ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ แจงเงินบริจาคโควิด เก็บไว้ดูแล “หมอ-พยาบาล”- มติ ครม. คืนประกันค่าไฟกว่า 30,000 ล้าน

นายกฯ แจงเงินบริจาคโควิด เก็บไว้ดูแล “หมอ-พยาบาล”- มติ ครม. คืนประกันค่าไฟกว่า 30,000 ล้าน

10 มีนาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายกฯ แจงเงินบริจาคโควิด เก็บไว้ก๊อก 2 ดูแล “หมอ-พยาบาล”- มติ ครม. จัดแพกเกจชุดใหญ่ เยียวยาไวรัส โคโรนา คืนประกันค่าไฟกว่า 30,000 ล้าน

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

สั่งวัฒนธรรมตรวจปมลดพื้นที่โบราณสถานยะลา

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถาม กรณีที่มีชาวบ้านและนักวิชาการขอให้รัฐบาลตรวจสอบคำสั่งอธิบดีกรมศิลปากรที่ให้ลดพื้นที่โบราณสถานเขายะลา เพราะเป็นห่วงว่าจะมีการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนโรงโม่หินหรือไม่ ว่า ได้มีการชี้แจงกับกรมศิลปากรไปแล้วว่าไม่ได้มีการเพิกถอนอะไร และได้สั่งให้กระทรวงวัฒนธรรมไปตรวจสอบแล้ว ก็คงจะมีความคืบหน้ารายงานให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามในประเด็นมีขบวนการใต้ดินเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลหรือไม่

“ขอโทษ” ปชป. กรณีให้สัมภาษณ์เรื่องถอนตัวจากพรรคร่วมฯ

พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวขอโทษที่ช่วงเช้าแสดงความคิดเห็นกรณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้พรรคถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลหลังเกิดปัญหาคณะทำงานของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กักตุนหน้ากากอนามัย ว่า “พูดเร็วไปหน่อยที่บอกว่าจะถอนก็ถอนไป แต่จะถอนตัวหรือไม่ เป็นเรื่องมติของพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนที่ใครจะออกมาพูดหรือวิจารณ์ ผมไม่อยากไปตอบโต้”

ทั้งนี้ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลตนให้สิทธิในการตัดสินใจกับแต่ละพรรค ซึ่งตนได้พูดคุยกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ซึ่งนายจุรินทร์จะรับไปพิจารณาตามมติของพรรค ซึ่งเป็นกลไกลทางการเมือง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้รัฐบาลมีปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไขไปพร้อมกันคือ ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นมาตรการแก้ไขปัญหาที่ผ่าน ครม. วันนี้เป็นมาตรการระยะแรก หลังจากรับฟังความคิดเห็นและประเมินศึกษาแล้ว จะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาอีกเป็นระยะๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง

“ช่วงนี้ผมไม่อยากพูดเรื่องการเมือง ขอให้ผ่านพ้นปัญหา 3 เรื่องนี้ไปก่อน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

สั่งกระทรวงอุตฯ ผลิตหน้ากากผ้าเพิ่ม 20 ล้านชิ้น

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามมาตรการในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ว่า วันนี้รัฐบาลได้มีการจัดทำหน้ากากอนามัยเพิ่มเติมแล้ว ทั้งหน้ากากผ้า 50 ล้านชิ้น ที่ได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปหาวิธีการดำเนินการในการทำหน้ากากผ้าเพิ่มอีก 20 ล้านชิ้น ซึ่งจะนำมาใช้แจกจ่ายให้กับประชาชนเพิ่มเติม อย่างน้อยจะเป็นการช่วยบรรเทาสถานการณ์การขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้ด้วย

“วันนี้ปริมาณการผลิตของเราจำกัด วันนี้ไปตรวจสอบในทุกขั้นตอนยังไม่พบข้อผิดปกติ ยังต้องตรวจต่อไปว่าทำไมร้านค้าถึงมีจำหน่ายไม่พอ ท่านต้องเข้าใจประเด็นแรกว่าปริมาณหน้ากากฯ เราผลิตได้เท่าไรต่อเดือนต่อวัน”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการไปแจกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์นั้น กรมการค้าภายในร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อจัดสรรหน้ากากฯ ให้เหมาะสมกับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งในวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมาได้จัดหน้ากากฯ ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลอื่นๆ ในต่างจังหวัดอีกหลายแห่งไปแล้ว

ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มีการสนับสนุนเพิ่มจำนวนการผลิตจาก 100,000 ชิ้นต่อวัน เป็น 700,000 ชิ้นต่อวัน และได้ทำการกระจายหน้ากากฯ เหล่านี้ไปยังโรงพยาบาลที่ขาดแคลนแล้วในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งที่ไหนขาดแคลนจะมีการจัดสรรให้มีสต็อกประมาณ 1 เดือน และหากโรงพยาบาลใดยังมีปัญาหาให้แจ้งมายัง สธ. โดยด่วน

ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

ยันตั้งศูนย์บริหารโควิดฯ ไม่ซ้ำซ้อน สธ.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงสถานการณ์โควิด-19  ว่า วันนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารงานสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยมีตนเป็นหัวหน้าศูนย์ เพื่อบูรณาการการแก้ปัญหาให้ทันเวลา

