โดย รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์, ดร. จิตเกษม พรประพันธ์, ฐิตา เภกานนท์,พลเทพ หอมศรีวรานนท์ ด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย
“การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ถือเป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ อีกทั้งยังช่วย ลดความเหลื่อมล้ำของอำนาจการต่อรองระหว่าง SMEs และบริษัทขนาดใหญ่”
การขาดสภาพคล่องนับเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของ SMEs ที่นำไปสู่ปัญหาด้านหนี้สินและการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน โดย SMEs ส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาด้านการบริหารเงินทุนหมุนเวียนส่วนหนึ่งเป็นผลจาก “การถูกคู่ค้ายืดหรือขยายระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้าหรือระยะเวลา Credit term” ซึ่งจากการศึกษา พบว่า SMEs ที่ทำธุรกิจหรือเป็นคู่ค้ากับธุรกิจขนาดใหญ่มักมีแนวโน้มจะถูกต่อรองขยายระยะเวลา Credit term ให้ยาวนานขึ้น โดยปี 2559 ระยะเวลา Credit term สำหรับบริษัทขนาดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 55 วัน และสำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ นานถึง 62 วัน ซึ่งสูงกว่าระยะเวลา Credit term โดยเฉลี่ยที่ SMEs ให้แก่คู่ค้าที่ประมาณ 30 – 45 นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจุบัน SMEs ในประเทศไทยกว่าร้อยละ 96 มีการซื้อขายในรูปแบบเงินเชื่อหรือมีการให้เครดิตการค้าแก่ผู้ซื้อ โดยระยะเวลา Credit term โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2559 มาอยู่ที่ 60 วันและในบางธุรกิจได้ขยายไปสูงสุดถึง 120 วัน ส่งผลให้ SMEs จำนวนมากได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องทางการเงินที่ลดลง ดังนั้น การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term จึงถือเป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs อีกทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำของอำนาจการต่อรองระหว่าง SMEs และบริษัทขนาดใหญ่
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยในหลากหลายมิติ ทั้งในบทบาทการเป็นผู้ผลิตและผู้จ้างงานหลักของประเทศ รวมถึงยังมีความสำคัญอย่างมากในการกระจายรายได้ไปสู่ภาคประชาชนอย่างทั่วถึง ดังนั้น การเติบโตและความเข้มแข็งของ SMEs จึงนำมาสู่การเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่รากฐานทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก
สำหรับประเทศไทย ผู้ประกอบการ SMEs มีจำนวนมากถึง 3.1 ล้านราย หรือประมาณร้อยละ 99.5 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาบทบาทต่อการขยายตัวของ GDP พบว่า วิสาหกิจขนาดใหญ่ (LEs) มีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมากที่สุดขณะที่ SMEs แม้ว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไม่มากนัก (รูปที่ 1) โดยนอกจากความท้าทายจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น อิทธิพลของเทคโนโลยีที่ทำให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงทำให้ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ได้มีภาระต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น SMEs ยังเผชิญกับอุปสรรคจากปัจจัยภายใน โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ส่งผลให้ธุรกิจส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านหนี้สินและการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน
หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ SMEs เผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินมาจากระยะเวลาการได้รับชำระค่าสินค้าและบริการของคู่ค้าที่ช้าลง หรือจำเป็นต้องให้ระยะเวลา Credit term ที่เพิ่มขึ้นแก่คู่ค้า รวมถึงการผิดนัดชำระหนี้จากลูกหนี้การค้า ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดสรรและการบริหารวงจรเงินสด (Cash conversion cycle : CCC) ของ SMEs โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีเงินทุนน้อยหรือสายป่านสั้น โดยการสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการ SMEs จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ปัจจุบันการทำธุรกิจในรูปแบบ B2B ของ SMEs ในประเทศไทยกว่าร้อยละ 96 มีการซื้อ-ขายในรูปแบบเงินเชื่อ ซึ่งระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าระหว่างกันหรือระยะเวลา Credit term แตกต่างกันไปในแต่ละประเภทอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้น ระยะเวลา Credit term ในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อ SMEs ค่อนข้างมาก
