ThaiPublica > Native Ad > กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เดินหน้าสร้างความมั่นคงพลังงานไทย

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เดินหน้าสร้างความมั่นคงพลังงานไทย

3 กุมภาพันธ์ 2020


กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เตรียมออกประกาศเชิญชวนเอกชน เข้าร่วมประมูลสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบใหม่ภายในเดือนเม.ย.นี้

ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานในประเทศสูงกว่าปริมาณพลังงานที่จัดหาได้จากแหล่งในประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่ในประเทศ

แต่อย่างไรก็ดี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในฐานะหนึ่งในหน่วยงานที่กำกับดูแล ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสำรวจและพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติในประเทศอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไม่ให้ลดลง ช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

ไม่ได้มีการสำรวจปิโตรเลียมมานานกว่า 10 ปี

แต่กว่า 10 ปีแล้ว ที่การเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศได้ชุดชะงักลง หากไม่นับรวมการเปิดประมูลให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งสัมปทานที่จะสิ้นอายุในปี 2565 – 2566 หรือ กลุ่มแหล่งเอราวัณและกลุ่มแหล่งบงกชครั้งล่าสุด ที่ประเทศไทยได้มีการเปิดให้สิทธิสำรจและผลิตปิโตรเลียม ก็ประมาณปี 2550 ซึ่งเป็นการเปิดในรอบที่ 20 อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2557 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็ได้มีการเปิดให้สิทธิฯ ในรอบ 21 เช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จและได้ถูกยกเลิกไปในที่สุด

ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
ที่มาภาพ : https://energy.go.th/

เตรียมเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่

ล่าสุด ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ประกาศทิศทางและความชัดเจนว่าในปี 2563 นี้ จะมีการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งจะสามารถออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ได้ภายในเดือนเมษายน 2563 นี้ และจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการดำเนินการตามขั้นตอนการเปิดประมูลต่างๆ ตั้งแต่การเปิดให้เอกชนเข้ามาศึกษาข้อมูล ยื่นแผนการประมูล พิจารณาแผนการประมูล ประกาศผู้ชนะ และอนุมัติผลการประมูล ส่วนการลงนามกับผู้ชนะการประมูลนั้น คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในต้นปี 2564

เกิดการลงทุนขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ

ดร.สราวุธ ได้ระบุด้วยว่า หากมีการเปิดสำรวจในทะเลอ่าวไทยรอบใหม่ได้สำเร็จจะก่อให้เกิดการลงทุนในการสำรวจขั้นต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท และหากมีการสำรวจพบปิโตรเลียมจะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก นำไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ตลอดจนส่งเสริมธุรกิจด้านการบริโภคและบริการในพื้นที่ที่มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เช่น ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ภาคขนส่ง เป็นต้น และเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทย และที่สำคัญคือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทยอีกด้วย

ประเทศมีรายได้และความมั่นคงทางพลังงาน

ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศที่ไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคงด้านพลังงานเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้กับประเทศปีละนับแสนล้าน อย่างเช่นล่าสุดตัวเลขปีงบประมาณ 2562 โครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสามารถทำรายได้ให้ประเทศรวมทั้งสิ้น 166,332 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าภาคหลวง จำนวน 45,555 ล้านบาท เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 1,151 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย 12,688 ล้านบาท ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต 7,758 ล้านบาท รวมถึงภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งจัดเก็บโดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง จำนวน 99,179 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นรายได้อีกทางที่นำไปเป็นงบประมาณแผ่นดินเพื่อการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตประชาชน