ข้าราชการ สธ. บรรจุใหม่ ลอตแรกเงินเดือนไม่ออก ขอกู้เงินสวัสดิการมาใช้จ่ายไปพลาง ระหว่างรอเงินตกเบิกย้อนหลัง
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 อนุมัติอัตราข้าราชการบรรจุใหม่ 40,897 อัตราให้กับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรการแพทย์ของ สธ. ที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 โดยได้ทยอยบรรจุพนักงานข้าราชการ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลอตแรก 25,051 คน ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีข้าราชการบรรจุใหม่จำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับเงินเดือนจากกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างรอเงินตกเบิก ได้ไปกู้เงินสวัสดิการของโรงพยาบาลมาใช้จ่ายไปพลางก่อน
ทางสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า สอบถามกรมบัญชีกลาง พบว่าสำนักงบประมาณยังไม่ได้อนุมัติ เนื่องจากการเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการครั้งนี้ สธ. ไม่ได้ตั้งงบฯ เงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ลอตแรกและลอตที่สองเอาไว้ในงบประมาณปี 2563 ดังนั้น นายสุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงเสนอให้ใช้วิธีโอนงบประมาณเหลือจ่ายประจำปี, เงินนอกงบประมาณของ สธ. และขอใช้งบกลางในปี 2563 มาตั้งจ่ายเป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนให้กับข้าราชการ สธ. ที่บรรจุใหม่ โดยกระทรวงสาธารณสุขต้องมาทำข้อตกลงกับสำนักงบฯ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงรายการงบฯ เหลือจ่ายประจำปี และยังต้องทำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติงบกลางมาสมทบ เพื่อตั้งจ่ายเป็นงบฯ เงินเดือนและค่าตอบแทนให้กับข้าราชการที่ได้รับการบรรจุใหม่ ซึ่ง พ.ร.บ.โอนงบปกติฯ ปี 2563 วงเงิน 88,452 ล้านบาท มาเติมงบกลาง เพิ่งจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ทั้งหมดนี้เข้าใจว่าจะอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งทันทีที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงบฯ และกรมบัญชีกลาง ทาง สธ. ก็จะโอนเงินตกเบิกย้อนหลังเข้าบัญชีเงินเดือนของข้าราชการโดยตรง นับตั้งแต่วันที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ
อนึ่ง เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ที่ประชุม ครม. ได้มีมติอนุมัติอัตราข้าราชการให้ สธ. เพิ่ม 40,897 อัตรา พร้อมมาตรการมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 โดยจัดสรรอัตรากำลังของข้าราชการที่จะบรรจุใหม่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ปรับเปลี่ยนสถานะการจ้างบุคลากรของ สธ. จากพนักงานกระทรวงสาธารณะสุข, ลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานข้าราชการ รวม 24 สายงาน (ดูตารางประกอบ) มาเป็นข้าราชการ 38,105 อัตรา และ 2. บรรจุนักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ที่เป็นคู่สัญญากับกระทรวงสาธารณสุข และสำเร็จการศึกษาในปี 2563 เป็นข้าราชการ สธ. รวม 2,792 อัตรา ส่วนนักศึกษาจบใหม่ในสายงานอื่นๆ เช่น เภสัชกร, พยาบาล, นักวิชาการสาธารณสุขอีก 4,787 อัตรา ให้ สธ. ทำแผนเสนอ คปร. อีกครั้ง
ส่วนแผนการบรรจุข้าราชการใหม่ของ สธ. จำนวน 38,105 อัตรา จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
-
กลุ่มแรกที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการก่อน คือ กลุ่มบุคลากรการแพทย์ที่ให้บริการในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 โดยตรงจำนวน 25,051 อัตรา ให้บรรจุเป็นข้าราชการภายในเดือนพฤษภาคม 2563
กลุ่มที่ 2 กลุ่มบุคลากรที่สนับสนุนการให้บริการในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จำนวน 5,616 อัตรา ให้กำหนดตำแหน่งได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นไป
กลุ่มที่ 3 กลุ่มบุคลาการที่ให้บริการ หรือสนับสนุนการให้บริการในพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติอีก 7,438 อัตรา
หลังจากที่ได้บรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ให้ยุบเลิกตำแหน่งที่จ้างเดิมและรายงานให้ คปร. รับทราบ
ปัจจุบันสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีอัตรากำลังทั้งสิ้น 423,516 อัตรา ประกอบด้วยข้าราชการ 225,237 อัตรา ลูกจ้างประจำ 18,397 อัตรา พนักงานราชการ 15,187 อัตรา พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 127,988 อัตรา และลูกจ้างชั่วคราว 36,707 อัตรา
สำหรับการเพิ่มอัตราข้าราชการบรรจุใหม่ให้ สธ. 40,897 อัตราครั้งนี้ ส่งผลทำให้งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของกระทรวงสาธารณะสุขเพิ่มขึ้นเดือนละ 866 ล้านบาท หรือปีละ 10,393 ล้านบาท แต่เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงสาธารณสุข 2563 ไม่ได้ตั้งงบฯ เตรียมไว้จ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการที่บรรจุใหม่ สำหรับข้าราชการที่ได้รับการบรรจุในปีงบประมาณ 2563 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงเสนอให้ใช้วิธีการโอนงบประมาณเหลือจ่าย เงินรายได้ และเงินนอกงบประมาณ มาตั้งจ่ายเป็นเงินเดือนและค่าตอบแทน เพื่อลดการขอรับการจัดสรรเงินจากงบกลาง ส่วนข้าราชการที่ได้รับการบรรจุตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไปก็ให้ไปใช้งบประมาณปี 2564