ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ผลของทรัพยากรมนุษย์ต่อการเติบโตศก.- แนวทางต่อไปของการศึกษาหลังโควิด-19

ผลของทรัพยากรมนุษย์ต่อการเติบโตศก.- แนวทางต่อไปของการศึกษาหลังโควิด-19

28 สิงหาคม 2020


กสศ. ชวนคุยกับนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกและผู้อยู่เบื้องหลังการการประเมินทักษะนักเรียนนานาชาติ ในประเด็นความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์หรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษากับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และแนวทางสำหรับการศึกษาในการเดินหน้าต่อไปในยุคหลังโควิด-19

ในระหว่างวันที่ 10-11 ก.ค. 2563 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย องค์การการศึกษา ยูเนสโก, องค์การยูนิเซฟ และธนาคารโลก ได้จัดเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ “เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปวงชนเพื่อการศึกษา” มีการนำเสนอประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพทรัพยากรมนุษย์กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลจากการประเมินผลคุณภาพการศึกษาในระดับนานาชาติ รวมเป็นถึงบทเรียนและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาการศึกษาในยุคหลังวิกฤติโควิด-19

โดยมีวิทยากรคือ Harry Patrinos หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ผู้ดูแลนโยบายการศึกษาของธนาคารโลก, ศาสตราจารย์ Eric Hanushek นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด และ Andreas Schleicher ผู้อำนวยสำนักการศึกษาและทักษะแห่งองค์การ OECD ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดทดสอบ PISA นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ซึ่งทั้งสามคนมีการนำเสนอในประเด็นที่คล้ายคลึงกัน คือการนำเอาข้อมูลทางการศึกษาขนาดใหญ่ที่ได้จากการเก็บจากทั่วโลกมาใช้ทำการวิเคราะห์และให้ข้อเสนอเชิงนโยบายในแง่มุมต่างๆ ขอนำเสนอสรุปไว้ในที่นี้

Harry Patrinos จากธนาคารโลก ได้นำเสนองานวิจัยของธนาคารโลกเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคระบาดที่ทำให้มีการปิดโรงเรียนว่าจะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ที่หายไป (learning loss) ในระยะยาว โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดในประวัติศาสตร์ เช่น การปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีนในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งทำให้อัตราการจบมัธยมศึกษาในช่วงนั้นลดลงถึง 35% รวมไปถึงผลกระทบที่เกิดกับวิกฤติทางเศรษฐกิจในอดีต เช่น วิกฤติเศรษฐกิจของเอเชีย วิกฤติเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา ในช่วงปลายทศวรรษ 2000 วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐอเมริกาในปี 2008 ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง พบว่าวิกฤติทางเศรษฐกิจเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาเช่นกัน เช่น ทำให้คนออกนอกโรงเรียนมากขึ้น อัตราการจบการศึกษาลดลง

จากการคาดการณ์ของวิกฤติโควิดในครั้งนี้ ธนาคารโลกคาดว่าเฉพาะการปิดโรงเรียนจะส่งผลทำให้ GDP ของประเทศอังกฤษ ลดลง 0.1-0.4% GDP ของสหรัฐอเมริกาลดลง 0.3% หรือจากงานวิจัยของประเทศนอร์เวย์ การปิดโรงเรียนแต่ละวันจะทำให้เกิดความสูญเสียถึงวันละ 165 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นการที่โรงเรียนต้องปิด 4 เดือน จากการวิเคราะห์พบว่าทำให้รายได้ในอนาคตของนักเรียนลดลง 1,337 เหรียญต่อปีต่อคน ซึ่งคิดเป็นรายได้ประมาณ 33,464 เหรียญตลอดช่วงชีวิต ซึ่งหากพิจารณาจำนวนของนักเรียนทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาที่มีทั้งหมด 76 ล้านคนแล้ว พบว่ารายได้ตลอดช่วงชีวิตของเด็กและเยาวชนอเมริกันในรุ่นอายุนี้จะหายไปถึง 2.5 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงมาก

นอกจากนั้นธนาคารโลกได้มีการประเมินว่าหากนักเรียนต้องหยุดเรียนไปประมาณ 1 ปี จะส่งผลกระทบต่อทักษะความสามารถของนักเรียนที่ลดลง จากแบบจำลองคะแนน PISA ในด้านการอ่าน ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดจะทำให้คะแนนเฉลี่ยลดลงจากค่าเฉลี่ยของโลกที่ 440 เหลือเพียง 413 คะแนน หรือคิดเป็นช่องว่าง 1 ปีการศึกษา และทั่วโลกจะมีเด็กนักเรียนที่ขาดทักษะความรู้ในระดับที่สามารถเอาไปใช้งานได้ (functionally illiterate) เพิ่มจาก 40% เป็น 53%

