ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “นายกฯ ขอ 20 เศรษฐีไทยร่วมช่วยประเทศ” และ “ไอเอ็มเอฟเตือน โควิดทำศก.เลวร้ายสุดรอบ 100 ปี”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “นายกฯ ขอ 20 เศรษฐีไทยร่วมช่วยประเทศ” และ “ไอเอ็มเอฟเตือน โควิดทำศก.เลวร้ายสุดรอบ 100 ปี”

18 เมษายน 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 11-17 เม.ย. 2563

  • นายกฯ แถลงการณ์ ขอคนไทยร่วมมือกันต้านโควิด-เตรียมส่งจดหมายชวน 20 เศรษฐีรวยสุดในไทยร่วมช่วยประเทศ
  • วิจารณ์หนัก “ปรีชา จันทร์โอชา” นั่ง กมธ.ท่องเที่ยว เจ้าตัวโอด เพราะนามสกุล
  • โฆษกรัฐบาลแจง 5,000 มีพอให้ 3 เดือน
  • ปกส. เคาะ เยียวยา 3 เดือนลูกจ้างกลุ่มนายจ้างปิดกิจการเองชั่วคราว
  • ไอเอ็มเอฟเตือน โควิดทำเศรษฐกิจเลวร้ายสุดในรอบ 100 ปี

นายกฯ ขอ 20 เศรษฐีรวยสุดในไทยร่วมช่วยประเทศ

วันที่ 17 เม.ย. 2563 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

ในแถลงการณ์ดังกล่าว พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ขณะนี้เน้นการทำงานสองกลุ่มงาน ดลุ่มมแรกเป็นเรื่องสุขภาพ เน้นทำงานด้านลดการแพร่กระจาย และเพิ่มความสามารถในการรักษา ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งนั้นเน้นแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนมีเงินเพียงพอดำเนินชีวิต

ในตอนหนึ่งของแถลงการณ์ นายกฯ ได้กล่าวถึงความคิดที่จะชวนเศรษฐีชาวไทยที่ร่ำรวยที่สุด 20 คนมาร่วมกันช่วยเหลือประเทศ โดยกล่าวว่า

“สิ่งที่ผมจะทำในช่วงสัปดาห์ข้างหน้า ประการแรก คือ ผมจะออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน ขอให้ท่านเหล่านั้นได้บอกผมว่า ในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม ท่านจะร่วมมือกันกับเราอย่างไร และท่านจะลงมือช่วยเหลือประเทศไทยของเรา ให้มากขึ้น ได้อย่างไรบ้าง มหาเศรษฐีของประเทศไทยทั้งหลาย ล้วนมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ผมขอให้ท่าน ได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมกันช่วยเหลือประเทศ และร่วมเป็นทีมประเทศไทยด้วยกันกับเรา ผมเข้าใจและซาบซึ้ง ที่หลายท่านได้ลงมือทำไปแล้วหลายเรื่อง แต่ผมต้องการให้ทุกท่านทำเพิ่มเติม มากกว่าที่ท่านได้ทำไป… ผมรู้ว่าทุกท่านต่างก็เต็มใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ประเทศต้องการความช่วยเหลือ อย่างมากที่สุด เพราะผมรู้ว่า ความเดือดร้อนของคนไทย ก็คือความเจ็บปวดของท่านด้วย ผมขอให้ทุกท่าน ได้แบ่งปันความสามารถ และความฉลาดหลักแหลม รวมทั้งมุมมองอันมีวิสัยทัศน์ของพวกท่าน พร้อมกับใช้องค์กรที่มีศักยภาพสูงของท่านมาช่วยกันจัดการกับวิกฤติที่เรากำลังเผชิญอยู่ในวันนี้” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว…

นอกจากนี้ นายกฯ ยังระุบว่า ในสัปดาห์จะพบปะกับสมาคมภาคธุรกิจทั้งขนาดกลางและเล็กด้วยตัวเองเพื่อรับรู้ถึงสถานการณ์ที่แท้จริงด้วย

และในตอนสุดท้ายของแถลงการณ์ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า

