ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “จำคุก 5 อดีตแกนนำ นปก. บุกบ้านป๋าเปรมปี ’50” และ “ทบ. ยกย่องกบฏบวรเดชภักดีสถาบัน-คณะราษฎรล้มราชบัลลังก์”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “จำคุก 5 อดีตแกนนำ นปก. บุกบ้านป๋าเปรมปี ’50” และ “ทบ. ยกย่องกบฏบวรเดชภักดีสถาบัน-คณะราษฎรล้มราชบัลลังก์”

27 มิถุนายน 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 20-26 มิ.ย. 2563

  • จำคุก 5 อดีตแกนนำ นปก. บุกบ้านป๋าเปรมปี ’50
  • ทบ. ยกย่องกบฏบวรเดชภักดีสถาบัน-คณะราษฎรล้มราชบัลลังก์
  • ประวิตรรับนั่งหัวหน้าพลังประชารัฐแล้ว
  • นกสกู๊ตประกาศเลิกกิจการ

  • จำคุก 5 อดีตแกนนำ นปก. บุกบ้านป๋าเปรมปี’50

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์บีบีซีไทย (https://bbc.in/2NAvXOw)

    1. 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก. ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเปลี่ยนเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในวันที่ 9 ก.ค. 2552) 15 คน และกลุ่มผู้ชุมนุม จำนวน 20,000 คน เคลื่อนขบวนจากท้องสนามหลวง ไปปิดล้อมบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเป็นที่พักของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีในขณะนั้น

    2. การไปชุมนุมที่หน้าบ้านสี่เสาฯ เป็นเพราะ นปก. เชื่อว่า พล.อ. เปรม เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 ที่กระทำโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค. ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช.) ภายใต้การนำของ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน

    3. การชุมนนุมในวันดังกล่าว ทำให้เกิดการปะทะกับเข้าหน้าที่ตำรวจหลายครั้ง ซึ่งแม้จะไม่มีผู้ใดเสียชีวิต แต่ก็มีผู้บาดเจ็บถึง 41 ราย และในจำนวนนี้ต้องเข้าโรงพยาบาล 2 ราย และเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินบริเวณใกล้เคียงที่ชุมนุมหลายรายการ เช่น ป้อมยามตำรวจ, ร้านค้าสมาคมแม่บ้านทหารบก และมูลนิธิพระดาบส

    4. การชุมนุมในวันดังกล่าว ทำให้แกนนำและผู้ชุมนุม นปก. รวม 7 คน ถูกฟ้องในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ประกอบด้วย นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7

    5. วันที่ 16 ก.ย. 2558 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลย 5 คน โดยจำเลยที่ 1 ให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4-7 ให้จำคุกคนละ 4 ปี 4 เดือน ขณะที่จำเลยที่ 2-3 ให้ยกฟ้องและริบของกลาง

    6. วันที่ 10 ม.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็น ให้จำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 1 ให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และยกฟ้องจำเลยที่ 2-3

    7. ล่าสุด วันที่ 26 มิ.ย. 2563 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์โดยให้จำคุกจำเลย 5 คน คือจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4-7 มีพฤติการณ์ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองเป็นเรื่องร้ายแรง ส่วนจำเลยที่ 2-3 นั้นถือว่าคดีสิ้นสุดไปตั้งแต่ชั้นอุทธรณ์ (อ่านรายละเอียดคำพิพากษาได้ที่นี่)

    8. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยืนยันว่าไม่ม่วาจะสูญเสียอิสรภาพหรือไม่ก็จะสู้ต่อ และไม่เชื่อว่ารัฐประหารจะนำบ้านเมืองไปสุ๋ประชาธิปไตยที่แท้จริง เช่นเดียวกับ น.พ.เหวง ที่ยืนยันว่าหากยังมีชีวิตก็จะยืนหยัดสู่เพื่อประชาธิปไตยต่อไป ส่วนนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวในการนิรโทษกรรมทางการเมือง รวมทั้งประกาศ “เลิกก่อม็อบตลอดชีวิต” (ดูรายละเอียดได้ที่นี่)

    9. นอกจากนี้ เฟซบุ๊กนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยังได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่ชื่อจนกว่าจะพบกันใหม่ ความยาวประมาณ 7 นาที มีเนื้อหาเป็นการเปิดใจของนายณัฐวุฒิ โดยระบุว่าบันทึกไว้ตั้งแต่ 25 มิ.ย. 2563 และถ้ามีการเผยแพร่ก็หมายความว่าตนนั้น “สูญสิ้นอิสรภาพ” ซึ่งนายณัฐวุฒิยืนยันว่าจะสู้ต่อ พร้อมส่งกำลังใจให้คนที่กำลังต่อสู้อยู่ และยืนยันว่าจะกลับมาต่อสู้อีก

    ทบ. ยกย่องกบฏบวรเดชภักดีสถาบัน-คณะราษฎรล้มราชบัลลังก์

    พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (http://bit.ly/2PCyA1M)

    1. วันที่ 24 มิ.ย. 2563 ครบรอบ 88 ปีการปฏิวัติสยามใน พ.ศ. 2475 ที่นำโดยณะราษฎร พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก สั่งจัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พล.อ. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลแก่ พ.อ. พระยาศรีสิทธิสงคราม 2 ผู้นำในความพยายามทำรัฐประหารในวันที่ 12 ต.ค. 2476 ภายใต้ชื่อ “คณะกู้บ้านเมือง” แต่ไม่สำเร็จ จึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “กบฏบวรเดช”

    2. กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพบกระบุว่าทั้งสองเป็นผู้ที่ “ควรแก่การยกย่องในฐานะที่ทรงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี” และ “เป็นนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันและยังเป็นนายทหารประชาธิปไตย” ทั้งยังระบุด้วยว่า “วีรกรรมที่กล้าหาญและเสียสละของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามควรแก่การยกย่องในฐานะที่ทรงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี และทรงมุ่งหวังให้ประเทศชาติดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

    3. ขณะเดียวกัน ในข่าวที่ทาง ทบ. เผยแพร่เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ พล.อ. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และ พ.อ. พระยาศรีสิทธิสงคราม ก็ได้มีการกล่าวถึงคณะราษฎรว่า ในปี 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยโดยกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าคณะราษฎร “ถือเป็นการรัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์”

    ประวิตรรับนั่งหัวหน้าพลังประชารัฐแล้ว

    พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มาภาพ : https://social.tvpoolonline.com/

    เว็บไซต์ไทยพีบีเอสรายงานว่า วันที่ 22 มิ.ย. 2563 นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมาแกนนำพรรค เช่น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายสันติ พร้อมพัฒน์, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า, นายอนุชา นาคาศัย, นายไพบูลย์ นิติตะวัน เดินทางไปเทียบเชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่ง พล.อ. ประวิตร ตอบรับการเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมพูดกับแกนนำพรรคว่า ขอให้รักสามัคคี ทำงานให้ดี ห้ามแตกแยก และให้เป็นหนึ่งเดียว

    นกสกู๊ตประกาศเลิกกิจการ

    เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า คณะกรรมการบริษัทสายการบินนกสกู๊ต ได้มีมติเลิกกิจการ โดยส่งแถลงการณ์ มายังสื่อมวลชนว่า สายการบินนกสกู๊ตรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่จะประกาศให้ทราบว่า คณะกรรมการของบริษัทได้มีมติเลิกกิจการ โดยผู้ถือหุ้นของนกสกู๊ตจะลงมติเป็นอย่างเดียวกันในที่ประชุมใหญ่ที่จะมีขึ้นในอีกประมาณ 14 วัน

    หลังจากนกสกู๊ต สายการบินร่วมทุนราคาประหยัดระหว่างสายการบินนกแอร์ของคนไทย และสายการบินสกู๊ต จากประเทศสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 นกสกู๊ตได้ดำเนินธุรกิจท่ามกลางความท้าทายในสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงข้อจำกัดในการขยายเครือข่ายการบินภายใต้สภาพแวดล้อมการแข่งขันที่รุนแรงและการระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการของบริษัท จึงไม่เห็นหนทางสู่การฟื้นตัวและการเติบโตที่ยั่งยืนของสายการบินอีกต่อไป

    จนถึงปัจจุบัน มีพนักงานนกสกู๊ตที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 425 คน โดยสายการบินนกสกู๊ตได้ชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างถูกต้อง ทั้งนี้พนักงานจำนวนหนึ่งยังคงปฎิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการกระบวนการชำระบัญชีให้เสร็จสมบูรณ์ และพนักงานกลุ่มนี้จะได้รับการชดเชยอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน

    นกสกู๊ตจะชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งเมื่อได้มีการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และจัดให้เจ้าหนี้ได้ยื่นข้อเรียกร้อง

    นกสกู๊ตขอขอบคุณ ลูกค้า ผู้โดยสาร  พันธมิตร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนสำหรับการสนันสนุนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557