“สิ่งสำคัญที่สุดท่านต้องฟังผมด้วย ต้องฟังส่วนราชการ แพทย์ด้วย วงการสาธารณสุขเขาว่าอย่างไรก็ต้องฟังตามนั้นเพราะเขาเป็นพื้นฐานในการทำงานของเรา หลายอย่างให้ตามใจมากๆ คงไม่ใช่ ก็ขอให้สอบถามข้อมูลการรักษาพยาบาลได้ที่ต้นทางที่กรมควบคุมมโรค 1422 และขอร้องอย่าแชร์ข่าวเท็จ”

ทั้งนี้ การตั้งศูนย์แถลงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และของทำเนียบฯ นั้นเป็นคนละงานกัน ซึ่งกรณีของ สธ. เป็นเรื่องของการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่ออันตราย ซึ่งเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเขา แต่ส่วนของรัฐบาลจะเป็นการรวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มาชี้แจงตรงนี้

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการรวมศูนย์ติดตามแก้ปัญหาโควิด-19 มาเป็นศูนย์เดียว พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้เพราะมีกฎหมายคนละฉบับและเป็นคนละระดับกัน โดยศูนย์บัญชาการข้อมูลข่าวสารของทำเนียบก็จะอยู่ในศูนย์ใหญ่ที่ตนเป็นประธาน โดยเป็นการเอามาตรการของศูนย์ใหญ่ไปชี้แจง ในส่วนศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเรื่องทางการแพทย์ การรักษา และการพยาบาล ซึ่งจะแยกให้เกิดความชัดเจน ที่ผ่านมาก็กล่าวหาว่านายกฯ ไม่ให้ความสนใจแล้วจะเอาอย่างไรกับตน ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้วถูกใจทุกคน ถ้าสื่อไม่เข้าใจประชาชนก็ไม่เข้าใจทั้งหมด

เมื่อถามว่า ต่อจากนี้รัฐบาลจะมีความเป็นเอกภาพในการทำงานหรือไม่ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโควิด-19 พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามว่า อะไรคือความไม่เป็นเอกภาพ

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าการทำงานของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และพรรคพลังประชารัฐขาดความเป็นเอกภาพ และมีความไม่ชัดเจนในหลายๆ เรื่อง นายกฯ กล่าวว่า “ถ้าถามว่ามีความเป็นเอกภาพหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าก็มีเอกภาพพอสมควร อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ถ้าบอกว่าที่ผ่านมามีปัญหาสะเปะสะปะก็ต้องย้อนไปนึกถึงการให้บริการคนจำนวนมาก วันแรกที่เรารับมืออาจจะไม่มีความพร้อม เพราะแต่ละวันมีคนเข้ามาไม่เท่ากัน บางวันเจ้าหน้าที่รู้กระชั้นชิด เมื่อมาถึงก็ต้องหาที่พักคอย รวมทั้งที่หลับที่นอนก็ต้องมีความพร้อม บางวันก็เตรียมไว้ 200 ก็มา 400-500 คน แต่วันนี้เรามีการตรวจสอบการเข้าประเทศ ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นเอกภาพเชิงนโยบาย แต่ยอมรับว่าในการปฏิบัติอาจมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะการบริหารจัดการกับเรื่องใหญ่ๆ แบบนี้”

แจงเงินบริจาคโควิด เก็บไว้ก๊อก 2 ดูแล “หมอ-พยาบาล”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงกรณีการขอรับบริจาคเงินเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล ว่า ขอให้ทุกคนเข้าใจเสียทีว่าทุกอย่างมีมาตรการควบคุมทั้งหมด ในการใช้จ่ายเงินบริจาคนั้นอยู่ในบัญชีทั้งหมดมีการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา การจะใช้จ่ายก็ต้องมีการเสนอเรื่องขึ้นมาจากคณะกรรมการ และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากส่วนงานต่างๆ

ทั้งนี้ได้นำไปเปรียบเทียบกับการใช้งบประมาณที่ขอรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย นั่นก็เป็นการนำเงินบริจาคไปซื้ออุปกรณ์ที่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ เช่น อุปรกรณ์ซ่อมบ้านนำไปให้ทหารซ่อมให้ และสิ่งอื่นๆ ที่งบราชการใช้ไม่ได้ก็จะใช้เงินบริจาคไปสำรองจ่ายในส่วนนี้ ที่เหลือก็เก็บไว้เพื่อนำไปใช้ในครั้งหน้าต่อไป

“เงินหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้อยู่แล้วไม่ต้องห่วง ไม่ใช่นายกฯ จะสั่งอะไรก็ได้ เอาเงินไปใช้ส่วนตัวก็ไม่ได้อีก ณ วันนี้อย่าเอาเรื่องบริจาคเงินไปตีกับเรื่องของการใช้งบประมาณภาครัฐ ตรงนี้เป็นแค่ส่วนที่จะไปเติมให้เท่านั้น ในกรณีที่แพทย์หรือบุคลากรเกิดเป็นอะไรขึ้นมาภาครัฐจ่ายให้เท่าไร เงินตรงนี้ก็จะไปเติมให้เขา ใช้แบบนี้ ยืนยันว่าไม่ได้เอามาใช้อย่างอื่นเลย เก็บไว้เป็นก๊อกสองในการดูแลแพทย์ พยาบาล”

ลั่นไทยยังเอาอยู่-คุมได้ ไม่เข้าระยะ 3

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการควบคุมป้องกันอย่างเข้มแข็งมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเฝ้าระวังคัดกรองโรคที่สนามบิน ในชุมชน โรงพยาบาล ทำให้เราสามารถตรวจสอบคัดกรองผู้ป่วยที่เข้ามาในประเทศได้รวดเร็วขึ้น

