ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียใช้มาตรการ RMCO ปิดประเทศถึง 31 ธ.ค.นี้

ASEAN Roundup มาเลเซียใช้มาตรการ RMCO ปิดประเทศถึง 31 ธ.ค.นี้

30 สิงหาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 23-29 สิงหาคม 2563

  • มาเลเซียใช้มาตรการ RMCO ปิดประเทศถึง 31 ธ.ค.
  • สิงคโปร์ประกาศเกณฑ์ใหม่คุ้มครองงานให้ชาวสิงคโปร์
  • อาเซียนเร่งขยายความร่วมมือ 7 สาขาพลังงาน
  • ประชุมสุดยอด รมต.เศรษฐกิจอาเซียน–อเชียตะวันออก
  • มาเลเซียใช้มาตรการ RMCO ปิดประเทศถึง 31 ธ.ค.

    ที่มาภาพ: https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2020/08/28/rmco-extended-until-dec-31-says-pm/
    สู่มาตรการควบคุมการสัญจรขั้นสูงสุด หรือ Enhanced Movement Control Order (EMCO)

    วันที่ 28 สิงหาคม 2563 เวลา 20.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นในมาเลเซีย ตัน สรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ประกาศการขยายการใช้มาตรการการการควบคุมการสัญจรในระยะฟื้นฟู (Recovery Control Movement Control Order – RMCO) ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

    ก่อนหน้านี้รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการ RMCO โดยมีผลใช้บังคับระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2563

    ในการแถลงผ่านโทรทัศน์ทั่วประเทศเมื่อวานนี้นายกรัฐมนตรี ตัน สรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน กล่าวว่า การตัดสินใจขยาย RMCO ออกไปจากเดิมที่กำหนดสิ้นสุดในวันที่ 31 สิงหาคม เนื่องจากยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวันในประเทศ

    ตัน สรี มูห์ยิดดิน ยัสซินกล่าวว่า รัฐบาลยังคงต้องบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ พ.ศ. 2531 (พระราชบัญญัติ 342) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

    “รัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะขยายมาตรา RMCO ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ด้วยการขยายเวลานี้ การดำเนินการบังคับใช้สามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้พระราชบัญญัติ 342″

    “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่มีสัญญาณว่าจะลดลงในอนาคตอันใกล้นี้”

    “ประเทศของเรายังคงเผชิญกับความท้าทายในการจัดการกับการแพร่ระบาดนี้ เนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลก”

    “เราเห็นว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้นในต่างประเทศ ไวรัสตัวนี้ไม่เพียงแต่กระจายไปทั่วเท่านั้น แต่ยังขยายออกไปในวงกว้างขึ้นด้วย และเราไม่สามารถที่จะรับมือกับภัยคุกคามที่เกิดจากคนที่แพร่กระจายไปให้คนจำนวนมาก ในประเทศของเราได้” เขากล่าว

    ตัน สรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน กล่าวถึงการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนล่าสุดในบางพื้นที่ของ เคดะห์ บางพื้นที่ในเปอร์ลิส และการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนในซาราวักเป็นตัวอย่างว่า เหตุใดจึงต้องมีการบังคับใช้ที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าการแพร่ระบาดควบคุมได้

    รัฐบาลจะคุมเข้มที่บริเวณพรมแดนของเราด้วย”

    “เรากำหนดให้ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ (ทั้งคนในพื้นที่และคนชาวต่างชาติ) ต้องรับการกักกัน 14 วันที่สถานที่ที่รัฐบาลระบุ”

    “การกักกันในสถานที่ทางเลือกบางแห่งจะยังคงถูกบังคับใช้ต่อไป”

    ตัน สรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ยังสนับสนุนข้อเสนอล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขที่เพิ่มอัตราการรวมกันสำหรับผู้ที่ละเมิด MCO การกู้คืน

    “ผมยังสนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขในการเพิ่มอัตราโทษสำหรับการกระทำความผิด (ฝ่าฝืน RMCO) อย่างน้อยสองหรือสามเท่าของอัตราปัจจุบัน”

