ThaiPublica > คนในข่าว > “ปพนธ์ มังคละธนะกุล” ชวนคุยจาก “P2P Lending” ถึงความเหลื่อมล้ำทางการเงิน

“ปพนธ์ มังคละธนะกุล” ชวนคุยจาก “P2P Lending” ถึงความเหลื่อมล้ำทางการเงิน

6 กันยายน 2020


ปพนธ์ มังคละธนะกุล ผู้ก่อตั้ง NestiFly บริษัทสตาร์ตอัปการเงิน

ท่ามกลางปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจขนาดน้อยขนาดเล็ก อันเป็นมาอย่างยาวนานทั้งประเทศไทยและทั่วโลก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวเร็ว แนวคิด “P2P lending” หรือการกู้ยืมเงินระหว่างกันโดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร โดยอาศัยเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ก้าวหน้าไปค่อนข้างมากแล้วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นเต้นและตื่นขึ้นว่าภูมิทัศน์การเงินของไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ คำถามคือทำไมสิ่งเหล่านี้ยังไม่เข้ามาในประเทศ และถ้ามันเข้ามา ในที่สุดจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรในบริบทของประเทศไทย สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าคุยกับ “ปพนธ์ มังคละธนะกุล” จากผู้บริหารธนาคารที่คลุกคลีกับลูกค้าเอสเอ็มอีมาเกือบค่อนระยะการทำงานมาสู่ที่ปรึกษา และในที่สุดมาเป็นผู้ก่อตั้ง NestiFly บริษัทสตาร์ตอัปการเงิน แต่เจ้าตัวบอกว่าตัวเองเป็นเอสเอ็มอีที่ให้บริการทางการเงินมากกว่าเป็นสตาร์ตอัปการเงินก็ตาม โดยมีความมุ่งมั่นจะสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ไม่ใช่เพียงเข้ามาทำสิ่งที่ธนาคารไม่ได้ทำ แต่จะเข้ามาตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการเงินที่ยังเป็นปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบรายเล็กๆ

โอกาสคนนับล้านเข้าถึงสินเชื่อ

นายปพนธ์เล่าย้อนกลับไปในสมัยที่ยังเป็นคนในภาคธนาคารว่า ถ้าลองสำรวจดูผลิตภัณฑ์การเงินในเมืองไทย มีมากพอสมควร เพียงแต่กระจุกตัวอยู่กับลูกค้าบางกลุ่ม ยิ่งธุรกิจใหญ่หรือคนที่มีเงินมาก มีความหลากหลายให้เลือกมาก โอกาสก็จะมากตาม แต่ถ้าลองสำรวจลงไประดับล่างเรื่อยๆ ผลิตภัณฑ์การเงินจะน้อยลงไปเรื่อยๆ แล้วถ้าโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินไม่เท่ากัน มันจบ มันไม่มีทาง ข้างบนยิ่งต่อยอดได้เรื่อยๆ ข้างล่างยิ่งห่างขึ้นเรื่อยๆ

“โจทย์ใหญ่ของธนาคารที่ทำไม่ได้คือ ถ้ามีลูกค้าขนาดที่เล็กลงๆ จะทำอย่างไรถึงมีประสิทธิภาพได้ ให้สามารถปล่อยสินเชื่อวงเงิน 100,000 บาทได้ ซึ่งธนาคารไม่สามารถทำอะไรแบบนี้ และลูกค้ากลุ่มนี้คือธุรกิจเอสเอ็มอีก็ไม่ได้รับบริการจากธนาคาร ถามว่าธนาคารทำอะไรกลุ่มพวกนี้หรือไม่ จริงๆ ธนาคารทำ มีทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย แต่ว่ามันก็ไปกระจุกอยู่คนรวยมากๆ คน 1% ของประเทศ ซึ่งมีไม่ถึงพันคน”