แผนภาพที่1: ผลกระทบของโควิด19 ต่อระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน และต่อจำนวนนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานในด้านการอ่าน ที่มา :ธนาคารโลก

แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากโควิด-19 จะส่งผลที่แตกต่างกันระหว่างประชากรที่มีระดับการศึกษาต่างกัน โดยแรงงานที่มีการศึกษาต่ำ (มัธยมศึกษา) จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าแรงงานที่มีการศึกษาสูง (ตั้งแต่ระดับปริญญาขึ้นไป) วิกฤติจากโควิด-19 จะทำให้มีแรงงานในระดับล่างที่ตกงานมากมาย ส่งผลต่อค่าแรงที่ถูกกดให้ต่ำลง ในขณะที่ผลตอบแทนจากการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมีอัตราที่สูงขึ้น ทำให้คนมีแนวโน้มที่จะหันกลับไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น ซึ่งเราได้เคยเห็นรูปแบบเช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วในประเทศเวเนซุเอลา ประเทศอาร์เจนตินา และประเทศไทยในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และตนเชื่อว่ารูปแบบดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นอีกในช่วงวิกฤติโควิด รัฐบาลจึงควรจะมีนโยบายช่วยเหลือสนับสนุน การคงรักษางบประมาณทางการศึกษาเอาไว้โดยเฉพาะในการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการศึกษาตลอดชีวิตที่จะได้รับความต้องการมากขึ้น นอกเหนือจากนั้น การลงทุนพัฒนาแนวทางการประเมินผลนักเรียนและเร่งสอนเสริมเพื่อให้กวดได้ทัน รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับผู้เรียนเป็นสิ่งที่ควรพัฒนา

แผนภาพที่ 2: ความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลตอบแทนจากการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาของประเทศไทย (1985-2015) ที่มา :ธนาคารโลก

ทางด้านศาสตราจารย์ Eric Hanushek จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยในด้านการนำเอาคะแนนสอบมาตรฐานระดับชาติไปใช้วิเคราะห์ผลทางเศรษฐกิจ ได้กล่าวว่า จากสถิติข้อมูลในปี 1960-2000 เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบคะแนนมาตรฐานนานาชาติของนักเรียนและค่า GDP ของประเทศ พบว่า คะแนนมาตรฐานซึ่งเป็นตัวแทนของคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในอดีตนักเศรษฐศาสตร์มักจะใช้จำนวนปีการศึกษาในการบ่งบอกระดับการศึกษาของชาติเพราะเป็นสิ่งที่วัดได้ง่าย แต่ความจริงคือคุณภาพของการศึกษาของแต่ละประเทศมีไม่เท่ากันแม้จะมีจำนวนปีการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน ข้อดีของการมีคะแนนสอบมาตรฐาน เช่น PISA ทำให้สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพการศึกษาของแต่ละชาติได้ดีกว่าจำนวนปีการศึกษา

แผนภาพที่ 3: การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะยาว ที่มา: การนำเสนอของ Eric Hanushek

จากข้อมูล PISA พบว่ามีเด็กประมาณ 20% ในประเทศไทยที่เรียนไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกว่า 43 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รับการพัฒนาทักษะขั้นพื้นฐานในการนำไปใช้งานในโลกยุคปัจจุบันได้ งานวิจัยของเขาพบว่าในกรณีของประเทศไทย หากนักเรียนไทยทุกคนสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้จะทำให้ GDP ขยายตัวไปจนตลอดทศวรรษนี้ 3 % ต่อปี

และถ้านักเรียนที่อยู่ในระบบปัจจุบันมีทักษะพื้นฐานอยู่ในระดับเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำจะสามารถทำให้ไทยมี GDP ที่ขยายตัวโดยเฉลี่ยปีละ 5.5% หรือยิ่งถ้าหากทำให้เด็กไทยทั้งสามารถเข้าถึงการศึกษาทุกคนโดยมีมาตรฐานที่มีคุณภาพขั้นต่ำจะทำให้ GDP ขยายตัวได้ถึง 8.9% ไปจนตลอดศตวรรษนี้เลยทีเดียว

แผนภาพที่ 4: การประมาณการค่า GDP ของไทยที่จะเพิ่มขึ้นหากเด็กไทยได้รับการศึกษาที่ทั่วถึงหรือมีคุณภาพในระดับพื้นฐานอย่างทั่วถึง ที่มา: Universal Basic Skills: What Countries Stand to Gain โดย Hanushek และ Woessmann (OECD Report 2015)

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นการประมาณตัวเลขในช่วงก่อนเกิดโควิด เมื่อเกิดกรณีวิกฤติโควิด-19 ขึ้นมา ทำให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการศึกษาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มด้อยโอกาสและขาดแคลนการเข้าถึงเทคโนโลยีและเข้าถึงครูที่ดีมีคุณภาพด้วย จากการประมาณการณ์ของเขา พบว่าการสูญหายของความรู้จะทำให้รายได้ตลอดช่วงชีวิตของเด็กในรุ่นนี้ลดลง 3-6 เปอร์เซ็นต์

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา ศาสตราจารย์ Hanushek เห็นว่าเด็กที่ขาดโอกาสเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการศึกษาที่มีคุณภาพต่ำ และยังถูกทับถมด้วยวิกฤติโควิด ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้นเพื่อที่จะไม่ให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่านี้ ต้องเริ่มจากการช่วยเหลือเด็กที่มีความจำเป็นมากที่สุดให้สามารถเข้าถึงครูที่มีคุณภาพสูง ภาคนโยบายต้องมีกระบวนการจัดสรรครูอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงครูที่เก่ง ถ้าหากไม่สามารถทำได้ นอกจากเราจะไม่สามารถกลับไปสู่ระดับของการเรียนรู้ก่อนหน้าวิกฤติได้แล้ว เรายังจะไม่สามารถลดช่องว่างที่เกิดขึ้นจากโควิคได้ด้วย

แผนภาพที่ 5 :การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของประเทศ หากนักเรียนทุกคนสามารถบรรลุทักษะความรู้ในระดับ PISA level 2 ได้ ที่มา: การนำเสนอของ OECD

ทำนองเดียวกัน Andreas Schleicher ผู้ริเริ่มเเละผู้อยู่เบื้องหลังการประเมินทักษะนักเรียนนานาชาติหรือ PISA ได้ประมาณการว่าหากเด็กไทยทุกคนสามารถพัฒนาทักษะความรู้ให้อยู่ในระดับมาตรฐานของ PISA ในระดับ level 2 ได้ จะทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศขยายตัวอย่างมหาศาล คิดเป็นมูลค่าประมาณกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 4 เท่าของขนาดเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเลยทีเดียว

และเขายังได้แสดงให้เห็นว่า

ความยากจนหรือความด้อยโอกาสของเด็ก ไม่ใช่ตัวกำหนดความสำเร็จในการศึกษา หากประเทศมีการจัดระบบการกระจายตัวของทรัพยากรทางการศึกษาของที่ดีพอ

โดยยกตัวอย่างบางประเทศที่มีความพยายามในการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาให้อยู่ใกล้บ้านนักเรียนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และการจัดสรรครูที่เก่งที่สุดไปช่วยเหลือในโรงเรียนที่เด็กมีความต้องการมากที่สุด ยกตัวอย่าง เช่น ในสี่จังหวัดของจีน ที่ร่วมสอบ PISA หรือประเทศฟินแลนด์ เอสโตเนีย รวมไปถึงการพัฒนาทักษะความคิดเชิงบวก (growth mindset) ของนักเรียน ซึ่งแม้จะเป็นประเทศส่วนน้อยที่สามารถทำได้ แต่ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเป็นไปได้ ถ้าภาคนโยบายมีการนำไปทำอย่างจริงจัง

แผนภาพที่ 6: ความแตกต่างของคุณภาพโรงเรียนในประเทศต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศมีโรงเรียนใกล้บ้านที่มีคุณภาพสูง ที่มา: OECD

สุดท้ายนี้ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นเจ้าภาพของการจัดงานครั้งนี้ ได้สรุปว่า จากที่เราได้เห็นประโยชน์ของการนำข้อมูลทางการศึกษาขนาดใหญ่มานำเสนอให้เห็นในแง่มุมต่างๆ โดยนักวิชาการระดับชั้นนำของวงการนั้น ทาง กสศ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานในระดับนานาชาติเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์แก้ปัญหาการศึกษาของประเทศไทย

โดยปัจจุบัน กสศ. กำลังริเริ่มโครงการ PISA for Schools ร่วมกับองค์การ OECD ในการนำเอาแนวทางการประเมินผลแบบ PISA เพื่อมาใช้ประเมินและพัฒนาโรงเรียนไทยที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ และโครงการการประเมินทักษะพื้นฐานของแรงงานไทย ที่กำลังจะทำงานร่วมกับธนาคารโลก คาดว่าจะสามารถได้รับประโยชน์จากความรู้ในด้านเทคนิคที่องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้นำมาถ่ายทอดให้กับบุคลากรในประเทศไทย รวมไปถึงสามารถนำเอาผลการวิเคราะห์มาใช้ในการพัฒนาระบบการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยได้