ThaiPublica > คอลัมน์ > Cockroach in The Making (ตอนที่ 7) : Startup Gen X

Cockroach in The Making (ตอนที่ 7) : Startup Gen X

30 มิถุนายน 2018


ปพนธ์ มังคละธนะกุลwww.facebook.com/Lomyak

หายไปนานเลยครับ…

ยังอยู่ดีอยู่ครับ แต่ภารกิจรัดตัวทั้งงานที่ปรึกษา งานกรรมการ และไหนจะงาน Startup ที่พยายามให้ตั้งไข่อยู่ เลยไม่ค่อยมีเวลาจะขีดเขียนเล่าความเป็นไปให้ได้รับรู้กัน

จริงๆ ตอนนี้ความท้าทายต่างๆ ก็ยังไม่ได้คลี่คลายซะทีเดียวหรอกครับ แต่มันคงอยู่กับมันไปให้ได้นั่นแหละ จนกว่าทุกอย่างจะลงตัว ก็คงไม่ต่างกับโรคภูมิแพ้ที่ติดตัวมาตั้งแต่ไหนไม่ทราบได้ อากาศเปลี่ยนนิดเดียว ร่างกายทำตัวเป็นเสมือนเทอร์โมมิเตอร์เลย มีอาการตอบสนองเข้ามาทันที นี่ก็เพิ่งหายจากอาการหวัดซมไป 2-3 วัน

ผมเพิ่งกลับมาจากไปประชุมที่วอชิงตัน ดี.ซี. มา ไปเปิดกะโหลกน่ะครับ เพราะ IFC องค์กรที่ผมไปนั่งเป็นกรรมการแทนเขาที่เขมรนั้นมีประชุมประจำปีที่จัดให้กับกรรมการตัวแทนของเขาทั่วโลกมาพบปะกัน แลกเปลี่ยนความเห็น และเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ เพื่อที่จะได้ไปปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ดูแลผลประโยชน์ขององค์กรเขาให้สมกับความไว้เนื้อเชื่อใจที่เขามีให้

แปลกมากเลยคือ ผมอยู่ที่เมืองนอก ไม่ว่าอากาศจะหนาวหรือร้อนอย่างไร ผมไม่เคยป่วยที่เมืองนอกเลย แต่กลับมาเมืองไทย อากาศเปลี่ยนปุ๊บ มีอาการทันที คุณหมอประจำตัวบอกว่า ถ้าคุณอยากหาย ไม่ทานยา ง่ายนิดเดียว ย้ายไปอยู่เมืองนอก สบายทันที

แต่…ชีวิตไม่ง่ายอย่างนั้นน่ะสิ ยังไงเราเป็นคนไทย คงต้องอยู่เมืองไทยต่อไป ถึงแม้จะมีปัญหาสุขภาพที่ดันทำตัวเป็นคนตะวันตกหัวทอง ก็ต้องทนกันต่อไป ปรับตัว ปรับไลฟ์สไตล์กันไป เพื่อที่จะมีแรงต่อสู้กับความท้าทายต่างๆ ในชีวิต Startup กันต่อไป

คิดแบบนี้ได้ ผมจึงมองปัญหาและความท้าทายของ Startup เป็นเหมือนโรคภูมิแพ้ มันก็มาๆ ไปๆ อย่างนี้แหละ ปรับตัว ปรับความคิด หาทางออก กันไปตามจังหวะและเวลา แก้กันไปทีละเปลาะ และหาทางสร้างภูมิคุ้มกันอยู่เรื่อยๆ แล้วเราก็จะอยู่กับมันได้

หลังจากทำตัวเป็น Startup มาพักใหญ่ๆ ผมสังเกตเห็นว่า ไอ้ความคิดของเราเวลาทำธุรกิจนี่ มันก็ไม่ค่อยเหมือนแนวคิดของเด็กรุ่นใหม่ที่ริเริ่มทำธุรกิจสักเท่าไร หันมาเมียงมองหนังสือ How to สำหรับ Startup ยิ่งแล้วใหญ่ ทำไมเราถึงคิดไม่ค่อยเหมือนเขากันนะ

Startup ส่วนใหญ่จะพูดกันแต่แค่ Business Model มีบ้างที่ขยับกันไปคิดถึง Scale บ้าง ไม่ต้องพูดถึง Revenue Model กันเลย

เป็นไปได้ไง…คิดแต่จะหาลูกค้ากันอย่างเดียว แต่ไม่รู้ว่าธุรกิจของตัวจะทำเงินได้อย่างไร คิดแค่ว่าสร้างฐานลูกค้าให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปหาเงินฟรีจากนักลงทุนมาเผากันใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะเอาเข้าตลาด หรือขายให้กับบริษัทใหญ่ รวยกันถ้วนหน้า สามารถรีไทร์กันตั้งแต่ยังไม่ 40 กัน

โถ โถ โถ…ผมว่าสูตรนั้นมันใช้ได้ตอนสมัยเงินมันเหลือเยอะ ตอนนี้สภาพคล่องหายไปเยอะ คงไม่มีคนเอาเงินมาถมกันง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ตำราที่อ่านกันมา 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่ายังจะใช้ได้อยู่

แต่พอเข้าใจได้ว่าทำไมเด็กรุ่นหลังถึงคิดเช่นนี้ ชีวิตเขาเพิ่งเริ่ม ต้นทุนยังไม่สูง ล้มแล้ว ก็ลุกเริ่มต้นใหม่ ตราบใจที่ล้มโดยไม่ได้ใช้เงินตัวเองมากไป ก็คงไม่เดือดร้อนมาก มีเวลาเริ่มต้นใหม่ ความล้มเหลวก็เอาเป็นบทเรียน เข้าทำนอง บาดแผลเยอะ ก็น่าจะฉลาดล้ำ

อนิจจา…ไอ้ผมมันคน Gen X ที่ริอ่านจะมาทำตัวเป็น Startup ในช่วงอายุที่เพื่อนๆ หลายคนเริ่มมองหาทางลง วางแผนรีไทร์กันแล้ว ตลอดชีวิตก็เป็นลูกจ้าง บริหารงานให้คนอื่น ใช้เงินคนอื่น แต่ดูแลอย่างกับเงินตัวเอง คิดอย่างกับเราเป็นเจ้าของเงินเสียเอง

บทเรียนชีวิตที่ล้ำค่าที่สุดคือ ไม่มีอะไรฟรี ไม่มีอะไร ได้มาง่ายๆ

ดังนั้น จะคิดอ่านทำอะไร จึงต้องคิดให้รอบด้าน คิดให้ไกลที่สุด ใช้เงินคนอื่นเท่าที่จำเป็น และเงินทุกชนิดมีต้นทุนทั้งนั้น เวลาคิดแผนจึงต้องคิดให้ทะลุไปจนถึงวิธีหารายได้ ใครกันที่จะมาจ่ายเงินใช้บริการของเรา แล้วจะกำไรเมื่อไร

ก็ไม่รู้สินะ ว่าอาจเป็นเพราะโตมากับวัฒนธรรมการทำงานแบบ Gen X หรือว่ากลัวล้มแล้วจะไม่มีแรงไปต่อก็ไม่ทราบ แต่ถือคติอย่างเดียวว่า โชคไม่เคยเข้าข้างคนที่ไม่ได้คิดและเตรียมการล่วงหน้า

เมื่ออยากมีโชค จึงต้องคิดให้หนัก ทำให้เยอะ แล้วสักวันโชคคงอยู่ข้างเดียวกับเรา…

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กล้มยักษ์/Lom Yak วันที่ 27 มิถุนายน 2561