ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงาน ADB ชี้ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ยังเสี่ยงโควิด ปีนี้โต 7.1%

รายงาน ADB ชี้ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ยังเสี่ยงโควิด ปีนี้โต 7.1%

22 กันยายน 2021


มะนิลา ฟิลิปปินส์ (22 กันยายน 2564) – ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือเอดีบี ปรับลดแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียในปี 2564 ท่ามกลางความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับปัญหาการระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

เอดีบีคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่ร้อยละ 7.1 ในปีนี้ ตาม รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2564ฉบับล่าสุด (Asian Development Outlook (ADO) 2021 Update) ซึ่งเป็นการปรับลดจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7.3 ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำหรับปี 2565 คาดว่าการเติบโตจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 5.4 จากร้อยละ 5.3 ทั้งนี้ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ การแพร่ระบาดภายในประเทศระลอกใหม่ การกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมที่หลากหลายและการล็อกดาวน์ในระดับต่างๆ รวมถึงการบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้าและไม่สม่ำเสมอนั้น กำลังทำให้โอกาสการฟื้นตัวของภูมิภาคนี้ลดน้อยลง

“ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ยังคงเสี่ยงต่อการระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19เนื่องจากสายพันธุ์ใหม่ก่อให้เกิดการระบาดไปในวงกว้างจนนำไปสู่ข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในบางประเทศอีกครั้ง” กล่าวโดยนายโจเซฟ ซเวกลิช จูเนียร์ รักษาการหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอดีบี “มาตรการเชิงนโยบายไม่ควรเน้นที่การกักกันตัวและการฉีดวัคซีนเท่านั้น แต่ควรเน้นการช่วยเหลือบริษัทและครัวเรือนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับทิศทางของภาคเศรษฐกิจให้เข้ากับ ‘ความปกติใหม่’ เมื่อการระบาดใหญ่ลดน้อยลงและการฟื้นตัวเริ่มต้นขึ้น”

จำนวนของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียเพิ่มขึ้นตั้งแต่เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าก่อตัวขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งมีผู้ป่วยใหม่รายวันสูงสุดอยู่ที่ 430,000 ราย ในเดือนพฤษภาคม และมีผู้ป่วยใหม่มากกว่า 163,000 ราย ณ วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียนั้นยังคงมีความไม่เท่าเทียมกันและยังล่าช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ประชากรของภูมิภาคที่ได้รับวัคซีนป้องกันครบตามกำหนดแล้วมีประมาณร้อยละ 28.7 เมื่อเทียบกับร้อยละ 51.8 ในสหรัฐอเมริกา และร้อยละ 58.0 ในสหภาพยุโรป

การฟื้นตัวภายในภูมิภาคยังเดินได้ไม่มั่นคง การเติบโตของเอเชียตะวันออกในปีนี้คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.6 จากร้อยละ 7.4 ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน เนื่องจากอุปสงค์การส่งออกเชื้อเพลิงจากภูมิภาคปรับตัวเพิ่มมากขึ้น ส่วนแนวโน้มการเติบโตในปี 2565 ยังคงเดิมที่ร้อยละ 5.1 โดยคาดว่าจีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ยังคงเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 8.1 ในปี 2564 และร้อยละ 5.5 ในปี 2565

การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียกลางในปีนี้คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 4.1 จากร้อยละ 3.4 ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน อันเป็นผลจากแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นสำหรับอาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย คาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน สำหรับปี 2565 คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคนี้จะเติบโตดีขึ้นจากร้อยละ 4.0 เป็นร้อยละ 4.2

เอดีบีคาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียใต้จะเติบโตที่ร้อยละ 8.8 ในปีนี้ ซึ่งปรับลดจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 9.5 ในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2565 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 7.0 จากร้อยละ 6.6 สำหรับอินเดีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของอนุภูมิภาคนั้น คาดว่าจะเติบโตลดลงเหลือร้อยละ 10.0 จากร้อยละ 11.0 ในปี 2564 ในขณะที่แนวโน้มสำหรับปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 7.5 จากร้อยละ 7.0

การคาดการณ์สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกถูกปรับลดลงเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคยังคงต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การล็อกดาวน์และการควบคุมต่างๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้า โดยเอดีบีคาดว่าการเติบโตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับปี 2564 และปี 2565 จะลดต่ำลงเหลือร้อยละ 3.1 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับที่เคยคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ร้อยละ 4.4 และร้อยละ 5.1

สำหรับเศรษฐกิจของแปซิฟิกคาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 0.6 ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเดือนเมษายน ก่อนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.8 ในปี 2565

สำหรับประเทศไทย การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเดินหน้าไม่ได้เต็มที่ แม้การเติบโตของการส่งออกสินค้าและสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยจะช่วยลดผลกระทบทางลบจาก COVID-19 ต่อการเติบโตได้ แต่การระบาดระลอกใหม่ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความล่าช้าของแผนวัคซีนของประเทศยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ เอดีบีได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลงอยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากที่เคยคาดการณ์ที่ร้อยละ 3 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และปรับลดแนวโน้มเศรษฐกิจของปีหน้าลงจากร้อยละ 4.5 ไปอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่ายังคงเดิมที่ร้อยละ 1.1 ในปีนี้ และร้อยละ 1 ในปีหน้า เนื่องจากอุปสงค์รวมยังคงซบเซา

อัตราเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียคาดว่าจะยังคงอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ในปีนี้ และร้อยละ 2.7 ในปี 2565 ซึ่งแนวโน้มของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศและราคาอาหารในปัจจุบันที่สูงขึ้นอาจกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อของบางประเทศในภูมิภาค

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค