ThaiPublica > เกาะกระแส > อนาคตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้เงามังกรของมหาอำนาจจีน

อนาคตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้เงามังกรของมหาอำนาจจีน

23 กันยายน 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ทางเหนือของลาว บริหารโดยจีน ที่มาภาพ : In the Dragons’s Shadow (2020)

เว็บไซต์ asia.nikkei.com รายงานว่า ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของลาวลดเหลือ 1% ในปี 2020 หรือในกรณีเลวร้ายจะติดลบ 1.8% ก่อนหน้านี้ IMF เคยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจลาวในระยะ 20 ปี ช่วง ค.ศ. 2016-2036 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.3%

แต่ภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวของลาว กำลังตกอยู่ภายใต้เงามืดของเงินกู้ ที่มาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยมีจีนเป็นนักลงทุนต่างประเทศและเจ้าหนี้รายใหญ่ของลาว เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง คุนหมิง-เวียงจันทร์ มูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ โดยฝ่ายลาวมีสัดส่วนการลงทุน 30%

นอกจากนี้ จีนยังเข้ามาลงทุนในโครงการเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้า และเขตเศรษฐกิจพิเศษ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเห็นว่า ลาวกำลังจมดิ่งกับหนี้สิน เพราะการสร้างเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นโครงการที่มีลักษณะใช้เงินลงทุนสูง (capital-intensive)

ศูนย์กลางอินโด-แปซิฟิก

หนังสือชื่อ In the Dragon’s Shadow: Southeast Asia in the Chinese Century (2020) กล่าวว่า ไม่มีภูมิภาคไหนในโลก ที่การก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารของจีน จะปรากฏให้เห็นชัดเจนเท่ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคที่เป็นจุดเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วย 11 ชาติ คือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม ไทย เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย ติมอร์ตะวันออก และฟิลิปปินส์

การขาดสิ่งขวางกั้นทางธรรมชาติ ทำให้เอเชียอาคเนย์เป็นภูมิภาคที่ง่ายต่อการขยายอิทธิพลของจีน 3 ประเทศในภูมิภาคนี้ ที่มีพรมแดนติดกับจีน และ 5 ประเทศได้รับผลกระทบโดยตรง จากการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนถึง 80% ในทะเลจีนใต้ แต่ทุกประเทศในภูมิภาคล้วนอยู่ภายใต้เงาของอำนาจทางเศรษฐกิจจีน ในปี ค.ศ. 2009 จีนกลายเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุดของภูมิภาคนี้ และปี ค.ศ. 2012 จีนเป็นแหล่งที่มาของนักท้องเที่ยวรายใหญ่สุดในภูมิภาค

หนังสือ In the Dragon’s Shadow กล่าวว่า ทัศนะและปฏิกิริยาของภูมิภาคนี้ ต่อการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน มีความหมายต่อโลกโดยรวม เพราะภูมิภาคนี้มีประชากร 650 ล้านคน เศรษฐกิจมูลค่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย

ภูมิภาคนี้ยังเป็นจุดสำคัญของการค้าโลก ช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางเดินเรือที่คับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จุดนี้ทำให้ภูมิภาคนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ไม่เฉพาะกับจีน แต่กับคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ ด้วย

เมื่อเศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นมา จีนต้องพึ่งพาอาศัยอย่างมากกับเส้นทางเดินเรือของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะช่องแคบมะละกา ที่ปีหนึ่งมีเรือบรรทุก 90,000 ลำแล่นผ่าน นักยุทธศาสตร์จีนจึงวิตกกังวล ในเรื่องที่การนำเข้าพลังงานและการส่งออกของจีนต้องอาศัยเส้นทางดังกล่าว ปี ค.ศ. 2018 80% ของการนำเข้าพลังงานทั้งหมดของจีนผ่านช่องแคบมะละกา นโยบายของจีนจึงอยู่ที่ปกป้องเส้นทางขนส่งนี้ และหาทางกระจายการนำเข้าพลังงานจากแหล่งอื่นด้วย