ซึ่งข้อมูลการเฝ้าระวัง ณ วันที่ 10 มีนาคม 2563 ประเทศไทยพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง 4,682 คน พบผู้ป่วยยืนยันแล้ว 53 คน รักษาหายกลับบ้านแล้ว 33 คน เสียชีวิต 1 คน และประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 32 ของโลก

“แต่รัฐบาลก็ไม่ประมาท และมีมาตรการต่างๆ ทยอยออกมาตามลำดับ ซึ่งที่ผ่านมา สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะควบคุมการแพร่ระบาดโรคในประเทศด้วยการดำเนินมาตรการต่างๆ ตามสถานการณ์อย่างเหมาะสม และตามขั้นตอน ในตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในระยะที่ 2 และยังถือว่าควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ไปถึงระยะที่ 3 ได้ ขอให้มีความเข้าอกเข้าใจทุกฝ่ายทั้งผู้เดินทาง ผู้ป่วย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

ปรับมาตรการกักตัว “ผีน้อย” ให้เฝ้าระวังอยู่บ้าน

สำหรับประเด็นการจัดการดูแลพี่น้องแรงงานไทย ที่กำลังจะเดินทางกลับจากสาธารณรัฐเกาหลี และการติดตามเฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้เดินทางมาจาก 4 ประเทศเขตติดโรค พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการคัดกรอง หากแรงงานไทยเหล่านี้มีอาการเข้าข่ายที่จะติดเชื้อก็จะนำส่งโรงพยาบาล ส่วนแรงงานที่ไม่แสดงอาการได้มีการปรับมาตรการจากที่ต้องกักตัวในพื้นที่ที่หน่วยงารรัฐกำหนด เป็นการให้ต้องเฝ้าระวังอาการตัวเองอยู่ภายในที่พักอาศัยของตัวเอง เป็นระยะเวลา 14 วัน ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของอาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

วันนี้สถานการณ์บ้านเรามีอยู่ 3 เรื่องด้วยกันที่ทุกคนต้องร่วมมือกับผมในการแก้ปัญหา 1) โควิด-19 2) ภัยแล้ง 3) เศรษฐกิจ ทั้งสามอย่างต้องใช้งบประมาณและมีมาตรการออกมารองรับทั้งสามมาตรการด้วยกัน เราก็ต้องดูงบประมาณให้เหมาะสมในการทำงาน แต่ก็ยังยืนยันว่าสุขภาพประชาชนเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะคนไทยของเรา มาตรการการควบคุม ป้องกัน จะมีออกมาเรื่อยๆ ตามลำดับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวยินดีกับประเทศจีนที่มีการควบคุมสถานการณ์ได้ดีมากยิ่งขึ้น และวันนี้ตนได้รับการติดต่อมาผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ ว่าประเทศจีนยินดีจะส่งหน้ากากอนามัยมาช่วยเหลือไทย รวมถึงเรื่องของความร่วมมือในการผลิตยาและวัคซีน สิ่งที่ทำร่วมกันมาก็มีผลในเวลานี้

นพ.สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของผู้เดินทางที่จะเดินทางมาจากประเทศ ที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเป็นเขตติดโรคนอกราชอาณาจักร รัฐบาลได้กำหนดให้มีมาตรการในการจัดการผู้เดินทางจาก 4 ประเทศเขตติดโรคนอกราชอาณาจักรต้องแสดงใบรับรองแพทย์ และหลักฐานการมีประกันสุขภาพกับสายการบิน ก่อนการเช็คอินที่สนามบินต้นทาง กำหนดให้สายการบินต้องทำการคัดกรองอาการผู้โดยสารทุกคนก่อนออกเดินทางจากสนามบินต้นทาง เป็นการรับประกันให้เรียบร้อยถึงจะให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องมายังประเทศไทยได้

สำหรับประเทศไทยเองก็มีการตรวจคัดกรองไข้และอาการสำคัญที่สนามบินทุกสนามบินในประเทศไทย และกำหนดให้ผู้เดินทางทุกคนที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต้องเฝ้าระวังอาการตัวเองอยู่ในบ้านหรือในห้องของโรงแรม เป็นระยะเวลา 14 วัน และต้องแจ้งรายงานอาการตัวเอง ตามความเป็นจริงกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคทุกวัน โดยในวันนี้ได้มีการสร้างแอปพลิเคชันในโทรศัพท์เพื่อที่จะติดตามและตรวจสอบได้ โดยมีเป้าหมายคือบุคคลเหล่านี้จะต้องไม่มีโอกาสแพร่กระจายให้คนอื่นได้ภายใต้การควบคุมของเจ้าพนักงาน

“ในกลุ่มที่เจ็บป่วยจะมีการส่งเข้าโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการตรวจอย่างละเอียดว่าไม่มีเชื้อ มีความปลอดภัย และที่สำคัญประเทศไทยได้รับยารักษาจากจีน และจะมีความร่วมมือกันในการพัฒนาวัคซีน และที่สำคัญภาครัฐได้ค้นคว้าวิจัยเรื่องสมุนไพรต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีอาการดีขึ้น” นพ.สุขุม กล่าว

เมื่อถามว่า จะมีการแจ้งเตือนถึงบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้ประชาชนได้รับทราบหรือไม่ นพ.สุขุม กล่าวว่า เนื่องจากว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลส่วนบุคคลในการดำเนินการเพื่อติดตามผู้สัมผัสให้ครบถ้วนทุกคน เราสามารถติดตามได้ครอบคลุมทุกคน และไม่มีการแพร่กระจายแม้แต่คนเดียว