บทความนี้จึงได้ศึกษาผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs จากปัญหาการยืดหรือขยายระยะเวลา Credit term อีกทั้งชี้ให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากตัวอย่างแนวนโยบายในต่างประเทศ ซึ่งจะนำมาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit term) ในประเทศไทยซึ่งผลการศึกษาและข้อเสนอแนะสำคัญจะนำเสนอภายใต้ 3 หัวข้อหลัก ดังนี้ ส่วนที่ 1 โครงสร้างการดำเนินธุรกิจและทัศนะของผู้ประกอบการ SMEs ต่อปัญหาระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit term) ส่วนที่ 2 กรณีศึกษาจากต่างประเทศเรื่อง “การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term” และในส่วนสุดท้าย ข้อเสนอแนะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ในประเทศไทยรวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอื่นๆ ที่จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กัน
โครงสร้างการดำเนินธุรกิจและทัศนะของผู้ประกอบการ SMEs ต่อปัญหาระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit term)
การซื้อ-ขายสินค้าและบริการในรูปแบบการให้เครดิตหรือสินเชื่อการค้าถือเป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการค้าขายระหว่างภาคธุรกิจ (B2B) อาทิ ผู้ผลิตสินค้ากับผู้ขายวัตถุดิบ (Supplier) โดยในส่วนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า มูลค่าการซื้อ-ขายโดยให้สินเชื่อการค้ามีสัดส่วนโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 55 ของมูลค่าการทำธุรกิจในรูปแบบ B2B ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันในทุกขนาดวิสาหกิจและประเภทอุตสาหกรรม และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า บางประเทศมีสัดส่วนการซื้อ-ขายในรูปแบบเงินเชื่อสูงกว่าร้อยละ 65 ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ (รูปที่ 2)
สำหรับประเทศไทย การซื้อ-ขายโดยให้สินเชื่อการค้าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสะท้อนจากผลสำรวจทัศนะของผู้ประกอบการ SMEs โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่พบว่า ร้อยละ 96 ของการทำธุรกิจในรูปแบบ B2B มีการให้สินเชื่อแก่คู่ค้าที่ซื้อ-ขายสินค้าและบริการร่วมกัน ดังนั้น “ระยะเวลาการได้รับชำระหนี้จากสินเชื่อการค้า หรือ ระยะเวลา Credit term” จึงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการกำหนดสภาพคล่องและการบริหารจัดการวงจรเงินสดของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2559 ระยะเวลา Credit term ของภาคธุรกิจในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2563 ได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวมาอยู่ที่ 60 วันโดยเฉลี่ย และในบางธุรกิจขยายไปสูงถึง 120 วัน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (รูปที่ 3)
นอกจากนี้ SMEs ที่ทำธุรกิจหรือเป็นคู่ค้า (Supplier) ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญปัญหา การขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากมักจะถูกต่อรองขยายระยะเวลา Credit term ให้ยาวนานขึ้นผ่านการใช้อำนาจการต่อรองที่เหนือกว่า โดยจากข้อมูลงบการเงิน ของบริษัทจดทะเบียนในปี 2559 พบว่า ระยะเวลา Credit term ของบริษัทขนาดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 55 วัน และสำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนานถึง 62 วัน ซึ่งสูงกว่าระยะเวลา Credit term โดยเฉลี่ยของภาคธุรกิจโดยรวมในปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30 – 45 วัน (รูปที่ 3)
ระยะเวลา Credit term ของ SMEs ที่มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักสะท้อนว่า ผู้ประกอบการ SMEs สามารถบริหารกระแสเงินสดได้อย่างเพียงพอหากค้าขายร่วมกับ SMEs ด้วยกัน แต่สภาพคล่องทางการเงินนั้น จะลดลงเมื่อค้าขายกับธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น การสร้างความสมดุลของระยะเวลา Credit term ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chian) จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการกำหนดให้ SMEs ได้รับและจ่ายหนี้ในระยะเวลาที่เท่าเทียมและใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 30 – 45 วัน
การที่ภาคธุรกิจในประเทศไทยส่วนใหญ่มีการซื้อ-ขายในรูปแบบเงินเชื่อส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินพึ่งพาและขึ้นอยู่กับระยะเวลาการได้รับชำระหนี้จากสินเชื่อการค้า โดยหากระยะเวลา Credit term สั้น ภาคธุรกิจก็จะมีเงินทุนหมุนเวียนที่สม่ำเสมอ แต่ หากระยะเวลา Credit term เพิ่มหรือถูกขยายให้นานขึ้นจะทำให้เกิดความไม่เพียงพอของกระแสเงินสดสำหรับการดำเนินกิจการ อีกทั้งยังนำมาสู่ปัญหาภาระหนี้ที่มากขึ้นและความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง (รูปที่ 4)
กรณีศึกษาจากต่างประเทศเรื่อง “การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term”
การขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นปัญหา ที่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั่วโลกเผชิญร่วมกัน โดยในส่วนที่ 1 ได้ชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในสาเหตุของปัญหาดังกล่าวเกิดจากระยะเวลา Credit term ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศจึงได้กำหนดให้มีเกณฑ์ระยะเวลา Credit term ซึ่ง เป็นมาตรฐานในการชำระหนี้สำหรับภาคธุรกิจหรือสำหรับหน่วยงานภาครัฐ โดยรูปแบบและเงื่อนไขการบังคับใช้มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยสามารถสรุปได้เป็น 2 แนวทางหลักคือ แนวปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจ (Business guidance) และข้อกำหนดที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย (Law & regulation)
ตัวอย่างการกำหนดเป็นแนวปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจด้านมาตรฐานระยะเวลา Credit term
1) Prompt Payment Code ประเทศอังกฤษ
กำหนดให้การซื้อ-ขายระหว่างภาคธุรกิจ (B2B) ต้องชำระหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 95 ของมูลค่าใบแจ้งหนี้ภายในระยะเวลา 60 วัน โดยเงื่อนไขดังกล่าวจะมี ผลบังคับใช้กับบริษัทที่สมัครใจเข้าร่วมและกำหนดให้ มีแรงจูงใจที่ยึดโยงกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ รวมถึงการเพิ่มคะแนนประเมินภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของบริษัท (Credit scoring) นอกจากนี้ บริษัทที่เข้าร่วมจะต้องเปิดเผยและรายงานระยะเวลา Credit term อย่างต่อเนื่อง โดยถือว่าเป็นข้อมูลสาธารณะที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้งานในกระบวนการตรวจสอบ ติดตามและประมวลผล
2) Good Practice for Payment to Contractor in Government Project ประเทศมาเลเซีย
กำหนดขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐานระยะเวลาการชำระหนี้สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ทำธุรกิจร่วมกับภาคเอกชน โดยส่งเสริมให้ภาครัฐออกหนังสือรับรองการจ่ายเงินหรือใบชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 14 วัน และชำระเงินหลังจากนั้นภายใน 30 วัน
ตัวอย่างการกำหนดให้เกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย
1) กฎหมายรัฐสภาฉบับที่ 728 เรื่อง ‘การคุ้มครอง การชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่ SMEs’ ประเทศจีน
กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงิน และธุรกิจขนาดใหญ่ ชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่ SMEs ภายใน 30 – 60 วันนับจากการส่งมอบ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้รัฐบาลท้องถิ่นในระดับอำเภอขึ้นไปเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมและหอการค้าฯ ปรับกฎหมาย กฎเกณฑ์และข้อบังคับให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้
2) Late Payment Directive สหภาพยุโรป
กำหนดให้ประเทศสมาชิกบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐาน Credit term ซึ่งระยะเวลาแตกต่างกันไป เช่น ประเทศเบลเยียมกำหนดไว้ที่ 30 – 60 วัน ขณะที่ประเทศเยอรมนีกำหนดไว้ที่ 30 วัน ทั้งนี้ ธุรกิจที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษตามกฎหมาย คือ การเสียค่าปรับ เป็นดอกเบี้ยและจ่ายเงินชดเชยในอัตราที่ต่างกันไปใน แต่ละประเทศ
3) The Prompt Payment Act ประเทศสหรัฐอเมริกา
กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายใน 30 วัน ยกเว้นสินค้าพิเศษบางรายการ ที่ระยะเวลา Credit term จะสั้นลง เช่น เนื้อสัตว์ (ภายใน 7 วัน) และการก่อสร้าง (ภายใน 14 วัน)
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและความชอบธรรมในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ในหลายประเทศจึงได้กำหนดเงื่อนไขรองรับกรณีที่ภาคธุรกิจไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ได้ รวมถึงกำหนดข้อยกเว้นในบางกรณี โดยให้ผู้ประกอบการเขียนรายงานชี้แจงเหตุผลเพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบพิจารณาตรวจสอบก่อนการตัดสินลงโทษ
จากการศึกษาตัวอย่างแนวทางการดำเนินนโยบายในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า การกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจเรื่อง เกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ให้ผลลัพธ์ที่อยู่ในวงจำกัด เนื่องจากธุรกิจที่สมัครใจเข้าร่วมมีจำนวนไม่มากนัก แม้จะมีแรงจูงใจในด้านต่าง ๆ ต่างจากการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ที่ผลบังคับใช้ตามกฎหมายมีประสิทธิผล ชัดเจนกว่า
ข้อเสนอแนะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ในประเทศไทย
การเพิ่มขึ้นของระยะเวลา Credit term ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องทางการเงินของภาคธุรกิจ ที่นำมาสู่ปัญหาด้านหนี้สินและความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง โดยหากพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ในหลาย ๆ ประเทศได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term สำหรับภาคธุรกิจ ซึ่งการบังคับใช้และเงื่อนไขแตกต่างกันไป ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ภาครัฐยังไม่มีแนวทาง การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องโดยการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ส่งผลให้ระยะเวลา Credit term มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ที่เป็นคู่ค้าหรือ Supplier ของธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมักมีอำนาจการต่อรองที่เหนือกว่า ดังนั้น จากการศึกษาปัญหาและผลกระทบจาก การเพิ่มขึ้นของระยะเวลา Credit term จึงเสนอให้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit term) สำหรับการซื้อ-ขายระหว่างภาคธุรกิจ โดยให้มีผลบังคับใช้และบทลงโทษทางกฎหมายและมีแรงจูงใจด้านบวกให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด เพื่อให้การบรรเทาและแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของ SMEs สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผลที่ชัดเจน โดยรายละเอียดการดำเนินงานมีดังนี้
1. กำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term โดยลูกหนี้การค้าจะต้องชำระหนี้ให้แก่คู่ค้าภายในระยะเวลา 30 – 45 วัน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศไทย อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นสำหรับธุรกิจในทุกขนาดและทุกประเภทอุตสาหกรรมทั้งนี้ เสนอให้มีกลไกรองรับสำหรับ ภาคธุรกิจที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานได้ โดยให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นโดยไม่ถือเป็นความผิดหากมีเหตุผลอันสมควร รวมถึงให้กำหนดข้อยกเว้น ในกรณีที่เจ้าหนี้การค้าสามารถเปลี่ยนสิทธิการรับเงินจากลูกหนี้การค้าเป็นหลักประกันเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน เช่น กระบวนการสินเชื่อ Supply chain financing ซึ่งระยะเวลา Credit term ที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของคู่ค้าหรือ Supplier
สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) อาจพิจารณาเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับ ดูแล และประเมินผล ตามบทบาทในการกำกับดูแลและส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางการแข่งขัน ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการบังคับใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่ครอบคลุมการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การประวิงเวลาจ่ายค่าสินค้า1 ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ทั้งนี้ ควรเพิ่มรายละเอียดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term ในแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายสำหรับธุรกิจทุกขนาดและทุกประเภทกิจกรรม
