ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “จับกลางกรุง นำเข้า-กักตุน อุปกรณ์สู้โควิด รวมกว่า 100 ล้าน” และ “นายกฯ อังกฤษออกจากไอซียูแล้ว หลังป่วยโควิด”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “จับกลางกรุง นำเข้า-กักตุน อุปกรณ์สู้โควิด รวมกว่า 100 ล้าน” และ “นายกฯ อังกฤษออกจากไอซียูแล้ว หลังป่วยโควิด”

11 เมษายน 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 4-10 เม.ย. 2563

  • จับกลางกรุง นำเข้า-กักตุน อุปกรณ์สู้โควิด รวมกว่า 100 ล้าน
  • นายกฯ คลายกฎ ยกเว้นบางอาชีพให้ออกจากบ้านได้ ย้ำไม่คิดขยาย “เคอร์ฟิว”
  • เตือนระวัง กรอกเท็จรับห้าพัน-โพสต์ด่ารัฐ มีความผิด
  • สปสช. สนับสนุนค่าตรวจโควิด “บัตรทอง-ประกันสังคม-ข้าราชการ”
  • นายกฯ อังกฤษออกจากไอซียูแล้ว หลังป่วยโควิด

จับกลางกรุง นำเข้า-กักตุน อุปกรณ์สู้โควิด รวมกว่า 100 ล้าน

เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า วันที่ 10 เม.ย. 2563 ที่ บก.ปคบ. พล.ต.ต. ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายชาตรี อารีวงศ์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบและปฏิบัติการ ร่วมกันแถลงผลการจับกุมหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ชุดตรวจไวรัสโควิด-19 ชุดตรวจป้องกัน PPE เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟาเรด และเจลแอลกอฮอล์ รวมมูลค่ากว่า 113,990,000 บาท

การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก ปคบ. ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผ่านทางเพจเฟซบุ๊กกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสายด่วน ปคบ.1135 ว่ามีการลักลอบนำเข้าสินค้าควบคุม (หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์) มาเพื่อจำหน่าย จึงได้สืบสวนจนทราบว่าโกดังเลขที่ 60/10-11 ซอยบางกระดี่ 16 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. เป็นแหล่งเก็บสินค้าดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 8 เม.ย. จึงได้ขออนุมัติหมายค้นศาลแขวงธนบุรี ที่ 10/2563 ลงวันที่ 8 เม.ย.63 เข้าตรวจสอบโกดังดังกล่าว พบ นายมานะ ถาวร เป็นผู้ดูแล ผลการตรวจค้นพบ หน้ากากอนามัย 160,000 ชิ้น, หน้ากากผ้า (PITTA MASK) 81,600 ชิ้น, เจลแอลกอฮอล์ 473,974 ขวด, เครื่องวัดอุณหภูมิแบบยิงอินฟาเรด 1,280 ชิ้น, ชุดตรวจหาเชื้อโรค 4,500 กล่อง, ชุดป้องกันโรค PPE 4,000 ชุด, ถังบรรจุเจลล้างมือขนาด 40 ลิตร จำนวน 88 ถัง จำนวน 3,520 ลิตร, ลำโพง จำนวน 190 ชิ้น, ของเล่นไม่แสดงเครื่องหมายมอก. จำนวน 48 ชิ้น และ กล่องรับสัญญาณ จำนวน 280 ชิ้น รวมมูลค่าของกลางที่ตรวจยึดได้ 113,990,000 บาท

พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมากที่สุด เพราะต้องเผชิญใกล้ชิดกับผู้ป่วยซึ่งหน้ากากอนามัยชุดป้องกันเชื้อโรค PPE เปรียบเสมือนเป็นเสื้อเกราะให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการต่อสู้กับโรคระบาดรัฐบาล ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะ บก.ปคบ. ควบคุมกำกับดูแลและป้องกันการกำหนดราคาซื้อราคาจำหน่ายหรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม

จึงได้ดำเนินการตรวจสอบโดยลงพื้นที่ร่วมกับ อย. กรมการค้าภายใน รวมทั้งภาคประชาชนในการตรวจสอบและดำเนินการความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่ทำให้การตรวจค้นพบของกลางเป็นจำนวนมาก จากการสอบถามคนดูเเลภายในโรงงานรับว่ามีการนำเจลเเอลกอฮอล์มาผสมกันเองภายในโรงงานจริง ซึ่งสินค้าที่ตรวจพบมีทั้งผลิตเองเเละนำเข้าจากต่างประเทศ ในส่วนนี้ต้องตรวจสอบเเละเตรียมเเจ้งข้อหาเเตกต่างกันออกไป พร้อมเตรียมติดต่อเจ้าของโกดังมาสอบปากคำเเจ้งข้อหา

นายกฯ คลายกฎ ยกเว้นบางอาชีพให้ออกจากบ้านได้ ย้ำไม่คิดขยาย “เคอร์ฟิว”

นายกฯออกข้อกำหนดฯฉบับที่ 3 ยกเว้นบางอาชีพออกจากบ้านได้ ย้ำไม่คิดขยายเวลา “เคอร์ฟิว”

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงการณ์ผ่านผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ว่า พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ วันนี้ ผม ในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ผมขอรายงานความคืบหน้าของมาตรการต่างๆที่ผมได้สั่งการ และรัฐบาลได้มีมติ ในแต่ละด้าน ตามลำดับ ดังนี้…

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ประกอบด้วย มาตรการลดการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การรณรงค์เพื่อการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน (Work from home) รวมถึงกลไกในการทำงานที่ขันแข็งของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่าหนึ่งล้านคนทั่วประเทศ ที่ทำหน้าที่เหมือน “มดงาน” ในการเดลิเวอรี่ – หยิบยื่นสุขภาพดี ไปถึงหน้าประตูบ้าน ทุกครัวเรือน มุ่งเน้นผู้ที่กักตัวและเฝ้าระวังเชื้อ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นับเป็นระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ต้องขอขอบคุณ อสม.ที่เข้มแข็งทุกคนครับ

สำหรับมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของเราในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ โดยรัฐบาลได้ดำเนิน การจัดหาหน้ากากอนามัย N95 เพิ่มอีก 2 แสนกว่าชิ้น สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบัน สามารถอบความร้อนจากรังสี UV-C เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำได้ 4 ครั้ง ปัจจุบันโควตาหน้ากากอนามัยสำหรับหมอและพยาบาลทั่วประเทศ อยู่ที่ 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน ส่วนหน้ากากผ้าสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้ที่ไม่มีอาการป่วย ได้ให้แต่ละชุมชนผลิตเพื่อแจกจ่ายกันเองครบตามเป้าหมายแล้วกว่า 50 ล้านชิ้น ซึ่งถือว่าเพียงพอ สำหรับหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า N95 และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เหล่านี้ ศบค. มีข้อมูลตั้งแต่โรงงานผลิต การจัดส่งโดยบริษัทไปรษณีย์ไทย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ไปจนถึงการกระจายในพื้นที่ประชาชนสามารถตรวจสอบทุกขั้นตอนได้

ส่วนการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ จากประเทศจีนและญี่ปุ่น ที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้ว 5 ครั้ง รวม 187,000 เม็ด และอยู่ระหว่างกันจัดหาเพิ่มเติมอีก 200,000 เม็ด นอกจากนี้ การจัดเตรียมเตียงเพิ่มและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ในการรองรับดูแลผู้ป่วย จำนวน 98 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หาห้อง ICU เพิ่มอีก 80 เตียง เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต รวมทั้งความพร้อมของสถานที่กักตัวเฝ้าระวังของรัฐ ทั้งในกรุงเทพ และส่วนภูมิภาค สามารถรองรับได้ประมาณ 20,000 คน โดยประเด็นที่ผมให้ความสำคัญอย่างมาก คือการป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องติดเชื้อเพิ่มเติมอีก

ด้านป้องกันและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการรักษาความมั่นคง

ประกอบด้วย การจำกัดการเดินทางระหว่างจังหวัด และการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ช่วงเวลา “4 ทุ่ม-ตี 4” เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ ศบค. ได้จัดกำลังพลกว่า 20,000 นาย ตั้งจุดตรวจรูปแบบต่างๆ มากว่า 1,000 แห่ง ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนดีขึ้น เพิ่มขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้ฝ่าฝืน มีการมั่วสุม ชุมชุนกันในยามวิกาล กว่า 6,500 ราย ในช่วงวันที่ 3-10 เมษายนที่ผ่านมา ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เนื่องจากถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป ในแง่การจำกัดการแพร่ระบาดของโรคให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ใช้กฎหมายเพิ่มเติมให้รุนแรง หรือประกาศเคอร์ฟิวที่มากขึ้น บุคคลที่ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบเหล่านี้จะทำให้พ่อ แม่ พี่น้อง ประชาชน คนไทย ที่หาเช้ากินค่ำ และคนส่วนใหญ่ ต้องลำบากในการใช้ชีวิตในช่วงเวลานี้ ผมขอเตือนให้แก้ไขตัวเอง ศบค. ยังไม่มีแนวความคิดที่จะขยายเวลาการห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลานี้ครับ

ด้านการควบคุมสินค้า

สถิติการร้องเรียนการขายสินค้าราคาแพง การกักตุนสินค้า และการปฏิเสธการขายสินค้าโดยไม่มีเหตุผล มีเป็นจำนวนมาก โดยช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา สามารถจับกุมและดำเนินคดีการขายสินค้าเกินราคา ได้ 20 ราย การไม่ติดป้ายแสดงราคาสินค้า 36 ราย การจงใจทำให้ราคาสินค้าต่ำ หรือ สูงเกินสมควร ทำให้เกิดการปั่นป่วน จำนวน 75 ราย เป็นต้น นอกจากนี้ นับตั้งแต่ 4 ก.พ. 63 ที่ประกาศให้หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือแอลกอฮอล์เป็นสินค้าควบคุม มีสถิติการกระทำความผิดเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์ โดยจับกุม 334 คดี ยึดของกลางเป็นหน้ากากกว่า 2,700,000 ชิ้น แอลกอฮอล์เกือบ 330,000 ลิตร ชุดตรวจ Covid-19 60,000 ชุด และเครื่องวัดอุณหภูมิ กว่า 4,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ารวม มากกว่า 177 ล้านบาทครับ

ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

หลักการสำคัญ คือ วันนี้ต้องรอด วันข้างหน้าต้องกลับมาเข้มแข็ง ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยา ทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็น “ระยะเร่งด่วน” สำหรับประชาชน “ทุกกลุ่ม” ไปแล้ว ล่าสุด รัฐบาลได้ออกมาตรการ “เพิ่มเติม” ในระยะที่ 3 อีก เพื่อรักษา เยียวยา และเตรียมความพร้อมของประเทศในทุกมิติ เป็นวงเงิน 1,900,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 9-10 ของ GDP ประกอบด้วย…

    1. การออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยครอบคลุม 3 แผนงานหลัก ได้แก่ (1) แผนงานด้านสาธารณสุข เพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค และสนับสนุนการทำงานและงานวิจัย (2) แผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ครอบคลุมประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง โดยสองแผนงานนี้จะใช้งบประมาณรวมหกแสนล้านบาท และ (3) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม การสร้างงานใหม่ การกระตุ้นการบริโภค การส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อรองรับการพัฒนาในระยะยาว โดยแผนงานนี้ใช้งบประมาณสี่แสนล้านบาท
    2. การออกพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญอย่างยิ่ง วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการร่วมกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน โดยการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และป้องกันมิให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังมีการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ SMEs เป็นระยะเวลา 6 เดือน และการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการ เข้าข่ายที่จะได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการนี้จำนวน 1,700,000 ราย จะช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาฟื้นตัวได้
    3. การออกพระราชกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อให้ป้องกันไม่ให้เกิดการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ที่อาจลุกลามส่งผลร้ายอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจได้
    4. การเตรียมยกร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ โดยให้หน่วยงานปรับลดงบประมาณ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพัน เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาภัยพิบัติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณนี้ โดยคณะรัฐมนตรีจะเร่งเสนอร่างกฎหมายโดยเร็ว และคาดว่าจะทูลเกล้าถวายได้ไม่เกินกลางเดือนมิถุนายน 2563
    5. คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการ การเพิ่มบุคลากรแพทย์ พยาบาล และข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลของสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัดกระทรวงอุดมศึกษาฯกว่า 45,000 อัตรา ทั้งในส่วนของอัตราข้าราชการตั้งใหม่จำนวนกว่า 38,000 อัตรา และอัตราข้าราชการตั้งใหม่ สำหรับนักเรียนแพทย์ ปี 2563 จำนวนกว่า 7,000 อัตรา โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) พิจารณารายละเอียดให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนไทย โดยจะได้มีการพิจารณาดูแลด้วยการปรับเกลี่ยในระยะแรกจากอัตราที่ว่างอยู่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะได้ดำเนินการและชี้แจงให้ทราบในโอกาสต่อไป และ
    6. การเพิ่มจำนวนหน่วยใช้ไฟฟ้า “ฟรี” จาก 50 หน่วยต่อเดือน เป็น 90 หน่วยต่อเดือน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ซึ่งคาดว่าประชาชนได้รับผลประโยชน์ 6.4 ล้านราย