    “อย่างไรก็ตามต้องมีการศึกษาเรื่องนี้และต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ 342” ตัน สรี มูห์ยิดดิน ยัสซินกล่าว

    เมื่อวันอังคารที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขเสนอให้รัฐบาลเพิ่มค่าปรับสำหรับความผิดที่ยอมความได้ภายใต้พระราชบัญญัตินี้จากปัจจุบัน 1,000 ริงกิตเป็น 10,000 ริงกิตมาเลเซีย

    ตัน สรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ยังกล่าวอีกว่า เนื่องจากตอนนี้หน้ากากอนามัยป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน รัฐบาลกำลังหารือกับซัพพลายเออร์เพื่อหาทางปรับลดราคาลง

    การขยายมาตรการหมายความว่าไนท์คลับและศูนย์รวมความบันเทิงจะยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการ “สถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่ที่ยากต่อการบังคับใช้บรรทัดฐานใหม่”

    “นักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาเพื่อหลีกเลี่ยงกรณีการนำเชื้อเข้ามาติดในประเทศ”

    “กิจกรรมกีฬาจะได้รับอนุญาต แต่ไม่มีชาวต่างชาติเข้าชม” ตัน สรี มูห์ยิดดิน ยัสซินกล่าว

    เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม มาเลเซียพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันรายใหม่ 10 รายซึ่ง 8 รายเป็นกาารติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศและการติดเชื้อในประเทศ 2 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยทั้งหมดในประเทศอยู่ที่ 9,306 รายนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาด จำนวนผู้เสียชีวิตของประเทศยังคงอยู่ที่ 125 รายหรืออัตราการเสียชีวิต 1.35% และครั้งสุดท้ายที่มาเลเซียมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 คือวันที่ 31 กรกฎาคม

    การพบผู้ป่วยติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนล่าสุดในประเทศคือที่ทาวาร์ ซึ่งมีผู้ป่วยยืนยันแล้ว 73 รายจนถึงขณะนี้

    การขยายมาตรการ RMCO มีขึ้นหลังจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organisation) แถลงว่า การระบาดของโควิด-19 จะดำเนินต่อไปอย่างน้อย 2 ปี

    มาตรการ RMCO เป็นมาตรการล่าสุดในชุดมาตรการควบคุมการสัญจร (Movement Control Orders: MCO) ที่เริ่มขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม ซึ่งห้ามการรวมตัวและห้ามกิจกรรมในที่สาธารณะ รวมทั้งระงับการดำเนินการของธุรกิจ สั่งปิดโรงเรียน ปิดพรมแดนและควบคุมการสัญจรของประชาชนอย่างข้มงวด

    รัฐบาลได้ทยอยผ่อนปรนมาตรการ และนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โรงเรียนและธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดดำเนินการ รวมทั้งการรวมตัวเพื่อกิจกรรมทางศาสนา การเดินทางในประเทศ และกิจกรรมบันเทิงและกีฬา

