ThaiPublica > เกาะกระแส > IMF คาดเศรษฐกิจโลกหดตัว -3% คาดไทยหดตัว -6.7% หนักกว่าวิกฤติการเงินโลกปี 2551

IMF คาดเศรษฐกิจโลกหดตัว -3% คาดไทยหดตัว -6.7% หนักกว่าวิกฤติการเงินโลกปี 2551

15 เมษายน 2020


เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ออกรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ฉบับเดือนเมษายน 2020 (World Economic Outlook, April 2020: Chapter 1 The Great Lockdown ) ระบุว่าการระบาดของโควิด-19 ได้สร้างต้นทุนให้กับประชาชนไปทั่วโลก การปกป้องชีวิตและทำให้ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับการระบาดได้ ทำให้จำเป็นต้องทั้งการแยกตัว การปิดเมือง หรือการสั่งปิดกิจการชั่วคราวในวงกว้าง เพื่อลดการกระจายของไวรัส

“วิกฤติทางสาธารณสุขได้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ และจากผลของการระบาดคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวประมาณ -3% ในปี 2563 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.3% และย่ำแย่กว่าวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 โดยการคาดการณ์ดังกล่าวมีสมมติฐานสำคัญในกรณีฐานว่าการระบาดจะต้องดีขึ้นในครึ่งหลังของปี และมาตรการปิดเมืองต่างๆจะทยอยยกเลิกไปได้ และคาดว่าในปี 2564 เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้ 5.8%” รายงานระบุ

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนในระดับสูงของการคาดการณ์ยังคงมีอยู่ เศรษฐกิจในอนาคตตอนนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ยากจะคาดการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรค ความมีประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ ผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต สภาพของตลาดการเงินโลก รูปแบบของการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

หลายประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติที่ทับซ้อนกันในหลายมิติ ตั้งแต่วิกฤติทางสาธารณสุข ความปั่นป่วนของเศรษฐกิจภายในประเทศ อุปสงค์ของต่างประเทศที่ลดลง การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ย้อนกลับ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ โดยตอนนี้ความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่ลงไปกว่าเดิมยังมีค่อนข้างสูงกว่าว่าจะดีขึ้น

“นโยบายที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะรับมือกับผลกระทบ มาตรการที่จำเป็นในการลดการระบาดและรักษาชีวิตของผู้คนเป็นมาตรการที่จำเป็น แม้ว่าจะต้องแลกกับความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ถือว่าเป็นการลงทุนในระยะยาวสำหรับเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญอย่างแรกคือต้องเพิ่มงบประมาณทางด้านสาธารณสุข แต่ขณะเดียวกันต้องมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่เป็นกันชนสำหรับผลกระทบจากมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อลดความเสียหายในระยะยาว และสร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้รวดเร็วภายหลังการระบาดผ่านพ้นไป” รายงานระบุ

สำหรับการคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีในแต่ละภูมิภาค รายงานระบุว่าในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะหดตัว -6.1% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 1.6% โดยสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่าจะหดตัว -5.9% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2% ส่วนกลุ่มประเทศยุโรปคาดว่าจะหดตัว -7.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 1.3% และญี่ปุ่นที่คาดว่าจะหดตัว -5.2% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 0.7% ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาคาดว่าจะหดตัว -1% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.4% โดยจีนคาดว่าจะเติบโตได้ 1.2% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 5.8% ส่วนประเทศกลุ่มอาเซียนคาดว่าจะหดตัว -0.6% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.8% และสำหรับประเทศไทยคาดว่าจะหดตัว -6.7% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3%

พิษโควิด-19 ไอเอ็มเอฟออกรายงานไม่ทัน

สำหรับรายงาน World Economic Outlook ไอเอ็มเอฟจะออกเป็นประจำปีละ 4 ฉบับ แบ่งเป็นรายงานฉบับเต็ม ซึ่งจะประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก 2 ฉบับในเดือนเมษายนและเดือนตุลาคมของทุกปี โดยในรายงานนอกจากการประมาณการเศรษฐกิจแล้วยังจะเขียนถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจของโลกในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงความท้าทายและข้อเสนอแนะทางนโยบายในอนาคตด้วย ขณะที่อีก 2 ฉบับ จะเน้นไปที่การปรับมุมมองและการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือนมกราคมและเดือนกรกฎาคมของทุกปี โดยจะเน้นประมาณการในระดับภูมิภาค และรายงานพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาก่อนจะออกรายงานฉบับเต็มอีกครั้งในอีก 3 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม สำหรับรายงานฉบับเดือนเมษายนครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งแรกที่รายงานดังกล่าวไม่สามารถเขียนให้เสร็จได้ทัน โดยสามารถออกมาได้เพียง 1 บทจากปกติ 3-4 บทเท่านั้น โดยในบทนำ ดร.กิตา โกพินาถ (Gita Gopinath) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ผู้ซึ่งเรียกการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งนี้ว่า “The Great Lockdown” ยังกล่าวถึงความรุนแรงครั้งนี้ว่าอาจจะมากกว่าวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008

สิ่งที่แตกต่างจากการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 1930 ซึ่งไม่มีกลไกระหว่างประเทศที่มารองรับเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤติ หรือทำหน้าที่เป็น Lender of Last Resort จนทำให้เศรษฐกิจในครั้งนั้นต้องถดถอยอย่างรุนแรงมากกว่าที่ควรจะเป็น แต่ในครั้งนี้โลกมีกลไกที่แข็งแรงขึ้นเป็น Global Financial Safety Net โดยมีไอเอ็มเอฟเป็นศูนย์กลาง ซึ่งได้ช่วยเหลือประเทศที่ต้องการไปแล้ว เหมือนที่เมื่อสิบปีที่แล้วที่ได้ช่วยเหลือในวิกฤติการเงินโลก

“ความพยายามนี้จะคงดำเนินไปอีกสักพักเพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมายืนได้อีกครั้งภายหลังการระบาดผ่านพ้นไป จนกว่าประเทศจะกลับมาเปิดอีกครั้ง การจ้างงานจะเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น และผู้คนได้กลับไปใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้อีกครั้ง หรือพูดง่ายๆว่าเราต้องมั่นใจว่าเราจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม มีปฏิสัมพันธ์กันได้เหมือนกัน นั้นคือสิ่งที่เราคาดหวัง” ดร.กิตา สรุป