ในทางตรงกันข้ามหากหันไปดูตลาดหุ้น นายปพนธ์กล่าวว่า ยังมีความมั่งคั่งในหุ้นที่จะใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่กับคนอีกนับล้านคนในตลาดหุ้น แต่ถามว่าเขาเหล่านั้นมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะว่าธนาคารเขาดูว่าคุณเป็นใคร ดังนั้นถ้าผมถือหุ้นใหญ่เหมือนกันไปขอกู้เงินใช้หลักทรัพย์คือหุ้นค้ำประกัน แต่เขาไม่ปล่อยสินเชื่ออยู่ดี

“ยิ่งตอนนี้เอสเอ็มอีหาธนาคารปล่อยกู้ยากอยู่แล้ว ถ้าเอสเอ็มอีที่มีหลักทรัพย์พวกนี้มาค้ำประกันระดับหนึ่ง ผมว่าเป็นโอกาสที่ดี ราคา(ดอกเบี้ย)ก็ถูกกว่าอยู่แล้ว เขาอุตส่าห์สะสมความมั่งคั่งมาแล้ว ทำไมต้องไปกู้แพงอีก เราคิดว่าเมื่อสะสมความมั่งคั่งในหุ้นมาแล้ว มาต่อยอดธุรกิจได้ ทำให้ต้นทุนถูกลงด้วย ถ้าเขาเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นตอนอายุน้อยๆ แล้วมาทำธุรกิจ มันก็มีโอกาสสำเร็จมากขึ้นด้วย ไม่ใช่ต้องไปกู้ด้วยPloan ดอกเบี้ย 28% ”

โมเดลธุรกิจต้องเปลี่ยน เทคโนโลยีต้องเข้ามา

นายปพนธ์เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นว่าตอนที่มองอนาคตว่าจะต้องเป็น “P2P lending” เพราะว่าอันแรกมันจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผลิตภันฑ์ทางการเงินที่หลากหลายไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่มลูกค้า และสิ่งที่สำคัญ NestiFly เป็นองค์กรที่ไม่ได้ใหญ่โต เราไม่สามารถทำบนแพลตฟอร์มแบบธนาคารได้ จึงเป็นที่มาว่า P2P มันตอบโจทย์ เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยี วงเงินกู้ในเชิงของบุคคล จำนวนเงินอาจจะไม่ได้มาก แต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มากกว่า

“ด้วยเรามีขนาดเล็ก เราเลือกโจทย์ที่ทำได้ง่ายขึ้น คือ P2P lending เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น โดยอาศัย 3 แกนหลักที่ต้องทำต่อไปคือ อันแรกทำให้มันสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนได้มีประสิทธิภาพกว่าระบบธนาคารปัจจุบัน อันที่สอง ลูกค้าส่วนใหญ่จะไม่รู้จักเรา ฉะนั้นทำอย่างไรให้คนเชื่อถือในตัวเรา และอันที่สามระบบแพลตฟอร์มมันต้องปลอดภัย ตรวจสอบได้”

กว่าจะเป็น NestiFly จากเริ่มตั้งบริษัทถึงขอใบอนุญาต

มองผิวเผินดูเหมือนทุกอย่างจะง่ายดายในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบัน แต่ความเป็นจริงพอเริ่มจะทำอะไรๆ กลับไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เส้นทางกว่าจะออกมาเป็น NestiFly กลับต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย เริ่มตั้งแต่เกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้เพียง 15% เท่านั้น นายปพนธ์เล่าว่าดอกเบี้ยเท่านี้มันต่ำมากจนไม่สามารถทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้ แตกต่างจากเมืองนอกที่จะไม่ควบคุมเพดานและจะเปิดกว้างให้ความเสี่ยงกับราคาปรับตัวตามกลไกตลาดเอง โดยเข้าใจว่า ธปท. ออกเกณฑ์ไปยึดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่การปล่อยกู้ระหว่างบุคคลด้วยกันเองมีเพดานที่ 15%

