ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม Netflix-Spotify เริ่ม 1 ก.ค. เวียดนามเดินหน้าผลักดันแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ASEAN Roundup อินโดนีเซียเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม Netflix-Spotify เริ่ม 1 ก.ค. เวียดนามเดินหน้าผลักดันแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

24 พฤษภาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 17-23 พฤษภาคม 2563

  • อินโดนีเซียเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม Netflix-Spotify เริ่ม 1 ก.ค.
  • เวียดนามเดินหน้าผลักดันแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
  • สิงคโปร์คลาย Circuit Breaker ผ่อนปรนระยะแรก 2 มิ.ย.
  • มาเลเซียให้คนเดินทางเข้ากักกันตัวพร้อมออกค่าใช้จ่ายเอง
  • มาเลเซียบังคับใช้กฎหมายตั้งข้อหาทุจริตคอร์รัปชันกับบริษัท
  • กัมพูชายกเลิกข้อห้ามการเดินทางเข้าของต่างชาติ 6 ประเทศ
  • อินโดนีเซียเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม Netflix-Spotify เริ่ม 1 ก.ค.

    ที่มาภาพ: https://jakartaglobe.id/business/indonesia-to-start-collecting-10-vat-from-netflix-spotify-in-july

    อินโดนีเซียจะเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (value added tax: VAT) ในอัตรา 10% จากผู้บริการดิจิทัลชั้นนำจากต่างประเทศ ในวันที่ 1 กรกฎาคม นี้ ซึ่งอาจจะมีผลต่อค่าใช้จ่ายของลูกค้าบริการภาพยนตร์สตรีมมิงอย่างเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ธุรกิจซอฟต์แวร์เกมดิจิทัล ออนไลน์จำหน่าย มิวสิกสตรีมมิงหรือเช่าเพลงออนไลน์อย่างสปอติฟาย (Spotify) และอื่นๆ อีกมากมาย

    การเก็บภาษี VAT นี้เป็นหลักเกณฑ์ล่าสุดจากกระทรวงการคลังที่ประกาศออกมา

    “ภายใต้หลักเกณฑ์นี้ ผลิตภัณฑ์ดิจิทัล เช่น การเป็นสมาชิกมิวสิกสตรีมมิง ภาพยนต์สตรีมมิง แอปพลิเคชันดิจิทัล และเกมส์ รวมทั้งบริการออนไลน์จากต่างประเทศจะถือปฏิบัติเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ในประเทศที่ต้องเสียภาษี VAT” ประกาศกรรมาธิการด้านภาษีของกระทรวงการคลัง

    ประกาศนี้ระบุว่า ธุรกิจดิจิทัลที่มีปริมาณธุรกรรมหรือแทรฟฟิกจำนวนมากภายใน 1 ปีสูงเกินกว่าที่กำหนด จะต้องเรียกเก็บภาษีจากลูกค้า และชำระภาษีให้รัฐบาลทุกเดือน

    สำนักงานภาษีจะกำหนดปริมาณธุรกรรมสูงสุด และจะกำหนดว่าบริษัทหรือบริการดิจิทัลใดที่จะต้องเก็บเรียกภาษีให้กับรัฐบาล

    ปัจจุบันอินโดนีเซียมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 75 ล้านคน จึงเป็นตลาดหลักของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค แต่ที่ผ่านมาไม่มีหลักเกณฑ์จึงเป็นข้อจำกัดของรัฐบาลในการเข้าไปดูแลภาคธุรกิจนี้

    กระทรวงการคลังได้เตรียมแผนเก็บภาษีมมาหลายเดือน แต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องนำหลักเกณฑ์นี้มาใช้ก่อนเวลาที่กำหนดไว้ในแผน

    “นอกเหนือจาการสร้างความเท่าเทียมระหว่างธุรกิจในประเทศและต่างประเทศแล้ว การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ดิจิทัลจากต่างประเทศคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ ซึ่งเป็นแหล่งเงินสำคัญในการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ”

    ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมแผนใช้เงิน 405 ล้านล้านรูเปียะห์หรือ 27 พันล้านดอลลาร์ในด้านสาธารณสุข สร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม และช่วยเหลือธุรกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19

    เวียดนามเดินหน้าผลักดันแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

    กระทรวงการคลังเวียดนามได้ผลักดันหลายมาตรการเพื่อเดินหน้าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หลังจากไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ

    การระบาดของโควิด-19 นอกจากมีผลต่อการผลิต ธุรกิจและสังคมแล้ว ยังกระทบต่อการแปรรูปและการขายเงินลงทุนในรัฐวิสาหกิจออกไป

    ธนาคารเพื่อการพัฒนาการเกษตรและชนบท (Bank for Agriculture and Rural Development: Agribank) เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่จะถูกแปรรูปภายในปีนี้

    กระทรวงระบุว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่คืบหน้า โดยในรอบ 4 เดือนแรกของปีนี้ไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแม้แต่รายเดียว

    จากข้อมูลปี 2016 ถึงเมษายน 2020 แผนของรัฐวิสาหกิจ 174 แห่งได้รับการอนุมัติ และรัฐวิสาหกิจเหล่านี้มีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 443 ล้านล้านด่องหรือ 19.1 พันล้านดอลลาร์ และมีเงินลงทุนจากรัฐถึง 46%

    นอกเหนือจากรัฐวิสาหกิจ 174 แห่งนี้มีรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปเรียบร้อยแล้ว 36 ราย หลังจากคำสั่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 15 สิงหาคม 2019 และยังมีรัฐวิสาหกิจ 92 แห่งที่จะต้องแปรรูปภายในปีนี้ โดยฮานอยมีรัฐวิสาหกิจที่ต้องแปรรูปปีนี้ 13 แห่ง โฮจิมินห์ซิตีมี 38 แห่ง และมีรัฐวิสาหกิจภายใต้คณะกรรมการบริการเงินทุนของรัฐอีก 6 แห่ง รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงอุตสาหกกรมและการค้า 4 แห่ง ในสังกัดกระทรวงก่อสร้างอีก 2 แห่ง ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งการแปรรูปในช่วงที่เหลือของปี

    ในบรรดา 92 รัฐวิสาหกิจที่ต้องแปรรูปในปีนี้ มี 4 บริษัทขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะดึงความสนใจจากนักลงทุน ได้แก่ Bank for Agriculture and Rural Development, Vietnam Posts and Telecommunications Group, Vietnam National Coal – Mineral Industries Holding Corporation Limited, Vietnam National Chemical Group และ MobiFone Telecommunications Group

    ปัจจัยหนึ่งมีผลทำให้การแปรรูปไม่คืบหน้าคือ ปัญหาคอขวดในการประเมินมูลค่ากิจการ โดยเฉพาะมูลค่าที่ดิน

    กระทรวงมีภาระเร่งด่วนในการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันจะมุ่งไปที่การส่งเสริมความแข็งแกร่งของการจัดการทางการเงินและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ

    กระทรวงได้เตรียมแนวทางไว้หลายแนวทางเพื่อเร่งการแปรรูป ขณะที่รัฐวิสาหกิจต้องทำการประเมินมูลค่ากิจการและเปิดเผยข้อมูลภายในปีนี้ รวมทั้งต้องส่งเสริมความรับผิดชอบของผู้นำองค์กรให้มากขึ้นด้วย

    สิงคโปร์คลาย Circuit Breaker ผ่อนปรนระยะแรก 2 มิ.ย.

    สิงคโปร์จะดำเนินการเปิดเมืองเป็น 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2563 นี้หลังจากมาตรการ circuit breaker ซึ่งได้ใช้บังคับมานั้นจะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มิถุนายนนี้

    คณะทำงานควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้แถลงผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมาถึงมาแนวทางการผ่อนคลายออกเป็น 3 ระยะ แต่ยังคงมีมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ก่อนที่จะสิงคโปร์ก้าวไปสู่วิถีชีวิตใหม่ ต่อเมื่อมีการพัฒนาวัคซีนหรือยารักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ

    นายกัน กิม ย้ง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า หากมีการระบาดรอบสอง การผ่อนปรนเป็นดำเนินการระยะๆ นี้ก็จะถอยกลับไปสู่การใช้ circuit breaker อีกครั้ง และคาดว่าหลังการเปิดเมืองจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นได้

    การผ่อนปรนระยะแรกดำเนินการภายใต้ชื่อ เปิดอย่างปลอดภัย “safe reopening” ประชาชนจะได้รับอนุญาตให้กลับไปทำงาน แต่ให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจที่สำคัญก่อน และธุรกิจที่ดำเนินการในภาวะแวดล้อมที่มีการติดเชื้อต่ำ

    นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีว่ากระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผู้ที่ทำงานที่บ้านได้ก็ขอให้ทำงานที่บ้านต่อไป แต่ผู้ที่ต้องใช้เครื่องจักรหรือต้องมีสถานที่เฉพาะก็จะกลับไปทำงานในที่ทำงานได้ เช่นเดียวกับผู้ที่ทำงานด้านเอกสารทางกฎหมาย

    โรงเรียนสำหรับเด็กวัยก่อนจะทยอยเปิดตามลำดับชั้น และเปิดเต็มที่วันที่ 10 มิถุนายน สำหรับเด็กประถมและมัธยมที่กำลังจะจบการศึกษาอนุญาตให้ไปโรงเรียนทุกวัน แต่เด็กที่เหลือจะสลับกันไปเป็นรอบสัปดาห์

    สถานที่ทางศาสนา ซึ่งปิดในช่วงใช้ circuit breaker จะได้รับอนุญาตให้เปิดในเดือนหน้า แต่ให้เฉพาะบุคคลเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้มีการจัดพิธีกรรมสำหรับคนจำนวนมาก

    นอกจากนี้ยังไม่อนุญาตให้มีการรวมกลุ่ม แต่อนุญาตให้ไปพบปะครอบครัวหรือญาติผู้ใหญ่ได้ โดยจำกัดไว้วันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2 คน และต้องเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน การอนุญาตนี้รวมถึงการนำเด็กไปส่งศูนย์ดูแลเด็กเล็ก ขณะที่ผู้สูงวัยไม่ควรออกนอกบ้าน

    ในการเปิดระยะแรกความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในประเทศมีสูง ดังนั้นประชาชนจึงควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน และออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น และการเกิดระยะแรกจะกินเวลา 2-3 สัปดาห์ก่อนที่จะดำเนินการเปิดระยะที่สองต่อไปหากการติดเชื้อในประเทศอยู่ในระดับต่ำและทรงตัว ขณะที่สถานการณ์การระบาดในหอพักคนงานยังควบคุมได้

    ด้านการเปิดระยะที่สอง หรือ “safe transition” ประชาชนจะได้รับอนุญาตให้ทยอยกลับไปจัดกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น ธุรกิจจะได้รับอนุญาตให้เปิดมากขึ้น รวมทั้งศูนย์การเรียนรู้ สถานที่ออกกำลังกาย หรือฟิตเนส และนายจ้างต้องมีมาตรการรักษาระยะห่าง และหากยังให้พนักงานทำงานที่ได้บ้านก็ควรให้ทำงานที่บ้านต่อไป

    ในระยะแรกนี้ ยังได้อนุญาตให้มีการเข้ากลุ่มสังคมที่คนไม่มาก และการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในร้าน

    สำหรับระยะที่สอง นายกันกล่าวว่า การดำเนินการมีหลายขั้นตอนและกินเวลาหลายเดือน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่จะมีการผ่อนปรนต่อเนื่องจนกว่าประเทศจะเข้าสู่ระยะที่สามซึ่งเป็นระยะสุดท้าย “safe nation”

    ในระยะที่สามนี้สิงคโปร์จะเข้าสู่วิถีใหม่หรือ “new normal” จนกว่าจะพัฒนาวัคซีนได้

    แต่ในช่วงนี้การรวมกลุ่มทางสังคม วัฒนธรรม ศาสนา และธุรกิจ ก็ได้มีการผ่อนปรน แต่จำกัดจำนวนคนเข้าร่วม ซึ่งการจำกัดจำนวนนี้ยังบังคับใช้กับบริการหรือกิจการที่มีคนมารวมกลุ่มใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน เช่น การนวด หรือในพื้นที่ปิดที่ต้องบริหารความเสี่ยงจากการที่มีคนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงภาพยนตร์

    สำหรับขนส่งสาธารณะ ซึ่งการรักษาระยะห่างทำได้ยาก ผู้คนที่ต้องเดินทางต้องสวมหน้ากากอนามัยและเลี่ยงการพูดคุย

    ส่วนธุรกิจที่ยังไม่สามารถเปิดได้ รัฐบาลยังคงให้การสนับสนุน โดยนายเฮง สวี เคียต รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง จะแถลงแผนการจัดทำงบประมาณครั้งที่ 4 ต่อสภาในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้

    มาเลเซียให้คนเดินทางเข้ากักกันตัวพร้อมออกค่าใช้จ่ายเอง

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/asia/malaysia-covid-19-kuala-lumpur-conditional-mco-first-day-12700132

    มาเลเซียกำหนดว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติหรือผู้ที่พำนักในมาเลเซียแบบถาวร ต้องกักกันตัวในโรงแรมที่รัฐกำหนดพร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง

    นายอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ รัฐมนตรีอาวุโส เปิดเผยว่า ชาวต่างชาติหรือผู้ที่พำนักในมาเลเซียแบบถาวร จะต้องจ่ายเงินเต็ม 150 ริงกิตต่อวันเป็นค่าใช้จ่ายในการกักกันตัวที่โรงแรม ขณะที่พลเมืองมาเลเซียที่เดินทางกลับประเทศต้องกักกันตัวแต่มีค่าใช้จ่ายในราคาครึ่งหนึ่งของต่างชาติ ยกเว้นชาวมาเลเซียที่พิการไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย

    สภาความมั่นคงแห่งชาติประกาศให้ประชาชนทุกคนที่ต้องการเดินทางเข้ามาเลเซีย ต้องลงนามในหนังสือยินยอมที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักกันด้วยตัวเองต่อสถานทูตของประเทศนั้นๆ ที่ใกล้ที่สุด จากนั้นสถานทูตจะออกจดหมายอนุมัติ

    นอกจากนี้ยังได้สั่งให้ทุกสายการบินที่บินเข้ามาเลเซียจะต้องตรวจว่าผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้านั้นมีจดหมายจากสถานฑูต

    มาเลซียยังบังคับใช้คำสั่งควบคุมการเคลื่อนไหวแบบมีเงื่อนไข (Conditional Movement Control Order: CMCO) ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งคนที่พยายามเดินทางข้ามรัฐกลับมากว่า 3,000 คน เนื่องจากการเดินทางข้ามรัฐจะอนุญาตให้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น หรือทำงานที่จำเป็นและผู้ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

    สำหรับกิจกรรมที่มาเลเซียได้อนุญาตให้กลับมาดำเนินการตามปกติ ได้แก่ กองถ่ายภาพยนตร์ ละครและการถ่ายทำโฆษณา หลังจากพ้นวันฮารีรายอ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการดำเนินการที่กำหนดไว้จากสภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุข โดยต้องมีการประชุมและคัดเลือกนักแสดงผ่านระบบออนไลน์ และต้องส่งรายงานการเดินทางของทีมโปรดักชันและนักแสดงในช่วง 4 สัปดาห์ก่อนเริ่มการถ่ายทำตลอดจนต้องจำกัดจำนวนคนเข้าร่วมไม่ให้เกิน 20 คนต่อครั้ง