แจง 3 มาตรการ คุมโควิดฯ – ห่วงทีมแพทย์หมดกำลังใจ

ในปัจจุบันมาตรการควบคุมสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน

  • การลดการแพร่กระจายเชื้อในประเทศ แบ่งเป็นการลดการกระจายเชื้อที่มาจากผู้เดินทางจากต่างประเทศ และการลดการกระจายเชื้อภายในประเทศจากผู้ที่เดินทางเข้ามาถึงประเทศ ได้มีการเปลี่ยนจากการขอความร่วมมือมาเป็นมาตรการเชิงบังคับให้ต้องเฝ้าระวังอยู่ในสถานที่ที่รัฐกำหนดให้
  • ในการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะตรวจพบที่ใดจะดำเนินการรับมาไว้ในการรักษาโดยเร็ว เข้าห้องแยกเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ชมชน และดำเนินการรักษาอย่างเต็มที่ ซึ่งในปัจจุบันได้มียาต้านไวรัสซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทางการจีนใช้รักษาในประเทศ สามารถใช้รักษาผู้ป่วยในปัจจุบันได้ และได้ใช้รักษาผู้ป่วยไทยไปหลายคนแล้ว
  • การรับมือการแพร่ระบาดในระยะต่อไป ได้มีการสั่งการโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณะสุขและในสังกัดรัฐอื่นๆ ให้เตรียมความพร้อมทั้งในการเตรียมคลินิกโรคทางเดินหายใจ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาลซึ่งได้เริ่มดำเนินการในรายพื้นที่แล้ว และการเตรียมโรงพยาบาลให้พร้อมรับคนไข้ยืนยันโควิด-19 ที่จะต้องเตรียมห้องแยกโรค และในกรณีที่มีผู้ป่วยจำนวนมากจะต้องเตรียมโรงพยาบาลเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเพื่อทำงานร่วมกันในการแลกเปลี่ยนทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นคนหรือของ

“ยืนยันว่ารัฐบาลมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ ถ้าจะบอกว่าไม่สำเร็จเลยทำมาไม่ดีสักอย่างเจ้าหน้าที่ก็จะหมดกำลังใจ ผมไม่ห่วงตัวผมยังไงก็ไม่หมดแต่เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลก็แย่กันไปหมด เขาก็เหน็ดเหนื่อยมาพอสมควร ทั้งนี้ทุกอย่างเป็นไปตามลำดับความรุนแรงของสถานการณ์ หากเทียบกับหลายประเทศวันนี้บางประเทศแรกๆ ไม่มีเลยวันนี้วันเดียวขึ้นมา 200-700 คน แต่เราขึ้นมาเท่านี้เอง ยังไม่มากยังไม่มีตายมากด้วยซ้ำไป ก็ต้องชื่นชมการทำงานของบุคลากรในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวงข้อง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

สั่ง สธ.ส่องการใช้หน้ากาก ฯ “หมอ-พยาบาล”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนได้สั่งการให้ สธ. สำรวจการใช้หน้ากากอนามัยที่ของแพทย์และพยาบาลว่าใช้กันอย่างประหยัดหรือไม่ ได้มีการนำไปแจกจ่ายข้างนอกหรือไม่ ซึ่งตนต้องขอร้องบุคลากรทางการแพทย์ให้ใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น ที่เหลือก็ให้ใช้แบบประชาชนคนอื่นทั่วไป เนื่องจากประเทศมีกำลังผลิตหน้ากากฯ เพียง 38 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือประมาณ 1 ล้านชิ้นต่อวัน เมื่อบุคลากรทางการแพทย์เอาไปส่วนหนึ่งแล้ว แน่นอนว่ายังไงก็ไม่พอตราบใดที่ยังไม่มีการนำเข้า

มอบ BOI จัดสิทธิประโยชน์โรงงานหน้ากากครบวงจร

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้นโยบายไปแล้วสำหรับการจัดตั้งโรงงานทำหน้ากากครบวงจร ซึ่งได้มีบริษัทใหญ่ๆ หลายแหล่งเสนอเข้ามาแล้ว ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปดูแลเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ รวมถึงการวางแผนเรื่องวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ผลิตหน้ากากอนามัยดังกล่าวด้วย

“ปัญหาของเราอีกประการหนึ่งคือ หากปัญหาเรื้อรังต่อไป วัสดุต้นทุนจะเอามาจากไหนอย่างไร เนื่องจากส่วนหนึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้า วันนี้เราต้องทำให้ครบวงจร แต่ตอนนี้บ้านเราไม่มีวัสดุบางอย่าง หลายประเทศที่มีความต้องการเขาก็สต็อกของเขาไว้ ส่งมาน้อยลง ราคาหน้ากากฯ ก็สูงขึ้น ฉะนั้นสิ่งเดียวที่ผมเห็นวันนี้ก็คือ หน้ากากผ้าจะช่วยลดปัญหาตรงนี้ไปได้พอสมควร” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของไทย สิ่งสำคัญวันนี้คือการเสพสื่ออย่างมีสติ บางครั้งไม่ใช่ข้อเท็จจริงพอตรวจสอบก็ไม่มี อันนี้ต้องลงโทษสถานหนัก ซึ่งผมได้เพิ่มมาตรการไปแล้วให้จับกุมในทุกเรื่อง ทั้งการกักตุนหน้ากาก เข้ามาประเทศแล้วไม่แจ้ง และการหลบหนีกระบวนการคัดกรอง

ในต่อไปตนคิดว่าจะต้องมีกระบวนการตั้งแต่สนามบินให้ผู้เดินทางเข้าประเทศต้องยินยอมให้ติดตั้งแอปพลิเคชันสำหรับติดตามอาการเจ็บป่วยในโทรศัพท์รายบุคคล หากพบว่ามีการหลีกเลี่ยงจะต้องถูกปรับ และมีโทษจำคุกด้วย ดังนั้นจึงขอให้ระมัดระวัง ในเวลาที่ประเทศอ่อนไหวทุกท่านต้องรู้จักเสพสื่อ พร้อมขอร้องสื่อโซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ข้อมูลให้ตรงกับความเป็นจริง เพราะตนไม่ต้องการให้เรื่องนี้ถูกนำมายึดโยงกับสถานการณ์ทางการเมือง และตนก็ไม่ต้องการให้มีการแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล

“ตอนนี้ขอให้ผ่านพ้นปัญหาในช่วงนี้ไปได้ก่อน มันอาจจะช้าอยู่บ้างเพราะเราทำเพื่อคนส่วนใหญ่ของทั้งประเทศ ไม่ใช่คนแค่ห้าคนสิบคน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

จัดแพกเกจเยียวยาโควิด-19 คืนประกันค่าไฟกว่า 30,000 ล้าน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครม. อนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 หรือโรคโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนเศรษฐกิจโลก โดยชุดมาตรการในครั้งนี้จะส่งผลให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดประมาณ 4 แสนล้านบาทส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ได้แก่ มาตรการทางการเงิน

  • มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินสินเชื่อรวม 150,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อ 20 ล้านบาทต่อราย โดยมุ่งเป้าที่ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก
  • ทั้งนี้ กลไกการดำเนินงานจะเป็นการปล่อยกู้จากธนาคารออมสินไปยังธนาคารพาณิชย์ด้วยดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งรัฐบาลจะทยอยชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสินในระยะต่อๆ ไป และเชื่อว่าจะไม่เป็นภาระต่องบประมาณ

  • มาตรการพักเงินต้น ขยายเวลาการชำระดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ย เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ที่ต้องการกู้เงินภายใต้วงเงิน 150,000 ล้านบาท ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
  • มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่หารือ ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน โดย ธปท.​ ได้ออกประกาศผ่อนเกณฑ์และอำนวยความสะดวกในการการเข้าถึงสินเชื่อเรียบร้อยแล้ว
  • มาตรการเสริมจากกองทุนประกันสังคมวงเงินรวม 30,000 ล้านบาทโดยจะให้สินเชื่อเริ่มต้นที่ดอกเบี้ยเริ่ม 3% ระยะเวลา 3 ปี โดยให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมและในรายละเอียดเป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคมที่จะประกาศต่อไป

สำหรับด้านมาตรการทางภาษี ได้แก่

  • มาตรการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการด้วยการลดภาษี หัก ณ ที่จ่าย 3% เหลือ 1.5% เริ่มต้นเดือนเมษายนถึงกันยายน 2563
  • มาตรการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยให้ให้สิทธิ์หักรายจ่ายดอกเบี้ย 1.5 เท่า สำหรับเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 150,000 ล้านบาท เริ่ม 1 เมษายน ถึง 31 ธันวาคม 2563
  • มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานให้บริษัทสามารถเอารายจ่ายลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน หักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่าตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
  • เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยหากยื่นแบบทางออนไลน์จะได้รับคืนภายใน 15 วันและหากยื่นกับกรมฯ จะได้คืนภายใน 45 วัน
  • ให้ลดอากรขาเข้าของวัสดุผลิตหน้ากากอนามัยระยะเวลา 6 เดือน

  • เคาะเยียวยา COVID-19 เฟสแรกกว่า 2 แสนล้าน
  • นอกจากนี้จะมีมาตรการอื่นๆ ได้แก่

    • การบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ คืนเงินประกันค่าใช้ไฟฟ้า (ค่ามิเตอร์) โดยจะมีการพิจารณาเงื่อนไขตามความเหมาะสมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน แต่คาดว่าจะคืนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท

    ด้าน รศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า มาตรการเงินประกันการใช้ไฟฟ้าซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประชุมร่วมกับกระทรวงพลังงานในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมานั้น เดิมเงินดังกล่าวจะได้คืนเมื่อยกเลิกการใช้ไฟฟ้า แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบกับเศรษฐกิจ รัฐบาลโดย ครม. จึงเห็นว่าเพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนจึงเสนอให้คืนเงินดังกล่าว โดยคาดว่าจะเริ่มคืนเงินตามมาตรการเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลเน้นกลุ่มมิเตอร์ขนาดเล็ก

    ทั้งนี้ ในส่วนของการคืนเงินประกันค่าใช้ไฟฟ้า จะคืนให้แต่ละครัวเรือนตามอัตราที่จัดเก็บไว้คือ 300 บาท, 2,000 บาท, 4,000 บาท และ 6,000 บาท ครอบคลุม 21.5 ล้านราย ภายใต้วงเงิน 30,000 ล้านบาท

    2) มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนของนายจ้างและลูกจ้าง โดยอาจมีมาตรการชั่วคราว 3-6 เดือน