“พอเป็นแบบนี้แล้วการปล่อยกู้หรือผลิตภันฑ์แบบไม่มีหลักประกัน ยากแน่นอน ธนาคารทำ ยังเหนื่อยเลย แล้วถ้า P2P ยิ่งเหนื่อย ดังนั้นเกณฑ์แบบนี้ โดยตัวมันเองก็จำกัดผลิตภัณฑ์ที่จะทำ พอสมควร แต่ไม่เป็นไร ผมว่าก็เรียนรู้ไปด้วยกัน มันคือหน้าที่ของเราที่ต้องปรับตัวว่าออกสินค้าให้มันอยู่ในกรอบนี้ก่อน แล้วค่อยพัฒนากันต่อไปทีละขั้น”

อุปสรรคต่อมาคือต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างต่ำ 5 ล้านบาทตลอดเวลาที่ทำธุรกิจ แปลว่าธุรกิจนี้มันเริ่มใช้เงินทุนจำนวนมากคือใส่เงินไป 5 ล้านบาทแต่เอาไปใช้ไม่ได้ สิ่งที่จะใช้คือเงินทุนที่ต้องใส่เติมมาข้างบนอีกที และผู้ถือหุ้น 75% จะต้องเป็นสัญชาติไทย ทำให้ผู้ก่อตั้งที่จะเข้ามาร่วมทุนด้วยยิ่งมีจำกัด

สุดท้ายคือเรื่องคุณสมบัติของผู้ใช้บริการเอง ก็มีความซับซ้อนไม่แพ้กัน นายปพนธ์เล่าว่าเริ่มจากผู้มาใช้บริการจะถูกแบ่งการกำกับดูแลระหว่างบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดย ธปท. จะกำกับดูแลเฉพาะบุคคลธรรมดา ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. จะดูแลส่วนของนิติบุคคล เหตุผลคือภาครัฐ มองว่าคนกู้ที่เป็นนิติบุคคล จะเหมือนกับตราสารหนี้(เอาหุ้นมาค้ำประกัน)

“อันนี้อาจจะเป็นข้อจำกัดได้ เพราะน่าจะมีองค์กรเดียวในการกำกับดูแลภาพรวม แต่เข้าใจว่าทางการก็พยายามทำเกณฑ์ให้มันใกล้เคียงกันอยู่แล้ว แต่ในมุมธุรกิจถ้าผมจะทำสองแบบก็ต้องไปขอสองใบอนุญาตมันก็จะวุ่นวายขึ้นหน่อย แล้วอีกข้อคือคนในบริษัทที่ให้บริการ P2P ไม่สามารถกู้ได้ เพราะกลัวเป็นแบบเมืองนอกที่เหมือนแชร์แม่ชม้อยที่ระดมทุนแล้วเอาเงินไปเอง แต่ผู้ถือหุ้นในบริษัทยังปล่อยกู้ได้ แต่ไม่เกิน 10% ของสินเชื่อนั้น เพราะเกรงว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน”

อีกเรื่องที่สำคัญคือเงินลงทุนและสินเชื่อที่วิ่งผ่านในแพลตฟอร์ม รวมไปถึงหลักทรัพย์ต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีบุคคลที่สามเป็นผู้ดูแลให้หรือที่เรียกว่าเป็นผู้รับฝากสินทรัพย์ (custodian) ส่วนผู้ให้บริการทำหน้าที่จับคู่อย่างเดียว ห้ามจับเงิน ห้ามจับหลักทรัพย์ ฉะนั้นโดยการทำงานจะเป็นเรื่องของแพลตฟอร์มจับคู่เท่านั้น ตรงนี้ถือว่าเป็นข้อจำกัดอีกว่าตัวผู้รับฝากสินทรัพย์ส่วนใหญ่ก็คือธนาคารหรือสถาบันการเงินที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว ซึ่งสำหรับบริษัทฟินเทคเล็กๆ มันอาจจะไม่คุ้มค่าที่สถาบันการเงินเขาจะลงทุนเป็นผู้รับฝากสินทรัพย์ให้ด้วย

“สำหรับ NestiFly ชื่อนี้มาจากอะไร อันแรกคือ nest รังนก และ fly คือบิน เรามองว่าถ้ากลุ่มคนที่มีโอกาสในการที่เข้าถึงเงินทุนหลักๆ เพิ่มขึ้น จะทำให้โอกาสในชีวิตเขาดีขึ้น ก็เหมือนฟูมฟักให้เขาเติบโตบินได้ตามที่เขาต้องการ อันนั้นคือสิ่งที่เราเป็น ที่มันช้าอยู่เพราะว่าเราทำเทคโนโลยีใหม่หมดเลย ทั้ง blockchian ทั้งดึงรูปพาสปอร์ต เราเอาพวก open platform หรือ architecture ที่มีมาพัฒนาขึ้นมาใหม่หมด ของเราน่าจะสร้างเองเกือบทั้งหมด ขณะเดียวกัน ธปท. มีเกณฑ์ที่คนที่จะเข้าไปสมัครต้องพูดคุยกันมากพอสมควร เพราะว่ามันก็ใหม่อยู่มาก”

“ShareLoan” กู้ได้สูงสุด 50 ล้านบาท – ลงทุนได้ 5 แสนบาท

หลังจากที่ NestiFly ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา มาได้ ตั้งแต่หาเงินทุนมาเริ่มตั้งบริษัท จนถึงออกไปขอใบอนุญาตให้เริ่มธุรกิจ และหาพันธมิตรที่จะมาทำหน้าที่รับฝากสินทรัพย์ให้ นายปพนธ์เล่าว่า ด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับเพดานดอกเบี้ยที่ ธปท. กำหนด สิ่งที่ทำได้ในช่วงแรกจึงมีแค่ “สินเชื่อแบบมีหลักประกัน” ซึ่งในที่นี้คือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยเรียกว่า “share loan”

share loan จะแบ่งเป็นสองด้านตามแนวคิดของ P2P lending คือฝั่งผู้กู้และนักลงทุน เริ่มต้นจากฝั่งผู้กู้จะมีเกณฑ์สำหรับบุคคลธรรมดา 2 อย่าง อันแรกจะเหมือนหนี้ส่วนบุคคล หรือ p-loan คือถ้ารายได้น้อยต่ำกว่า 30,000 บาท ให้กู้ได้ไม่เกิน 1.5 เท่าของเงินเดือน อันที่สองคือถ้ารายได้มากกว่านั้น กู้เงินได้ 5 เท่าของรายได้ แต่ถ้าเกิดมีหลักประกัน ซึ่งคือใช้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน จะเป็นเหมือนกึ่งๆ สินเชื่อที่อ้างอิงกับทรัพย์สิน “asset-based lending” แบบนี้จะกู้ได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท

อีกด้านคือฝั่งนักลงทุนที่มีเงินเหลือแล้วจะลงทุนปล่อยกู้ เกณฑ์สำหรับบุคคลธรรมดาคือให้ลงทุนได้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อ 12 เดือน เพราะกลัวรายย่อยลงทุนเยอะเกินไปแล้วมีความเสี่ยงกับสินทรัพย์แบบใหม่มากไป ส่วนนักลงทุนที่มีความเข้าใจดีขึ้นอย่างนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนความมั่งคั่งสูง (HNW) จะไม่มีจำกัด เพราะภาครัฐมองว่ารู้จักความเสี่ยงดีและคุ้นเคยกับการลงทุนลักษณะนี้

ปล่อยกู้ 4.75-6% ใช้ “หุ้น” ค้ำ – คนปล่อยได้ผลตอบแทน 3.25-4%

ในแง่ของรายละเอียดดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนของ share loan นายปพนธ์เล่าว่า สำหรับฝั่งคนกู้จะมีระยะเวลาชัดเจน 3, 6, 9 และ 12 เดือน แต่ว่าช่วงแรกที่ทำใน sandbox จะถูกจำกัดแค่ 6 เดือนก่อน และการปล่อยเงินกู้จะปล่อยที่ LTV ตั้งแต่ 30-50% สินเชื่อขอได้ตั้งแต่ 50,000 บาท จริงๆ ตามกฎหมายปล่อยได้สูงสุด 50 ล้านบาท แต่ตอนนี้จะจำกัดที่ 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยที่รวมค่าธรรมเนียมทุกอย่างแล้วประมาณ 4.75-6% ต่อปี

