นายกฯสั่งทุกหน่วยเร่งออกมาตรการเคลียร์หนี้ประชาชน “โรงรับจำนำรัฐ” 40 แห่ง นำร่องลดดอกเบี้ยลง 50% ช่วยผู้ถือบัตรคนจน-เชิญชวนลูกหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์หนี้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน และถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ประชาชนบางกลุ่มขาดรายได้ จนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง จึงสั่งการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งกำหนดแนวทางช่วยบรรเทาภาระหนี้ประชาชน โดยข้อมูลจากกรมบังคับคดีรายงานว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-เมษายน 2564) มีคดีแพ่งเข้าสู่การบังคับคดีจำนวน 138,997 คดี คดีส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น 80-90% เป็นหนี้ครัวเรือน คือหนี้บัตรเครดิต เช่าซื้อรถ รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม คดีที่เข้ามาสู่การบังคับคดีนั้นส่วนใหญ่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นมาก่อนการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ ตามข้อสั่งการนายกฯ หลายหน่วยงานได้ร่วมกันออกมาตรการแก้ปัญหามาระยะหนึ่งแล้ว อาทิ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นความร่วมมือระหว่างทางธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานศาลยุติธรรม และกรมบังคับคดี ซึ่งประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก มีสินเชื่อที่ขอรับความช่วยเหลือแล้วกว่า 7 แสนบัญชี เข้าเงื่อนไขได้รับการช่วยเหลือประมาณ 30% ผู้ที่สนใจยังสามารถขอไกล่เกลี่ยหนี้ฯได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ และยังมี มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้เช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์ เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานศาลยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พร้อมกับผู้ให้บริการ 12 แห่ง โดยผู้เช่าซื้อสามารถเจรจาปรับลดวงเงินรายเดือน ยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือ พักหนี้ได้หากจำเป็น นับตั้งแต่เริ่มเมื่อ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา มีจำนวนผู้เช่าซื้อสนใจลงทะเบียนแล้ว 13,450 คัน และจะเปิดให้เข้าร่วมมหกรรมฯถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ 1213 ของธนาคารแห่งประเทศไทย
รวมทั้ง สถานธนานุเคราะห์ (สธค.) หรือโรงรับจำนำของรัฐทั้ง 40 แห่ง ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระรายจ่ายดอกเบี้ย ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19 แล้ว เป็นการจัดโปรโมชั่น “จ่ายคนละครึ่ง” ลดดอกเบี้ย 50% แก่ผู้มาใช้บริการที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐวงเงินจำนำไม่เกิน 5,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564 จำกัด 1 คน 1 สิทธิ์ ต่อ 1 รอบตั๋วจำนำ โดยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ สามารถส่งดอกเบี้ยที่ ณ สาขา หรือ ผ่านร้าน 7-11 หรือ กรุงไทย NEXT ได้
“ท่านนายก ฯมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เบ็ดเสร็จ โดยมอบหมายคณะทำงานศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงศ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยเน้นการขับเคลื่อน 3 เรื่องควบคู่กัน คือ การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การกำกับดูแลเจ้าหนี้เพื่อให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม และการปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติจะประกอบด้วยมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว อาทิ การใกล่เกลี่ยหนี้สินลดการดำเนินคดี เช่น หนี้กยศ. หนี้สหกรณ์ การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ อาทิ สหกรณ์ สินเชื่อรายย่อย PICO และ NANO การส่งเสริมการแข่งขันให้ดอกเบี้ยถูกลง การเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุน เป็นต้น ซึ่งความคืบหน้าการแก้ปัญหาจะมีการรายงานให้ท่านนายกทราบอย่างต่อเนื่อง” นางสาวรัชดา กล่าว
ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงมีความไม่แน่นอนและต้อง
เฝ้าระวังต่อเนื่อง การระบาดระลอกใหม่ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้รายได้ของประชาชน
ปรับลดลง ในขณะที่ภาระหนี้ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง ภาครัฐจึงได้ดำเนินมาตรการบรรเทาภาระหนี้สินมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1. งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ร่วมกันจัดขึ้นพร้อมกับผู้ให้บริการทางการเงินหลายแห่ง เพื่อเป็นช่องทางช่วยให้ลูกหนี้ได้รับข้อเสนอที่ผ่อนปรนและตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น ลูกหนี้ทุกสถานะ รวมถึงลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans: NPLs) ที่ได้เริ่มบังคับหลักประกันแล้ว สามารถเข้าร่วมไกล่เกลี่ยปัญหาที่มีกับเจ้าหนี้ได้ ทั้งนี้ งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในครั้งนี้ครอบคลุมหนี้ 3 ประเภท ดังนี้
-
1) หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน มีผู้ให้บริการทางการเงินเข้าร่วมแล้วถึง 26 แห่ง โดยลูกหนี้สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 2564
2) หนี้ที่ไม่มีหลักประกันที่ถูกโอนขายไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) โดยมี บบส. เข้าร่วมแล้ว 4 แห่ง และลูกหนี้สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2564
3) หนี้เช่าซื้อรถยนต์ มีผู้ให้บริการทางการเงินเข้าร่วมแล้วถึง 12 แห่ง โดยลูกหนี้สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2564
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ผ่านเว็บไซต์ของ ธปท. (www.bot.or.th หรือ www.1213.or.th) ผู้ให้บริการทางการเงินที่เข้าร่วมบริการ หรือติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินเพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือในการกรอกข้อมูล โทร. 1213 ในวันเวลาราชการ หรือส่งอีเมลมาที่ [email protected] เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป
2. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 โดย ธปท.ร่วมกับผู้ให้บริการทางการเงิน ยกระดับมาตรการเดิมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น มุ่งเน้นช่วยลดภาระหนี้ในระยะยาว มีทางเลือก มีความยืดหยุ่น และมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งจะครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ดังนี้
-
1) บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เน้นการบรรเทาภาระหนี้โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น กรณีเกินกว่า 48 งวด ให้ทบทวนอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราเพดาน (บัตรเครดิต ร้อยละ 12 และสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 22) ตั้งแต่งวดแรก ลดค่างวด และรวมหนี้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น
2) สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีทางเลือกในการลดค่างวด หรือพักชำระค่างวด หรือรวมหนี้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น โดยลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงให้มีทางเลือกในการคืนรถ และหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้
3) เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีทางเลือกในการลดค่างวดหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ โดยลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ให้มีทางเลือกในการพักชำระค่างวดหรือการคืนรถ รวมถึงให้คุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (Effective Interest Rate: EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม นอกจากนี้ ให้รวมหนี้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น และหากลูกหนี้สามารถชำระค่าเช่าซื้อคืนทั้งหมด ให้ลดดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
4) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน เพิ่มทางเลือกด้วยการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (Step Up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งความประสงค์รับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม 2564 ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน
นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีนโยบายและโครงการอื่น ๆ ที่เป็นช่องทางในการช่วยบรรเทาภาระหนี้สินให้แก่ประชาชน เช่น โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ให้ข้อมูลและข้อแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้รายย่อยและธุรกิจ ทางด่วนแก้หนี้ ช่องทางเสริมสำหรับให้ประชาชนแจ้งขอความช่วยเหลือด้านการผ่อนชำระหนี้ โดย ธปท. จะส่งข้อมูลที่ได้รับไปยังผู้ให้บริการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง คลินิกแก้หนี้ ช่องทางช่วยเหลือลูกหนี้ NPLs บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน เป็นต้น รวมถึงนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และนโยบายขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้ออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 สำหรับลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไข ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้โดยตรง