    ทั้งนี้ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดต้องรอให้คณะกรรมการไตรภาคีหารือกันให้เรียบร้อย ก่อนที่กระทรวงจะออกกฎกระทรวงต่อไป อย่างไรก็ตาม การลดเงินสบทบในลักษณะนี้เป็นมาตรการที่เคยนำมาใช้ก่อนหน้านี้แล้วในช่วงที่มีเหตุจำเป็น เช่น วิกฤติการเงินโลกในปี 2551, ช่วงน้ำท่วมในปี 2554, ช่วงที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท และน้ำท่วมภาคใต้ในปี 2560

    3) มาตรการขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ ให้เลื่อนหรือลดการเก็บค่าเช่า ค่าธรรมเนียม การใช้บริการอื่นๆ กับประชาชน

    4) มาตรการให้ประชาชนได้สิทธิลดหย่อนภาษีชั่วคราวในปีภาษี 2563 จากการซื้อกองทุนเพื่อการออมระยะยาว (SSF) ในช่วง 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 โดยสามารถใช้หักลดหย่อนภาษีบุคคลเพิ่มอีก 200,000 บาทต่อราย รวมเป็น 400,000 บาทต่อราย จากเดิมที่อยู่เพียง 200,000 บาทต่อราย ทั้งนี้ อาจพิจารณาขยายช่วงระยะเวลาในอนาคตเป็นถึงเดือนกันยายน

    ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวผ่านการหารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ​สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) แล้ว

    นอกจากนี้ ครม. พิจารณาเบื้องต้นโดยกำหนดวงเงิน 20,000 ล้านบาทเตรียมเพื่อช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ถูกเลิกจ้างงาน หรือสถานประกอบการที่พนักงานอาจทำงานไม่ได้เต็มที่ การเสริมศักยภาพบุคลากร แม้ทาง ครม. จะอนุมัติแล้วแต่ต้องหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อกำหนดรูปแบบ ขอบเขตการใช้ ไว้ใช้จ่ายได้ตามความจำเป็น

    โยกงบฯที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกพัน แก้ “โควิด 19-ภัยแล้ง”

    ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงบประมาณได้นำเสนอมาตรการด้านงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง แบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ งบรายจ่ายลงทุน และงบกลาง

    ในส่วนของงบรายจ่ายประจำมีอยู่ 2 เรื่องที่ขอให้หน่วยงานรัฐทำ คือ งบรายจ่ายประจำที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศขอให้ปรับลดเงินงบประมาณรายจ่ายลงประมาณ 10% ของบประมาณรายจ่ายประจำที่ได้รับไป เพื่อที่จะเอาไปดำเนินการให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตรายย่อย รวมถึงทำให้เกิดการจ้างงานทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าเป็นส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางในไปราชการต่างประเทศ ขอให้เปลี่ยนเป็นการเดินทางในประเทศแทน หรือแปลงงบประมาณไปดำเนินการตามแนวทางที่ 1 ก็ได้ ส่วนถ้ามีแผนจะเดินทางไปประเทศเสี่ยงก็ให้ระงับและนำงบประมาณนั้นไปพิจารณาตามแนวทางที่ 1

    สำหรับรายจ่ายลงทุน มีอยู่ 2 มาตรการ คือ 1. ค่าครุภัณฑ์ที่ได้รับไป ถ้าต่ำกว่า 1 ล้านบาท และสิ่งก่อสร้างที่ตำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งแน่ชัดว่าไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ในเดือนมีนาคมนี้ ให้หน่วยรับงบประมาณโอนหรือเปลี่ยนแปลงเงินจำนวนดังกล่วไปดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์หรือสิ่งก่อสร้างอย่างอื่นที่จะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 หรือช่วยสถานการณ์ภัยแล้ง เช่น นำไปพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่สำหรับเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง โดยใช้แรงงานจากภาคเกษตร หรือจ้างเหมาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ 2. ให้พิจารณาทบทวนการจัดหาครุภัณฑ์จากต่างประเทศมาเป็นการจัดหาครุภัณฑ์จากผู้ผลิตในประเทศแทน เว้นแต่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้นในการจัดหาครุภัณฑ์จากต่างประเทศ

    สุดท้ายสำหรับงบกลาง ถ้ายังไม่ได้รับการจัดสรรงบจากสำนักงบประมาณก็ขอให้ชะลอการดำเนินการไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นรายการที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว หรือรายการที่มีคำขอ อยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม ถ้ายังไม่ได้รับการจัดสรรงบให้ชะลอไปก่อน ส่วนงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรงบไปแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการหรือก่อหนี้ผูกพันหรือบันทึกใบสั่งซื้อ (PO) ได้ภายในวันที่ 10 มีนาคม 2563 หรือวันเดียวกับที่มีมติก็ให้ยกเลิกโครงการรายการและให้แจ้งสำนักงบประมาณภายในวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2563 นี้เพื่อดำเนินการส่งคืนงบประมาณดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ในโครงการสำคัญเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง

    “ในกรณีที่หน่วยรับงบประมาณมีความจำเป็น มีภารกิจที่จะต้องดูแลบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งจำเป็นต้องใช้งบกลาง ขอให้ทุกๆ หน่วยรับงบประมาณเสนอขอรับการจัดสรรตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบกลางรายจ่ายงบกลางรายงานเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเข้ามาที่สำนักงบประมาณภายในวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2563 นี้ เพื่อจะได้พิจารณาต่อไป”

