ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “รถไฟไทย-จีนไม่จบ เจอโจทย์ยาก ค่าคุมงานเกินกรอบ” และ “รายงานใหม่เผย ปี 2016 ร้อนสุดนับแต่บันทึกมา”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “รถไฟไทย-จีนไม่จบ เจอโจทย์ยาก ค่าคุมงานเกินกรอบ” และ “รายงานใหม่เผย ปี 2016 ร้อนสุดนับแต่บันทึกมา”

12 สิงหาคม 2017


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 5-11 ส.ค. 2560

  • รถไฟไทย-จีนไม่จบ เจอโจทย์ยาก ค่าคุมงานเกินกรอบ
  • กพท. แจงกฎใช้โดรน หลังพบบินใกล้เครื่องบินดอนเมือง
  • คมนาคมสั่งศึกษาแยกโซนค่าแท็กซี่
  • มท. แจง ไม่เลิก ตม.6 แค่เปลี่ยนรูปแบบ
  • รายงานใหม่เผย ปี 2016 ร้อนสุดนับแต่บันทึกมา
  • รถไฟไทย-จีนไม่จบ เจอโจทย์ยาก ค่าคุมงานเกินกรอบ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (https://goo.gl/oJEL5c)

    วันที่ 7 ส.ค. 2560 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับคณะทำงานของจีนในประเด็นค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างงานโยธา (สัญญา 2.2) ในโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ตอนที่ 1 จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. กรอบวงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากตัวเลขที่จีนเสนอมานั้นยังสูงกว่ากรอบที่ได้ขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไว้ที่ 1,649.08 ล้านบาท ซึ่งได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หารือในรายละเอียดร่วมกับจีนให้ได้ข้อสรุปภายใต้หลักการเดียวกับสัญญาจ้างที่ปรึกษาออกแบบ (สัญญา 2.1) คือต้องไม่เกินกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติ และให้เสนอกระทรวงในวันที่ 7 ส.ค. 2560 เพื่อนำผลสรุปหารือในคณะทำงานเตรียมการประชุมร่วมไทย-จีน วันที่ 9 ส.ค. อีกครั้ง

    ทั้งนี้ ร.ฟ.ท. จะต้องพิจารณาร่วมกับจีน คือกรอบการทำงานควบคุมการก่อสร้าง จำนวนวิศวกร ขอบเขตของงานให้ชัดเจน และตรงกับข้อเท็จจริง โดยเบื้องต้นมีการเสนอวิศวกรจีนที่ 100 คน วิศวกรไทยประมาณ 400 คน ซึ่ง ร.ฟ.ท.ต้องตรวจสอบว่าเนื้องานที่จีนคิดมานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับที่ฝ่ายไทยคิดมีอะไรที่ซ้ำซ้อนกันบ้าง หากตรงไหนซ้ำกันจะต้องตัดออก ซึ่งจะทำให้จำนวนวิศวกรลดลงไปด้วย กรอบค่าจ้างจะลดลงตาม

    นายพีระพลกล่าวว่า รายละเอียดและตัวเลขของสัญญาควบคุมงาน หรือสัญญา 2.2 จะต้องสรุปก่อนที่จะลงนามในสัญญาออกแบบ หรือสัญญา 2.1 เพราะหากตกลง 2.2 ไม่ได้ ลงนาม 2.1 ไปก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากจะไม่สามารถก่อสร้างได้อยู่ดีเพราะไม่มีผู้ควบคุมงานก่อสร้าง

    “ต้องสรุปสัญญา 2.2 ให้ได้ก่อนการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ 20 ที่จะมีในระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค. และก่อนที่จะลงนามในสัญญา 2.1 ซึ่งรายละเอียดในส่วนของสัญญา 2.2 เดิมอาจเพราะต่างคนต่างคิดจึงมีงานบางส่วนซ้ำซ้อนกัน ตรงนี้ต้องมาเทียบและตัดออก”