“ดอกเบี้ยเท่านี้ถือว่าต่ำมากเทียบกับสินเชื่อในระบบธนาคารเดิม MOR หรือ MLR มันเกือบเท่ากันเลย เพราะจุดประสงค์อยากให้คนกู้ต้นทุนต่ำๆ ไว้ เพราะมันคือการเอาทรัพย์สินเขาคือหุ้นมาต่อยอดลงทุนอะไรเพิ่มเติมได้ ส่วนการจ่ายเงิน เมื่อเราจับคู่สินเชื่อได้แล้ว ก็จะจ่ายโอนเงินให้ทันที ให้กับคนขอกู้ หักดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรก แล้วไปรอครบระยะเวลาก็จ่ายรวมเงินต้นคืนทีเดียว ไม่ต้องมีผ่อนชำระ เพราะว่ามีหลักทรัพย์เป็นหลักประกันแล้ว”

ประโยชน์ที่สำคัญของผู้กู้คือหลักประกันทุกอย่างเขายังเป็นเจ้าของอยู่ เพียงแต่จำนำเอาไว้ ดังนั้นถ้าระหว่างนั้นหุ้นจ่ายปันผลหรือมีสิทธิประโยชน์อะไร เจ้าของจะยังได้รับอยู่เหมือนเดิมไม่ได้เสียอะไรเลย แบบนี้การหาเงินทุนของเอสเอ็มอีจะสะดวกขึ้นมาก อย่างแรกคือแพลตฟอร์มทำทุกอย่างบนมือถือ อย่างที่สองคือรวดเร็ว ถ้าวันไหนต้องการเงินกู้ก็เข้ามาสมัครหาคนปล่อยกู้ ถ้ามีเงินอยู่ในระบบจับคู่ได้เลย วันรุ่งขึ้นโอนเงินเข้าธุรกิจได้เลย ดังนั้นถ้าใครเข้ามาก่อนวันดีคืนดีจะทำธุรกิจต้องใช้เงินทุนก็สามารถทำได้ทันทีไม่ต้องรอ และอย่างที่สามคือต้นทุนถูกมากเทียบกับทางเลือกอื่นๆ

ในด้านนักลงทุน นายปพนธ์กล่าวว่าถือว่าเสี่ยงต่ำมากเช่นกัน เพราะมีหลักทรัพย์คือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่ ผลตอบแทนยังสูงพอสมควรที่ 3.25-4% เทียบกับเงินฝากประจำระยะสั้นประมาณ 1.1% คิดว่าผลตอบแทนดี หรือจะเทียบพันธบัตรที่ให้ 3.5% ก็ต้องรอไป 5-6 ปี

“สำหรับเงินลงทุนขั้นต่ำแต่ละสัญญา และนักลงทุนผู้ให้กู้สามารถกำหนดได้อีกว่าจะเอาหุ้นแบบไหนที่มาค้ำประกัน เฉพาะ SET50 หรือ SET100 แล้วต้องการระยะเวลาแค่ไหน แล้วจะเอา LTV สูงสุดเท่าไหร่ เสร็จแล้วพอมีคนเข้ามากู้ตรงความต้องการก็จะจับคู่ให้เลย ฉะนั้นเป็นความเสี่ยงที่เปลี่ยนได้ตลอดเวลา ส่วนการได้เงินคืนในวันแรกจะโอนดอกเบี้ยให้ทันที่จับคู่ได้ แล้วรอให้ครบระยะเวลาก็จะคืนเงินต้นให้”

สำหรับประโยชน์ของนักลงทุนที่จะได้ ด้วยความที่มันเป็นสินทรัพย์ประเภทใหม่ในตลาด อาจจะต้องทำความเข้าใจกันพอสมควร ยกเว้นคนที่คุ้นชินกับเรื่องพวกนี้อยู่แล้วที่จะมาเป็นกลุ่มแรกๆ คือกลุ่มนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ลงทุนอยู่แล้ว ดังนั้นอย่างแรกคือสะดวกเพราะไม่ต้องเจอกับใครเลย อย่างที่สองคือปลอดภัยเพราะสัญญาใช้ blockchain เป็นพื้นฐาน อย่างที่สามมีระบบลงทุนอัตโนมัติ หรือ auto invest นักลงทุนไม่ต้องเฝ้าหน้าจอว่าอยากปล่อยอะไร เพียงกำหนดเกณฑ์เอาไว้แต่แรก แล้วพอคุณสมบัติตรงกันก็จับคู่ได้เลย ตรงนี้จะมีรายงานให้ดูว่าวันนี้ลงทุนไปเท่าไหร่ ผลตอบแทนเท่าไหร่ เหมือนการลงทุนในกองทุนปกติ

แพลตฟอร์มจะปล่อยกู้อย่างไร

ประเด็นต่อมาคือแล้วแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีจะปล่อยสินเชื่ออย่างไร นักลงทุนจะต้องฝากเงินไว้ที่ไหน แล้วเงินจะส่งผ่านจากนักลงทุนไปยังธุรกิจที่ต้องการเงินกู้ได้อย่างไร ปลอดภัยแค่ไหน นายปพนธ์กล่าวว่า เริ่มจากทั้งนักลงทุนและธุรกิจที่ขอสินเชื่อเมื่อเข้ามาสู่แพลตฟอร์มคือแอปพลิเคชันมือถือแล้ว จะต้องยืนยันตัวตนผ่านหนังสือเดินทาง ซึ่งต่อไปก็อาจจะเป็นดิจิทัลไอดีถ้าระบบโครงสร้างพื้นฐานนี้พัฒนาเสร็จแล้ว โดยระบบจะนำรูปถ่ายในหนังสือเดินทางมาเทียบกับรูปที่ถ่ายจากแอปพลิเคชันว่าเป็นคนเดียวหรือไม่ ถ้าเหมือนกันก็ผ่าน แต่ถ้าอาจจะเหมือนกันกลางๆ บอกไม่ได้ชัดเจน ตรงนี้ทางบริษัทจะมีคนมาตรวจสอบอีกที แต่ถ้าไม่เหมือนเลยก็จบ

หลังจากนั้นจะต้องไปเปิดบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งทำหน้าที่ผู้รักษาสินทรัพย์ให้ ทั้งหุ้นและเงินลงทุนก็จะต้องอยู่ที่บัญชีของธนาคารกรุงเทพ ถ้าเป็นลูกค้าอยู่แล้วจะเชื่อมบัญชีกันได้ ถ้าไม่ก็ไปเปิดบัญชีใหม่ ตรงนี้จะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดไม่จำเป็นต้องไปเจอหน้ากัน

เมื่อมีบัญชีและแอปพลิเคชันพร้อมแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการเลือกว่าจะเป็นนักลงทุนหรือธุรกิจที่จะขอสินเชื่อ ถ้าเป็นนักลงทุนจะมีขั้นตอนว่าประเมินความเสี่ยงว่าเหมาะกับสินค้านี้หรือไม่ เสร็จแล้วก็เอาเงินเข้าบัญชีไป ทางบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงจะเปิดบัญชีแยกเอาไว้ให้ต่างหาก หลังจากนั้นถ้ามีคำขอเงินกู้เข้ามาและตรงกับเกณฑ์นักลงทุนจะได้ลงทุนตามเกณฑ์ต่างๆ ที่ตั้งไว้ เช่น ผลตอบแทนเท่าไหร่ ระยะเวลาเท่าไหร่ ความเสี่ยงเท่าไหร่

