ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > กสศ. ใช้ iSEE เครื่องมือชี้เป้าเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ชวนเอกชนร่วมสมทบหวังขจัดความยากจนข้ามชั่วคนให้ได้

กสศ. ใช้ iSEE เครื่องมือชี้เป้าเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ ชวนเอกชนร่วมสมทบหวังขจัดความยากจนข้ามชั่วคนให้ได้

11 กรกฎาคม 2019


เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) แถลงข่าวปฏิบัติการระดมความร่วมมือลดจดหมายลาครู ช่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา และเปิดมิติใหม่ของการช่วยเหลือสังคม ตอบโจทย์ CSR ภาคธุรกิจ ชี้เป้าช่วยเหลือถูกคน พร้อมรายงานผลรายคน มั่นใจช่วยเด็กได้จริง

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กล่าวว่า ตามที่ ปรากฎเป็นข่าว และพบความเดือดร้อนของเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนของสพฐ.และการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษ ให้ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขของกสศ. บทบาทของครูในการเยี่ยมบ้านคงมิใช่เรื่องใหม่ แต่เราเพิ่มความเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง มุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มยากจนที่สุดทันท่วงที

หากประมวลปัญหาของนักเรียนยากจนพิเศษซึ่งควรได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนพบว่ามีทั้งเรื่องสภาพครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง มีผู้พิการ เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือพ่อแม่แยกทางกัน อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง บ้านที่อยู่อาศัยมีสภาพทรุดโทรมหนัก ถึงขั้นไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ไม่คุ้มแดดคุ้มฝน ไม่มีห้องน้ำในบริเวณบ้าน สภาพแวดล้อมไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปาใช้ ไม่มีเงินค่าอาหาร และค่าเดินทางในการมาโรงเรียน

ล่าสุด สพฐ.และกสศ.จะบูรณาการฐานข้อมูลศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ.กับระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน หรือ CCT เพื่อดูแลนักเรียนรายบุคคลในทุกมิติพร้อมส่งต่อความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญจะช่วยลดภาระงานให้ครูในการบันทึกข้อมูลต่างๆด้วย โดยจะมีการประชุมเรื่องนี้ในวันที่ 23-24 กรกฎาคมนี้

“ขอบคุณในความทุ่มเทของคุณครู และเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขต ที่ไม่นิ่งเฉยกับความทุกข์ยากของเด็กๆ แม้พื้นที่ห่างไกลยากลำบากก็ไม่มีตกหล่น จนนำมาสู่ความร่วมมือของหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนเพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะไม่สำเร็จถ้าทำเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะเป็นปัญหาขนาดใหญ่และซับซ้อน ตลอดกรกฎาคมนี้ สพฐ.กำชับให้เขตพื้นที่การศึกษาดูแลสนับสนุนครูลงพื้นที่เยี่ยมบ้านให้ครบ 100 เพื่อไม่ให้มีเด็กยากจนตกหล่นแม้แต่คนเดียว”

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ภายในเดือนกรกฎาคม กสศ.จะจัดสรรเงินอุดหนุนในนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มเดิมที่ยืนยันการมีตัวตนในสถานศึกษาแล้ว ราว 320,000 คน เพื่อเป็นค่าครองชีพ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ให้แก่นักเรียนและจัดสรรไปยังสถานศึกษาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียน คนละ 1,000 บาทในภาคเรียนที่ 1 รวมแล้วกว่า 300 ล้านบาท ทั้งนี้ตลอดเดือนกรกฎาคม ครูจากสังกัด สพฐ. ตชด.และอปท.กว่า 400,000 คนยังคงเดินหน้าคัดกรองนักเรียนเข้าใหม่ได้แก่ชั้น ป.1 ป.4 และม.1 เพื่อรับการจัดสรรอีกครั้งในเดือนสิงหาคมอีกราว3 แสนคน เพื่อไม่ให้มีเด็กคนไหนตกหล่นจากการช่วยเหลือ

ทั้งนี้ปีการศึกษา 2562 กสศ.จะช่วยสนับสนุนค่าเดินทางในการเยี่ยมบ้านเพื่อเติมให้กับโรงเรียนด้วย โดยในส่วนของอัตราการอุดหนุนในเทอมที่ 2 ทางคณะรัฐมนตรีอนุมัติปรับเพิ่มให้แล้วเป็นเทอมละ 1,500 บาท (หรือปีละ 3,000 บาท) ในงบประมาณปี 2563 แต่ยังอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอยู่

นพ.สุภกร กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของระบบการศึกษาโดยตรง แต่เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากกว่าครอบครัวร่ำรวยถึง 4 เท่า ซึ่งกสศ.มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนขั้นต้นเพื่อบรรเทาอุปสรรคในการมีเรียน ล่าสุดจึงมีโครงการระดมความร่วมมือจากภาคธุรกิจเพื่อช่วยเด็กกลุ่มนี้เพิ่มเติมจากที่กสศ.จัดสรร โดยใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ iSEE เป็นเครื่องมือชี้เป้าตอบโจทย์ CSR ของภาคธุรกิจ โดยเบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ 1.ชี้เป้าโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุดในรัศมีชุมชนโดยรอบกิจการของภาคเอกชน เพื่อร่วมบริจาค เติมความช่วยเหลือ 2. ชี้เป้านักเรียนยากจนพิเศษจาก 100 โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร (พื้นที่เกาะ พื้นที่สูง และพื้นที่ห่างไกล ชุมชน) ซึ่งการสนับสนุนสามารถเลือกได้เป็น ค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ หรือสมทบทุนการศึกษา

“ล่าสุดบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมสมทบทุนการศึกษากับนักเรียนยากจนพิเศษในโรงเรียนรอบสถานีบริการน้ำมันสาขาวังมะนาว จังหวัดเพชรบุรี นับเป็นกิจการต้นแบบร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษารายแรกของประเทศไทย นอกจากนี้กสศ.ยังให้ความสำคัญกับการขยายผลเพิ่มคุณค่าให้กับเงินบริจาค โดยเฉพาะการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพทั้งในมิติของเด็กและครอบครัว ถือเป็นเป้าหมายการทำงานร่วมกันภาคเอกชนอีกด้วย ธุรกิจเอกชนใดสนใจร่วมบริจาคสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02 0795475 ” นพ.สุภกร กล่าว

ดร.ทวีศักดิ์ บรรลือสินธุ์ กรรมการและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เอสโซ่(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอสโซ่ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ ISEE ของกสศ. ช่วยชี้เป้าโรงเรียนที่มีนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุดซึ่งอยู่บริเวณรอบสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่สาขาวังมะนาว จังหวัดเพชรบุรี ประมาณ 18 โรงเรียน ครอบคลุมนักเรียนทุนมากกว่า 300 ทุน และจะขยายต่อไปในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นทุนการศึกษาและบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียน การลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มเป้าหมายยากจนที่สุดให้สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มศักยภาพ จะสามารถขจัดความยากจนข้ามชั่วคนได้ ถือเป็นเส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นจุดยืนสำคัญของเอสโซ่

“ระบบ ISEE ของ กสศ.เป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์กิจกรรมเพื่อสังคมของภาคเอกชนในระยะยาว ช่วยให้ทางเอสโซ่มั่นใจว่าเงินบริจาคที่สมทบนั้น มุ่งตรงไปยังนักเรียนที่กำลังเดือดร้อนที่สุดและยังมีระบบติดตามที่สามารถรายงานผลลัพธ์การช่วยเหลือรายคน ทั้งผลการเรียน อัตราการมาเรียน สุขภาพน้ำหนักส่วนสูง เพื่อให้มั่นใจว่าทุกความช่วยเหลือสามารถแก้ปัญหาได้จริง ไม่มีเด็กในชุมชนหลุดจากระบบ โดยจะมีการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงเมื่อครบ 1 ปีการศึกษา” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

นางสาว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเนินรัก จ.เพชรบุรี กล่าวว่า โรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนจากทางกสศ. นำไปต่อยอดให้นักเรียนฝึกทักษะอาชีพ พัฒนาทำน้ำยาล้างจาน ส่งขายในสหกรณ์โรงเรียนสร้างรายได้เสริมเป็นเงินเก็บสำหรับนักเรียน เงินทุกบาทจากการทำกิจกรรมจะถูกนำไปฝากเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคาร เพื่อเป็นทุนสำหรับเด็กหลังจบการศึกษา

“โรงเรียนยังฝึกทักษะฝีมือให้แก่เด็กๆในด้านอื่นๆอีก เช่น พับผ้ารูปสัตว์ ทำยาหม่อง ฯลฯ กิจกรรมทั้งหมด นอกจากสร้างรายได้แล้วยังสอดแทรกให้เด็กรู้จักหน้าที่ ซื่อสัตย์ มีวินัย ถึงแม้เงินที่นำไปพัฒนาทักษะอาชีพจะไม่มากแต่จะไม่สูญเปล่าแน่นอน ถ้าหากทำให้ยั่งยืนสิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปยาวนาน ซึ่งทางโรงเรียนมีนโยบายชัดเจนว่าเงินทุนที่ได้รับมาจะต้องบริหารให้ดี ไม่ใช่ใช้หายไปอย่างไร้ประโยชน์ สำหรับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนเข้ามาเพิ่มเติม จะช่วยขยายผลเสริมสร้างการพัฒนาทักษะอาชีพได้มากขึ้นอีก” นางสาวพัชรินทร์ กล่าว

นายสมคะเน ดาษดา ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ จ.ปทุมธานี กล่าวว่า การสนับสนุนที่กสศ.ให้แก่ทางโรงเรียนถือว่ามีประโยชน์มาก เป็นกองทุนที่สร้างความแตกต่างจากกองทุนอื่นๆที่ผ่านมา ไม่ใช่ทุนที่นักเรียนใช้แล้วหมดไป แต่มีทั้งทุนที่จำเป็นต่อพื้นฐานการดำรงชีวิต และยังมีทุนสำหรับต่อยอดให้เด็กนักเรียนฝึกอาชีพ สามารถสร้างรายได้ขึ้นมาใหม่ได้ ถึงเงินที่ได้รับจะไม่มากแต่เป็นกิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้แก่ตัวนักเรียน สามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นแสนเป็นล้านได้ หลังจากมีงบประมาณสนับสนุนตรงนี้ เด็กๆจะใช้เวลาว่างร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนมากขึ้น เช่น โรงเรียนมีกิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษ ทำน้ำสมุนไพร ทำเบเกอรี่ และฝึกตัดผม สร้างรายได้เงินเข้าบัญชีของนักเรียนโดยตรง ที่สุดแล้วไม่ว่าเงินจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม แต่ทักษะที่เด็กได้จะเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพของเด็กนักเรียนอย่างยั่งยืน

นายปกรณ์ ศศิวัจน์ไพสิฐ ประธานชมรมนักจัดการศึกษาในพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสว้า จ.น่าน กล่าวว่า โรงเรียนในพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารส่วนใหญ่อยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป ต้องเดินทางข้ามเขาไปหลายลูกตามสภาพ แต่ละแห่งมีบริบทสภาพปัญหาไม่เหมือนกัน จึงทำให้นักเรียนมีความต้องการต่างกันออกไป ทั้งเรื่องปัจจัยพื้นฐาน อุปกรณ์การเรียน รองเท้า ถุงเท้า อาหาร ทั้งหมดขาดแคลนอย่างมาก การเดินทางไปโรงเรียนในพื้นที่สูง ถิ่นทุรกันดารสร้างความลำบากกับนักเรียน บางครั้งกระทบไปถึงการไปโรงเรียน อาจเหนื่อยล้ากับการเดินทางจนหมดแรงจูงใจ ยิ่งช่วงฤดูแล้งครอบครัวเด็กนักเรียนหลายคนประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ไม่มีข้าวเช้ากินก่อนมาโรงเรียน