    ทีมโปรดักชันต้องกำหนดตัวผู้รับผิดชอบดูแลด้านความปลอดภัยเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินการที่กำหนดในทุกขั้นตอนของการถ่ายทำ ห้ามจัดอาหารแบบบุฟเฟต์แต่ให้แยกอาหารออกเป็นรายคน สำหรับช่างแต่งหน้าต้องใส่เฟซชีลด์และล้างมือก่อนเริ่มทำงาน ขณะที่การจัดรายการสดในห้องส่งที่มีผู้ชมยังไม่อนุญาต

    มาเลเซียบังคับใช้กฎหมายตั้งข้อหาทุจริตคอร์รัปชันกับบริษัท

    รัฐบาลมาเลเซียตัดสินใจที่จะเดินหน้าและบังคับใช้ กฎหมาย Corporate Liability Law ซึ่งเปิดทางตั้งข้อหาคอร์รัปชันกับองค์กรธุรกิจการพาณิชย์ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 นี้

    สำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าการบังคับใช้บทบัญญัติที่กำหนดไว้ในมาตรการ 17A ของกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (Malaysian Anti-Corruption Commission: MACC) ปี 2009 หลังจากประเมินสถานการณ์และพิจารณาครบถ้วน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน

    บทบัญญัติกำหนดว่า จะถือว่าองค์กรธุรกิจการค้าจะมีความผิดหากพบว่า พนักงานหรือลูกจ้าง หรือพันธมิตร มีส่วนในการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อผลประโยชน์ขององค์กร

    นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจการค้าดำเนินมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อให้ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่นั้นไม่เกี่ยวข้องการกระทำการใดๆ ที่ถือว่าทุจริต

    ทั้งนี้มาตรา 17A ในกฎหมาย MACC ได้ลงราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2018 แต่มีเสียงเรียกร้องเลื่อนการบังคับใช้มาตรานี้ออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากประเทศยังประสบกับการระบาดของโควิด-19

    กัมพูชายกเลิกข้อห้ามการเดินทางเข้าของต่างชาติ 6 ประเทศ

    สนามบินนานาชาติพนมเปญ ที่มาภาพ:https://www.vinci-airports.com/en/news/cambodia-newly-expanded-runway-inaugurated-phnom-penh-international-airport

    รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกข้อห้ามการเดินทางเข้าประเทศของประชาชนจาก 6 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน อิตาลี เยอรมนี สเปน ฝรั่งเศส สหรัฐฯ หลังจากที่ได้บังคับใช้มากกว่า 2 เดือนตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคมเพื่อป้องกันการนำเชื้อเข้ามาระบาดในประเทศ

    นายมาม บุน เฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ลงนามในคำสั่งยกเลิก และสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติตามที่เสนอ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ดีขึ้นมาก

    อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวต่างชาติหรือชาวกัมพูชาที่เดินทางเข้ากัมพูชา จะต้องมีจดหมายรับรองอายุไม่เกิน 71 ชั่วโมงเพื่อยืนยันว่าไม่ติดเชื้อไวรัส และจะต้องทำประกันสุขภาพโดยมีทุนประกัน 50,000 ดอลลาร์ระหว่างที่พำนักในกัมพูชา และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่รัฐบาลกำหนด แต่มาตรการนี้ยกเว้นให้กับนักการทูตต่างชาติหรือตัวแทน NGO นานาชาติ รวมทั้งนักการทูตกัมพูชาและผู้ที่ถือพาสปอร์ต

    “ผู้โดยสารทั้งชาวกัมพูชาและชาวต่างชาติที่เดินทางมาถึงกัมพูชา จะถูกส่งไปที่ศูนย์รอคอยเพื่อทำการตรวจเชื้อโควิด-19 และต้องรอจนกว่าผลการจตรวจจะออกมาอย่างเป็นทางการแล้วถึงจะปล่อยตัวกลับ แต่หากว่ามีคนใดคนหนึ่งในกลุ่มติดเชื้อ ผู้โดยสารที่เหลือทั้งหมดแม้ผลตรวจเป็นลบต้องเข้าสู่การกักกัน 14 วันภายใต้การเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่รัฐและสาธารณสุข และต้องตรวจซ้ำเมื่อกักตัวได้ 13 วัน