ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 27 มิ.ย. – 3 ก.ค. 2563

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 27 มิ.ย. – 3 ก.ค. 2563

4 กรกฎาคม 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 27 มิ.ย. – 3 ก.ค. 2563

  • วิบากกรรมชมประวิตร ‘ไลฟ์โค้ช’ ไลก์ตก-ฟอลร่วง-ถูกแจ้งความยักยอกทรัพย์
  • จี้สอบทุจริตงบพิมพ์ตำราเรียน เหตุองค์การค้า สกสค. เจ๊ง
  • คราฟต์เบียร์จ่อฟ้องศาลปกครองกรณีห้ามขายออนไลน์
  • แบรนด์ต่างชาติหลายร้อยแห่บอยคอตเฟซบุ๊ก เหตุเมินเฮทสปีช

  • วิบากกรรม ชมประวิตร ‘ไลฟ์โค้ช’ ไลก์ตก-ฟอลร่วง-ถูกแจ้งความยักยอกทรัพย์

    ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/SeanBuranahiran/

    1. ฌอน บูรณะหิรัญ เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ หรือที่มักเรียกกันว่า “ไลฟ์โค้ช” ฌอนเริ่มทำสื่อออนไลน์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 จนมาถึงปี พ.ศ. 2563 ก็มีจำนวนไลก์ของเพจสูงถึง 3.1 ล้านไลก์ และมีผู้กดติดตามเพจ (ฟอลโลเวอร์) กว่า 4 ล้านคน อีกทั้งเขายังเคยได้รับรางวัลสื่อมวลชนดีเด่น “ฐานันดร 4 ทองคำ” จากมหาวิทยาลัยรังสิต

    2. ฌอนเปิดคอร์สสอนการทำสื่อออนไลน์ในราคา 3,900 บาท และยังเปิดสอนการวางกลยุทธ์ทำคอนเทนต์แนวการตลาด โดยคิดค่าปรึกษาผ่านการคุยวิดีโอคอล 1 ครั้ง 30,000 บาท (45 นาที) ถ้าคุย 3 ครั้งจะลดราคาพิเศษเหลือ 70,000 บาท

    3. วันที่ 23 มิ.ย. พ.ศ. 2563 ฌอนโพสต์คลิปวิดีโอความยาวประมาณ 4 นาที ชื่อคลิปว่า “ผมได้ปลูกต้นไม้กับท่านประวิตรครับ” โดยเนื้อหาเป็นเหตุการณ์ที่ตัวเขาไปร่วมงานปลูกต้นไม้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในงานนั้นมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไปร่วมงานด้วย ซึ่งในช่วงท้ายของคลิป ฌอนได้กล่าวถึง พล.อ. ประวิตร ว่า

    “เมื่อกี้ได้เจอท่านประวิตร มันไม่เหมือนที่เราเห็นในรูปภาพที่อยู่ในมีม ที่เขาหลับและภาพจะออกมาแบบดูร้ายหน่อย แต่พอได้เห็นตัวจริง เหมือนเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารัก ทำให้ผมนึกออกว่าสิ่งที่เราเห็นในสื่อ เขาก็มีเจตนาที่จะทำให้เราคิดอะไรบางอย่าง อย่าเพิ่งตัดสินใครจนกว่าเราได้เจอตัวเขาจริงๆ ได้คุยกับเขาและสัมผัสกับเขา”

    “น้องๆ ที่กำลังเติบโตอยู่ก็อยากให้รู้ว่าข่าวมีเจตนาของเขานะ เราอย่าเพิ่งเชื่อ 100% ในสิ่งที่เราดู สิ่งที่เราเห็น”

    “ผมก็ไม่ได้พยายามบอกว่า ให้เราชอบใครหรือไม่ชอบใคร ผมอยากจะบอกให้น้องๆ อยู่กลาง เพราะว่าสื่อทุกอย่างพยายามมีอิทธิพลต่อความคิดของเรา ดังนั้นอย่าให้สื่อไหน ทำให้เราชอบใคร เกลียดใคร ให้เราอยู่กลางแล้วฟังทั้งสองฝ่าย แล้วถ้าเป็นไปได้ เข้าไปหาเขาจริงๆ เลย ถึงจะค่อยตัดสินใจด้วยตัวเอง”