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา ได้พิจารณากรณีประโยชน์ทดแทนการว่างงานของผู้ประกันตน โดยได้อนุมัติหลักการให้กระทรวงแรงงานร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทน จากการว่างงานใน 2 กรณี คือ กรณีเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และเกิดเหตุสุดวิสัย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับ “ประโยชน์ทดแทนการว่างงาน” ที่ครอบคลุมการว่างงานจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในครั้งนี้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมด้วย เช่น การว่างงาน เนื่องจากการให้ปิดเมือง การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการประกาศเคอร์ฟิว รวมทั้งการให้หยุดประกอบกิจการดังกล่าว ที่มิได้เป็นผลจากคำสั่งของทางราชการ “โดยตรง” นอกจากนี้ ลูกจ้างยังคงมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจาก “กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง” ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย

กรณีการใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้ หรืองบประมาณใดก็ตาม ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาโควิด ในการสาธารณสุข เยียวยา ดูแล ฟื้นฟูประชาชนทุกภาคส่วน จะมีคณะกรรมการพิจารณา ติดตาม กำกับดูแล คัดแยก เพื่อให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น ผอ.ศบค. และนำเข้า ครม. เพื่ออนุมัติก่อน จึงจะดำเนินการได้ เรื่องใดก็ตามที่หลุดออกมาเป็นข่าวตามสื่อโซเชียล หากไม่ผ่านมติ ครม. อนุมัติ ก็ถือว่าเป็นข่าวปลอม เชื่อถือไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ต้องการให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน

ด้านการต่างประเทศ

ที่ผ่านมา เน้นการกักกันผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ 14 วัน ปัจจุบัน ได้มีมาตรการชะลอการเดินทางกลับของชาวไทยในต่างประเทศ ออกไปจนถึงวันที่ 18 เมษายน 2563 เนื่องจากข้อเท็จจริงตามสถิติชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น “ส่วนใหญ่” มาจากผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยา เพื่อลดผลกระทบในระหว่างที่ต้องอาศัยในต่างแดน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ในรูปแบบ “เงินช่วยเหลือ” เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เป็นต้น

ด้านการสื่อสารในสภาวะวิกฤติ

ปัจจุบัน ยังคงปรากฎมี “ข่าวปลอม-ข่าวบิดเบือน” อย่างต่อเนื่อง เฉพาะเมื่อวานนี้มีคดีจำนวนทั้งสิ้น 26 คดี จับกุม – แจ้งข้อหา จำนวน 10 คดี มีผู้ต้องหา 13 ราย และออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีก จำนวน 3 คดีครับ

อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่https://bit.ly/2V1knAO

เตือนระวัง กรอกเท็จรับห้าพัน-โพสต์ด่ารัฐ มีความผิด

เว็บไซต์ WORKPOINT NEWS รายงานว่า วันที่ 10 เม.ย. 2563 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง กล่าวเตือนผู้ที่จะโพสต์ข้อความใดๆ ลงในโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ เกี่ยวกับการรับเงินเยียวยา 5,000 บาทว่า ขอให้คิดให้หนักก่อนโพสต์ เพราะจะกลายเป็นหลักฐานสำคัญในการเอาผิดทางกฎหมาย หากข้อความดังกล่าวเป็นเท็จและได้เงินเยียวยามาจากการให้ข้อมูลเท็จ

