุดประจำตัวผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวมให้แก่ผู้นำชุมชน โดย พล.อ. ประยุทธ์ จะมอบเงินสนับสนุนโครงการลดต้นทุนการผลิตให้ตัวแทนเกษตรกร โครงการลดต้นทุนการผลิตข้าว โครงการประกันรายได้ข้าว และโครงการประกันรายได้ปาล์ม พร้อมกล่าวทักทายประชาชนในจุดดังกล่าว

ต่อมาในช่วงบ่าย นายกฯ จะติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำ “วิถีคลอง วิถีไทย” ที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และจะเข้าสักการะพระประธานภายในวัดโชติทายการาม และเยี่ยมชมกิจกรรมเกษตรปลอดสารพิษ และการผลิตผัก ผลไม้ไร้สารเคมี ตามวิถีธรรมชาติ เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชนโอทอป พร้อมเยี่ยมชมตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก เพื่อติดตามโครงการพัฒนาคูคลอง เส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ การท่องเที่ยววิถีเกษตร สะท้อนประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตประเพณีของคนในท้องถิ่น เยี่ยมชนร้านค้า พบปะประชาชน และนักท่องเที่ยวริมคลองดำเนินสะดวก จากนั้น นายกฯ เดินทางไปเยี่ยมชมกิจการของสหกรณ์โคนมหนองโพในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อพบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงโค เลี้ยงชมนิทรรศการด้านปศุสัตว์ และสินค้าโอทอปที่ อ.โพธาราม

จากนั้นนายกฯเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ ไปที่อ.เมือง เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการจัดระเบียบแพ และเปิดโครงการบ้านพัก และมอบกุญแจบ้านให้ผู้เข้าอาศัย ขณะที่ช่วงเย็น นายกฯ พร้อมคณะจะลงพื้นที่ติดตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาเมืองเก่า โดยพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุแปลงโรงงานกระดาษไทย เพื่อเป็นสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาติให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้แก้ผู้ว่าฯ กาญจนบุรี ก่อนที่นายกฯ จะร่วมลอยกระทงกับชาวกาญจนบุรี ในประเพณีลอยกระทง บริเวณท่าเรือขุน ก่อนเข้าที่พัก

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวต่อไปว่า สำหรับวันที่ 12 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมพัฒนาเศรษฐกิจ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (กาญจนบุรี-ราชบุรี-สุพรรณบุรี) และเป็นประธานการประชุม ครม.ที่ห้องประชุมอรพิน มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ก่อนให้สัมภาษณ์ผลการประชุม และเดินทางกลับ กทม.

ขยายเวลา “ไพสิฐ” นั่งอธิบดีดีเอสไอ ต่อ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในหลายหน่วยงาน อาทิ

  • กระทรวงยุติธรรมเสนอต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดี (นักบริหาร ระดับสูง) กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม อีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563
  • สำนักงาน ก.พ. เสนอแต่งตั้ง นางศรีสมร กสิศิลป์ ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ ก.พ. สำนักงาน ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
  • สำนักงาน กปร. เสนอแต่งตั้ง นางสาวอุศนีย์ ธูปทอง ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ กปร. สำนักงาน กปร. ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
  • กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งกรรมการ (ผู้แทนกองทัพอากาศและผู้ทรงคุณวุฒิ) ในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จำนวน 5 คน ดังนี้ 1. นาวาอากาศเอก ศักรินทร์ ไชยวาน ผู้แทนกองทัพอากาศ 2. นางสาริณี อังศุสิงห์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารกิจการการบินพาณิชย์ 3. นายชนินทร์ แก่นหิรัญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 4. นางอินทิรา โภคปุณยาภรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินหรือการคลัง 5. นางสาวเยาวนุช วิยาภรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารจัดการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
  • และแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการการบิน พลเรือน จำนวน 7 คน แทนกรรมการเดิมที่ขอลาออกจากตำแหน่ง ดังนี้ 1. นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ 2. นายกฤชเทพ สิมลี 3. นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ 4. นางสาริณี อังศุสิงห์ 5. นายชยธรรม์ พรหมศร 6. นายปฐม เฉลยวาเรศ 7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต

อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เพิ่มเติม