ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “นายกฯ สั่งหลังคลายล็อกดาวน์ ให้ BTS วิ่งเต็มจำนวน ยังคุมเข้า-ออกประเทศ” และ “คิม จองอึน ปรากฏตัวแล้ว”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “นายกฯ สั่งหลังคลายล็อกดาวน์ ให้ BTS วิ่งเต็มจำนวน ยังคุมเข้า-ออกประเทศ” และ “คิม จองอึน ปรากฏตัวแล้ว”

9 พฤษภาคม 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 2-8 พ.ค. 2563

  • นายกฯ สั่งหลังคลายล็อกดาวน์ ให้ BTS วิ่งเต็มจำนวน ยังคุมเข้า-ออกประเทศ
  • อนุทินเสนอ ถอด “จีน-เกาหลีใต้” พ้นเขตติดโรค
  • ไม่เห็นด้วยหม่อมเต่า บอร์ด ปกส. เอกฉันท์ค้านจ่ายเงินทดแทน 75% แก่ผู้ว่างงาน
  • ธปท. แจง ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ “เป็นธรรมมากขึ้น-ลูกหนี้ได้ประโยชน์”
  • เกาหลีเหนือรายงาน คิม จองอึน ปรากฏตัวแล้ว

นายกฯ สั่งหลังคลายล็อกดาวน์ ให้ BTS วิ่งเต็มจำนวน ยังคุมเข้า-ออกประเทศ

ที่มาภาพ:https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/5108

นายกรัฐมนตรีประชุม ศบค. ประเมินผลปฏิบัติการควบคุมโควิด 19 ภายหลังมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล

วันนี้ (7 พฤษภาคม 2563) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดการประชุมด้วยการขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาถึง และได้มอบแนวทางในการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างห้วงต่างๆ โดยพิจารณาผลกระทบที่ไปถึงยังภาคส่วนต่างๆ ด้วย

ขณะนี้ แม้สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ แต่ในการดำเนินการยังต้องมีความเข้มงวด ผ่านการดำเนินการในเชิงรุก รวมทั้งให้ควบคุมดูแลการเดินทางเข้า-ออก ประเทศผ่านช่องทางต่างๆ ผู้เดินทางจะต้องผ่านมาตรการ State Quarantine และมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการตามมาตรการฉุกเฉินระยะที่ 1 แล้วอย่างเคร่งครัด ขอให้ปฏิบัติต่อไป ห้ามละเลย ให้ ศบค. ด้านความมั่นคง ด้านสาธารณสุข ทหาร ตำรวจ ผู้ประจำด่านตรวจเฝ้าระวัง ปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนด ประสานงานร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการ และดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ ศบค. พิจารณามาตรการในด้านต่างๆ เช่น ด้านการต่างประเทศ พร้อมขอให้รายงานถึงผลกระทบภายหลังการผ่อนคลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงพิจารณาแนวทางการแก้ไข โดยในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ การเยียวยา รวมทั้งข้อเสนอของผู้ประกอบการที่ได้ยื่นมา และขอให้ศูนย์การช่วยเหลือฯเร่งดำเนินการและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ นอกจากนี้ ให้ร่วมพิจารณาให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือได้รับความช่วยเหลือทุกคน ไม่ตกหล่น และในส่วนของการเรียนการสอนให้ร่วมพิจารณาเรื่องการเปิดเรียน และวิธีการเรียนการสอนไม่ให้เกิดผลกระทบ

สาธารณสุขแนะตรึงการเข้าจากต่างประเทศ

กระทรวงสาธารณสุข โดยปลัดกระทรวงได้รายงานถึงจำนวนผู้ป่วย ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว ผู้ป่วยในโรงพยาบาล และการตรวจหาผู้ป่วย เช่น การทำ Active Case Finding ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการสำรวจสถานที่ที่เปิดตามมาตรการผ่อนปรน เช่น ตลาด สวนสาธารณะ พบว่ามีความเข้าใจต่อการปฏิบัติตนในที่สาธารณะ แต่กลุ่มร้านตัดผมยังขาดความเข้าใจอยู่บ้าง รวมทั้งได้ดำเนินการสำรวจกลุ่มผู้ใช้แรงงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนได้ให้ความรู้กลุ่มเฉพาะ เช่น ศาสนา เรือนจำ ผู้ประกอบการอาหาร การขนส่ง โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ต้องให้ความรู้ความเข้าใจรวมถึงหลักปฏิบัติต่างๆ

ทั้งนี้ สาธารณสุขเห็นว่า ยังมีความจำเป็นต้องคงมาตรการในประเทศให้เข้มข้น และตรึงการนำเข้าจากต่างประเทศ แม้ว่าสถานการณ์ในไทยจะดีขึ้นตามลำดับ แต่สถานการณ์โลกยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนว่ามีพัฒนาการ จนคาดว่าจะสามารถนำไปสู่การผลิตวัคซีนได้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการดำเนินการตามมาตรการผ่อนปรน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการผ่อนปรนมาตรการ เช่น ความหนาแน่นของผู้โดยสารบนรถไฟฟ้า BTS ซึ่งควรให้วิ่งรถเต็มจำนวน ทั้งวัน และจำเป็นต้องเตรียมมาตรการรองรับในทุกด้าน เช่น การพักคอย การผ่อนปรนจะต้องค่อยๆ ผ่อนคลายพร้อมกับมีมาตรการรองรับที่เหมาะสม และมีแผนฉุกเฉินรองรับ

โดยย้ำเรื่องการกำหนดเวลาในการทำงานเริ่มงาน ต้องจัดให้มีการเหลื่อมเวลา เพื่อลดความหนาแน่นในระบบขนส่งสาธารณะอีกทางหนึ่ง และต้องทำให้ชัดเจน ในส่วนของการตรวจเชื้อที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการ ขอให้พิจารณาดำเนินการอย่างจริงจัง จะขอให้ชี้แจงข้อมูลเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ และเพจเพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงมาตรการและการดำเนินการ ในส่วนของการรณรงค์ให้ประชาชนใส่หน้ากากเพื่อป้องกันนั้น ควรหลีกเลี่ยงการวิ่ง เมื่อต้องใส่หน้ากากจึงควรออกกำลังกายด้วยการเดินแทน

เตรียม 4 ขั้นตอนการผ่อนปรนระยะที่ 2

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ รายงานกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินกิจการ/กิจกรรม ที่ได้เริ่มไปแล้วเมื่อ 3 พฤษภาคม 2563 ว่าในส่วนของบางกิจการจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมอย่างไร ได้แก่ การเปิดสถานดูแลผู้สูงอายุ ร้าน Furniture วัสดุก่อสร้าง กิจการที่เกี่ยวข้องกับด้านสินเชื่อ ประกันภัย ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งคณะกรรมการจะได้พิจารณาผ่อนปรนตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ในส่วนของสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่มีในข้อกำหนด แต่ไปปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ควบคุมโรค และเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัดในการพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 กำลังมีการดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

    ขั้นตอนที่ 1 ระดมความคิดเห็นจากส่วนราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
    ขั้นตอนที่ 2 จัดประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการบังคับใช้มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2
    ขั้นตอนที่ 3 ยกร่างข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2
    ขั้นตอนที่ 4 คือ บังคับใช้มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2

ด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มเป้าหมายในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจเพื่อเฝ้าระวัง และค้นหาในกลุ่มเสี่ยง หรือสถานที่เสี่ยง ทั้งนี้ มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค มีความสำคัญ โดยสาธารณสุขได้จัดทำคู่มือการป้องกันและควบคุมโรคโควิด19 และคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า แม้ว่าจะมีการตรวจจำนวนมากขึ้น ซึ่งบางคนจะตรวจแล้วไม่พบเชื้อ หรือ อาจอยู่ในช่วงไม่แสดงอาการ หรือกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งต้องระมัดระวังและสร้างความเข้าใจ ซึ่งขอให้ตรวจสอบในกลุ่มอาชีพ บางกลุ่มด้วย อาทิ เรือประมง พนักงานขับเรือ พนักงานขับรถโดยสาร ต้องได้รับการตรวจดูแล รวมทั้งการจัดระเบียบอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนว่า ยังคงมีความเข้มข้น โดยได้สั่งการให้ทุกจังหวัด และ กทม. ดำเนินตามข้อกำหนดฯ ให้กำกับติดตามให้สถานประกอบการ พนักงาน และผู้ใช้บริการดำเนินการตามมาตรากรที่ ศบค. กำหนด ได้แก่ ทำความสะอาดพื้นที่ จุดล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เว้นระยะห่าง ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด กรณีการพิจารณาสั่งปิดสถานประกอบการ ให้ดำเนินการตามข้อกำหนดฯ กรณีจะมีการออกคำสั่งปิดสถานที่เพิ่ม ให้รายงานมาที่ ศบค. และกระทรวงมหาดไทยก่อน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน และเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

กรุงเทพมหานครฯ ได้รายงานการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรน โดยได้ตรวจและตักเตือนผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ กรณี รถไฟฟ้า bts ได้สั่งดำเนินการให้กำหนดเจ้าหน้าที่ประจำสถานีให้มากขึ้น เพื่อตรวจจำนวนประชาชนไม่เห็นแออัด และคนจำหน่ายตั๋ว

กระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รายงานการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ โดยมีคนไทยแสดงความประสงค์กลับไทย 45,147 คน แบ่งเป็น ทางบก 25,660 คน ทางอากาศ 19,487 คน ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาการนำบุคคลกลับประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มที่จะได้รับพิจารณานำกลับด่วนที่สุด ได้แก่ กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย ผู้ตกค้างสนามบิน วีซ่าหมดอายุ นักท่องเที่ยวตกค้าง และ กลุ่มที่จะได้รับการพิจารณานำกลับด่วนมาก ได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ นักเรียน นักศึกษา คนตกงาน

ทั้งนี้จะพิจารณาผ่านองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ ความยากลำบากของพื้นที่ ระบบสาธารณสุข รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ และการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาด เป็นต้น ในประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ยืดหยุ่นจำนวนตัวเลขประชาชนที่เข้ามาในประเทศ เพื่อให้ประชาชนไทยที่ติดค้างยังต่างประเทศได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ในส่วนของคนไทยในมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศอำนวยความสะดวก ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งว่าส่งความช่วยเหลือไปให้เกือบทุกรัฐในมาเลเซียอย่างเพียงพอ ซึ่งกรณีนี้ได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครมาเลเซียด้วย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปการสั่งการให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงความสมดุล และสร้างความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยา ต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการทางสาธารณสุข ไม่ใช่เพียงตัวเลขผู้ป่วยที่ลดลง แต่ต้องร่วมช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบ มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต ต้องดูแลรอบด้าน ไม่ให้เกิดปัญหาท่ามกลางภาวะโควิด โดยขอให้ร่วมกันพิจารณาว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดำเนินมาตรการอย่างไร ต้องช่วยเหลือ เยียวยา และย้ำให้ทุกภาคส่วนทำความเข้าใจให้ตรงกัน ผ่านชุดข้อมูลเดียวกันเพื่อป้องกันการบิดเบือน และไม่ให้เกิดความสับสนในสังคม

สถานการณ์โรคติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019

อนุทินเสนอ ถอด “จีน-เกาหลีใต้” พ้นเขตติดโรค

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า วันนี้ (7 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค. มีการพูดถึงเรื่องต่างประเทศ ซึ่งสถานการณ์ติดเชื้อของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป อย่างจีนและเกาหลีใต้ควบคุมผู้ป่วยรายใหม่จนเหลือหลักหน่วย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมตรีว่าการกระทรววงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เสนอว่าน่าจะมีการปรับรายชื่อ ถอนบางประเทศออกไปจากประเทศเขตติดโรคติดต่อโรคโควิด-19 เพื่อให้มีการทำงานหรือมีความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่ดีต่อไปด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ แต่ต้องนำไปสู่การประชุมหารือและดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ

“ถ้าปลดตรงนี้ไม่ได้แปลว่าจะเข้าประเทศได้ทันที เพราะมีมาตรการต่างๆ ที่จะจัดการอยู่ ตั้งแต่บินลงมา ซึ่งเราแย้มน่านฟ้าให้ลงได้ แต่ต้องขออนุญาต ต้องมีใบรับรองแพทย์ฟิตทูฟลายว่าบินได้ มีการลงทะเบียนก่อน เข้ามาแล้วก็ต้องอยู่ในสถานที่กักตัวที่รัฐกำหนด 14 วัน เรียกว่ามีหลายปราการ

ยิ่งประเทศที่มีการติดเชื้อรุนแรงในปัจจุบัน การเข้มงวดระบบการตรวจคนเข้าเมืองสำคัญกว่าการประกาศ ซึ่งถือเป็นระบบที่ใช้ตรึง ทุกวันนี้ก็ยังตรึงไว้อยู่ ตอนนี้สาเหตุติดเชื้อมาจากนำเข้าทั้งสิ้น ซึ่งไม่ต้องห่วง เรามองเห็นว่าเป็นประเด็น ถ้ายังไม่ดีเพียงพอไม่ให้นำเข้าแน่นอน” นพ.ทวีศิลป์กล่าวและว่า ส่วนสหรัฐอเมริกาและรัสเซียที่ว่ามีการเปิดประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็ยังไม่อยู่ในลิสต์รายชื่อของไทย มีแค่จีนและเกาหลีใต้

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นายกฯ ยังย้ำเรื่องการทำงานร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประชุมครั้งที่แล้วหารือกันว่า น่าจะรวมกลุ่มลงทุนด้านวัคซีน ศึกษาเรื่องโควิดด้วยกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันด้านสาธารณสุข และพูดถึงมาตรการผ่อนผันแรงงานที่มีความสามารถให้เข้ามาได้ เรียกว่าเป็นสมาร์ทวีซ่า เชื่อมโยงเรื่องการเคลื่อนย้ายคนเก่งอยากกลับมาจากต่างประเทศ จะได้มีบุคลากรที่ดีเข้ามาทำงาน

และเรื่องถัดมาคือ เรื่องการจัดตั้งเทสต์แล็บ หรือการพัฒนาชุดอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ อย่างการทำชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ซึ่งตอนนี้ขาดตลาดทั่วโลก ถ้าเราสามารถทำได้และออกมาในเชิงการมีมาตรฐานที่ทดสอบได้ ถ้ามีการทดสอบในไทยด้วยก็ดี

ไม่เห็นด้วยหม่อมเต่า บอร์ด ปกส. เอกฉันท์ค้านจ่ายเงินทดแทน 75% แก่ผู้ว่างงาน

ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

วันที่ 8 พ.ค. 2563 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า จากกรณีที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า ให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ให้ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน เป็นร้อยละ 75 แต่ไม่เกินเพดาน 15,000 บาท ซึ่งมีประมาณ 9.9 แสนคนเศษ

พร้อมปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง/สถานประกอบการจากเดิมที่ลดเหลือร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 1 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือนมีนาคม ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2563 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง/สถานประกอบการและลูกจ้างผู้ประกันตน แต่เรื่องนี้ก่อนจะเสนอ ครม.จะต้องให้ผ่านมติคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563  มติของการประชุมบอร์ดประกันสังคม ที่มี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ซึ่งประชุมในวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ยืนยันมติบอร์ดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่ให้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุโควิด-19 ร้อยละ 50 ในระยะเวลา 60 วัน

“ด้วยเหตุผลว่าหากจ่ายให้ร้อยละ 75 อาจจะกระทบต่อกองทุนประกันว่างงานและไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนที่มีทั้งสิ้น 16 ล้านคนเศษ โดยขณะนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดของทุกฝ่ายเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน”

นางอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ในฐานะกรรมการบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมได้หารือถึงการเพิ่มเงินว่างงานร้อยละ 75 มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง “ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นห่วงสถานภาพของกองทุน เกรงว่าในอนาคตอาจจะเกิดวิกฤติอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินอีก หากนำเงินส่วนนี้มาดูแลผู้ประกันตนจำนวนหนึ่ง อาจไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนที่ไม่ได้ใช้สิทธิในคราวนี้ ที่สำคัญการจ่ายในลักษณะดังกล่าวไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขและเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคม”

“ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มการจ่ายเงินว่างงาน 75% เพราะเป็นห่วงอนาคต หากเกิดวิกฤตว่างงานอีกในปี 2564-2565 จะหาเงินจากไหน ส่วนเรื่องการยืดจ่ายเงินออกไปถึงสิ้นปี ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน ยังยืนยันว่าเบื้องต้นควรจ่ายร้อยละ 50 เป็นเวลา 60 วัน ตามมติที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563” นางอรุณีกล่าว

ส่วนกรณีการลดเงินสมทบของนายจ้าง/สถานประกอบการเหลือร้อยละ 1 นั้น นางอรุณีกล่าวว่า ที่ประชุมยังไม่ได้มีการหารือเรื่องนี้ แต่จากการประชุมบอร์ดประกันสังคมเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา บอร์ดประกันสังคมได้เสนอให้ลดการจ่ายเงินสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเท่ากัน เหลือร้อยละ 4 แต่ที่ผ่านมา ครม.ก็อนุมัติให้ลูกจ้างจ่ายร้อยละ 1 ส่วนนายจ้างให้จ่ายร้อยละ 4

“เข้าใจเจตนาดีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการจะช่วยเหลือลูกจ้างและสถานประกอบการ แต่ประเด็นสำคัญโดยหลักการจะต้องมีการพูดคุยกันที่บอร์ดประกันสังคมด้วยระบบไตรภาคี นอกจากนี้ เรามีความไม่สบายใจตั้งแต่บอร์ดประกันสังคมมีมติให้การจ่ายเงินกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยร้อยละ 50 แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานใช้อำนาจเพิ่มให้เป็นร้อยละ 62 ถ้ารัฐบาลสั่งให้หยุดกิจการเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เราไม่ขัดข้องที่จะจ่ายเงินชดเชย แต่ที่กังวลคือ ผู้ประกอบการที่ฉวยโอกาสเนื่องจากขายของไม่ดีจึงหยุดด้วย เรื่องดังกล่าวนี้มีการมาผสมโรงกันเพื่อได้รับเงินชดเชยร้อยละ 62 แทนที่ลูกจ้างจะได้รับร้อยละ 75 ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน” นางอรุณีกล่าวและว่า เรื่องนี้ต้องฟังเสียงของผู้ประกันตน

นางอรุณีกล่าวว่า ขณะนี้กองทุนว่างงานมี 160,000 ล้านบาท เงินในส่วนนี้ควรจะนำไปช่วยให้คนที่ทำงานมาชั่วชีวิตได้รับเงินบำนาญเพิ่มมากขึ้นจะดีกว่า และในฐานะที่ตนเป็นผู้ประกันตนและเป็นลูกจ้างเหมือนกันเชื่อว่าผู้ประกันตนส่วนใหญ่ก็คิดแบบเดียวกัน ซึ่งหากมีการนำเงินไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง มั่นใจว่าจะมีคนออกมาปกป้องสิทธิของตัวเองเช่นกัน ทั้งนี้หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต้องการให้มีการเพิ่มเงินชดเชยเป็นร้อยละ 75 ควรจะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลมาช่วยในส่วนนี้แทน อย่าผลักภาระให้ประกันสังคม

ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคลให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ทราบว่าบอร์ดประกันสังคมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของตน ขณะนี้รอเพียงให้ปลัดกระทรวงแรงงานทำเอกสารสรุปผลจากการประชุมบอร์ดเสนอเข้าให้พิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากหนังสือดังกล่าวสรุปว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว จะยังมีการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. หรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่คิดอะไรทั้งนั้น และอย่าเพิ่งจินตนาการ ขอให้ดูรายละเอียดในเอกสารก่อน

ธปท. แจง ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ “เป็นธรรมมากขึ้น-ลูกหนี้ได้ประโยชน์”

เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ ที่เป็นธรรมมากขึ้นและช่วยลดภาระของประชาชน โดยระบุว่า

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่านับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ที่คิดบนฐานของเงินต้นของค่างวดที่ผิดนัดชำระจริง สถาบันการเงินได้เริ่มใช้ไปแล้ว (เดิมคิดจากเงินต้นคงค้างทั้งหมด) การปรับปรุงในครั้งนี้จะช่วยให้แนวปฏิบัติในเรื่องนี้เป็นธรรมมากขึ้นและช่วยลดภาระของประชาชน รวมทั้งลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ซึ่งแนวทางใหม่นี้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่ต่างประเทศใช้กัน ทั้งนี้ ประชาชนจะได้รับสิทธิจากการปรับปรุงในครั้งนี้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องไปขอแก้ไขสัญญา

ไม่รวมงวดชำระในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

นางธัญญนิตย์ ชี้แจงว่า “เดิมนั้นการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดบนฐานของ “เงินต้นคงค้างทั้งหมด”
สมมติว่าเรากู้ซื้อบ้าน 20 ปี 240 งวด ช่วง 2 ปีแรกผ่อนชำระดีมาโดยตลอด งวดที่ 25 มีปัญหาผ่อนชำระไม่ได้ สถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด หรือเงินต้นในค่างวดที่ 25 ถึงงวดที่ 240

ในขณะที่การคำนวณที่ปรับปรุงใหม่จะให้คิดบนฐานของ “เงินต้นในค่างวดที่มีการผิดนัดชำระจริง” เท่านั้น โดยจะไม่รวมเงินต้นในค่างวดตามสัญญาในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง พูดง่ายๆ คือ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่จะคิดบนฐานของเงินต้นในงวดที่ 25 เท่านั้น โดยจะไม่รวมเงินต้นในงวดที่ 26-งวดที่ 240

หลักคิดสำคัญในเรื่องนี้ คือ การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ต้องคำนึงถึงความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ (credit risk) และความสามารถในการจ่ายของลูกหนี้ไปด้วยกัน ถ้าสูงเกินไปอาจเป็นต้นตอที่ทำให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ได้ (affordability risk)”

ลดผลกระทบการจ่ายล่าช้าช่วงโควิดและช่วยสถาบันการเงินให้มั่นคงขึ้นในระยะยาว

นางธัญญนิตย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “สถานการณ์ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้รายได้ของประชาชนจำนวนมากลดลง จึงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่อาจจะจ่ายค่างวดล่าช้าหรือไม่สามารถจ่ายได้ในช่วงนี้

ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่จะช่วยให้คนไทยมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้โดยรวมลดลง”
“การปรับปรุงครั้งนี้นอกจากจะทำให้เป็นธรรมมากขึ้นและช่วยลดภาระจ่ายของประชาชนแล้ว จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นมากขึ้นด้วยว่าระบบการธนาคารของไทยมีแนวปฏิบัติที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา ซึ่งหมายความว่าการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินจะมั่นคงขึ้นในระยะยาว”

คนที่ผิดนัดก่อน 1 พ.ค. 2563 เข้าข่าย

สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 พ.ค. 2563 สถาบันการเงินสามารถนำหลักการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดแบบใหม่มาใช้ประกอบการพิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้ตามสมควร

หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของแบงก์ชาติ โทร.1213

ตอบข้อสงสัยเรื่อง คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้อย่างไรให้เป็นธรรม

วันนี้ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้อย่างไรให้เป็นธรรม” ซึ่งจะอธิบายหลักคิดสำคัญที่นำมาสู่การปรับปรุงในครั้งนี้ รวมทั้งข้อมูลรายละเอียดแนวปฏิบัติที่ดีในต่างประเทศ ตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เปรียบเทียบ นอกจากนี้จะมีบทวิเคราะห์ที่จะให้คำตอบว่า ทำไมดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ที่ถูกลง จะช่วยให้การผิดนัดชำระหนี้ของประชาชนลดลง ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดบทความได้ที่ website ของศูนย์ผู้ใช้บริการทางการเงิน 1213

เกาหลีเหนือรายงาน คิม จองอึน ปรากฏตัวแล้ว

เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งแรกในรอบ 20 วัน ตามการรายงานของสื่อเกาหลีเหนือ

สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือรายงานว่าผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือตัดริบบิ้นในพิธีเปิดโรงงานผลิตปุ๋ย พร้อมบรรยายว่าประชาชนที่อยู่บริเวณโรงงานต่าง “ส่งเสียงไชโยโห่ร้องลั่น” เมื่อ คิม จองอึน ปรากฏกาย

รายงานข่าวชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ท่ามกลางการจับตาดูของทั่วโลกต่อปัญหาสุขภาพของผู้นำเกาหลีเหนือ และมีการคาดการณ์กันไปต่างๆ นานา หลังจากเขาปฏิบัติภารกิจต่อหน้าธารกำนัลครั้งสุดท้ายเมื่อ 12 เม.ย. 2563 ด้วยการตรวจฝูงบินจู่โจมของกองทัพอากาศ และไม่ได้ปรากฏตัวในพิธีฉลองวันคล้ายวันเกิดของ คิม อิล ซุง บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ และปู่ผู้ล่วงลับของ คิม จองอึน เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2563

ต่อมามีการเผยแพร่ภาพของ คิม จองอึน ตามมา แสดงให้เห็นว่าเขากำลังตัดริบบิ้นเปิดโรงงานดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ (1 พ.ค. 2563)

การรายงานข่าวล่าสุดของสื่อเกาหลีเหนือไม่ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวอิสระ

ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ยังไม่ต้องการให้ความเห็นใดๆ ต่อการปรากฏกายอีกครั้งของ คิม จองอึน หลังถูกสื่อมวลชนสอบถามเรื่องนี้

สำนักข่าวเคซีเอ็นเอรายงานว่า คิม จองอึน ได้พบเจ้าหน้าที่อาวุโสของเกาหลีเหนือหลายคน รวมถึง คิม โย-จอง น้องสาว ในระหว่างร่วมพิธีที่โรงงานผลิตปุ๋ย ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเปียงยาง

ข่าวเคซีเอ็นเออ้างคำกล่าวของนายคิมที่ว่า เขาพอใจกับระบบการผลิตของโรงงาน และชื่นชมความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเคมีและการผลิดอาหารของประเทศ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ คิม จองอึน หายตัวไปจากพื้นที่สาธารณะ เพราะในเดือน ก.ย. 2557 เขาเคยหายไป 40 วันหลังจากร่วมงานคอนเสิร์ต ก่อนปรากฏกายอีกครั้งกลางเดือน ต.ค โดยที่สื่อทางการของเกาหลีเหนือไม่เคยอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ทว่าหน่วยข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีใต้ระบุว่า เขาอาจเข้ารับการผ่าตัดซีสต์ออกจากข้อเท้าด้านซ้าย