หรือแม้แต่การดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยคำหยาบคายต่างๆ ก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 3 ข้อหาหนัก การมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรมีผลต่อการสมัครงาน ใครรู้ตัวทำผิดสามารถใช้บริการปุ่มยกเลิกการลงทะเบียนในเว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ เพราะขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนยกเลิกแล้วกว่า 3.3 แสนราย

นายชาญกฤช อ้างอิงข้อมูลจากนักกฎหมายว่า การตั้งใจกรอกข้อมูลหลอกลวงรัฐเพื่อหวังลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทจากรัฐบาล เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกง มาตรา 341 มีโทษขั้นสูงจำคุก 3 ปี หรือปรับ 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137 มีโทษขั้นสูงจำคุก 6 เดือน หรือปรับ10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับผู้ที่โพสต์หมิ่นรัฐบาล มีความผิดตาม มาตรา 136 มีโทษขั้นสูงจำคุก 1 ปี หรือปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแม้ว่าผู้โพสต์จะลบข้อความไปแล้ว แต่ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สามารถดึงข้อมูลที่ลบไปแล้วกลับมาได้

ส่วนการที่มีกลุ่มคนบางส่วนออกมาโพสต์ในทำนองที่ว่าไม่เดือดร้อนแต่ได้เงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท เช่น กรณีระบุว่าเป็น “เศษเงินหลังตู้เย็น” “ลงไว้เล่นๆ ไม่เคยหวังจะได้” “ขอบคุณสำหรับค่าโบท้อค” “ยกเลิกแล้วแต่ได้เงิน” รวมทั้งการโพสต์ข้อความด่าทอรัฐบาล “เฮงซวย” หรือการโพสต์อวดได้เงิน 2 ทาง ทั้งจากเงินเยียวยา 5,000 บาท และประกันสังคม

นายชาญกฤช ชี้เแจงว่า กระทรวงการคลังแบ่งการตรวจสอบออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ไม่ได้รับเงินแต่บอกว่าได้เงิน ถือว่าสร้างความสับสน จะมอบให้กระทรวงดีอีเอส ไปช่วยตรวจสอบ เพราะถือเป็นข่าวปลอม มีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์หรือไม่ คาดว่าผลจะออกมาเร็วๆ นี้ และ 2. พวกที่ได้เงินจริง แต่ใส่ข้อมูลที่เป็นเท็จ กรณีนี้ ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงจะตรวจสอบย้อนกลับตามข้อมูลที่ลงทะเบียนและดำเนินคดีตามกฎหมาย สำหรับในรายที่ได้เงินแล้ว ทางกระทรวงจะขอให้มีการคืนเงินภายใน 90 วัน พร้อมระงับเงินในเดือนต่อๆ ไป

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ถึงกรณีผู้โพสต์ว่า “เศษเงินหลังตู้เย็น” และ “ขอบคุณสำหรับค่าโบท้อค” ดูทั้ง 2 กรณีแล้วพบว่า มีคุณสมบัติได้รับเงินจริง โดยตรวจสอบแล้วชีวิตจริงไม่ได้เหมือนกับที่โพสต์ว่าเป็นอยู่หรูหราเหมือนในโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตามการโพสต์ข้อความลักษณะดังกล่าว เบื้องต้นสั่งการระงับการจ่ายเงินในงวดต่อไปแล้ว และจะตรวจสอบว่าข้อความที่โพสต์ไปเข้าข่ายความผิดใดๆ หรือไม่

สปสช. สนับสนุนค่าตรวจโควิด “บัตรทอง-ประกันสังคม-ข้าราชการ”

วันที่ 10 เม.ย. 2563 เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงสิทธิการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ว่า แม้ว่าโควิด-19 จะเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดการแพร่ระบาดหลังจากสภาผู้แทนราษฎรพิจารณางบประมาณปี 2563 ไปแล้ว แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนจึงมีมติเห็นชอบให้บรรจุโรคนี้เข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองเข้าถึงการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

