ThaiPublica > เกาะกระแส > อนุมัติคลังค้ำเงินกู้ Soft Loan สธค. 2,000 ล้านบาท – ตั้ง “เธียรชัย ณ นคร” นั่ง ปธ.กก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

อนุมัติคลังค้ำเงินกู้ Soft Loan สธค. 2,000 ล้านบาท – ตั้ง “เธียรชัย ณ นคร” นั่ง ปธ.กก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

19 พฤษภาคม 2020


ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งนอกจากที่ ครม. มีมติอนุมัติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการโดยศาลแล้ว มติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้

นายกฯ ขอบคุณ จนท. ขอคำนึงประโยชน์ ปชช.และชาติเป็นหลัก

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคน และทุกภาคส่วน ทั้งเรื่องของการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน และบุคลากรในหน่วยงาน โดยได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ลงพื้นที่ตรวจสอบ พิจารณาหาแนวทางให้ความช่วยเหลือ ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้มีสภาพที่ดีขึ้น

สำหรับเรื่องการศึกษาออนไลน์ ซึ่งยังมีประชาชนสับสนถึงวิธีการศึกษาออนไลน์นั้น นายกรัฐมนตรีขอให้ทำความเข้าใจชี้แจงกับประชาชนว่าเป็นเพียงวิธีการศึกษาชั่วคราวในช่วงนี้เท่านั้น หากสถานการณ์แพร่ระบาดการติดเชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลายขึ้น จะกลับมาทำการเรียนการสอนแบบปกติต่อไป โดยมอบหมายให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกัน

ทั้งนี้ ขอให้รักษาระยะห่างทางสังคมต่อไปอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในห้างร้าน สถานประกอบการต่างๆ รวมถึงสถานที่ราชการ และธนาคารขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม เน้นย้ำให้ประชาชนมีวินัย ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ ส่วนมาตรการปลดล็อกระยะที่สามจะพิจารณาปลดล็อกกิจกรรม รวมถึงกิจการบางประเภทอย่างเหมาะสมต่อไป พร้อมกับฝากให้พิจารณาแผนฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคสาธารณสุขหลังจากพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดฯ

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า สำนักข่าว U.S.News & World Report สำนักข่าวจากสหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่ข่าว ความเห็น และผลการจัดอันดับต่างๆ ที่ได้รับความนิยมได้เปิดเผยผลการจัดอันดับประเทศที่เหมาะสมการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลกประจำปี 2563 หรือ Best Countries to Start a Business 2020 โดยสำรวจจากผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจในการลงทุนของธุรกิจต่างๆ จำนวน 6,000 ราย พบว่าประเทศไทย ติดอันดับ 1 ของโลก เป็นประเทศที่ดีสุดในการเริ่มต้นธุรกิจจากทั้งหมด 73 ประเทศ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย

ในส่วนของการยกเลิกสารพิษ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณาสารทดแทน และการนำเข้า กำชับให้พิจารณาทุกอย่างให้รอบคอบ ไม่ให้เกิดผลกระทบตามมา สำหรับกรณีประชาชนออกมารวมกลุ่มต่อต้านโครงการต้นแบบอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา ต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงผลกระทบ และประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นหลัก ขอให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย

ลดหย่อนค่าธรรมเนียมโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ในภารกิจของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) โดยประกาศดังกล่าวเป็นการขยายกรอบระยะเวลาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมาย

“ในรายละเอียดกำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากอัตราร้อยละ 2 และร้อยละ 1 ตามลำดับ เหลือร้อยละ 0.01 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2563 – 7 มิถุนายน 2565”

ประกาศดังกล่าวเป็นเฉพาะกรณีเจ้าของที่ดินโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ และ บจธ. โอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เกษตรกรหรือผู้ยากจน รวมทั้งการจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่ บจธ. เป็นผู้รับจำนองจากเกษตรกรหรือผู้ยากจนในส่วนที่ผู้ขอจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องชำระ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งได้เคยออกประกาศแล้ว 2 ครั้ง โดยประกาศครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดในวันที่ 8 มิถุนายน 2563