    ยกเว้นภาษีเงินบริจาคกองทุนโควิดฯ

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)) สำหรับกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมสนับสนุน การปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หน่วยงานรัฐ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชาชน ดังนี้

    • กำหนดให้บุคคลธรรรมดาบริจาคเงินให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว โดยสามารถนำมาหักเป็นคาลดหย่อนได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว
    • กำหนดให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริจาคเงินให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว โดยสามารถนำมาหักเป็นคาลดหย่อนได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
    • กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริจาคเพื่อสนับสนุนภารกิจดังกล่าว

    ทั้งนี้การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีทั้งหมดข้างต้น มีผลบังคับใช้สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร (e-Donation) ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563 จนถึง 5 มีนาคม 2564 เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยคาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลงจำนวน 150 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มาตรการนี้จะช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในด้านสาธารณสุขเพื่อการแก้ไขปัญหาโควิด-19 อีกทางหนึ่ง

    ไฟเขียวสำนักงานธนานุเคราะห์กู้เงิน 500 ล้าน

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการกู้เงินเพื่อใช้ในกิจการของสำนักงานธนานุเคราะห์ ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 500 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 9 พระราชบัญญัติบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รองรับธุรกรรมการรับจำนำของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประกันการขาดสภาพคล่องทางการเงินที่อาจส่งผลต่อการให้บริการประชาชน

    สำหรับประมาณการทางการเงินปีงบประมาณ 2563 ของสำนักงานธนานุเคราะห์คาดว่า 1) มีผู้มาใช้บริการประมาณ 1.38 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2562 ประมาณ 4 หมื่นราย คิดเป็น 3.11% จำนวนเงินรับจำนำประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 588 ล้านบาท 2) มีรายได้รวม 813 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 38 ล้านบาท คิดเป็น 4.95% มีค่าใช้จ่ายรวม 454 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 30 ล้านบาท คิดเป็น 6.97% มีกำไรสุทธิ 359 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 8 ล้านบาท คิดเป็น 2.5%

    ทั้งนี้ วงเงินกู้ดังกล่าวได้บรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้วเมื่อ 24 กันยายน 2562 และสำนักงานธนานุเคราะห์มีความสามารถชำระหนี้เงินกู้ได้อย่างต่อเนื่องเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนด จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารทางการเงินการคลังของรัฐบาลในภาพรวม

    เห็นชอบถ้อยแถลงอาเซียนต่อไวรัสโคโรนา

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็ง (ห่วงโซ่อุปทานอาเซียน) (ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจของอาเซียน) ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะมีการรับรองถ้อยแถลงในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 26 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2563 ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม

    โดยเจ้าภาพเวียดนามได้เสนอร่างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนร่วมรับรองในช่วงการประชุมดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ผ่านการดำเนินการต่างๆ เช่น

    1. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความพยายามในการประสานงานและความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อการตอบสนองต่อความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
    2. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการค้าดิจิทัลเพื่อเอื้อให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
    3. ทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานในระยะยาว โดยเฉพาะความพยายามในการเร่งรัดดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025
    4. ต่อยอดการใช้เวทีการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่มีอยู่ในอาเซียน เช่น ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน
    5. หลีกเลี่ยงความตื่นตระหนกในการหาซื้อและการกักตุนสินค้าเพื่อลดการสร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อที่ไม่จำเป็น
    6. จัดการกับอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการในห่วงโซ่อุปทาน

    คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานลูกจ้างภาครัฐ

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอและมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีปัญหาพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน โดยสืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า พนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน โดยไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ลูกจ้างควรได้รับ เช่น สิทธิการลาป่วย ลาคลอดบุตร ลากิจส่วนตัว และลาพักผ่อน โดยได้รับค่าตอบแทนระหว่างลา สิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน สิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาล และการนำเงินสมทบของผู้ว่าจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม โดยที่ส่วนราชการต่างๆ ได้จัดจ้างพนักงานจ้างเหมาบริการในรูปแบบของสัญญาจ้างทำของเพื่ออำพรางสัญญาจ้างแรงงาน ส่งผลให้พนักงานจ้างเหมาบริการไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะลูกจ้าง ทั้งที่ในทางปฏิบัติมีลักษณะการทำงานที่ไม่แตกต่างจากข้าราชการ หรือพนักงานราชการ

    สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจาก กสม. มาพิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหา โดยได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน ก.พ. กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร. กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 มีสาระสำคัญสรุปได้ว่าข้อเสนอแนะจาก กสม. มีด้วยกัน 3 ข้อ คือ

    • ควรมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างเหมาบริการพิจารณาหาแนวทางหรือมาตรการในการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานของพนักงานจ้างเหมาบริการ

    ผลการพิจารณา คือ 1) ระยะสั้น ให้กรมบัญชีกลางจัดทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจกับส่วนราชการให้ดำเนินการจ้างงานให้ถูกต้องตามประเภทการจ้างงาน หากเป็นการจ้างเหมาบริการ (จ้างทำของ) ต้องไม่ดำเนินการในลักษณะการจ้างแรงงาน คือต้องไม่มีลักษณะการควบคุมบังคับบัญชา หรือการลงชื่อปฏิบัติงาน โดยพิจารณาตามวัตถุประสงค์การจ้างงานเป็นสำคัญ สำหรับการจ่ายอัตราค่าจ้าง ให้พิจารณาในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม ต้องไม่จ่ายในอัตราที่ต่ำเกินไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้รับจ้าง 2) ระยะยาว ให้กระทรวงแรงงานและกรมบัญชีกลางเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานจ้างเหมาบริการรายบุคคล โดยสำนักงาน ก.พ. จะเป็นผู้ประสานและสนับสนุนการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมต่อไป

    • ควรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงมาพิจารณาแก้ไขปัญหาการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อพนักงานจ้างเหมาบริการของส่วนราชการทั้งหมด ให้สอดคล้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานหรือมาตรฐานขั้นต่ำที่ลูกจ้างโดยทั่วไปพึงมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายประกันสังคม

    ผลการพิจารณา คือ 1) กรมบัญชีกลางแจ้งว่า การจ้างเหมาบริการ (จ้างทำของ) ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมและไม่มีสิทธิการลา เนื่องจากขัดกับหลักกฎหมาย ต้องป้องกันไม่ให้ส่วนราชการจ้างงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีก 2) กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือซักซ้อมส่วนราชการให้บริหารสัญญาจ้างให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการจ้าง 3) กรมบัญชีกลางจะซักซ้อมส่วนราชการให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงราคากลางและความเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพนักงานจ้างเหมาบริการรายบุคคล

    • ควรเร่งศึกษาและพิจารณาทบทวนกรอบอัตรากำลังคนภาครัฐในปัจจุบันให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับภาระหน้าที่ของส่วนราชการต่างๆ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของส่วนราชการในระยะยาว

      ผลการพิจารณา คือ การใช้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวทดแทนการจ้างเหมาบริการ อาจไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นภาระงบประมาณของภาครัฐในระยะยาว และการจ้างลูกจ้างชั่วคราว

    ในปัจจุบันสามารถดำเนินการได้เฉพาะ 4 ประเภท คือ 1) ลูกจ้างชาวต่างประเทศที่มีสัญญาจ้าง 2) ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการที่มีสำนักงานในต่างประเทศ 3) ลูกจ้างชั่วคราวตามระเบียบของสถาบันอุดมศึกษาว่าด้วยการจ้างผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา 4) ลูกจ้างชั่วคราวอื่นที่มีข้อตกลงพิเศษกับกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562-2565)

    ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. จะส่งรายงานสรุปผลการพิจารณาฯ ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทราบต่อไป

    ยันไม่ต่อ VOA – ชี้คนในชาติต้องมาก่อน

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะต่ออายุมาตรการ Visa on Arrival (VOA) ที่กำลังจะหมดอายุในวันที่ 30 เมษายน 2563 นี้ ให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตรา ทั้ง 18 ประเทศ 2 เขตเศรษฐกิจ ไปอย่างไม่มีกำหนด

    “ขอให้หยุดเผยแพร่ข่าวเรื่องการต่ออายุมาตรการ VOA เพราะไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ยืนยันว่ารัฐบาลเน้นและให้ความสำคัญกับคนในประเทศเป็นลำดับแรก”

    สั่งทุกหน่วยงานประชุมในประเทศ พยุงท่องเที่ยว

    นอกจากนี้ ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเสนอมาตรการให้ทุกภาคส่วนราชการดำเนินการจัดการประชุมสัมมนาภายในประเทศ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน เพื่อช่วยกันพยุงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งระบบที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ให้ขับเคลื่อนต่อไปได้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและมติคณะรัฐมนตรี

    คืนสิทธิสาธารณสุขให้บุคคลตกหล่น 24,071 ราย

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติมจำนวน 24,071 คน ซึ่งจะครอบคลุมบริการด้านสาธารณสุข ได้แก่ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ จำนวน 61.82 ล้านบาท

    ทั้งนี้จะมีการกำหนดกรอบวงเงินตามจำนวนผู้มีสิทธิในอัตรางบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเท่ากับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 อัตรา 2,567.50 บาทต่อรายต่อปี ซึ่งสำนักงบประมาณให้ความเห็นว่า การดำเนินงานดังกล่าวจะทำให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นจำนวน 61.80 ล้านบาทต่อปี จึงเห็นควรให้สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบฯ ประจำปีตามขั้นตอนต่อไป

    อนึ่ง ผู้ที่มีสิทธิ์จะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตั้งแต่ปี 2499-2531 คือจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 36 ปี ขึ้นไป

    ปลดล็อก ถอน “กระท่อม” จากยาเสพติด

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในการยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม

    เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีการผ่อนปรนให้สามารถนำกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์หรือการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่ยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมของสังคมไทย ซึ่งพบว่ามีการใช้ในรูปแบบวิถีชาวบ้าน เช่น การนำมาชงชาหรือต้มดื่ม ในกลุ่มชาวสวน ชาวไร่ หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะในภาคใต้

    “การควบคุมพืชกระท่อมแบบยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ยังส่งผลกระทบต่อการนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมในเชิงพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จึงเห็นควรยกเลิกการควบคุมพืชกระท่อมเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย”

    อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยได้ให้กระทรวงยุติธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาให้มีกฎหมายอื่นรองรับ เพื่อควบคุมและกำกับการนำพืชกระท่อมไปใช้ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ และการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงการสร้างการรับรู้ เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ ด้านกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าการยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ควรคำนึงถึงข้อมูลทางวิชาการ ประโยชน์ที่จะได้รับ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงมาตรการที่จะมารองรับด้วย

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 10 มีนาคม 2563เพิ่มเติม