นอกจากนี้ สปสช. ยังได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบลขึ้น ทำหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่ โดยปัจจุบันมีงบประมาณอยู่ในพื้นที่ 7,700 ตำบลทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละพื้นที่สามารถนำงบส่วนนี้มาป้องกันโรคโควิด-19 ได้ ตัวอย่างเช่น 1. การรณรงค์ให้ความรู้ป้องกันตามแนวทางของกรมควบคุมโรค 2. การจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เครื่องวัดไข้ 3. การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง 4. ตรวจเยี่ยมกลุ่มเสี่ยงในชุมชน 5. ติดตามและเฝ้าระวังการเดินทางมาจากพื้นที่อื่นๆ 6. การจัดบริการรับส่งผู้ป่วยที่จำเป็นไปยังโรงพยาบาล เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ฯลฯ

สปสช. จะจ่ายเงินช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน 3 ระดับ ได้แก่ 1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต จะจ่ายให้ตั้งแต่ 4.8 แสน – 8 แสนบาท 2. กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือพิการที่มีผลต่อการดำรงชีวิต จะจ่ายให้ตั้งแต่ 2 แสน – 4.8 แสนบาท และ 3. กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จะจ่ายไม่เกิน 2 แสนบาท

พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มภารกิจบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า การรักษาโรคโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ที่ สปสช.จัดสรรเพิ่มเติมจากชุดสิทธิประโยชน์เดิม โดยบอร์ด สปสช.อนุมัติการจ่ายเงินสำหรับยารักษาโควิด-19 ครั้งละ 7,200 บาท แต่หากในอนาคตมียาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและราคาแพงขึ้นก็สามารถขออนุมัติค่าใช้จ่ายอัตราใหม่ได้อีก

นอกจากนี้ สปสช. ยังอนุมัติการจ่ายค่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ซึ่งเป็นการจ่ายตามจริงไม่เกินครั้งละ 3,700 บาท โดยครอบคลุมค่ายานพาหนะ ค่าทำความสะอาดยานพาหนะ ค่าแรงผู้นำส่ง รวมถึงค่าวัสดุอุปกรณ์และชุดป้องกันความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ (PPE)

สำหรับการตรวจคัดกรองกลุ่มผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการ (lab) ถือว่าเป็นเรื่องสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้น สปสช.จะสนับสนุนค่าตรวจให้แก่ประชาชนคนไทยทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ

“ผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดและสงสัยว่าตัวเองจะติดโรคโควิด-19 ให้สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง หากเข้าเกณฑ์ทาง สปสช.จะจ่ายให้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นไข้หรือไม่มีประวัติความเสี่ยงใดๆ แนะนำว่าไม่ควรไป เพราะการไปโรงพยาบาลจะทำให้ตัวเองมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น” พญ.กฤติยา กล่าว

นายกฯ อังกฤษออกจากไอซียูแล้ว หลังป่วยโควิด

เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน มี อาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสามารถลุกขึ้นเดินระยะสั้น ๆ ได้แล้ว หลังจากเมื่อวาน (9 เม.ย.) แพทย์ย้ายตัวเขาออกจากห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ไอซียู) ไปยังห้องผู้ป่วยปกติ เพื่อรักษาอาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ต่อไป

โฆษกทำเนียบนายกรัฐมนตรี ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีสามารถเดินได้เป็นระยะสั้น ๆ สลับกับการหยุดพักเป็นช่วง ๆ ตามแผนการรักษาที่ท่านได้รับเพื่อช่วยให้ฟื้นตัวจากอาการป่วย”

“ท่านนายกฯ ได้พูดคุยกับคณะแพทย์และกล่าวขอบคุณทีมงานทั้งหมดสำหรับการรักษาอันยอดเยี่ยมที่ท่านได้รับ…ท่านขอส่งใจไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคที่ร้ายกาจนี้”

นายจอห์นสัน วัย 55 ปี เริ่มมีอาการของโรคโควิด-19 และได้รับการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อเมื่อวันที่ 27 มี.ค. หลังจากกักตัวที่บ้านพักได้ราว 10 วัน เขายังคงอาการไม่ดีขึ้นและมีไข้สูง จึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเซนต์โทมัสในกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 5 เม.ย. จากนั้นมีอาการทรุดลง คณะแพทย์จึงย้ายตัวเขาเข้ารักษาในห้องไอซียู เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ก่อนที่ 3 วันต่อมาจะอาการดีขึ้นและถูกย้ายไปยังห้องผู้ป่วยปกติ