    สาระสำคัญของมาตรการ RMCO ที่ใช้ในช่วงก่อนหน้า
    1. อนุญาตให้ประชาชนเดินทางข้ามรัฐได้ (interstate) ยกเว้นต้นทาง/ปลายทางที่เป็นพื้นที่ควบคุมตามมาตรการ Enhanced Movement Control Order (EMCO)
    2. ยังไม่อนุญาตให้คนมาเลเซียเดินทางออกนอกประเทศและยังไม่อนุญาตให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาเลเซีย ยกเว้นผู้มีถิ่นพำนักถาวร (PR) / ผู้ได้รับการตรวจลงตราประเภท Long Term Social Visit Pass for Spouse of Malaysian Citizen (วีซ่าแต่งงาน) หรือผู้จดทะเบียนสมรสกับคนมาเลเซียภายใต้กฎหมายมาเลเซีย / ผู้มีวีซ่าภายใต้โครงการ Malaysia My Second Home (MM2H) / และนักการทูต ทั้งนี้ คนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเลเซียตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป ต้องตรวจการติดโควิด-19 ก่อนออกเดินทาง และต้องกักตัวในที่พักเป็นระยะเวลา 14 วัน เมื่อเดินทางถึงมาเลเซีย โดยจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน MySejahtera ไว้ในโทรศัพท์มือถือเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียติดตามอาการ
    3. อนุญาตให้ร้านตัดผมเปิดให้บริการตั้งแต่ 10 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป และอนุญาตให้ตลาดสด ตลาดโต้รุ่ง ตลาดนัด เปิดให้บริการตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป โดยภาคธุรกิจเหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย (SOP) อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ยังไม่อนุญาตให้ร้านสปา/นวด และผับ/บาร์/สถานบันเทิงเปิดทำการ
    4. อนุญาตให้ละหมาดแบบรวมกลุ่มในมัสยิด/สุเหร่าโดยไม่จำกัดจำนวนคน อย่างไรก็ดี ประชาชนจะต้องปฏิบัติตาม SOP และรักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัด โดยแต่ละรัฐอาจกำหนดมาตรการเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร สำหรับการประกอบศาสนกิจในศาสนาอื่นๆ สามารถกระทำได้เช่นกัน โดยต้องปฏิบัติตาม SOP และรักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัด
    5. อนุญาตกิจกรรมกีฬาบางประเภท ได้แก่ การเดิน/วิ่งเพื่อออกกำลังกาย แบดมินตัน กอล์ฟ โบว์ลิ่ง ทั้งนี้ จะต้องไม่เป็นกีฬาที่มีการรวมกลุ่มหรือมีคนดูเป็นจำนวนมาก และไม่มีการสัมผัสตัวกัน (เช่น ฟุตบอล ว่ายน้ำ และบาสเก็ตบอล)
    6. อนุญาตให้บริษัท/หน่วยงานจัดการประชุม สัมมนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยต้องรักษาระยะห่างและปฏิบัติตาม SOP อย่างเคร่งครัด

    สิงคโปร์ประกาศเกณฑ์ใหม่คุ้มครองงานให้ชาวสิงคโปร์

    นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/covid-19-singapore-new-path-chan-chun-sing-13009506

    นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์เปิดเผยว่าสิงคโปร์ยังคง “เปิดกว้างและเชื่อมโยง” แม้ว่าจะเข้มงวดกับแรงงานต่างชาติมากขึ้นเพื่อปกป้องงานในประเทศ ท่ามกลางการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาก็ตาม

    หลักเกณฑ์ใหม่ในการจำกัดวีซ่าคนงานต่างชาติจะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางธุรกิจ นายชานกล่าวเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กเทเลวิชัน

    สิงคโปร์พยายามดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูงและจะยังคงเปิดกว้างสำหรับผู้มีความสามารถจากต่างชาติ นายชานกล่าว

    “เรากำลังก้าวไปสู่คุณภาพมากกว่าปริมาณ” นายชานกล่าว “เราต้องการสร้างพื้นที่มากขึ้นสำหรับผู้คนที่อยู่บนสุด แต่สำหรับงานที่ชาวสิงคโปร์สามารถทำได้ก็ไม่จำเป็นต้องมีชาวต่างชาติจำนวนมากภายในประเทศ”

    เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม สิงคโปร์ได้ประกาศขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับผู้ใบอนุญาตทำงานการจ้างงาน (employment pass) และใบอนุญาตสำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานระดับกลางด้วยความรู้และทักษะเฉพาะทาง (S pass) ซึ่งอาจทำให้บริษัทจ้างชาวต่างชาติได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับการจ้างชาวสิงคโปร์

    ภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ผู้ถือบัตร employment pass จะต้องมีรายได้ 4,500 เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 3,900 เหรียญสิงคโปร์และผู้ถือบัตร S pass จะต้องมีรายได้ถึง 2,500 เหรียญสิงคโปร์จาก 2,400 เหรียญสิงคโปร์

    แวดวงธุรกิจของสิงคโปร์อยู่ภายใต้แรงกดดันในการรักษาสมดุลของแรงงานในและต่างประเทศให้เหมาะสม นายรามี แมนอน กรรมการผู้จัดการ Monetary Authority of Singapore (MAS) กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า MAS จะ “กระชับ” การมีส่วนร่วมกับบริษัทการเงินเกี่ยวกับแนวทางการจ้างงานเพื่อขยาย “หลักการของสิงคโปร์”

    นายชานกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ “มั่นใจอย่างเงียบๆ” กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในช่วงปลายปี โดยการกระตุ้นของมาตรการทางการคลังช่วยสนับสนุนการบริโภคในประเทศและทำให้ธุรกิจและคนงานเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมใหม่

    อย่างไรก็ตาม แนวโน้มส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับอุปสงค์จากภายนอก นายชานกล่าว “เราค่อนข้างพอใจกับความก้าวหน้าที่เราได้ทำจนถึงตอนนี้” ในขณะเดียวกัน “เราไม่สามารถแทนที่อุปสงค์ภายนอกด้วยการกระตุ้นภายในประเทศ”

    แม้เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวมากสุดเป็นประวัติการณ์ 13.2% ในไตรมาสที่ 2 จากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่เจ้าหน้าที่ทางการเตือนว่า การปิดกิจการอาจเพิ่มขึ้นต่อไป

    อัตราว่างงานแตะระดับสูงสุดในไตรมาสที่ 2 นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

    ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ ระบุว่า S pass คือใบอนุญาตสำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานระดับกลางด้วยความรู้และทักษะเฉพาะทาง เช่น ช่างเทคนิค พ่อครัว และอื่นๆ โดยได้รับเงินเดือนพื้นฐานไม่ต่ำกว่า 2,400 เหรียญสิงคโปร์ ทั้งนี้จำกัดโควตาการจ้างให้กับบริษัทที่จ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่อการจ้างลูกจ้างต่างชาติต่อคนต่อเดือนให้กับรัฐบาล

    ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 นายจ้างจะจ้างต่างชาติได้เพียง 10% ของจำนวนลูกจ้างท้องถิ่นสำหรับภาคบริการ ซึ่งลดลงจาก 13% ส่วนภาคธุรกิจอื่น เช่น ก่อสร้าง ท่าเรือ แปรรูป จ้างได้ 18% จากเดิม 20% วันที่ 1 มกราคม 2565 โควตาจะลดลงไปอีกเป็น 15% นอกจากนี้นายจ้างต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่อการจ้างลูกจ้างต่างชาติต่อคนต่อเดือนให้กับรัฐบาล

    โดยในภาคบริการแบ่งเป็น 2 ขั้น ขั้นพื้นฐานและขั้นที่ 1 กรณีที่จ้างเต็มโควตา 10% ค่าธรรมเนียมรายเดือนคือ 330 เหรียญสิงคโปร์และ 10.85 เหรียญสิงคโปร์สำหรับรายวัน ส่วนขั้นที่ 2 กรณีที่ใช้โคตาา 10–13% ค่าธรรมเนียมรายเดือนคือ 650 เหรียญสิงคโปร์และ 21.37 เหรียญสิงคโปร์สำหรับรายวัน

    ส่วนในภาคอื่นๆ ขั้นพื้นฐานและขั้นที่ 1 กรณีที่จ้างเต็มโควตา 10% ค่าธรรมเนียมรายเดือนคือ 330 เหรียญสิงคโปร์และ 10.85 เหรียญสิงคโปร์สำหรับรายวัน ส่วนขั้นที่ 2 กรณีที่ใช้โควตา 10–20% ค่าธรรมเนียมรายเดือนคือ 650 เหรียญสิงคโปร์และ 21.37 เหรียญสิงคโปร์สำหรับรายวัน