“ในอนาคต เมื่อมองย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะเห็นว่า เป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก และความเสียหายมากมาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นว่า นี่คือช่วงเวลาที่เราได้อะไรที่ยิ่งใหญ่กลับคืนมาด้วย นั่นคือ เราได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริง ของคนไทยอีกครั้ง และเราได้ค้นพบ ความกลมเกลียว เป็นครอบครัวเดียวกันของพวกเราคนไทยทั้งประเทศ ผมมีความหวังแบบนั้นครับ และผมเชื่อว่า คนไทยทุกคน ก็มีความหวังแบบนั้นเช่นกัน ผมขอให้ทุกคนมาร่วมมือกัน ทำให้ความหวังของพวกเราเป็นความจริง เราจะต้องชนะไปด้วยกัน”

อ่านรายละเอียดทั้งหมดที่นี่

วิจารณ์หนัก “ปรีชา จันทร์โอชา” นั่ง กมธ.ท่องเที่ยว เจ้าตัวโอด เพราะนามสกุล

พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ที่มาภาพ : http://www.tnnthailand.com/news_detail.php?id=68778&t=news

วันที่ 16 เมษายน 2563 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศวุฒิสภา เรื่อง ตั้งกรรมมาธิการในคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวแทนตําแหน่งที่ว่าง โดยมีใจความว่า

ด้วยในคราวประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 18 (สมัยสามัญประจําปีครั้งที่สอง) วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุมได้มีมติตั้ง พลเอกปรีชา จันทร์โอชา เป็นกรรมมาธิการในคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว แทนตําแหน่งที่ว่าง ตามนัยแห่งข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 103 จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน

ประกาศ ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563
ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย
ประธานวุฒิสภา

การแต่งตั้งดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากเมื่อครั้งที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พล.อ. ปรีชา ลางานถึง 394 วันจากจำนวนวันทำงานทั้งหมด 400 วัน

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า พล.อ. ปรีชา ได้กล่าวถึงกระแสวิพากวิจารณ์ดังกล่าวว่า ไม่มีอะไรเลย ตนเข้าไปทำงานตั้งแต่เดือนกุมพาพันธ์ที่ผ่านมาใน 2 คณะ คือ คณะกรรมาธิการสาธารณสุข และคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว และช่วยเหลืองานทั้ง 2 คณะมาโดยตลอด

และยืนยันว่าตนสมัครใจเข้าไปทำงาน ไม่ได้มีใครแต่งตั้ง อีกทั้ง อยากใช้ประสบการณ์ ความรู้ที่มีให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ออกมานั้นน่าจะเป็นเพราะผมนามสกุล “จันทร์โอชา”

โฆษกรัฐบาลแจง 5,000 มีพอให้ 3 เดือน

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเงินงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ที่ระบุรัฐบาลมีเงินช่วยเหลือเพียงเดือนเดียวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หมายถึงช่วงเดือนแรกรัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบ โดยใช้เงินจากงบประมาณปี 63 ไปพลางก่อน ซึ่งเงินงบประมาณปี 63 ยังเตรียมไว้เพื่อนำไปใช้ตามแผนงานที่วางไว้ในส่วนอื่นๆ อีกด้วย   
 
ส่วนการจ่ายในเดือนต่อไปนั้น จะใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีขั้นตอนและรอประกาศใช้ ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือน เม.ย.  ซึ่งการใช้เงินนี้ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ตามขั้นตอนของร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ ก่อน ดังนั้น กว่าจะใช้เงินกู้ได้น่าจะประมาณ 1 เดือนหรือประมาณช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้  ซึ่งจะได้นำเงินมาสานต่อช่วยเหลือเยียวยาทุกคนที่เข้าหลักเกณฑ์    
 
“นายกรัฐมนตรีไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลไม่มีงบประมาณแล้วหรือจะจ่ายให้ประชาชนเพียงเดือนเดียว แต่เป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงถึงขั้นตอน กติกา ให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจน ยืนยันรัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอ ในการเยียวยาประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีห่วงใยและต้องการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมและจะทำอย่างเต็มที่”โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