In the Dragon’s Shadow กล่าวว่า ดังนั้น พื้นที่ที่เป็นแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีพรมแดนอยู่ติดกับจีน จึงเป็นทางออกของเส้นทางทางบกสู่มหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งการสร้างเส้นทางถนน รถไฟ และท่อส่งน้ำมัน อย่างเช่น ถนนและรถไฟเชื่อมมณฑลยูนานกับเมียนมาและลาว

ผลดีและผลเสียที่อยู่ใกล้จีน

การที่ภูมิภาคนี้ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับมหาอำนาจของเอเชียอย่างจีน มีทั้งผลดีและผลเสีย ทั้งการได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ในด้านหนึ่ง เอเชียอาคเนย์ได้ประโยชน์อย่างมากจากจีนในด้านการค้า การลงทุน และการช่วยเหลือ ปี 1990 การค้าของจีนกับภูมิภาคนี้มีมูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2018 พุ่งขึ้นเป็น 642 พันล้านดอลลาร์ หรือ 85 เท่าตัว

ส่วนการลงทุนของจีนในภูมิภาคนี้ เติบโตอย่างช้าๆ แต่มาขยายตัวแบบก้าวกระโดด นับจากปี 2013 เมื่อจีนประกาศโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” การลงทุนในโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง จะมีส่วนช่วยประเทศยากจนในภูมิภาคนี้ ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชน ธนาคาร ADB คาดว่า ประเทศในเอเชียจะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปีหนึ่ง เป็นเงิน 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อรักษาการเติบโต และลดความยากจน ดังนั้น โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ของจีน จะเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว

ในอีกด้านหนึ่ง ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าวอาจเป็นดาบสองคม การค้าที่รุ่งเรืองกับจีนทำให้จีนได้เปรียบดุลการค้าเพิ่มมากขึ้นกับประเทศในภูมิภาคนี้ เพราะการหลั่งไหลจากการนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าต่างๆ ของจีนที่สามารถตัดราคาสินค้าของท้องถิ่น

ส่วนการลงทุนจากจีนในโครงสร้างพื้นฐาน ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีและคนงานจากจีน การไหลเข้ามาของทุน สินค้า พ่อค้า และคนงานจากจีน ทำให้บางส่วนของประเทศในภูมิภาคนี้กลายเป็น “จังหวัดหนึ่งของจีน”

“เพื่อนบ้านอยู่ใกล้ ดีกว่าญาติที่อยู่ไกล”

In the Dragon’s Shadow กล่าวว่า ในทศวรรษ 1990 เมื่อเศรษฐกิจจีนพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่มณฑลยูนานเริ่มชักจูงให้รัฐบาลกลางของจีนหาทางฟื้นฟูการเชื่อมโยงระหว่างยูนานกับดินแดนทางใต้ลงไป เหมือนกับสุภาษิตของจีนที่กล่าวว่า “เพื่อนบ้านอยู่ใกล้ ดีกว่าญาติที่อยู่ไกล” หลังจากนั้น รัฐบาลจีนก็เริ่มลงทุนยกระดับถนนและเส้นทางรถไฟจากยูนานไปภูมิภาคอื่นๆ ของจีน และต่อมาขยายไปยังชายแดนเมียนมา ลาว และเวียดนาม

มณฑลยูนานมีประชากร 48 ล้านคน เศรษฐกิจมูลค่า 320 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ยูนานเปรียบเหมือนฐานปฏิบัติการของจีน ที่จะมุ่งสู่ดินแดนทางใต้ นครคุนหมิงทุ่มพัฒนาตัวเองให้กลายเป็น “ศูนย์กลาง” ของเส้นทางคมนาคม เช่น ถนน รถไฟ และท่อส่งน้ำมัน ที่จะมุ่งสู่อ่าวไทยและทะเลอันดามัน ในอนาคตข้างหน้า สถานีรถไฟใหม่ของคุนหมิงจะให้บริการรถไฟความเร็วสูง ไปจนถึงกรุงเทพฯ

ส่วนเมืองจิ้นหง เขตสิบสองปันนา กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นชุมทางของถนนทางด่วน สู่ไทย ลาว และเมียนมา มีรถโดยสารออกเป็นระยะๆ เดินทางไปเวียงจันทร์และกรุงเทพฯ ผู้โดยสารประกอบด้วยนักท่องเที่ยว คนงานจีน และนักธุรกิจ เมื่อโครงสร้างพื้นฐานได้รับการปรับปรุง เศรษฐกิจเขตสิบสองปันนาเติบโตขึ้น ความมหัศจรรย์ของเศรษฐกิจจีนเริ่มกระจายออกไปดินแดนทางใต้ ธุรกิจจีนเริ่มลงทุนในเขตแม่น้ำโขง เช่น การสร้างถนน โรงแรม เหมืองแร่ การเกษตร และเขื่อนผลิตไฟฟ้า

หนังสือ In the Dragon’s Shadow กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายของเงินลงทุนจากจีน จะตามมาด้วยกับการอพยพของแรงงานรุ่นใหม่ของจีน เช่น ผู้ประกอบการ พ่อค้า และพวกเข้าเมืองผิดกฎหมาย คนพวกนี้แสวงหาความร่ำรวยจากเส้นทางสายไหมใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนใหญ่คนพวกนี้เป็นผลพลอยได้ ที่เกิดจากการอพยพภายในประเทศครั้งใหญ่ของจีนเองจากชนบทสู่เมือง เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า spillover คือมีจุดเริ่มต้นจากภายในประเทศจีน แต่ไปเกิดผลที่อีกประเทศหนึ่ง

แต่การอพยพของคนจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างมีจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศที่มีพรมแดนติดกับจีน Zhuang Guotu จากมหาวิทยาลัยเซียะเหมินคาดว่า หลังจากปี 1990 มีคนจีนราว 2.3-2.7 ล้านคน อพยพเข้ามาภูมิภาคนี้ ในเมียนมาและลาว มีชุมชนคนจีนเกิดขึ้น ส่วนเมืองใหญ่อย่าง เช่น เชียงใหม่ มัณฑะเลย์ และพนมเปญ จะเห็นคนจีนเปิดร้านทำธุรกิจค้าขาย

แม้อำนาจเศรษฐกิจและการเมืองของจีนจะกำลังไหลลงมายังดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง แต่สิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในระยะยาวของภูมิภาคนี้ คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำโขง เพื่อให้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้ากับอุตสาหกรรมทางภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ทำให้จีนมีโครงการสร้างเขื่อนผลิตฟ้าขนาดใหญ่หลายแห่งบนแม่น้ำโขง สร้างเสร็จไปแล้ว 11 แห่ง และอีกหลายแห่งเมื่อถึงปี 2030

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวิตกว่า เมื่อรวมกับจำนวนโครงการสร้างเขื่อนในลาว ไทย และกัมพูชา โครงการเขื่อนทั้งหมดจะกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่ใหญ่โตที่สุด ในการเปลี่ยนเส้นทางไหลของแม่น้ำในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากและครั้งใหญ่ต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง สภาพแม่น้ำโขงจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำใช้ผลิตไฟฟ้าและการเดินเรือ อีกส่วนที่เกิดความเสียหายคือเกษตรกรและชาวประมง ที่อาศัยแม่น้ำเพื่อทำมาหากิน

ความสามารถของจีนในการควบคุมปริมาณการไหล่จากต้นน้ำของแม่น้ำโขง ทำให้ประเทศปลายน้ำไม่อยากจะวิพากษ์ตำหนิจีนในเรื่องการสร้างเขื่อน เพราะประเทศอย่างลาวและเขมร ต่างก็มีแผนการสร้างเขื่อนของตัวเองครั้งใหญ่เช่นกัน และยังต้องอาศัยเงินลงทุนจากจีน มีเพียงเวียดนามเท่านั้น ที่วิจารณ์จีนอย่างรุนแรงในเรื่องนี้

หนังสือ In the Dragon’s Shadow กล่าวสรุปว่า การพุ่งขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน ทำให้ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประสบกับปัญหาการท้าทายที่คล้ายๆ กัน ทำอย่างไรจะให้ประเทศตัวเองได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่กำลังรุ่งเรือง ขณะเดียวกันก็ปกป้องอธิปไตยของตัวเอง จากอันตรายที่จะมาจากการพึ่งพาจีนมากเกินไป

เอกสารประกอบ
In the Dragon’s Shadow, Sebastian Strangio, Yale University Press, 2020.