    อาเซียนเร่งขยายความร่วมมือ 7 สาขาพลังงาน

    ที่มาภาพ: https://energy.go.th/2015/

    วันที่ 25 สิงหาคม 2563 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 24–27 สิงหาคม 2563 ได้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (The 38th Senior Officials Meeting on Energy and Associated Meetings: The 38th SOME) โดยประเทศไทยได้ส่งมอบการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 ให้ประเทศเวียดนามที่เป็นประธานอาเซียนปี 2563 ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในปี 2563 นี้ และการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดประชุม SOME รูปแบบออนไลน์ ที่ถือเป็น new normal จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

    ประเทศไทยได้นำนโยบาย “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เน้นการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และรองรับนวัตกรรมด้านพลังงานอนาคต เสนอต่อที่ประชุมเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสนับสนุนและร่วมมือกันลงทุนด้านพลังงานในโครงสร้างพื้นฐาน (สายส่งและท่อก๊าซธรรมขาติ) รวมถึงธุรกิจพลังงานสะอาดและนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยได้ยกตัวอย่างนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทน (RE) และการนำน้ำมันปาล์มดิบมาผสมน้ำมันดีเซล กับการนำเอทานอลมาผสมน้ำมันเบนซิน ที่ทำเป็นนโยบายหลักของประเทศ

    การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักที่จะผลักดันร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC Phase 2) 2021–2025 ซึ่งแผนนี้เป็นแผนใหม่ที่ต่อเนื่องจากแผนระยะที่ 1 เพื่อที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้นำแผนปฏิบัติการนี้ไปดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จเริ่มตั้งแต่ปี 2564 (2021) เป็นต้นไป ภายใต้ 7 สาขาความร่วมมือ ดังนี้

    1) ความร่วมมือการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) การขยายการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอาเซียน
    2) ความร่วมมือด้านปิโตรเลียม (Trans ASEAN Gas Pipeline: TAGP) ที่ประชุมเห็นชอบการพัฒนาตลาดร่วมก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค และการเชื่อมโยงขยายการซื้อขายก๊าซธรรมชาติโดยใช้ small scale LNG พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้ก๊าซ ในการเดินเรือ หรือ LNG bunkering
    3) ความร่วมมือด้านถ่านหิน (Coal and Clean Coal Technology: CCT) ที่ประชุมเห็นชอบและพร้อมที่จะลงนามในบันทึกข้อตกลงจัดตั้งศูนย์ข้อมูลพลังงานถ่านหินสะอาดอาเซียน (ASEAN Coal Centre of Excellence) ณ ประเทศอินโดนีเซีย และระบบข้อมูลพลังงานถ่านหินอาเซียน (ASEAN Coal Data and Information System: ACDIS)
    4) ความร่วมมือในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency & Conservation: EE&C) ที่ประชุมเห็นชอบการเพิ่มเป้าการลดความเข้มการใช้พลังงานจากที่กำหนดไว้เดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 32 ภายในปี 2025 เนื่องจากในปัจจุบันประเทศสมาชิกได้ดำเนินการสำเร็จแล้วร้อยละ 24.4 ในปี 2019
    5) ความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน (Renewable Energy: RE) ที่ประชุมเห็นชอบเป้าสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 23 เทียบกับปริมาณพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด และร้อยละ 35 เทียบกับปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมด ในปี 2025 ซึ่งเป้าที่กำหนดเป็นเป้าหมายที่ท้าทายประเทศสมาชิกอาเซียนเนื่องจากในปัจจุบัน (2018) อาเซียนดำเนินการได้เพียงร้อยละ 13.3 เทียบกับปริมาณพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด (Total Primary Energy Supply) และร้อยละ 27.1 เทียบกับปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมด ณ ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตติดตั้งจากพลังงานทดแทน 11,890 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของทั้งอาเซียน และมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่งมากที่สุดในอาเซียน และมีการใช้เอทานอลอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่การใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 5.22 ล้านลิตรต่อวัน
    6) ความร่วมมือด้านนโยบายและแผนพลังงานอาเซียน (Regional Energy Policy & Planning: REPP) จัดทำ ASEAN Energy Outlook ฉบับที่ 7 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงาน เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบที่จะพิจารณาแนวทางการเพิ่มการค้าการลงทุนด้านพลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นการเพิ่มเติมด้วย
    7) ความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ (Civilian Nuclear Energy: CNE) ที่ประชุมสนับสนุนการสร้างความร่วมมือด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียนสำหรับประชาชนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสร้างขีดความสามารถและเครือข่ายความร่วมมือเชิงเทคนิคและเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ มุ่งสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจแก่สาธารณชนเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์เพื่อการผลิตไฟฟ้าในภูมิภาค