ปกส. เคาะ เยียวยา 3 เดือนลูกจ้างกลุ่มนายจ้างปิดกิจการเองชั่วคราว

เว็บไซต์ PPTVHD36 รายงานว่า การประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา ครั้งที่ 7/2563 หรือ บอร์ดประกันสังคม ที่เป็นการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ได้ข้อสรุปว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ สถานการณ์โควิด-19 เป็น เหตุสุดวิสัยตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งทำให้ต้องมีการแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อปลดล็อกให้สามารถ นำเงินใน กองทุนประกันการว่างงาน มาดูแลผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการที่นายจ้างปิดกิจการชั่วคราว

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม บอกว่า หลังจากนี้ บอร์ดฯ จะจัดทำรายงานผลกระทบวินัยทางการเงิน การคลัง เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (15-04-63) ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันศุกร์นี้ จากนั้นจึงจะนำเงินกองทุนประกันการว่างงาน ที่มีอยู่ 1.6 แสนล้านบาท มาใช้เยียวยาได้

ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาให้ลูกจ้าง คาดว่าเร็วที่สุดจะสามารถโอนได้ภายในวันจันทร์ที่ 20 เมษายนนี้ แบ่งออกเป็น 2 ล็อต ล็อตแรก คือ กลุ่มที่รัฐฯ สั่งปิดกิจการ ส่วนกลุ่มที่นายจ้างปิดกิจการเองชั่วคราว ก็จะทยอยได้รับในลำดับถัดไป ตามคิวการลงทะเบียนของนายจ้างกับสำนักงานประกันสังคม

สำหรับเกณฑ์ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาจากการที่นายจ้างปิดกิจการชั่วคราว โดยจะรับเงินชดเชยอยู่ที่ประมาณ 62% จากฐานเงินเดือนที่ส่งเข้าระบบประกับสังคมสูงสุด 15,000 บาท เท่ากับว่า จะได้รับเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 9,300 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลาที่ได้รับกระทบ แต่ไม่เกิน 3 เดือน

สำนักงานประกันสังคม จึงขอให้นายจ้างลงทะเบียนเพื่อรับรองการหยุดงานของลูกจ้างจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ เว็บไซต์ www.sso.go.th ซึ่งปัจจุบันมีนายจ้างเพียง 37,000 แห่ง หรือคิดเป็นลูกจ้างราว 800,000 คนเท่านั้น ที่แจ้งความประสงค์ของรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เข้ามา

ไอเอ็มเอฟเตือน โควิดทำเศรษฐกิจเลวร้ายสุดในรอบ 100 ปี

เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) เตือนว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลง 3% จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดนับแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Great Depression ในช่วงทศวรรษที่ 1930

ไอเอ็มเอฟ ชี้ว่า โรคระบาดครั้งนี้ได้ฉุดให้โลกเข้าสู่ “วิกฤติการณ์ที่ไม่เหมือนวิกฤติครั้งใด ๆ” พร้อมกันนี้ยังชี้ว่า การระบาดที่ยืดเยื้อจะเป็นบททดสอบความสามารถในการควบคุมสถานการณ์วิกฤติของรัฐบาล และธนาคารของประเทศต่าง ๆ

นางกีตา โกพินาถ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า วิกฤติครั้งนี้อาจสร้างความเสียหายต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เป็นมูลค่าราว 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 288 ล้านล้านบาท)

แม้ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ของไอเอ็มเอฟจะชื่นชมการตอบสนองอย่าง “รวดเร็วและขนานใหญ่” ของหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ต่อวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ชี้ว่าจะไม่มีชาติใดที่รอดพ้นจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะดีดตัวขึ้นไปอยู่ที่ 5.8% ในปี 2021 หากวิกฤติโรคระบาดคลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นางโกพินาถ ระบุว่า “การล็อกดาวน์ครั้งใหญ่” ในปัจจุบันก่อให้เกิด “ความเป็นจริงที่น่ากลัว” สำหรับบรรดาผู้กำหนดนโยบายของประเทศที่ต้องเผชิญกับ “ความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับระยะเวลาและความรุนแรงของความชะงักงันทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น”

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ คาดว่า เศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวเป็นบางส่วนในปี 2021 “แต่ตัวเลขจีดีพีจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าแนวโน้มที่คาดไว้ในช่วงก่อนจะเกิดวิกฤติไวรัสระบาด อีกทั้งจะมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมากเรื่องความแข็งแกร่งในการฟื้นตัว”