ทั้งนี้ มีการประมาณการสูญเสียรายได้ของรัฐไว้จำนวน 14,126,450 บาท จากโครงการต่างๆ ที่คาดว่าจะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2565 แต่มีประโยชน์ช่วยทำให้เกษตรกรและผู้ยากจนมีที่ดินทำกิน ในเชิงเกษตรกรรม แก้ปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน ป้องกันปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินไปสู่นายทุนหรือผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่

รับทราบผลสัมฤทธิ์การ WFH – 100% มอบหมายงานให้ทำงานที่บ้าน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. รับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (work from home) ของ 140 ส่วนราชการพบร้อยละ 100 มอบหมายงานให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่บ้าน และมีการเหลื่อมเวลาทำงานในสถานที่ราชการ เว้นงานบริการประชาชนและงานรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ลดความแออัดและลดความเสี่ยงในการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

สำนักงาน ก.พ. ได้เสนอรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งฯ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 1 (สรุปข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2563) โดยพบว่า ทั้ง 140 ส่วนราชการมีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ซึ่งครบร้อยละ 100 โดย 74 ส่วนราชการ (ร้อยละ 53) กำหนดให้ร้อยละ 50 ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงานนอกสถานที่ในหลายรูปแบบต่างๆ เช่น การทำงานที่บ้านสลับกับมาทำงานที่ส่วนราชการ

ในส่วนการเหลื่อมเวลาทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการนั้น พบว่ามีการเลือกใช้การเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 07.30-15.30 น. เวลา 08.30-16.30 น. หรือเวลา 06.00-14.00 น. เวลา 14.00-22.00 น. เวลา 22.00-06.00 น. เช่น กรมประมง กรมทางหลวง

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทำงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติ ในงานที่มีความจำเป็น เช่น งานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล งานตามนโยบายเร่งด่วนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งบางตำแหน่ง เช่น ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการสำนัก/กอง เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังพบว่าได้มีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการทำงาน เช่น การลงเวลาผ่านระบบออนไลน์ การประสานงานผ่านแอปพลิเคชัน LINE, Zoom, Microsoft Teams, Cisco, WebEx และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม หลายที่ยังคงมีข้อจำกัด ทั้งขาดอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน สัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเจ้าหน้าที่ขาดความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงาน และงานบางประเภทไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ เช่น งานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล งานในห้องปฏิบัติการ งานภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน งานความลับ เป็นต้น

ดังนั้น สำนักงาน ก.พ. จึงได้เสนอแนะการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การจัดให้มีอุปกรณ์หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ต้องมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิตให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติราชการในสถานที่ตั้งอย่างเหมาะสม เช่น จุดคัดกรองโดยมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ และเตรียมน้ำยาล้างมือฆ่าเชื้อโรค กำหนดระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น โดยหัวใจสำคัญต้องเน้นประสิทธิภาพในการทำงานให้บรรลุผลตามเป้าหมายและคุณภาพของการทำงานและการให้บริการต้องไม่ลดลง

รับทราบแนวทางโครงการนม-อาหารกลางวันโรงเรียน รับมือโควิด 19

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. รับทราบแนวทางการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและการสนับสนุนอาหารกลางวันในโรงเรียนรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้มั่นใจได้ว่านักเรียนกลุ่มเป้าหมายทุกคนจะได้รับสิทธิตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน ที่มีคุณภาพ ถูกหลักอนามัย อย่างต่อเนื่องและครบถ้วนสอดคล้องกับปฏิทินการเปิดภาคเรียน

“จากประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้โรงเรียนทั้งในและนอกระบบซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กระทรวงศึกษาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กำหนดแนวทางที่เหมาะสม เตรียมความพร้อมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ให้นักเรียนได้ดื่มนมจำนวน 260 วันต่อปีการศึกษา โดยภาคเรียนที่ 1/2563 กรณีเปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ให้นักเรียนบริโภคนมชนิด ยู เอช ที ตั้งแต่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563 กรณีเปิดภาคเรียนหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 หรือจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ สลับวันมาเรียน ให้นักเรียนบริโภคนมชนิด ยู เอช ที ตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ”

สำหรับโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนนั้น ให้นักเรียนตั้งแต่เด็กเล็ก และชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับประทานอาหารกลางวัน จำนวน 200 วันต่อปีการศึกษา โดยอุดหนุนเงินอัตรา 20 บาทต่อคนต่อวัน สำหรับกรณีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือกรณีการสลับวันมาเรียน ให้จ่ายงบประมาณค่าอาหารกลางวันนักเรียนให้แก่ผู้ปกครองนักเรียนเพื่อนำไปจัดหาอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทานที่บ้าน รวมถึงอาหารมื้ออื่นๆ ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเคยจัดให้ ตั้งแต่วันเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ กรณีมีการจัดการเรียนการสอนชดเชยนั้น ให้โรงเรียนดำเนินการจัดอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนที่โรงเรียนได้เช่นเดียวกับวันจัดการเรียนการสอนตามปกติ

ครม. เห็นชอบความร่วมมือความร่วมมือด้านไปรษณีย์ไทย-ญี่ปุ่น

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. เห็นชอบและอนุมัติการลงนามร่างบันทึกความร่วมมือด้านไปรษณีย์ระหว่างกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่นและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย (Memorandum of Cooperation in the Postal Field between the Ministry of Internal Affairs and Communications of Thailand) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านไปรษณีย์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเปลี่ยนการลงนามเป็นรัฐมนตรีว่าการของทั้งสองฝ่ายเพื่อยกระดับความร่วมมือด้านไปรษณีย์

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมลงนามร่างบันทึกความร่วมมือฯ ฉบับใหม่ ที่ทดแทนฉบับเก่าที่สิ้นสุดการบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา และให้มีระยะเวลา 3 ปีหลังจากลงนาม โดยยังคงหลักการเดิม แต่ปรับเพิ่มกิจกรรมให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และการดำเนินงานในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การแปลงที่ทำการไปรษณีย์ในประเทศไทยให้ประชาชนได้นำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหรือผลิตภัณฑ์เกษตรมาขายในช่องทางออนไลน์

สำหรับขอบเขตความร่วมมือประกอบด้วยการแบ่งปันข้อมูลและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายด้านไปรษณีย์ของทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างไปรษณีย์ญี่ปุ่นและไปรษณีย์ไทย ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเอกชน/รัฐของญี่ปุ่น (Japanese private/public agencies) และไปรษณีย์ไทย รวมถึงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการไปรษณีย์และที่ทำการไปรษณีย์ การเชื่อมโยงระหว่างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของญี่ปุ่น และไปรษณีย์ไทยในการเอาสินค้าท้องถิ่นมาเชื่อมกันให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าของสองประเทศ

ประวิตรเผยเร่งรัดศึกษาเพิ่มสิทธิประโยชน์เมืองอัจฉริยะแข่งขันอาเซียน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่าพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีรายงานการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ผ่านมาได้ประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ 27 เขตทั่วประเทศ มีความก้าวหน้าของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้นแบบใน 4 พื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร พื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน จังหวัดชลบุรี พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และจังหวัดภูเก็ต

โดยคณะกรรมการฯ ได้เร่งรัดศึกษาเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ในการสร้างแรงจูงใจเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สามารถแข่งขันในระดับอาเซียนได้ อีกทั้ง ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธาน และได้เตรียมความพร้อม ในการสานต่อความร่วมมือด้านเมืองอัจฉริยะอาเซียน โดยให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นผู้แทน เข้าร่วมการประชุม ASEAN Smart Cities Network (ASCN) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ณ เมือง ฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ประวิตรระบุแหล่งน้ำหลัก ในภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำน้อย