    นอกจากนี้ อาเซียนจะได้ประชุมหารือร่วมกับประเทศคู่เจรจา เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย เป็นต้น เกี่ยวกับความร่วมมือในการเชื่อมโยงทางพลังงานเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของอาเซียน รวมถึงการหารือกับองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ เช่น ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานโลกและผลกระทบ พร้อมทั้งการรับมือจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาคพลังงาน

    สำหรับการประชุม SOME ครั้งที่ 38 มีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 2 องค์กร โดยผลการประชุมในครั้งนี้จะได้นำเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาซียนครั้งที่ 38 ที่ประเทศเวียดนาม ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งอาจจะต้องใช้รูปแบบการประชุมออนไลน์เช่นเดียวกัน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดยังไม่คลี่คลายลง

    ประชุมสุดยอด รมต.เศรษฐกิจอาเซียน – เอเชียตะวันออก

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/meeting-promotes-asean-east-asia-economic-cooperation/182067.vnp?fbclid=IwAR1A1Tl2LbdUz9fDKyRV0JAp6L8A9LPCd4ujkuwnND5KDBQNLghc8vCEmJs
    รัฐมนตรีเศรษฐกิจจากประเทศสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐฯ ได้ร่วมการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีเอเชียตะวันออกด้านพลังงาน (East Asia Summit Energy Ministers Meeting: EAS EMM) ครั้งที่ 8 (EAS EMM) ผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 52 (The 52nd ASEAN Economic Ministers: AEM-52) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

    การประชุม EAS EMM มีนาย ตรัน ตวน อันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามเป็นประธาน

    ผู้เข้าร่วมประชุมต่างชื่นชมต่อการเติบโตของกระแสการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ในขณะที่เน้นย้ำว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความท้าทายที่ไม่คาดคิดหลายด้านให้กับชีวิตของผู้คน ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสำหรับประเทศส่วนใหญ่ในโลก

    ที่ประชุมกระตุ้นให้มีการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและการประสานงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และเพื่อก้าวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคและเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค

    ผู้เข้าร่วมประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค พร้อมทั้งยืนยันความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็น เช่น การดูแลสุขภาพ วัคซีน และอาหาร

    นอกจากนี้ยีงชื่นชมความคิดริเริ่มเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อตอบสนองต่อโรค และการสำรองเวชภัณฑ์ในภูมิภาคเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ

    ที่ประชุมเน้นย้ำถึงบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลและความร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิก EAS โดยระบุว่าในอนาคตควรให้ความสำคัญแก่ธุรกิจขนาดเล็กและเศรษฐกิจครัวเรือนท่ามกลางการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19

    รัฐมนตรีที่ร่วมประชุมต่างชื่นชมการสนับสนุนของภูมิภาคในการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) และให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อปฏิรูป WTO อย่างโปร่งใสและครอบคลุม ตลอดจนทำงานอย่างหนักเพื่อระบบการค้าพหุภาคีที่ยั่งยืน