    4. นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างความไม่พึงพอใจให้กับผู้คนส่วนหนึ่งในโลกออนไลน์จำนวนมาก นำมาซึ่งปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” คือมีคนเข้ารุมต่อว่าในคอมเมนต์ของคลิป รวมทั้งยังทำให้ยอดไลก์และผู้ติดตามของเพจลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก

    5. เรื่องราวยังไม่ทันซา วันที่ 27 มิ.ย. 2563 เฟซบุ๊กแฟนเพจแหม่มโพธิ์ดำ ได้เปิดเผยข้อความที่ทีมอาสาดับไฟป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ส่งมาหาตน โดยทีมอาสาฯ ตั้งคำถามถึงเรื่องที่ฌอนเคยเปิดรับบริจาคเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือในการดับไฟป่า แต่กลับไม่เคยเปิดเผยยอดบริจาค อีกทั้งทีมที่ดับไฟก็ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากฌอน

    6. ทำให้ในช่วงค่ำวันเดียวกันนั้น เพจของฌอนออกมาโพสต์ชี้แจงเรื่องเงินบริจาคดังกล่าว โดยระบุว่าเริ่มรับบริจาคตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 1 พฤษภาคม 2563 ได้ยอดบริจาคทั้งสิ้น 875,741.53 บาท

    7. ทางเพจชี้แจงว่า เงินบริจาคนั้นมี 2 วาระ คือ เรื่องไฟป่า และโควิด-19 พร้อมทั้งชี้แจงการใช้เงิน โดยที่ระบุตัวเลขการนำเงินบริจาคไปใช้ชัดเจนมี 3 รายการ คือ

    1. “ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทีมงาน ตัดต่อ และโปรโมทโพสต์โดยจ่ายค่าโฆษณาให้แก่ทางเฟซบุ๊กมูลค่า 254,516.53บาท เพื่อที่จะกระจายข่าวไปทั่วประเทศ ให้คนได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวเชียงใหม่ ณ เวลานั้น”
    2. “ส่งตัวแทนบริจาคเป็นสิ่งของตามที่โรงพยาบาลและหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ ที่ขอความอนุเคราะห์เข้ามาเป็นลายลักษณ์อักษร มูลค่า 621,225 บาท (มีใบเสร็จทั้งหมดและเอกสารขอบคุณ) + ค่าขนส่งเอกชน 5,000 บาท”
    3. “แจกอาหารให้ชาวเชียงใหม่ ที่ Bronco Kids มูลค่า: 30,000 บาท”

    8. ทว่า การชี้แจงดังกล่าวกลับยิ่งสร้างความไม่พอใจให้ชาวออนไลน์ที่ติดตามเรื่องราว โดยมีการตั้งคำถามถึงจำนวนเงินและการนำเงินไปใช้ เช่น

    • การรับบริจาคยาวนานถึง 1 เดือน แต่กลับได้เงินเพียง 6 แสนกว่าบาท ทั้งที่มีผู้ติดตามเพจถึง 4 ล้านคน
    • การทำคลิปที่ใช้เงินกว่า 2.5 แสนบาท โดยมีการจ่ายค่าโฆษณาให้ทางเฟซบุ๊ก ถือว่าทำผิดวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคหรือไม่ เพราะการโปรโมตคลิปก็เหมือนทำให้เพจได้ประโยชน์ไปด้วย
    • มีการนำเงินไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แทนที่จะนำไปใช้กับเรื่องไฟป่า ถือว่าผิดวัตถุประสงค์หรือไม่
    • บิลหลายๆ ใบที่นำมาแสดงนั้นซื้อของในนามบริษัท แต่ตอนรับบริจาคนั้นใช้บัญชีส่วนตัว แบบนี้มีวาระซ่อนเร้นว่าจะนำไปลดหย่อนภาษีให้บริษัทหรือไม่