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีระบุจากการที่ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าอ่างเก็บน้ำประแสร์ และแหล่งน้ำหลักอื่นๆ ในภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำน้อยมาก

จึงขอให้หน่วยงานด้านน้ำวางแผนเก็บกักน้ำ และการสูบน้ำจากแม่น้ำเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อใช้ในฤดูแล้งปีต่อไป ไม่ปล่อยให้น้ำไหลลงทะเลโดยสูญเปล่า ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมควรวางแผนการสำรองน้ำให้เพียงพอกับความต้องการ ภาคเอกชนควรหาแนวทางร่วมลงทุนผลิตน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคให้เพียงพอต่อการใช้น้ำของทุกภาคส่วน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเร่งขับเคลื่อน โครงการด้านน้ำ รองรับการขยายตัวของพื้นที่ EEC ในทุกมิติ พร้อมกับขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำตามแผนอย่างเคร่งครัดด้วย

อนุมัติคลังค้ำเงินกู้ Soft Loan สธค. 2,000 ล้านบาท

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ว่า ตามที่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 เรื่องอนุมัติการกู้เงิน Soft loan ของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) จำนวน 2,000 ล้านบาท จากธนาคารออมสิน เป็นการเตรียมเงินทุนหมุนเวียนรองรับธุรกรรมการให้บริการรับจำนำแก่ประชาชน ในโครงการ สธค. โรงรับจำนำของรัฐ สู้ภัยโควิด 19 โดยการขยายเวลาตั๋วรับจำนำและลดดอกเบี้ยรับจำนำ

เพื่อให้เป็นไปตามการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ได้กำหนดเงื่อนไขให้กระทรวงการคลังค้ำประกันโครงการ สธค. โรงรับจำนำของรัฐ สู้ภัยโควิด-19 ทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์จึงได้เสนอ ครม. เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มเงื่อนไขดังกล่าว

วันนี้ ครม. จึงได้ทบทวนมติเดิม โดยปรับเพิ่มเงื่อนไขให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันในการกู้เงินซอฟต์โลนจากธนาคารออมสิน จำนวน 2,000 ล้านบาท ของสำนักงานธนานุเคราะห์ ส่วนการปรับเป้าหมายผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่เป็นตัวชี้วัดทางการเงิน (ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้สุทธิจากการดำเนินงาน) และตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ทางการเงิน (การดำเนินงานตามแผนธุรกิจ) ครม. มอบให้สำนักงานธนานุเคราะห์ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

เห็นชอบ ร่าง พ.ร.ฎ.เว้นกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลบางส่วนอีก 1 ปี

นางสาวรัชดากล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ โดยมิให้นำบทบัญญัติเฉพาะในหมวด 2 หมวด 3 หมวด 5 หมวด 6 หมวด 7 และความในมาตรา 95 ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้บังคับแก่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นหน่วยงานหรือกิจการตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ถึง 31 พฤษภาคม 2564 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบทบัญญัติให้ผู้ควบคุมข้อมูลต้องจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงดิจิทัลฯกำหนด

ทั้งนี้ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในบัญชีท้าย เช่น หน่วยงานรัฐ มูลนิธิ สมาคม กิจการด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การแพทย์และสาธารณสุข การเงินการธนาคาร การท่องเที่ยว ฯลฯ ในกรณีที่มีปัญหาว่าหน่วยงานหรือกิจการใดเป็นหน่วยงานหรือกิจการตามบัญชีท้ายนี้ให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นผู้วินิจฉัย

“ก่อนหน้าการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ กระทรวงดิจิทัลฯได้ประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มสมาคมและภาคธุรกิจด้านต่างๆ เช่น คณะกรรมการร่วม (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย) สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมวินาศภัย และได้รับทราบความไม่พร้อมของภาคเอกชนในการลงทุนเพื่อดำเนินการปรับปรุงกระบวนงานด้านระบบสารสนเทศ และพัฒนาบุคคลากรจำนวนมากเพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด”

เนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้เกิดการขาดสภาพคล่อง มากไปกว่านั้น ณ เวลานี้ ยังมีหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลบางส่วนที่ยังไม่ได้ประกาศอย่างชัดเจน จึงอาจทำให้หน่วยงานรัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้โดยไม่ตั้งใจ รวมทั้งอาจเป็นช่องทางให้ผู้ที่ทุจริตหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ดังนั้น ครม. จึงได้เห็นชอบในหลักการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในบางหมวด เป็นเวลา 1 ปี และแม้จะมีการยกเว้น ผู้ควบคุมข้อมูลจำเป็นต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงดิจิทัลฯกำหนด

ครม. เห็นชอบรายชื่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวม 10 คน โดยมีรายชื่อดังนี้

1) นายเธียรชัย ณ นคร เป็นประธานกรรมการ

2) นายนวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

3) พันตำรวจโท เธียรรัตน์ วิเชียรสรรค์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

4) นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

5) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสังคมศาสตร์

6) นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย

7) ศาสตราจารย์ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย

8) ศาสตราจารย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสุขภาพ

9) นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงิน

10) นางเมธินี เทพมณี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านอื่น (การบริหาจัดการข้อมูลภาครัฐ)

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธานกรรมการ และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และอัยการสูงสุด โดยคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีอำนาจและหน้าที่ เช่น

1) จัดทำแผนแม่บทการดำเนินงานด้านการส่งเสริมและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง 2) กำหนดมาตรการ ออกประกาศเกี่ยวกับระเบียบและหลักเกณฑ์การให้คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ส่งหรือโอนไปยังต่างประเทศ 3) กำหนดข้อปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นแนวทางให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลปฏิบัติ 4) ตีความและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้พระราชบัญญัตินี้ และ 5) ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดทักษะการเรียนรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่ประชาชน รวมถึงการสนับสนุนการวิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ครม. เห็นชอบเบิกงบกลางค่าใช้จ่ายในการการกักกันผู้เข้าประเทศ

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการตามนโยบายของรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบการแยก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตอาการของบุคคลโดยเฉพาะผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากงบกลางได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณกำหนด

ทั้งนี้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้มีนโยบายให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ กักกันตัวเป็นเวลาประมาณ 14 วัน ณ สถานที่ที่รัฐจัดให้ (state quarantine) โดยมอบหมายหน่วยงานให้รับผิดชอบทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม จัดหาที่พัก อาหาร และยานพาหนะ รวมทั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมโรคให้แก่ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (26 มีนาคม 2563) จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้กันทั่วโลก โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์แก่การป้องกันการติดต่อและแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งรัฐธรรมนูญยังบัญญัติให้บุคคลมีสิทธิได้รับการปกป้องและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วย

เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมทางไกลฯ ว่าด้วยโควิดฯ

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. มีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่อาวุโสสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดียว่าด้วยความร่วมมือและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ของไทยในฐานะประเทศสมาชิก IORA ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข รวมทั้งเป็นการแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศระหว่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ ร่างถ้อยแถลงฯ มีสาระสำคัญ คือแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียและผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และรับทราบความพยายามและความท้าทายของแต่ละประเทศสมาชิกในการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมทั้งสนับสนุนบทบาทและการดำเนินการขององค์การอนามัยโลกในการควบคุมและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 20192 รวมทั้งแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลมาตรการและแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศ การจัดตั้งช่องทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลการเปิดตลาดการค้าการลงทุน ความร่วมมือพหุภาคี การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

โดยเฉพาะประเทศสมาชิกที่เปราะบางและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด โดยด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสำนักเลขาธิการสมาตมแห่งมหาสมุทรอินเดีย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทางไกลเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิกและคู่เจรจาสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดียว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมกันกำหนดแนวทางความร่วมมือของประเทศสมาชิกและคู่เจรจาของ IORA ในการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019และความร่วมมือในอนาคต ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 นี้

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เพิ่มเติม