2. เสนอให้มีการเปิดเผยข้อมูลระยะเวลา Credit term โดยเฉลี่ยในการจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) สำหรับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการกำกับดูแล คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) นอกจากนี้ การเปิดเผยระยะเวลา Credit term ควรนำมาใช้ เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการประเมิน Socially Responsible Investing อาทิ การประเมินให้ตราสัญลักษณ์ของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ (CGR) เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain)
3. ศึกษาและกำหนดแนวทางการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจสำหรับภาคธุรกิจให้มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) ในการลดระยะเวลา Credit term เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี การจัดสรรโควตาสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และ สิทธิพิเศษทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ
ทั้งนี้ เพื่อให้การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term มีความชัดเจนและเกิดประสิทธิผลสูงสุด จึงควรพิจารณากำหนดตัวชี้วัดกลาง (KPI) ที่ยึดโยงกับหน่วยงานรับผิดชอบ โดยประเมิน จากทั้งตัวแปรเชิงปริมาณและตัวแปรเชิงคุณภาพ เช่น จำนวนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เปิดเผยข้อมูล และระยะเวลา Credit term ของธุรกิจขนาดใหญ่เฉลี่ยลดลงเป็น 30 – 45 วันภายในปี 2564 เป็นต้น
การเพิ่มขึ้นของระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า หรือระยะเวลา Credit term ส่งผลกระทบโดยตรง ต่อสภาพคล่องทางการเงินของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs เนื่องจาก SMEs ส่วนใหญ่มีการให้สินเชื่อแก่คู่ค้าที่ซื้อ-ขายสินค้าและบริการระหว่างกัน โดยปัจจุบันระยะเวลา Credit term มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งกลุ่ม SMEs ที่เป็นคู่ค้าหรือ Supplier ของบริษัทขนาดใหญ่มักถูกต่อรองระยะเวลา Credit term ให้ยาวนานขึ้นทำให้หลายธุรกิจต้องเผชิญปัญหาด้านการจัดสรรและบริหารจัดการเงินหมุนเวียน ซึ่งนำมาสู่ภาระหนี้สินและความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง
ดังนั้น การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (ระยะเวลา Credit term) จึงถือเป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs อีกทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำของอำนาจการต่อรองระหว่าง SMEs และบริษัทขนาดใหญ่ โดยควรดำเนินการควบคู่กับมาตรการเสริมสภาพคล่องในมิติอื่น ๆ อาทิ การส่งเสริมสินเชื่อประเภท Supply chain financing เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนให้แก่ธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาระบบ Enterprise Resource Planning (ERP) ให้ SMEs เข้าถึงในวงกว้างเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
หมายเหตุ
1 ที่มา: ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย พ.ศ. 2562
References:
Atradius., (2019, May). Asia Pacific: growing number of businesses taking more strategic approach to credit management, Atradius Payment Practices Barometer.
Badroldin, M., & Hamid, A., & Raman, S., & Zakaria., R, & Mohandes., S. (2016). Late payment practices in the malaysian construction industry, Malaysian journal of civil engineering 28 special issue (3). Banternghasa, C., & Paweenawat, A., & Samphantharak, K. (2019 Aug). Understanding Corporate Thailand I: Finance, Discussion paper no. 112.
Business council of Australia., (2019, Jan). Review of the Australian Supplier Payment Code.
Ministry of business innovation & employment. (2020 Feb). Discussion paper: improving business-to-business payment practices in New Zealand.
Rzepecka, J., & Lechardoy, L., & Parziale, V., & Fiorentini, S. (2018 June). Business-to-business transactions: a comparative analysis of legal measures vs. soft-law instruments for improving payment behavior, European commission.