    9. ความสงสัยที่เกิดขึ้นจากการชี้แจงของทางเพจทำให้ยอดไลก์และยอดผู้ติดตามลดลงไปอีก จนล่าสุด วันที่ 4 มี.ค. 2563 ยอดไลก์เหลืออยู่ประมาณ 2.8 ล้านไลก์ และยอดผู้ติดตามเหลือประมาณ 3.7 ล้านคน

    10. และในที่สุดเรื่องราวก็ไม่จบแค่การทัวร์ลงในโลกออนไลน์ เมื่อในวันที่ 1 ก.ค. 2563 นายสิริวิทย์ ช่วงเสน อดีตผู้สมัคร ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคไทยศรีวิไลย์ ได้เข้าแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อให้ดำเนินคดีกับฌอน โดยระบุว่าการบริจาคดังกล่าวนั้นซึ่งเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์และฉ้อโกงประชาชน

    11. นอกจากนี้ ในวันที่ 2 ก.ค. 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้าแจ้งความกับ ปอท. ให้สืบสวนเอาผิดฌอน โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา เช่น ม.59 ประกอบ ม.341 และ ม.343 ฐานฉ้อโกงประชาชน, ฐานยักยอกทรัพย์ ตาม ม.352 และความผิดตาม ม.14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 แก้ไขเพิ่มเติม 2560 และปรากฎโดยชัดแจ้งว่ามิได้ขออนุญาตจากนายอำเภอเมืองเชียงใหม่ ในการขอรับบริจาคด้วย จึงเข้าข่ายความผิดตาม ม.6 ม.17 ประกอบ ม.5(3) แห่งพ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร 2487 ด้วย ซึ่งมีอัตราโทษหลายกรรม รวมแล้วอาจถูกจำคุกไม่เกิน 8 ปี ปรับไม่เกิน 7.4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

    12. ล่าสุด วันที่ 3 ก.ค. 2563 ทางบริษัทผู้จัดงานปลูกป่าอันเป็นที่มาของคลิปชม พล.อ. ประวิตร ได้ออกมาชี้แจงว่ามีการเชิญฌอนไปร่วมงานปลูกป่าจริง แต่คลิปวิดีโอดังกล่าวนั้นเป็นการแสดงความเห็นส่วนบุคคล อยู่นอกเหนือขอบเขตการจ้างงานที่ระบุไว้

    13. และสำหรับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นหนึ่งในชนวนเหตุของเรื่องนี้นั้น วันที่ 30 มิ.ย. 2563 สื่อได้ไปสอบถามถึงเรื่องดังกล่าว ที่กลายเป็นกระแสว่ารัฐบาลได้มีการจ้างให้ฌอนช่วยทำประชาสัมพันธ์หรือไม่ ซึ่ง พล.อ. ประวิตร ก็ได้ตอบกับผู้สื่อข่าวว่า สื่อต้องไปถามคุณฌอนเองว่า มีการจ้าง PR ไปปลูกป่าหรือไม่ ผมไปในงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยัน ผมไม่เคยรู้จักคุณฌอนไม่เคยเห็นหน้ากันเลย 

    จี้สอบทุจริตงบพิมพ์ตำราเรียน เหตุองค์การค้า สกสค. เจ๊ง

    นายอารีย์ สืบวงศ์ ที่ปรึกษาและอดีตประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา (ขวา)

    1. วันที่ 30 มิ.ย. 2563 มีการเผยแพร่ข่าว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้ประกาศคำสั่งเลิกจ้างพนักงานจำนวน 961 คน โดยมีผลเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563

    2. วันที่ 3 ก.ค. 2563 องค์การค้าของ สกสค. (องค์การค้าฯ) มีมติให้จ่ายเงินบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพนักงานและเจ้าหน้าที่ถูกเลิกจ้างทุกคนรายละ 1 แสนบาท ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2563 เป็นต้นไป

