ในห้วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด มาตรการ “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” มาตรการ “ล็อกดาวน์” ส่งผลให้ประเทศ ชุมชน เกิดการชะลอ/หยุดกิจกรรมเศรษฐกิจกันถ้วนหน้า ทั่วโลก
ตลอดเวลาที่ผ่านมา การใช้ทรัพยากรที่มากล้นเกินเหตุ ได้นำมาสู่วิกฤติมากมาย
แต่เมื่อโควิด-19 ผ่านเข้ามา ทำให้มนุษย์โลกต้องหยุดนิ่ง สิ่งต่างๆ ก็ได้กลับสู่ธรรมชาติอย่างที่เคยเป็นมา
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลหายากอย่างโลมาสายพันธุ์ต่างๆ เต่าตนุ เต่ามะเฟือง ฉลาม ฯลฯ ที่ได้กลับไปอยู่ในโลกของพวกเขาอีกครั้ง
รศ. ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Sustainable Ocean Ambassador: SOA) นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่ไปสำรวจขั้วโลกใต้ 2 ครั้ง ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกว่ามีต้นเหตุจากภาวะโลกร้อน และปัจจุบันโลกเข้าสู่ขั้นวิกฤติ ทั้งที่งานศึกษาออกมารองรับว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในทุกวันนี้ควรจะเกิดขึ้นอีก 100 ปีข้างหน้า แต่ด้วยกิจกรรมของมนุษย์ทำให้ภาวะ 100 ปีในอนาคตเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน และผลกระทบแรกเกิดกับ “ขั้วโลกเหนือ” และ “ขั้วโลกใต้” ซึ่งเป็นปราการด่านแรก
“2 ปีที่แล้วไปขั้วโลก เราขึ้นไปกว่าจะเห็นก้อนน้ำแข็งใช้เวลานานมาก เพราะน้ำแข็งละลายหมด พวกหมีขาวที่คิดว่ามันจะอยู่บนแผ่นน้ำแข็ง แต่เราเห็นอยู่บนหญ้า บนหน้าผา เพราะไม่มีนำ้แข็งให้มันอยู่ แล้วเราเห็นหมีขาวมันกินหญ้า มันไม่ได้เป็นมังสวิรัติ แต่พฤติกรรมมันเปลี่ยน และเชื่อไหมว่าขั้วโลกได้รับผลกระทบจากขยะ เพราะกระแสน้ำมันไหล สุดท้ายมันไปตกที่ขั้วโลกเหนือและใต้ เราตกใจเลย บนเกาะไม่มีใครอยู่ แต่เห็นขยะอยู่บนเกาะ ทุกก้าวที่เดินไปบนชายหาดจะพบขยะอย่างน้อย 1 ชิ้น เช่น ขวดน้ำ ทุ่น”
รศ. ดร.สุชนา กล่าวว่า ในประเทศไทยเองก็เข้าสู่สถานะ “วิกฤติสิ่งแวดล้อม” โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลที่ไม่ได้สวยงามดังตาเห็น
แม้ประเทศไทยจะถูกจัดลดอันดับขยะในทะเลจากอันดับ 6 สู่อันดับ 10 ในปี 2562 แต่สัญญาณดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องดีอย่างที่คิด
จุดเริ่มวิกฤติทะเลไทย
รศ. ดร.สุชนา ชี้ให้เห็นว่าทะเลไทยเข้าขั้นวิกฤติจาก 3 ปัจจัย คือ (1) การท่องเที่ยว (2) การประมง และ (3) ภาวะโลกร้อน ทั้งหมดเป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกัน
เริ่มจากการท่องเที่ยว ทำให้เกิดปัญหา “ขยะ” ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงคือการทิ้งขยะลงทะเลจากการท่องเที่ยวและกิจกรรมบนบกของมนุษย์ ส่วนทางอ้อมคือระบบจัดการขยะซึ่งประเทศไทยใช้ระบบฝังกลบเป็นหลัก แต่ด้วยขยะปริมาณมากทำให้เกิดการล้นลงสู่ทะเล นอกจากนั้นยังมีเรื่องศักยภาพของธรรมชาติที่ไม่สามารถรองรับจำนวนของนักท่องเที่ยวได้
“มีการวิจัยบอกว่า 1 คนที่ลงไปดำน้ำดูปะการัง ต้องเตะปะการังอย่างน้อย 1 ครั้ง หรือทำให้ปะการังหัก 1 ครั้ง ลองคิดดูถ้า 1,000 หรือ 10,000 คนจะมีปะการังหักอีกกี่ชิ้น ยังไม่นับว่าเรือที่มีมลพิษน้ำเสียไหลมา บางทีก็สมออีก ทั้งหมดคือผลกระทบจากการท่องเที่ยว” รศ. ดร.สุชนากล่าว
ถัดมา การบริโภค ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของวิกฤติทะเลไทย เนื่องมาจากความต้องการอาหารทะเลของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการจับสัตว์ทะเลเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะมีการเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลแต่ไม่สามารถทดแทนกับการที่สัตว์ทะเลเติบโตเองตามธรรมชาติ โดยภาพผลกระทบจากวิกฤติประมงที่เห็นได้ชัดคือ “ปลาทู” ที่ขนาดตัวเล็กลง และในทะเลช่วงกลางคืนที่มีแต่แสงไฟจากเรือจับสัตว์น้ำเต็มท้องทะเล
สอดคล้องกับรายงานของศูนย์สารสนเทศ กรมประมง ที่รายงานเมื่อต้นปี พ.ศ. 2562 ว่า ปริมาณการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยเฉลี่ย 1.2 ล้านตันต่อปี และนอกน่านน้ำไทยประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าความต้องการบริโภคสัตว์ทะเลอยู่ที่ประมาณ 2.2 ล้านตันต่อปี
สุดท้ายคือ ภาวะโลกร้อน เพราะสภาพอากาศแปรปรวนทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างน้อย 1-2 องศา มีผลให้สัตว์ทะเลตายและปะการังฟอกขาวได้ ผิดกับสัตว์บกที่สามารถทนกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย
ธรรมชาติฟื้นฟูแค่ ‘เสี้ยวเดียว’
ตามหลักการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลพบว่าต้องใช้เวลานานเป็นปีกว่าจะฟื้นฟูธรรมชาติที่เสียหายไปให้กลับมาสมบูรณ์ได้อีกครั้ง ตัวอย่างเช่น ปะการังจะใช้เวลาฟื้นฟูตัวเองนานอย่างน้อย 7-8 ปี และอาจยาวไปถึง 10 ปี ขึ้นกับสภาพท้องทะเล
รศ. ดร.สุชนามองว่า ช่วงการท่องเที่ยวหยุดชะงักจากผลกระทบโควิด-19 เป็นเพียงระยะเวลาราว 2-3 เดือนเท่านั้น แม้ธรรมชาติจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวเองเพราะไม่มีมนุษย์ แต่ภาพการฟื้นฟูก็ไม่ใช่ภาพที่สะท้อนความเป็นจริง
“ภาพธรรมชาติที่ดีขึ้นมันสะท้อนให้เห็นแค่เสี้ยวเดียว เราเห็นวาฬ เห็นโลมากระโดด มันแค่เสี้ยวหนึ่งของชีวิตมัน ไม่รู้ว่าพอโควิดหาย การท่องเที่ยวเหมือนเดิม โลมาและวาฬจะตายไหม เพราะมันตายจากขยะ-ประมง”
“ไข่เต่าที่วางเป็นร้อยเป็นพัน ฟักตัวเป็นตัวเล็กๆ พอมันลงทะเล ถามว่ามันจะรอดไหม มันรอดไม่หมดนะ เพราะตามธรรมชาติโอกาสรอดของมันน้อยกว่า 1% หรือน้อยกว่านั้น มันคือ natural selection แต่ถ้ามีผลกระทบหรือปัจจัยอะไรทำให้มันตายมากขึ้น นั่นคือโอกาสที่มันรอดยิ่งน้อยกว่าเดิม”
ดังนั้น รศ. ดร.สุชนาประเมินว่า ถ้าความสมบูรณ์ทางธรรมชาติมี 10 ระดับ ต่อให้ทะเลไทยจะฟื้นตัวเองช่วงไวรัส แต่การฟื้นตัวเองยังทำได้ไม่ถึงระดับ 5 ด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องคุณภาพของบางพื้นที่ธรรมชาติที่พังไปแล้ว และหลายพื้นที่ที่ระบบไม่เอื้ออำนวยให้ธรรมชาติฟื้นตัว โดย รศ. ดร.สุชนา ยกตัวอย่างเกาะสมุยซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยกิจกรรมของมนุษย์ พอฝนตกทำให้น้ำท่วม ทั้งน้ำทะเลยังขุ่นจนแทบมองไม่เห็นปะการัง อีกตัวอย่างคือเกาะช้างที่มีจุดอ่อนเรื่องระบบการบำบัดน้ำและของเสียที่ไม่สามารถรองรับคนได้จำนวนมากพอ
รศ. ดร.สุชนาเสนอว่า เมื่อผู้คนยังต้องใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากท้องทะเล ส่งผลให้ธรรมชาติแทบไม่ได้รับการฟื้นฟูในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นในช่วงโควิด-19 จึงเป็นโอกาสดีที่จะใช้วิกฤติสาธารณสุขสู่การลดวิกฤติสิ่งแวดล้อม
บทเรียนจากสึนามิถึงโควิด-19
จากกรณีภัยพิบัติ “สึนามิ” เมื่อปี 2547 ที่มีบริบทบางประการคล้ายกับ “โควิด-19” คือการพลิกวิกฤติไร้คนท่องเที่ยว สู่โอกาสในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่มิใช่เพียงให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวมันเอง และที่สำคัญคือการสร้างระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
“นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลคุยกันถึงช่วงเกิดสึนามิ ทำวิกฤติเป็นโอกาส จากการลงพื้นที่ 3 วันหลังเกิดสึนามิ เราคิดว่าถ้าคลื่นมันมาถึงตรงนี้ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอย่างนี้อีก ต่อไปคนไม่ควรมาสร้างสิ่งก่อสร้าง หรือสถานที่ต่างๆ ไม่ควรเกินเขตตรงนี้ รวมถึงการจัดการชายหาดอะไรต่างๆ ก็ควรเปลี่ยน และถ้าให้เขาอยู่ตรงนั้นและไปจัดระเบียบมันจะยาก…แต่สุดท้ายก็กลับมาเหมือนเดิม”
รศ. ดร.สุชนากล่าวว่า บทเรียนในอดีตไม่สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสจากเหตุการณ์สึนามิเพราะ “ความร่วมมือจากหลายฝ่าย” และเสริมว่า “ยิ่งเป็นภาครัฐด้วยกัน โอกาสที่เขาจะทำงานด้วยกันน่าจะมีสูงมาก ไม่เหมือนภาครัฐกับเอกชน แต่เราก็ไม่อยากไปโทษเขา”
มีข้อสังเกตว่าในวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้อาจจะซ้ำรอยกับกรณีเทียบเคียงอย่างสึนามิหรือไม่ สิ่งที่ภาครัฐจะต้องทำเป็นอันดับแรกคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นทางเลือกหลัก
ในสถานการณ์โควิด-19 สะท้อนได้ว่ากิจกรรมของมนุษย์มีผลต่อธรรมชาติอย่างมาก เพราะเมื่อไม่มีกิจกรรมของมนุษย์ธรรมชาติก็ฟื้นฟู สัตว์ทะเลออกมาเดิน โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเต่าขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย เพราะไม่มีคนนอนอาบแดดและไร้แสงไฟจากโรงแรม
“ภาพที่เห็นไม่ได้บอกว่ามันสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ อย่างโลมาออกมา 20 ตัว แต่ก่อนมันอาจจะมี 50 ตัวก็ได้ แต่เราไม่รู้ เพราะเราไม่เคยเห็นสักตัว พอเห็น 20 ตัวเราก็บอกว่ามันสมบูรณ์”
ก่อนที่ รศ. ดร.สุชนาจะกล่าวต่อว่า “ยังไม่ควรที่จะรีบดีใจ”
รศ. ดร.สุชนากล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่ถึงจุดที่จะพลิกวิกฤติสาธารณสุขให้เป็นโอกาสของสิ่งแวดล้อม เพราะวิธีคิดของภาครัฐให้น้ำหนักกับ “เศรษฐกิจ” เหนือมิติอื่นๆ ทั้งที่ทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมสามารถเดินไปพร้อมกันได้
ดังนั้น รศ. ดร.สุชนาประเมินว่าเมื่อสถานการณ์ไวรัสผ่านไป ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะกลับมาเป็นลักษณะเดิม หมายความว่าภาพข่าวการฟื้นตัวสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวให้สังคมได้ชื่นใจเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
“หลายครั้งเรามองเป็นชอตๆ ไม่ได้มองให้มันครบ ฉะนั้นต้องมองเป็นองค์รวม (ทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม) มันต้องทำพร้อมกัน ถ้าไม่ทำพร้อมกันมันจะไม่รอบด้าน คนก็จะเริ่มลำบาก บางทีเราบอกไม่พร้อม เพราะต้องดูส่วนนี้ๆ (เศรษฐกิจ) แต่บางทีเราก็ต้องดูเหมือนกันว่าในเรื่องของการอนุรักษ์บางส่วนก็ทำได้”
“ยกตัวอย่างเราจะลดขยะทะเล เริ่มต้นที่ว่าเราลดไม่ใช้ถุงพลาสติกก็เป็นสิ่งที่ดี แต่พอไม่ใช้ ก็ต้องหาทางออกว่าไม่ใช้ถุงพลาสติกแล้วจะใช้อะไรทดแทน พอจะไปหาอะไรทดแทนก็กลับมาเรื่องของการทิ้งขยะ รวมไปถึงเรื่องการกำจัด มันยังไม่มีตรงส่วนนี้” รศ. ดร.สุชนากล่าว
อีกบทเรียนสำคัญที่ รศ. ดร.สุชนามองเห็นคือวิธีการแก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก นั่นคือการปล่อยให้ปัญหาเกิดก่อนแล้วค่อยมาแก้ไข เช่น เมื่อเกิดโควิด-19 แล้วค่อยมาปิดประเทศ เช่นเดียวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เหมือนจะรอให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยมาแก้ไข
“มนุษย์เป็นห่วงตัวเองก่อนเสมอ โควิด-19 มันเกิดจากโรค เราทำทุกอย่างเพื่อป้องกันตัวเราเอง ทุกคนจะโฟกัสโควิด อาจจะเห็นสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เออก็ดี แต่ไม่ได้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่คนกลัวติดโรคมากกว่า พอมาถึงการท่องเที่ยว แน่นอนเราอยากให้ภาพลักษณ์ดี พอโฆษณาว่าสิ่งแวดล้อมสวยขึ้น คนก็อยากไปดู เราควรมีแผนรองรับ ว่ารับนักท่องเที่ยวได้เท่าไร ธรรมชาติรับได้แค่ไหน อย่างไร”
วิธีคิดพัฒนาสิ่งแวดล้อมต้อง Bottom Up
รศ. ดร.สุชนากล่าวว่า หลายครั้งต้องยอมรับว่าคนทำกิจกรรมหรือนักลงทุนในแหล่งท่องเที่ยวไม่ใช่คนในพื้นที่ จึงไม่เกิดความหวงแหนและไม่เห็นความจำเป็นของการอนุรักษ์ เพราะคิดในเชิงธุรกิจคือต้องการกำไร และวิธีคิดแบบนี้ทำให้ธรรมชาติเสียหายเร็วกว่าที่ควร
ข้อเสนอของ รศ. ดร.สุชนาคือ ประเทศไทยต้องจริงจังกับการผลักดันการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยต้องสร้างสมดุลระหว่าง “การอนุรักษ์” และ “จำนวนนักท่องเที่ยว” ตามหลักการว่าจำนวนคนน้อย จ่ายแพงขึ้น ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสธรรมชาติโดยไม่ทำให้เกิดความเสียหาย คือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
หัวใจสำคัญคือให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเปลี่ยนวิธีการจัดการของภาครัฐจาก top down ให้เป็น bottom up เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมและจะทำให้เกิดความรู้สึกหวงแหนธรรมชาติ
“เราออกไปต่างจังหวัดบ่อยเราถึงรู้ว่าเราคิดจากเรามีเทคโนโลยีเยอะ ฉะนั้นการสร้างจิตสำนึกก็จะมาจากในเมือง แต่ถ้าออกไปนอกเมืองอีกแบบหนึ่งเลย สื่อที่เราจะสื่อสารก็ต้องเป็นอีกแบบ แต่หลายครั้งเราใช้สื่อเดียวกัน YouTube เหมือนกัน ชาวบ้านจะดูไหม อาจจะไม่ มันต้องมีสื่อสร้างความตระหนักรู้ที่มันอาจจะต้องแตกต่างกัน เพราะคนที่ต้องดูแลธรรมชาติจริงๆ คือพวกชาวบ้าน เขาเป็นคนขับเคลื่อนที่สำคัญมาก”
อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดของภาครัฐในมุมมอง รศ. ดร.สุชนาคือเรื่องอำนาจในการบริหารจัดการ เนื่องจากบางแหล่งท่องเที่ยวเป็นพื้นที่ของชุมชน ฉะนั้นสิ่งที่ภาครัฐควรทำคือให้อำนาจคนในชุมชน
ตัวอย่างพื้นที่เกาะแปซิฟิกซึ่งจะมีผู้นำชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ ชาวบ้านจะรู้ว่าเขาสามารถทำรายได้จากพื้นที่ได้ ในกรณีที่มีคนละเมิดกฎเกณฑ์ของชุมชนก็จะลงโทษผู้กระทำความผิด เช่น จับปลาเกินโควตาที่กำหนด
“เราต้องดูว่าชาวบ้านเขาอยากทำอะไร และเราไปส่งเสริมเขา”
ส่วนนักท่องเที่ยวก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ทิ้งขยะ และหันมาอนุรักษ์ธรรมชาติ ทว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมต้องใช้เวลา อย่างน้อยที่สุด 2-3 เดือน แต่ทั้งนี้จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนขึ้นอยู่กับว่านักท่องเที่ยวจะถูกบังคับให้ตระหนักจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนหรือไม่
“คนไปเที่ยวสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ถ้าสิ่งแวดล้อมมันเอื้ออำนวยด้วย แต่ถ้าไม่เอื้ออำนวย ถึงพยายามทำ แต่ก็ทำไม่ได้ การเปลี่ยนทั้งหมดมันก็ไม่ได้เหมือนกัน หรือแค่เราไม่อยากใช้ถุงพลาสติก ไม่อยากใช้กล่องโฟม ไม่อยากใช้ขวดน้ำพลาสติก แต่พอไปเที่ยวจะซื้อของก็ต้องมีถุงพลาสติก เดี๋ยวก็มีขวดน้ำ เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม แต่จริงๆ ใช้ขวดน้ำไม่เป็นไร แต่ขอให้แยกขยะไม่ให้ปนเปื้อน”
รศ. ดร.สุชนาเล่าว่า “บ้านอาจารย์มีถุงผ้าเยอะมาก แต่เชื่อไหมพอออกจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด ชาวบ้านบอกว่าเขาอยากลด ไม่ใช้ถุงพลาสติก แต่ถุงผ้าเขายังไม่มีเลย ชาวบ้านบอกอยากช่วยลด เขาบอกก่อนที่อาจารย์จะมาให้ข้อมูลเขา เขาบอกขอแจกถุงผ้าได้ไหม เราอึ้งเลยนะ”
จากเหตุการณ์ที่พบเจอทำให้ รศ. ดร.สุชนาถอดบทเรียนว่า การส่งเสริมการมีส่วนร่วมมักจะเน้นเฉพาะคนในเมือง แม้ว่าคนในเมืองจะมีจำนวนกว่า 10 ล้านคน แต่กว่า 50 ล้านคนคือคนที่อยู่นอกเมือง
“เรื่องขยะมีคนบอกว่าทำไมไม่ทำแอปพลิเคชันให้ชาวบ้าน แค่มือถือเขาใช้ไลน์ได้ก็ดีแล้ว บางทีเราต้องดูด้วย ชาวบ้านอยากอนุรักษ์มาก เพียงแต่เราต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมให้กับเขา มีคนเยอะมากเลยที่บอกว่าสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ แต่ไม่เห็นเขาอนุรักษ์กันเลย บางทีการสร้างจิตสำนึกของเรา เครื่องมือที่เราส่งไปให้เขา มันไม่ถูกจริตเขา”
“มีวิธีแก้คือ แยกขยะและกำจัดให้เป็นระบบ แยกให้ถูกที่ก็ไม่มีปัญหา บางอย่างที่ย่อยสลายได้ แต่ถ้าไม่แยกและทิ้งรวมกับขยะอื่นก็ไม่มีความหมาย บางคนคิดว่าฉันใช้หลอดย่อยสลายได้ก็สบายใจ แต่พอไปทิ้งปกติมันก็ไม่ช่วยอะไร” รศ. ดร.สุชนากล่าว
ดังนั้น ระบบการจัดการที่ดีและการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนจะช่วยซื้อเวลาให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวิกฤติช้าลงได้