ThaiPublica > คอลัมน์ > Cockroach in The Making ตอนที่ 3: กลัว “ตกยุค”

Cockroach in The Making ตอนที่ 3: กลัว “ตกยุค”

24 กุมภาพันธ์ 2018


ปพนธ์ มังคละธนะกุล
www.facebook.com/Lomyak

ช่วง 2-3 ปี จากนี้ไป จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างแท้จริงของระบบเศรษฐกิจไทย จริงๆ แล้วการเปลี่ยนผ่านนี้ก่อตัวขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ยังไม่เอื้อ เราจึงเห็นผลกระทบยังไม่แผ่ในวงกว้างมากนัก

อย่างไรก็ตาม ปีสองปีที่ผ่านมานี้ เราเห็นผลกระทบเกิดขึ้นมาอย่างชัดเจน สืบเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ เริ่มเข้าสู่ภาวะเอื้อให้การเปลี่ยนผ่านนี้ก่อให้เกิดผลเร็วขึ้น

อีก 2-3 ปีจากนี้ จึงเป็นช่วงที่น่าสนใจ น่าศึกษา เป็นอย่างยิ่ง

เพราะหลังจากนั้นแล้ว…ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม

ผมพูดกับเพื่อนใกล้ชิดเสมอว่า ไอ้ประสบการณ์ ความรู้ต่างๆ ที่พวกเราสะสมมาตลอดชีวิต อีกไม่เกิน 5 ปี มันคงจะ “ตกยุค” แล้วล่ะ เพราะโลกใหม่ มาพร้อมแพลตฟอร์มใหม่ที่เราอาจไม่คุ้นเคย

หากผมไม่ทำอะไร ไอ้ประสบการณ์ทั้งหลายที่สะสมมา คงมี “คุณค่า” น้อยลงอย่างมากในบริบทและสิ่งแวดล้อมใหม่

โลกในวันข้างหน้า

เป็นโลกของคนรุ่นใหม่

เป็นโลกที่เต็มไปด้วยโอกาส อันจะมาจากเทคโนโลยีใหม่ๆ

แต่ในวันนี้ ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า อะไรบ้างที่จะเวิร์ก หากไม่ลองทำดู

สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นผมก็คือ

คนรุ่นใหม่ มองทุกอย่างเป็น “ความเป็นไปได้” หมด เขามองโลกด้วยสายตาที่มีคำถามต่อโลกคือ “Why not?” ทั้งๆ ที่เรื่องที่ตั้งคำถาม เขาอาจไม่ได้มีความรู้ ความเข้าใจ อย่างถ่องแท้ ในตอนแรก แต่พวกเขาพร้อมที่จะเดินไปในเส้นทางนั้น และหาความรู้ ทำความเข้าใจ เรียนรู้ระหว่างทาง

คนรุ่นผม มองทุกอย่างเป็น “ความเสี่ยง” ทั้งนี้ เพราะว่าเข้าใจในแต่ละเรื่องอย่างถ่องแท้ เข้าใจถึงความเสี่ยงของแต่ละเรื่องเป็นอย่างดี จึงมองโลกด้วยสายตากังวล ตั้งคำถาม “Why?” เป็นหลัก หลายๆ เรื่องถ้ายังแก้ปัญหาเรื่องความเสี่ยง หรือ Why ไม่ได้เสียแล้ว ยากที่เราจะขยับ

โลกในวันข้างหน้า เป็นโลกของ “Why not?” อย่างแท้จริง

แทนที่จะตั้งคำถาม สงสัยว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร เรากลับต้องขบคิดให้จงหนักว่า อะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง เสียมากกว่า

จะดีกว่ามั้ย หากผมเดินเข้าหาโอกาสใหม่ โดยใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่แน่น ปรับให้เหมาะกับบริบทใหม่

มันน่าจะช่วยให้สำเร็จ ลุล่วง ได้เร็วขึ้น ไม่หลงทาง

เช่นนั้น ผมคงจะไม่ “ตกยุค” เพราะสามารถ เรียนรู้ใหม่ จากฐานเดิม เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่สอดคล้องกับโลกวันข้างหน้า

แต่ต้องถึงกับอยู่นอกโลกคอร์ปอเรท เลยเชียวหรือ…

ถ้าผมยังอยู่ที่เดิม…เป็นผู้บริหารองค์กรใหญ่ ผมคงยังสุขสบายดีอยู่แน่นอน แต่เวลาส่วนใหญ่ ผมจะถูกใช้ไปในเรื่องของการพยายามปกป้อง รักษา ฐานที่มั่นเดิมเอาไว้ ผมไม่มีเวลามานั่งคิด ได้ทดลอง และลงมือทำ สิ่งที่จะดำรงอยู่ได้ในโลกใหม่หรอก คงง่วนอยู่กับการทำตัวเลขให้ถึงเป้า ได้ KPI ในโลกเดิมซะมากกว่า

สุดท้าย ผมคงเกษียณอายุ หมดวาระ และ “ตกยุค” ตามวัฏจักร

หากผมสละฐานที่มั่น ผมมีโอกาสใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมา หาความเหมาะสมในการใช้ความรู้ และประสบการณ์ ทดลอง ปรับเปลี่ยนและพลิกแพลง เพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่

แทนที่จะ “ตกยุค” ผมมีโอกาสที่จะก้าวหน้าในโลกใหม่ได้

หากเปรียบกับเกมฟุตบอล

การพยายามรักษาฐานที่มั่น ก็ไม่ต่างกับการเล่นเกมรับ พยายามปกป้องประตูทุกวิถีทาง มันเป็นการรอวัน “โดน” อย่างเดียว เมื่อพลาด “โดน” จริงๆ ก็ต้องจอด หมดทางไปต่อ ที่เหลือเป็นประวัติศาสตร์ไป

ในทางกลับกัน การสละฐานที่มั่น เปรียบเหมือนการเล่นเกมรุก ที่ส่วนใหญ่อาจเจาะไม่เข้า ต้องลองหลายวิธี เปลี่ยนไปตามสภาวะ บ่อยครั้งอาจไม่สำเร็จ

แต่หากสำเร็จ เจาะเข้า ก่อเกิดเป็นปัญญา เปิดวิสัยทัศน์ให้เห็นทางใหม่ ที่ทอดยาวอันแสนไกล ตามแต่ที่จินตนาการและกำลังจะพาไป

การกลัว “ตกยุค” นี่แหละครับ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนผม

ในวันนี้ อาจยังไม่สามารถยิงประตูได้ แต่เชื่อมั่น และมั่นใจว่า ตราบเมื่อสกอร์ได้เมื่อไร ผมคงจะไม่ “ตกยุค” ไปตามกาลเวลา

แต่…สามารถต่ออายุ ร่วมเส้นทางกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างมี “คุณค่า” โดยไม่เคอะเขิน