    3. ก่อนหน้านั้น วันที่ 2 ก.ค. 2563 นายนิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา พร้อมด้วยนายอารีย์ สืบวงศ์ ที่ปรึกษาและอดีตประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา แถลงข่าวเรียกร้องให้คณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ ทบทวนมติเลิกจ้าง พร้อมชี้แจงสาเหตุที่ทำให้องค์การค้าฯ ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง

    4. นายอารีย์สรุปเหตุที่องค์การค้าของ สกสค. ต้องเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า เนื่องจากองค์การค้าฯ ทนแบกภาระค่าใช้จ่ายค่าจ้างพนักงานไม่ไหว รวมทั้งมีปัญหาขาดสภาพคล่อง และมีหนี้สินล้นพ้นตัวประมาณ 5,700 ล้านบาท จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานขององค์การค้าทั้งหมด

    5. นายอารีย์บอกว่าในช่วงปี 2541-2543 องค์การค้าฯ ยังมีกำไรสะสมเหลืออยู่ ช่วงไหนบริหารงานขาดทุนก็ไปเอากำไรสะสมมาใช้ และก็ใช้จนหมดในปี 2543 พอถึงปี 2544 เมื่อไม่กำไรสะสมแล้วก็ทำโครงการเสนอกู้ธนาคาร แต่เมื่อได้เงินมาก็นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และแม้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงแต่ก็ไม่เคยได้เห็นผลการสอบสวน

    “ที่ผ่านมาสหภาพฯ ก็ไม่ได้ละเลย เราได้ทำเรื่องไปร้องเรียนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), คณะกรรมการ ป.ป.ช., กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักนายกรัฐมนตรี ไปตรวจสอบดูได้ที่หน่วยงานเหล่านี้ บางเรื่องถูกชี้มูลมาแล้ว ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และองค์การค้าฯ ก็แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่จนถึงวันนี้ไม่มีเรื่องไหนที่ได้ข้อสรุป”

    6. นายอารีย์กล่าวถึงอีกสาเหตุที่ทำให้องค์การค้าฯ ขาดทุนมาหลายปีว่า เป็นเพราะการว่าจ้างเอกชนมารับงานพิมพ์หนังสือแทน โดยอ้างเหตุผลว่าองค์การค้าฯ ผลิตหนังสือไม่ทันตามเวลาที่กำหนด

    7. นายอารีย์ระบุว่า การจ้างพิมพ์ภายนอกเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้องค์การค้าฯ ขาดทุน เพราะเมื่อจ้างเอกชนพิมพ์ ก็ต้องรับภาระต้นทุนทั้งในส่วนขององค์การค้าฯ และในส่วนที่ต้องจ่ายให้เอกชน เพราะทั้งเอกชนและองค์การค้าฯ ล้วนมีค่าแรง เครื่องจักร ฯลฯ และยังต้องบวกกำไร 10%

    8. ทว่า เมื่อมาถึงองค์การค้าฯ ซึ่งมีหน้าที่จำหน่าย ทั้งที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการก็สั่งให้ตรึงราคาหนังสือ จึงเป็นเหตุให้ขาดทุน

    9. นายอารีย์กล่าวทิ้งท้ายว่า “ข้อเรียกร้องของสหภาพฯ คือ เรื่องการทุจริตก็ต้องสอบให้สัมฤทธิ์ผล ผมอยากจะฝากไปถึงคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. ขอให้ทบทวนมติดังกล่าว รวมทั้งยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าฯ นี่คือจุดยืนของสหภาพฯ”

    อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่

    อ่านแถลงการณ์สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา

    คราฟต์เบียร์จ่อฟ้องศาลปกครองกรณีห้ามขายออนไลน์

    1. วันที่ 2 ก.ค. 2563 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 17 (ครั้งที่ 1/2563) ที่ประชุมเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ (ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์)

    2. สาเหตุหลักที่ทำให้เห็นด้วยคือ ควบคุมเรื่องอายุ เวลา และสถานที่ได้ยาก ทำให้ยากต่อการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และการจัดเก็บภาษีเนื่องจากอาจมีการสั่งซื้อนอกเวลาและสถานที่ที่อนุญาต ทำให้ตรวจสอบได้ยาก

    3. วันที่ 3 ก.ค. 2563 มีรายงานข่าวว่ากลุ่มผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว ได้หารือกันเตรียมฟ้องศาลปกครองขอความคุ้มครองชั่วคราว เพราะได้รับความเดือดร้อนจากคำสั่งรัฐฉบับนี้

    4. แหล่งข่าวรายหนึ่งเปิดเผยกับเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจในรายงานข่าวเดียวกันนั้นว่า ทางการไม่เคยสอบถามหรือขอความเห็นผู้ประกอบการ เป็นแนวคิดที่ถอยหลังลงคลอง และปิดกั้นธรุกิจคนไทย แต่ธรุกิจต่างชาติทำได้ วิธีตรวจสอบ อายุ ผู้ซื้อมี แต่ไม่ทำ เลือกเอาวิธีการห้าม เป็นการทำงานที่เอาง่ายๆ ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้รายเล็กไม่รอดในระยะสั้น และในระยะยาวรายใหญ่ก็เสียเปรียบต่างชาติ

    แบรนด์ต่างชาติหลายร้อยแห่บอยคอตเฟซบุ๊ก เหตุเมินเฮทสปีช

    มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่มาภาพ : https://edition.cnn.com/2018/03/21/politics/zuckerberg-cnn-interview-analysis/index.html

    เว็บไซต์บล็อกนันรายงานว่า จนถึงตอนนี้ มีธุรกิจแห่บอยคอตเฟซบุ๊กจากปัญหาเฮทสปีช (hate speech) ร่วมกว่า 400 แบรนด์แล้ว ตัวอย่างแบรนด์ใหญ่ๆ คือ Coca-Cola, Starbucks, Verizon ชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการบอยคอตในวงกว้างคือเฟซบุ๊กนิ่งเฉยต่อโพสต์คุกคามผู้ประท้วงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ลบออก และไม่แปะป้ายเตือนว่าเป็นเนื้อหารุนแรง

    การบอยคอตเฟซบุ๊กมาจากแคมเปญ Stop Hate for Profit ก่อตั้งโดยกลุ่มสิทธิพลเมืองหลายกลุ่ม ตั้งขึ้นหลังการตายของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd — คนผิวดำที่เสียชีวิตจากการจับกุมของเข้าหน้าที่ตำรวจทั้งที่ไม่ได้แสดงการขัดขืน) เป้าหมายของแคมเปญคือร่วมกันกดดันเฟซบุ๊กให้แก้ไขปัญหาเฮทสปีชอย่างจริงจัง และเรียกร้องให้แบรนด์หยุดซื้อพื้นที่โฆษณาบนเฟซบุ๊กด้วย

    Reuters ยังรายงานว่า ผู้บริหารใหญ่ในเฟซบุ๊กอย่างเชอริล แซนด์เบิร์ก, คริส คอกซ์ และอาจจะรวมถึงตัวมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะนัดพูดคุยกับกลุ่มก่อตั้งแคมเปญ Stop Hate for Profit

    ด้านเฟซบุ๊กออกมาโต้ข่าวยืนยันว่า บริษัทไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากความเกลียดชัง มีเนื้อหามากมายถูกส่งเข้ามายังเฟซบุ๊กและทางแพลตฟอร์มก็มีการลบเนื้อหาเกลียดชังอยู่ตลอด แต่ในบางครั้งการตรวจจับเนื้อหาเกลียดชังก็เหมือนหาเข็มในกองหญ้า นอกจากนี้ยังอ้างรายงานของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ระบุว่าเฟซบุ๊กสามารถประเมินเนื้อหาเกลียดชังได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่ายูทูบและทวิตเตอร์