    รายงานข่าวแจ้งว่า จีนเสนอค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานมาสูงกว่ากรอบ 1,649.08 ล้านบาทถึงเท่าตัว จึงเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากในการเจรจา ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะต้องนำเนื้องานแต่ละหัวข้อมาเปรียบเทียบกัน โดยจะต้องมีขอบเขตของงาน หรือ Scope of Work ที่ชัดเจนที่สุดก่อนเพื่อเจรจาต่อรอง ขณะที่จะไม่มีการลงนามในสัญญา 2.1 เด็ดขาดหากยังสรุปรายละเอียดมของงานควบคุมงาน 2.2 ไม่ได้

    กพท. แจงกฎใช้โดรน หลังพบบินใกล้เครื่องบินดอนเมือง

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (https://www.dailynews.co.th/economic/590875)

    วันที่ 10 ส.ค. 2560 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการสืบหาตัวผู้บังคับโดรนสีขาว หลังจากมีผู้ใช้เฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า “Warm Chaiyapong” ซึ่งคาดว่าเป็นนักบิน โพสต์ข้อความระบุว่า ขณะที่ทำการบินจากท่าอากาศยานดอนเมือง พบโดรนสีขาวบินอยู่ที่ระดับความสูง 3,000-3,500 ฟุต หรือประมาณ 900-1,100 เมตร และบินห่างจากปีกขวาของเครื่องบินเพียง 20 เมตร จึงกังวลว่าจะเป็นอันตรายเครื่องบินจะชนกับโดรนได้ว่า กพท. ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่บริเวณศูนย์เยาวชนเฉลิมพระเกียรติ เทศบาลนครนนทบุรี ถ.สามัคคี ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นจุดที่คาดว่ามีการปล่อยโดรนจากจุดนี้เพื่อเร่งหาตัวผู้กระทำผิดแล้ว

    นายจุฬา กล่าวต่อว่า จากการรับรายงานเบื้องต้นพบว่า ขณะนี้ยังไม่เจอตัวผู้กระทำผิด ซึ่งต้องยอมรับว่ากรณีนี้หาตัวค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนใดๆ เลย ไม่เหมือนกับกรณีก่อนหน้านี้ที่มีการโพสต์ภาพ และข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่ามีการขึ้นบินโดรนบริเวณเขตสนามบินดอนเมือง ซึ่งกรณีนี้รู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว เวลานี้อยู่ในขั้นตอนของการเชิญผู้กระทำผิดเข้ามาชี้แจง และดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กพท. เป็นผู้มีอำนาจในการสอบสวนผู้กระทำผิดก่อน ในฐานะเจ้าหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัยในการบิน จากนั้นจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับ ก่อนดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

    นายจุฬา กล่าวอีกว่า กพท. ขอทำความเข้าใจกับประชาชนที่ใช้โดรน เพื่อความปลอดภัยในการบินเบื้องต้น ดังนี้

    1. ห้ามทำการบินภายในระยะ 9 กิโลเมตร (5 ไมล์ทะเล) จากสนามบิน หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาต
    2. ห้ามทำการบินในสถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาต
    3. ต้องทำการบินในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งสามารถมองเห็นอากาศยานได้อย่างชัดเจน
    4. ห้ามทำการบินโดยใช้ความสูงเกิน 90 เมตร (300 ฟุต) เหนือพื้นดิน
    5. ห้ามทำการบินเหนือเมือง หมู่บ้าน ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีคนมาชุมนุมอยู่
    6. ห้ามบังคับอากาศยานเข้าใกล้อากาศยานซึ่งมีนักบิน และ
    7. ห้ามทำการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น

    ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าหากมีผู้พบเห็นโดรน หรืออุบัติการณ์ใดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายของอากาศยานในราชอาณาจักรไทย สามารถแจ้ง กพท. ได้ทันทีที่ [email protected]  เพื่อจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป และผู้ที่จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนโดรน แบบฟอร์มคำขอฯ ตลอดจนข้อบังคับและระเบียบที่เกี่ยวข้อง สามารถติดต่อได้ที่ ทั้งนี้ปัจจุบันมีโดรนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 282 ลำ

    คมนาคมสั่งศึกษาแยกโซนค่าแท็กซี่

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เนชั่นทีวี (https://goo.gl/kgbCBt)

    วันที่ 8 ส.ค. 2560 เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือกับนายพิชิต อัตราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร รวมทั้งได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเสนอให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ ใหม่ จากเดิมที่ใช้ราคาเดียวทั่วกรุงเทพฯ ให้เปลี่ยนเป็น 2 อัตรา คือ ค่าโดยสารเขตกรุงเทพฯ ชั้นในและเขตกรุงเทพฯ ชั้นนอก เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนมีปัญหาการจราจรติดขัดแตกต่างกัน โดยรถที่วิ่งให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ ชั้นในจะมีปัญหารถติดมากและนานกว่า จึงมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนค่าขนส่งมากกว่ารถในเขตกรุงเทพชั้นนอก แต่ค่าโดยสารช่วงรถติดในปัจจุบันกำหนดไว้เป็นอัตราเดียวกันทั้งหมดคือนาทีละ 2 บาท จึงไม่สะท้อนต้นทุนค่าขนส่งที่แท้จริง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารในเขตเมือง

    เบื้องต้น นายพิชิตรับฟังข้อเสนอและรับปากจะนำกลับไปศึกษาความเหมาะสมต่อไป

    “เราเสนอให้กรมขนส่งฯ คิดค่าโดยสารเป็น 2 โซน คือโซนที่รถติด กับโซนที่รถไม่ติด โดยในโซนที่รถติดจะต้องคิดค่าโดยสารในช่วงรถติดหรือจอดนิ่งในอัตราที่สูงกว่าโซนที่รถไม่ติด คือมากกว่านาทีละ 2 บาทที่เก็บอยู่ในปัจจุบัน ส่วนอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นก็จะอยู่ที่ 35 บาทเท่าเดิม แต่จะปรับเพิ่มเป็นนาทีละเท่าไหร่ ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องไปศึกษารายละเอียดก่อน ทั้งนี้เชื่อว่าหากดำเนินการตามนี้ ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารในพื้นที่กรุงเทพชั้นในจะหมดไป ขณะที่คนขับแท็กซี่ก็จะอยู่ได้”

    นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า นายพิชิตได้สั่งการให้ ขบ. กลับไปศึกษาความเป็นไปได้ของเสนอดังกล่าวแล้วว่า มีผลดีผลเสียอย่างไร และมีความเหมาะสมหรือไม่ คาดว่าต้องใช้เวลาสักระยะ เพราะขณะนี้ ขบ. ก็อยู่ระหว่างการรอผลการศึกษาการจัดทำโครงสร้างต้นทุนรถแท็กซี่โดยรวมจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เช่นกัน ซึ่งทีดีอาร์ไอจะนำผลการศึกษากลับมาเสนอให้ ขบ. ภายใน 3 เดือนต่อจากนี้

    มท. แจง ไม่เลิก ตม.6 แค่เปลี่ยนรูปแบบ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐ (https://goo.gl/1c1j7r)

    เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า กระทรวงมหาดไทย ออกแถลงการณ์ชี้แจงเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 กรณีปรากฏในข่าวสารสื่อมวลชนว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2560 ให้ยกเลิกแบบรายการบุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ซึ่งต่อไปจะไม่ต้องกรอกรายการใน ตม.6 ในการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยแล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 ตามกฎกระทรวงกำหนดแบบเอกสารตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและวิธีการขอหลักฐานการแจ้งออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อกลับเข้ามาอีก และการขอกลับเข้ามามีถิ่นฐานอยู่ในราชอาณาจักรตามเดิม

    ขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับนี้ มีสาระสำคัญ เป็นการยกเลิกแบบรายบุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) แบบเดิม โดยให้ใช้แบบ ตม.6 แบบใหม่ ที่แนบท้ายกฎกระทรวงแทน ซึ่งยังต้องกรอกรายการในแบบ ตม.6 แบบใหม่ในการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยต่อไป

    ทั้งนี้ แบบ ตม.6 แบบใหม่ เป็นแบบที่มีข้อมูลซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อวิเคราะห์ตลาดท่องเที่ยว

    พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวยกเลิกแบบรายการบุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ว่า เคยมีแนวคิดที่จะยกเลิกมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ชี้แจงว่า ใบ ตม.6 ยังมีประโยชน์ ขณะนี้ ก็ยังใช้อยู่ เนื่องจากแบบเดิมที่พิมพ์ไว้ยังมีประโยชน์

    “ถ้าจะมีมติให้เปลี่ยนหรือยกเลิก ส่วนตัวก็ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่เดิมฝ่ายเศรษฐกิจ ทั้งผู้ประกอบการ ห้างร้านต่างๆ ระบุว่าเอกสาร ตม.6 ไม่มีประโยชน์ เพราะเพียงแค่เอามาเขียนและเก็บไว้เฉยๆ แต่กระทรวงท่องเที่ยวฯ เห็นว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะเป็นการยืนยันว่าเขาไปทำอะไรที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำสั่งมาก็ต้องยึดตามนั้นก่อน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีแนวคิดว่าจะยกเลิกมาครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งจำนวนคนเข้าเมืองที่แออัดทำให้การเข้าเมืองล่าช้าถือเป็นเหตุผลหนึ่งหากจะยกเลิก” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

    รายงานใหม่เผย ปี 2016 ร้อนสุดนับแต่บันทึกมา

    วันที่ 11 ส.ค. 2560 เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า รายงานสภาพภูมิอากาศปี 2016 ที่องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) เป็นผู้รวบรวม ได้ข้อสรุปที่ยืนยันว่าปี 2016 เป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา และเป็นสถิติอุณหภูมิโลกที่ร้อนต่อเนื่อง 3 ปี

    รายงานระบุว่า อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนระยะยาว และความรุนแรงของปรากฏการณ์เอล นีโญ โดยอุณหภูมิที่วัดได้จากพื้นผิวโลก ผิวน้ำทะเล และปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี 2016 ล้วนอยู่ในระดับสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกมา 137 ปี และสะท้อนถึงแนวโน้มของการเกิดภาวะโลกร้อน

    องค์การบริหารสมุทรศาสตร์ฯ เผยแพร่รายงานดังกล่าวซึ่งจัดทำโดยความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์เกือบ 500 คน จาก 60 ประเทศ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวจากความตกลงปารีสปี 2015 ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาเคยระบุว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเป็นเรื่องเท็จ

    ในช่วงที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ จะมีกระแสน้ำอุ่นผิดปกติในบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะส่งผลต่อภูมิอากาศของโลก และทำให้เกิดลักษณะอากาศที่แปรปรวน

    รายงานชี้ด้วยว่า ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ซึ่งล้วนแต่เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน มีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงทำสถิติใหม่ โดยค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศต่อปี วัดได้ที่ 402.9 ส่วนในล้านส่วน (ppm) หรือสูงกว่า 400 ppm เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การวัดสภาพชั้นบรรยากาศเพื่อเก็บข้อมูลในยุคใหม่ รวมถึงในการเก็บข้อมูลจากแกนน้ำแข็ง ซึ่งมีสถิติย้อนกลับไปได้ 800,000 ปี

    NOAA ระบุด้วยว่า “การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่สุดที่มนุษยชาติ และสิ่งมีชีวิตบนโลกกำลังเผชิญ”