ขณะที่ในด้านผู้กู้จะเริ่มจากเชื่อมโยงบัญชีหลักทรัพย์มาเลือกว่าจะเอาหุ้นตัวไหนมาเป็นหลักประกันขอกู้เงินโดยแพลตฟอร์มทั้งหมดจะเห็นแค่หุ้นที่ผู้กู้เลือกเข้ามาเท่านั้น หลังกจากนั้นจะกำหนดว่าจะกู้เงินเท่าไหร่ นานแค่ไหน และสุดท้ายการสมัครขอกู้เงินสมบูรณ์เมื่อเอารายงานของเครดิตบูโร หรือ NCB มาให้แพลตฟอร์มตรวจสอบ

“คือเพราะตอนนี้เราไม่ได้เชื่อมโยงตรงในระบบ เลยต้องถ่ายรูปกลับมาให้ เราก็ตรวจสอบว่าผ่านเกณฑ์มีเครดิตดีพอหรือไม่ แล้วก็จะเข้ามาจับคู่กัน พอจับคู่ได้ก็จะโอนเงินทันที ถ้ามีเงินมารอปล่อยกู้อยู่แล้ว และสมัครเข้ามาวันนี้ตอนเย็นก็รู้แล้วว่าได้เงินหรือไม่ พรุ่งนี้ก็ได้เงินไปทันที ลักษณะการทำงานของแพลตฟอร์มจะเป็นแบบนี้”

แม้ว่าสินเชื่อจะมีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน แต่หุ้นยังมีความผันผวนของราคาพอสมควร ถ้าราคาหุ้นเกิดตกลงมากๆ แล้วหลักทรัพย์หลังจากบังคับขายแล้วไม่พอชดเชย คนที่ปล่อยกู้จะต้องไปไล่เบี้ยกับคนกู้ได้ ดังนั้นคนกู้ต้องมีเครดิตที่ดีพอสมควร

“จุดประสงค์เราคือต้องการออกสินค้าให้สร้างความมั่นใจกับคนลงทุนก่อน เพราะว่าฐานในอนาคตต้องอาศัยฐานนักลงทุน มันต้องมีอุปทานเข้ามาก่อน ก่อนจะไปเรียกอุปสงค์จากคนกู้ได้ ดังนั้นถ้าเกิดออกไปโดยเสี่ยงสูงไป อาจจะสร้างฐานนักลงทุนยาก เราก็เอาที่เสี่ยงต่ำๆ ไปก่อน”

คำถามต่อไปคือถ้ามีคนเข้ามาจำนวนมากจะแบ่งกันปล่อยกู้อย่างไร ตัวอย่างเช่นสมมติตอนนี้มีเกณฑ์ที่นักลงทุนกำหนดไว้คือระยะเวลา ประเภทหุ้น และ LTV และสามารถเลือกได้ 8 ทางเลือกตามความเสี่ยง กรณีนี้ถ้าเกิดนักลงทุนเลือกเอาไว้ว่ารับความเสี่ยงได้สูงสุด เช่น สูงสุด 6 เดือน ใช้หลักประกันคือ SET100 และ LTV สูงสุด 50% แบบนี้เขาก็มีโอกาสลงทุนในทุกทางเลือก แต่ถ้าอีกคนบอกว่ารับความเสี่ยงได้ไม่มาก คือปล่อยกู้ได้แค่ 3 เดือน หลักประกันต้องเป็น SET50 เท่านั้น LTV ไม่เกิน 40% มันก็เหลือไปลงทุนได้ไม่กี่อัน

“สิ่งที่แตกต่างกัน อันนี้เป็นโอกาสลงทุน ถ้ามีธุรกิจขอเงินกู้ก้อนหนึ่งเข้ามา โดยเลือกแบบเสี่ยงต่ำ มันตรงกันกับเงื่อนไขที่ทั้งสองคนตั้งค่าไว้ แบบนี้จะมีโอกาสลงทุนได้ทั้งสองคน เราก็จะปล่อยให้พอๆ กัน ขึ้นอยู่กับเงินที่ใส่มาเท่าไหร่ แต่ถ้ามีเงินกู้เข้ามาเสี่ยงมากเลย เงื่อนไขของคนที่สองปล่อยกู้ไม่ได้แล้ว คนแรกก็จะได้ไปคนเดียวเพราะรับความเสี่ยงมากกว่าตามเงินกู้ที่เข้ามา ในความเป็นจริงก็จะมีนักลงทุนมากกว่า 1 คนก็จะแบ่งๆ กันไป”

นายปพนธ์เล่าว่าเหตุผลที่ต้องให้แบ่งกันแบบนี้เพราะว่าในมุมมองของคนลงทุนเขาจะต้องมีโอกาสลงทุนมากที่สุด เพราะถ้าเกิดมานั่งดูเองแล้วจังหวะหนึ่งไม่อยู่ เขาจะเสียโอกาสลงทุนเลย แต่อันนี้กำหนดความต้องการไว้ก่อน ถ้ามีคำขอเงินกู้มาตรงตามเงื่อนไขจะลงทุนทันที แล้วพอกระจายออกไปแบบนี้การลงทุนแต่ละสัญญาเงินกู้มันจะเป็นก้อนไม่สูงของเงินลงทุนทั้งหมดและกระจายความเสี่ยงออกไปในหลายสัญญา โอกาสที่จะไปลงทุนกระจุกตัวในบางสัญญาบางธุรกิจแล้วสร้างปัญหาตามมาจะน้อยลง

“ทีนี้ถ้าเกิดโชคร้ายราคาหุ้นเกิดผันผวนมากจนต่ำลงเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งจะมีกลไกที่จะบังคับหลักประกันอีก คือเราจะให้เขาชำระคืนบางส่วน เพื่อลดความเสี่ยงหรือ LTV ลงไปหน่อย แต่ถ้าไม่ทำอะไร จนถึงจุดหนึ่งเราว่าไม่ได้แล้วเราจะขายหลักประกันเพื่อชำระคืนเลย มากไปกว่านั้นถ้าเกิดมีการขายหุ้นไปหมดแล้ว แต่โชคร้ายไม่เพียงพอ เราจะเป็นคนประสานงานเอาเอกสารสัญญาไปฟ้องร้องกันต่อไปได้”

ประเดิมปล่อยกู้ 200 ล้านบาท

นายปพนธ์กล่าวต่อไปว่า โดยสรุปแล้วในช่วงแรกจะทำตลาดประมาณ 200 ล้านบาท แต่ถ้าอุปสงค์มากขึ้นก็ว่ากันอีกที จากที่ สำรวจตลาดมาแล้ว นักลงทุนสนใจมากๆ ทั้งสถาบัน ทั้งบุคคล แต่ถ้าบุคคลอาจจะเป็นเรื่องความเคยชินที่ต้องใช้เวลา ช่วงแรกเราก็จะทำตลาดสถาบันก่อน เราคุยกับสถาบันแบบประกันชีวิต ประกันภัยรอลงทุนอยู่แล้ว แล้วก็ตามเกณฑ์ของ คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) สามารถปล่อยกู้ได้ถ้ามีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ตรงอยู่แล้ว อุปสงค์มีอยู่แล้ว ก็กำลังคุยกันอยู่ว่าทำได้เป็นทางการชัดเจน มีไปคุยกับธนาคาร ก็สนใจจะมาทำกับเรา ตอนนี้ก็กระบวนการขั้นสุดท้ายที่จะให้มันชัดเจน

“เราตั้งใจให้มีสองกลุ่มลูกค้าแบบนี้ให้มีฐานเงินใหญ่พอจะทำตลาดขาคนกู้ต่อได้ แล้วค่อยรอให้ตลาดเรียนรู้ นักลงทุนรายย่อยอะไรก็ค่อยเข้ามาลงทุนกัน เราเน้นตอนนี้ทำตลาดขาอุปทานก่อน คือเอาเงินมารอก่อนแล้วให้คนมากู้ ไม่อยากให้มีกรณีแบบคนมากู้แล้วไม่มีเงิน มันก็จะมีประสบการณ์ที่ดีขึ้น ส่วนตลาดคนกู้ก็ทำงานกับบัวหลวงอยู่ ผ่านฐานลูกค้าเขาเลย ก็จะมีเข้ามาเลย”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม