ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” หลับตา กลั้นใจ พาการบินไทยสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ – เตรียมลดหุ้นคลัง ถอดสภาพ “รัฐวิสาหกิจ”

“บิ๊กตู่” หลับตา กลั้นใจ พาการบินไทยสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ – เตรียมลดหุ้นคลัง ถอดสภาพ “รัฐวิสาหกิจ”

19 พฤษภาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

“บิ๊กตู่” ขออนุญาตคนไทย กลั้นใจพาการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หวังปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เชื่อเป็นทางออกดีที่สุด ยันไม่ปล่อยล้มละลาย ชี้แม้ไม่ได้สนับสนุนเม็ดเงินแต่ยังสนับสนุนการดำเนินการเต็มที่ รอวันหวนตำแหน่ง “สายการบินแห่งชาติ” อีกครั้ง – “ศักดิ์สยาม” เผย เตรียมลดหุ้นคลัง ถอด “การบินไทย” จากรัฐวิสาหกิจ เสนอชื่อ “ผู้ทำแผน” สัปดาห์หน้า

หลับตา กลั้นใจ พาการบินไทยสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการตัดสินใจของตน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤติการบินไทย ว่า “วันนี้ ผมขอแจ้งให้ทราบถึงการตัดสินใจเรื่องการบินไทยนะครับ มันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ทั้งนี้ ก็เป็นการตัดสินใจที่ผมรู้ว่า เราจะช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนทุกคนได้อย่างไร”

ในส่วนของปัญหาเรื่องนี้ ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว ในเรื่องของการมีหนี้สินต่างๆ มากพอสมควรในขณะนี้ เพราะฉะนั้นมีอยู่ 3 ทางเลือก คือ (1) หาเงินให้การบินไทยดำเนินการต่อไป (2) ปล่อยให้เข้าสู่สถานการณ์ล้มละลาย และ (3) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาล

“ที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาการฟื้นฟูไม่ได้ประสิทธิภาพมากนัก เพราะมีข้อกฎหมายอยู่หลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.แรงงาน และ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้นวันนี้เราจำเป็นที่จะต้องหามาตรการที่เหมาะสม และเราได้มีการพิจารณาร่วมกันใน คนร. และ ครม. แล้ว พวกเราทุกคนตัดสินใจว่า เราจะเลือกหนทางแบบที่ 3 ซึ่งเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และจะต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการอีกหลายขั้นตอนต่อไป เพื่อจะแก้ปัญหาภายในขององค์กร และในเรื่องของการประกอบการเพื่อให้ฟื้นฟูขึ้นมาอย่างที่พวกเราทุกคนวาดหวังไว้”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า “ผมอยากให้พวกเราทุกคนได้กลับไปคิดดูว่า เรามีการบินไทยเพื่ออะไร ในช่วงที่ผ่านมา การบินไทยควรจะเป็นองค์กรที่ช่วยสร้างชื่อเสียง และรายได้ให้กับคนไทย และมีความสามารถในการแข่งขัน มีความเข้มแข็งในตัวเอง อันนี้คือพื้นฐานการตัดสินใจของผม และนำสู่การพิจารณาใน ครม. ในวันนี้ ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องกล้า ที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยการยื่นขอเข้ากระบวนการต่อศาล ได้มีการหารือกันอย่างรัดกุมในรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมด”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลานี้ เป็นเวลาที่ประเทศไทยและทั้งโลกกำลังเผชิญวิกฤติ รายได้ของทุกคนกำลังหายไปกับหายนะจากโควิด เราก็จำเป็นจะต้องรักษาเงินตราของประเทศไทยเอาไว้ เพื่อใช้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในช่วงเวลาข้างหน้าต่อจากนี้ ในการช่วยเหลือทั้งเกษตรกรที่กำลังทุกข์ยาก ผู้ประกอบการ SME ต่างๆ ที่กำลังเผชิญกับวิกฤติทางธุรกิจ หรือช่วยเหลือคนหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือประชาชนทั่วไปที่ทำงานหนักอยู่ในขณะนี้เพื่อจะมีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวของตัวเอง รัฐบาลต้องมองอย่างรอบคอบในทุกมิติ

พล.อ.กล่าวย้ำว่า “วันนี้ ถึงแม้เรามาถึงจุดที่สามารถควบคุมวิกฤติทางด้านสุขภาพได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ แต่ปัญหาจากโควิดจะยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะปัญหาที่หนักยิ่งกว่านั้น ที่รัฐบาลกำลังหาหนทางปฏิบัติในการแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ ปัญหาเรื่องการทำมาหากิน การหารายได้เลี้ยงปากท้องของประชาชน ที่ทุกคนในประเทศไทยล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น และยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ถึงจะสามารถกลับมาทำมาหากินสร้างรายได้ได้เหมือนปกติอย่างเคย”

นี่คือวิกฤติทางเศรษฐกิจที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เราจำเป็นต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนในการใช้จ่ายงบประมาณ ยิ่งเป็นจำนวนมากหลังจากวิกฤติโควิดต่อจากนั้นก็เพื่อจะให้ประชาชนอยู่รอดได้ สร้างชีวิต สร้างรายได้ ทุกอย่างมาสู่ภาวะปกติ และมีการสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมา และเข้มแข็งในระยะต่อไป เราต้องมองทุกมิติ

“ผมเองรู้สึกว่า การที่ผมตัดสินใจให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูนั้น โดยไม่ปล่อยให้การบินไทยต้องเข้าสู่สถานะล้มละลาย ซึ่งมันอาจจะทำให้พนักงานมากกว่า 2 หมื่นคนต้องถูกลอยแพ พวกเราทุกคนคงไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น”

เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็ยืนยันว่าจะสนับสนุนในการดำเนินการดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อจะให้การบินไทยยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้ไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล ผมจึงอนุญาตให้การบินไทยเข้าไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองของศาล และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งของศาล ซึ่งศาลจะแต่งตั้งมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารจัดการการฟื้นฟูการบินไทย

“ผมเอง และพี่น้องประชาชนทุกคนก็คงคาดหวังเช่นเดียวกันว่า เมื่อมีมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารจัดการแล้ว การบินไทยจะสามารถกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยเคยภาคภูมิใจ และกลับมาเป็นองค์กรที่ช่วยสร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศไทยได้”

ด้วยวิธีการเช่นนี้ เป็นวิธีการเดียวที่การบินไทยจะยังสามารถดำเนินกิจการต่อได้ พนักงานของการบินไทยก็จะยังมีงานทำต่อไป ในขณะเดียวกัน การปรับโครงสร้างของการบินไทยที่ควรจะทำสำเร็จมาตั้งนานแล้ว ก็จะเกิดขึ้นได้ด้วย ในการเข้าสู่มาตรการฟื้นฟูขณะนี้ นั่นคือการตัดสินใจของผม และเป็นทิศทางที่รัฐบาลจะยึดปฏิบัติกับกรณีของการบินไทย ส่วนในรายละเอียดต่างๆ จะเป็นไปตามที่ศาลกำหนด และคาดว่าจะสามารถแจ้งให้ทุกท่านทราบในโอกาสต่อไป ผมให้ทางกระทรวงคมนาคมและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการแถลงข่าวในเรื่องนี้ในรายละเอียดอีกครั้ง

“การบินไทย เราถือว่าเป็นทูตที่ดีทางวัฒนธรรมที่ช่วยโปรโมทประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน 60 ปี ผ่านการทุ่มเททำงานของคนจำนวนมาก จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน นักบิน วิศวกร ช่าง พนักงานภาคพื้น รวมทั้งพนักงานในส่วนงานอื่นๆ ของการบินไทย ผมเองก็หวังเช่นเดียวกับคนไทยทุกคนว่า การช่วยเหลือให้การบินไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาล จะช่วยให้การบินไทยสามารถกลับมาเป็นสายการบินที่มีความแข็งแกร่งได้อีกครั้ง นี่คือการตัดสินใจของผมและคณะรัฐมนตรีในวันนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เผยแพร่คำแถลงของตน ลงบนเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut chan-o-cha

ถอด”การบินไทย” จากรัฐวิสาหกิจ เสนอชื่อ “ผู้ทำแผน” สัปดาห์หน้า

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า มติ ครม. ในวันนี้เห็นชอบให้ยกเลิก มติ ครม. เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2546 เรื่องผลการประชุม คนร. (คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ครั้งที่ 3/2556 เกี่ยวกับการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของการบินไทย และเห็นชอบให้ภาครัฐคงสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทยเกินกว่าร้อยละ 50 และมติ ครม.วันนี้ยังเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังต่ำกว่าร้อยละ 50 ตามมติของ คนร. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ที่ให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลฯ

โดยการยื่นขอฟื้นฟูกิจการจะดำเนินการทั้งศาลไทยและศาลสหรัฐฯ (เนื่องจากการบินไทยมีสัดส่วนเจ้าหนี้ต่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 35 และมีเจ้านี้ทางการเงินอีกราวร้อยละ 10) และเห็นชอบให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะทำให้การบินไทยหลุดพ้นจากสถานภาพรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด และพ้นจากข้อจำกัดของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้สำเร็จ และพ้นจากข้อจำกัดของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 เพื่อให้สามารถตั้งคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหา

กระทรวงคมนาคมเห็นว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาของการบินไทย โดยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลทันทีนั้นเป็นแนวทางที่ดีที่สุด (จากแนวทางอื่น คือ การปล่อยให้ล้มละลาย และการที่กระทรวงการคลังเข้าค้ำประกันเงินกู้) โดยพิจารณาถึงประโยชน์ที่การบินไทยจะได้รับ หากการบินไทยเป็นผู้ยื่นคำขอเข้ากระบวนการฟื้นฟูก่อนเจ้าหนี้จะยื่นฟ้องบังคับชำระหนี้ต่อศาล

“การบินไทยมีปัญหาเรื่องการประกอบกิจการมาเป็นระยะเวลานาน โดยผลประกอบการสิ้นปี 2562 มีหนี้สินอยู่ 146,752 ล้านบาท ซึ่งหากรวมกับผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้การบินไทยมีภาระหนี้สินในปี 2563 นี้กว่า 2 แสนล้านบาท เป็นสถานะหนี้สินที่อยู่ในภาวะวิกฤติ และมีหนี้สินล้นพ้นตัว ในแผนการที่จะให้กระทรวงการคลังเข้าค้ำประกันนั้น พบว่าแผนดังกล่าวมีความเสี่ยงถึง 23 ประการ หากเห็นชอบไปก็ไม่สามารถทำได้ และจะทำให้รัฐสูญเสียเงินไป และต้องสนับสนุนเงินอีก”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ครม. ได้เห็นชอบให้ยกเลิก มติ ครม. เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2546 เรื่องผลการประชุม คนร. ครั้งที่ 3/2556 เกี่ยวกับการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของการบินไทย และเห็นชอบให้ภาครัฐคงสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทยเกินกว่าร้อยละ 50 โดยเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังต่ำกว่าร้อยละ 50 ตามมติ คนร. ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ขั้นตอนต่อจากนี้ หากศาลรับแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยจะได้รับการคุ้มครองผ่านสภาวะพักชำระหนี้ (automatic stay) พร้อมทั้งการเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งในและนอกประเทศ ก่อนดำเนินการตั้งผู้ทำแผนที่จะมีการพิจารณาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เป็นบุคคลที่สามารถทำงานได้จริง มีประสบการณ์ ปราศจากการแทรกแซง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้สามารถดำเนินการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยสำเร็จได้ พร้อมยืนยันว่า ผู้ทำแผนนั้นไม่ใช่บุคคลเพียงคนเดียวแน่นอน เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาความเหมาะสม และหากศาลอนุญาต

“ผู้ทำแผนจะดำเนินการเข้าทำแผน ประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งหากที่ประชุมเจ้าหนี้เห็นชอบจะเสนอศาลให้พิจารณา และเมื่อศาลเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าว ก็จะนำไปสู่การตั้งผู้บริหารแผน ซึ่งกฎหมายก็ไม่มีข้อบังคับว่าผู้บริหารแผน และผู้ทำแผนจะเป็นชุดเดียวกันไม่ได้ ซึ่งตามไทม์ไลน์ก็ต้องทำให้เร็วที่สุด ภายในสัปดาห์หน้าจะนำรายชื่อผู้ทำแผน 15 รายชื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยจะต้องครอบคลุมให้ครบทุกฝ่ายตามโครงสร้างองค์กรที่ต้องปรับ”

นายศักดิ์สยามกล่าวย้ำว่า การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายในครั้งนี้ จะส่งผลให้การบินไทยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการบินไทยยังคงสามารถประกอบธุรกิจปกติต่อไปได้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยคาดว่าแผนฟื้นฟูกิจการนี้จะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนมิถุนายน 2563 นี้

เนื่องจากการบินไทยมีหน่วยธุรกิจอยู่ 6 หน่วยด้วยกัน ไม่ว่าเป็นการให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางของการบินไทยทั่วโลก หรือการขนส่งสินค้าไปรษณียภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูองค์กรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานและพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นต่อไป

เมื่อถามถึงการประเมินระยะเวลาในการฟื้นฟูกิจการ นายศักดิ์สยามระบุว่า เรามีตัวอย่างของสายการบินประเทศอื่นๆ ที่เคยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เช่น สายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่นอย่างแจแปนแอร์ไลน์ หรืออเมริกันแอร์ไลน์ของสหรัฐอเมริกา แต่วันนี้ต้องนำสถานการณ์โควิด-19 มาประกอบด้วย ซึ่งต้องให้เวลา

“ที่ผ่านมา ครม. เคยพิจารณาช่วยมาแล้วในปี 2558 หากทำตามแผนที่วางไว้เหตุการณ์นี้จะไม่เกิด ไม่ต้องมาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และปัญหาอีกส่วนหนึ่งของการบินไทยคือ พนักงานต้องอยู่ในสถานการณ์จริง ซึ่งเราพยายามจะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคนทั้ง 20,000 คนนี้ นอกจากนี้ยังมีองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ประสบปัญหาขาดทุน ก็ได้มีการเสนอแผนต่อ คนร. แล้ว ซึ่งในส่วนของ ขสมก. หากดำเนินการได้ตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 7 ปี” นายศักดิ์สยามกล่าว

กรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมประชุมสหกรณ์หาแนวทางเคลียร์หนี้การบินไทย

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์สื่อสารและบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ และสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในหุ้น โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุนรายย่อย และสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในหุ้นสามัญและหุ้นกู้ของบริษัทฯ

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ส่วนของสหกรณ์ที่ไปลงทุนในการบินไทยจะแบ่งเป็นลงทุนในหุ้นสามัญ 4 สหกรณ์ วงเงิน 273 ล้านบาท กับหุ้นกู้ของการบินไทย จำนวน 82 สหกรณ์ วงเงิน 42,000 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับสินทรัพย์ของสหกรณ์ 1.17 ล้านล้านบาท หุ้นกู้ดังกล่าวจะคิดเป็น 3.62% ของสินทรัพย์รวมเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ สหกรณ์เหล่านี้เป็นสหกรณ์ชั้นหนึ่งที่มีฐานะมั่นคงและมีสภาพคล่อง เงินสดส่วนใหญ่เป็นรับฝากของสมาชิกสหกรณ์เอง ไม่ได้กู้เงินมาใช้จ่ายลงทุนของสหกรณ์

คำถามต่อไปคือว่า แล้วจะกระทบกับผลการดำเนินงานหรือสภาพคล่องของสหกรณ์หรือไม่ หากไม่ได้รับชำระคืน เมื่อไปพิจารณาหุ้นกู้ของสหกรณ์ทั้งหมดไม่ได้ครบกำหนดชำระปีเดียว แต่จะกระจายครบกำหนดจากปีนี้ไปจนถึงปีสุดท้ายในปี 2577 ส่วนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดปีนี้ในเดือนสิงหาคม-กันยายนจะมีเพียง 21 สหกรณ์ เป็นวงเงิน 1,000 กว่าล้านบาท

นอกจากนี้ ถ้าดูสภาพคล่องพบว่าในบรรดาสหกรณ์ทั้งหมดมีสหกรณ์ที่มีสัดส่วนเงินสดต่อเงินฝากของสมาชิกทั้งหมดค่อนข้างต่ำ คือต่ำกว่า 10% เพียง 15 สหกรณ์เท่านั้น ดังนั้น สภาพคล่องการดำเนินงานระยะยาวไม่กระทบเลย แต่ส่วนหนึ่งที่เห็นข่าวว่าไปแห่ถอนเงินที่ผ่านมาเป็นการถอนในช่วงที่ข่าวยังไม่ชัดเจน แต่ในระยะหลังได้ลดลงจนไม่มีนัยสำคัญ

“มีอยู่ 7 สหกรณ์ที่เกินถือหุ้นกู้เกิน 10% ของสินทรัพย์รวม โดยแห่งที่สูงสุดอยู่ที่ 15.7% ดังนั้น แง่ของฐานะสหกรณ์คิดว่าวันนี้ไม่กระทบ และยังไม่เป็นหนี้สูญเพราะมีโอกาสได้คืนตามแผนฟื้นฟู คือ จากเดิมก่อนที่จะมีมติทางกรมฯ ได้คุยกันว่าจะให้ไปขอรับชำระหนี้ก่อนครบกำหนด แต่วันนี้พอมีมติเข้าสู่ศาลให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ดังนั้นหนี้ทุกก้อนจะไปอยู่บนแผนฟื้นฟูแทนและจัดการชำระหนี้ใหม่อีกที ในส่วนหลังจากนี้มติ ครม. ให้กรมฯ เข้าไปชี้แจงกับสมาชิกสหกรณ์ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง และอีกส่วน ครม. สั่งให้เข้ามาดูแลสหกรณ์ที่ซื้อหุ้นกู้ไปด้วย ให้มาคุ้มครองผลประโยชน์ของสหกรณ์ส่วนนี้ด้วย”

สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ นายพิเชษฐ์กล่าวว่า พอศาลฯ รับคำร้องฟื้นฟูกิจการแล้ว กรมฯ จะเชิญสหกรณ์มาหารือว่าจะเข้าขอรับชำระหนี้ของการบินไทยอย่างไรในฐานะเจ้าหนี้หนึ่งของการบินไทยและจะช่วยกำหนดท่าทีการขอรับชำระหนี้ในระหว่างแผนฟื้นฟูอย่างไร โดยจะเข้าไปทีเดียว 82 สหกรณ์ มูลหนี้ 42,000 ล้านบาท

  • สำรวจฐานะการเงิน 82 สหกรณ์ ถือหุ้นกู้การบินไทย 42,000 ล้าน
  • หลังจากนั้นพอศาลเห็นชอบแผนฟื้นฟูและตั้งผู้บริหารแผนฯ การชำระหนี้ของสหกรณ์จะดำเนินไปตามแผน ฟื้นฟูกิจการ ยกเว้นแผนฟื้นฟูใหม่ของการบินไทยอาจจะมีบางส่วนผิดนัดชำระหนี้ สหกรณ์คงต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และอาจจะกระทบกับสถานะ แต่คิดว่าแผนฟื้นฟูคงไปไม่ถึงตรงนั้น อย่างไรก็ตาม ทางกรมฯ ได้วางแนวทางไว้ 4 แนวทางรองรับแผนฟื้นฟูที่อาจจะเป็นไปได้และการปฏิบัติของสหกรณ์ต่อไป ดังนี้

    • อันแรก ถ้าการชำระหนี้เต็มครบจำนวนตามงวดชำระเดิม แบบนี้จะไม่กระทบกับฐานะหรือสภาพคล่องเลย แต่อาจจะมีเรื่องของผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแผน
    • อันที่สอง ถ้ายังรับชำระหนี้เต็มจำนวน แต่ขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไป แบบนี้จะไม่กระทบกับฐานะหรือผลการดำเนินงานของสหกรณ์ แต่กระทบสถาพคล่องของสหกรณ์บางส่วน
    • อันที่สาม ถ้าตัดเป็นหนี้สูญบางส่วน แบบนี้จะกระทบกับฐานะและสภาพคล่องของสหกรณ์บางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
    • อันที่สี่ ถ้าแปลงหนี้เป็นทุน อันนี้จะได้รับผลตอบแทนในฐานะเจ้าของการบินไทยแทน แบบนี้ฐานะของสหกรณ์จะกระทบตามสัดส่วนของหุ้นที่แปลงไป ขณะที่สภาพคคล่องอาจจะกระทบบ้าง แต่คิดว่าสหกรณ์ส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่มีสภาพคล่องเพียงพอรองรับได้

    “วันนี้ผลที่ออกมาคิดว่าเป็นผลดีกับสหกรณ์ด้วยซ้ำ เพราะฐานะไม่ได้กระทบ อาจจะกระทบกับสภาพคล่องบ้าง แต่ดีกว่าถ้าเลือกทางล้มละลาย ถ้าเป็นแบบนั้นหนี้ทั้งหมด 42,000 ล้านบาทจะสูญไปเลย แต่วันนี้เป็นการยืดการชำระหนี้ออกไปแทน” นายพิเชษฐ์กล่าว

    ชี้การบินไทยยังประกอบธุรกิจตามปกติแม้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

    ด้านนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการคนที่ 2 รักษาการแทนกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันนี้ ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ดําเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง โดยให้บริษัทฯ ดําเนินกิจการตามปกติ

    พร้อมยืนยันว่า การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแม้จะเป็นการดําเนินการภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการเลิกหรือชําระบัญชีบริษัทฯ หรือไม่ได้มุ่งหมายให้บริษัทฯ ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายในครั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

    ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังสามารถประกอบธุรกิจปกติต่อไปได้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางของการบินไทยทั่วโลก หรือการขนส่งสินค้าไปรษณียภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะดําเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูองค์กรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการดําเนินงานและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

    นายจักรกฤศฏิ์กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการดําเนินการทุกวิถีทางเพื่อฝ่าวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นก้าวสําคัญในการเปลี่ยนแปลงบริษัทฯ ไปในทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และบริษัทฯ ขอขอบพระคุณผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้น คู่ค้า พันธมิตรทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าและผู้โดยสารทุกท่านที่ยังคงให้การสนับสนุนและมอบความไว้วางใจให้บริษัทฯ ได้มีโอกาสรับใช้ท่านต่อไป บริษัทฯ พร้อมจะกลับมาดําเนินกิจการและทําการบินอย่างเต็มศักยภาพในทันทีเมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว

    อนึ่ง ผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารการบินไทยยังคงสามารถใช้เดินทางได้ต่อไป หากท่านต้องการเปลี่ยนแปลงด้านบัตรโดยสารสามารถดําเนินการผ่านเว็บไซต์ thaiairways.com หรือติดต่อได้ที่ THAI Contact Center โทร.02-356-1111