ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > พบ “คลื่นความร้อน” ในแอนตาร์กติกา จุดที่เย็นที่สุดของโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

พบ “คลื่นความร้อน” ในแอนตาร์กติกา จุดที่เย็นที่สุดของโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

1 เมษายน 2020


สถานีวิจัยคาซีย์ บริเวณโอเอซิส บนเกาะวินด์มิลล์ ในแอนตาร์กติกา ที่มาภาพ: https://www.theguardian.com/world/2020/mar/31/antarctica-what-it-means-when-the-coldest-place-on-earth-records-an-unprecedented-heatwave

ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 โลกก็ยังคงร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง หน้าร้อนนี้สภาพอากาศที่ขั้วโลกใต้หรือทวีปแอนตาร์กติกา ก็เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ของโลก ร้อนขึ้นอีกเป็นประวัติการณ์ จากการบันทึก

นักวิทยาศาสตร์ 4 รายได้แก่ ดร.ดานา เอ็ม. เบิร์กสตรอม นักนิเวศวิทยาประยุกต์ที่เป็นหัวหน้าการวิจัยด้านนิเวศวิทยาบนบกและความหลากหลายทางชีวภาพแผนกแอนตาร์กติกาของออสเตรเลีย (Australian Antarctic Division) และอาจารย์แลกเปลี่ยน มหาวิทยาลัยวูลลองกอง ออสเตรเลีย, ดร.แอนดรูว์ เคลโคจิก นักวิทยาศาสตร์ด้านชั้นบรรยากาศจากแผนกแอนตาร์กติกาของออสเตรเลีย, ไดอานา คิง เจ้าหน้าที่วิจัยด้านความยั่งยืนชายฝั่งและเขตอนุรักษ์ทางทะเล ในโครงการ Global Challenges มหาวิทยาลัยวูลลองกอง และ ดร.ชารอน โรบินสัน นักนิเวศวิทยาพืช จากมหาวิทยาลัยวูลลองกอง ได้ร่วมกันนำเสนอบทความเรื่อง “Anatomy of a heatwave: how Antarctica recorded a 20.75°C day last month” ใน The Conversation เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2020

นักวิจัยทั้ง 4 รายระบุในบทความว่า ได้ตีพิมพ์งานวิจัยก่อนหน้านี้ใน Global Change Biology (วารสารวิทยาศาสตร์รายเดือนที่นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระหว่างระบบชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน ที่มีผลอย่างมากต่อโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน) ซึ่งงานวิจัยนั้นเป็นการรายงานการตรวจพบคลื่นความร้อนในแอนตาร์กติก

เริ่มต้นในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ ด้านตะวันออกของคาบสมุทรแอนตาร์กติก และกระจายไปทั่วทวีปในช่วงสี่เดือน นักวิจัยในทีมซึ่งได้ใช้เวลาทั้งหน้าร้อนในแอนตาร์กติกาเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์และวัดอุณหภูมิ รวมทั้งผลกระทบต่อวงจรธรรมชาติ ได้ตรวจพบคลื่นร้อนด้วยตัวเอง

แอนตาร์กติกาอาจจะอยู่โดดเดี่ยวแยกตัวอออกจากทวีปอื่นจากการที่มีมหาสมุทรทางด้านใต้คั่นอยู่ แต่ก็ส่งผลกระทบทั่วโลก เพราะมีผลต่อการไหลเวียนของกระแสน้ำลึกในมหาสมุทรของโลก เป็นระบบคงที่ของการไหลเวียนน้ำลึกของมหาสมุทร ซึ่งถ่ายโอนความร้อนในมหาสมุทรรอบๆ โลก และการละลายของแผ่นน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกามีผลต่อระดับน้ำทะเลของโลก

แอนตาร์กติกาแสดงถึงสภาวะที่เรียบง่ายและสุดขั้วสำหรับชีวิต และยังสามารถเป็นสัญญานเตือนภัย ที่แสดงถึงรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่เราคาดว่าจะได้เห็นจากที่อื่นๆ

ภาพถ่ายนาซาแสดงให้เห็นน้ำแข็งด้านบนที่ละลายบนเกาะอีเกิล แอนตาร์กติก ที่มาภาพ: https://theconversation.com/anatomy-of-a-heatwave-how-antarctica-recorded-a-20-75-c-day-last-month-134550

คลื่นความร้อนในจุดที่เย็นที่สุดของโลก

หน้าร้อนนี้ สถานีวิจัยคาซีย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่โอเอซิสบนเกาะวินด์มิลล์ ได้บันทึกคลื่นความร้อนของพื้นที่นี้ได้เป็นครั้งแรก ตลอดระยะเวลา 3 วัน อุณหภูมิต่ำสุดเหนือระดับ 0 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดของวันสูงเกิน 7.5 องศาเซลเซียส ในวันที่ 24 มกราคม 2020 อุณหภูมิสูงสุดที่วัดได้สูงสุดอยู่ที่ 9.2 องศาเซลเซียส และสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ย 30 ปีของเดือนที่สถานีคาซีย์เกือบ 7 องศาเซลเซียส

อากาศที่ร้อนและชื้นท่ามกลางสภาพอากาศเช่นนี้ทำให้ฝนตกที่สถานีวิจัยเดวิส ซึ่งเป็นพื้นที่โดยปกติแล้วเป็นทะเลทรายที่เยือกเย็นบนเทือกเขาเวสต์โฟลด์ สภาพอากาศที่อุ่นนี้ทำให้น้ำแข็งละลายเป็นแอ่งน้ำลึก และมีลำธารบนธารน้ำแข็งในพื้นที่ ประกอบกับก้อนหิมะที่ละลาย มีส่วนทำให้กระแสน้ำในแม่น้ำสูงและทะเลสาบมีน้ำเอ่อท่วม

ในเดือนกุมภาพันธ์ คลื่นความร้อนกระจุกตัวในคาบสมุทรแอนตาร์กติก ในพื้นที่ตอนเหนือสุดของทวีป อุณหภูมิสูงสุดที่วัดได้ใหม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2020 อยู่ที่ 18.4 องศาเซลเซียส ที่สถานีวิจัยเอสเพอร์รันซาของอาร์เจนตินาที่ตั้งอยู่ในคาบสมุทร ซึ่งสูงขึ้นเกือบถึง 1 องศาเซลเซียสที่วัดได้ในครั้งก่อน จากนั้น 3 วันต่อมาอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไปที่ 20.75 องศาเซลเซียส วัดได้จากสถานีมาราบิโอของบราซิล บนเกาะซีย์มัวร์ในทางตะวันออกของคาบสมุทร

อะไรที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อน

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยทั่วไปที่ด้านตะวันออกของแอนตาร์กติกาจะช้ากว่าทางตะวันตกและคาบสมุทรแอนตาร์กติก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลุมโอโซนที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิในแอนตาร์กติกตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970

หลุมโอโซนมีส่วนที่จะเสริมสร้างกระแสลมกรด หรือแถบกระแสลมแรง (jet stream) เหนือมหาสมุทรใต้ โดยจึงมีส่วนในทางบวกต่อความแปรปรวนในบรรยากาศซีกโลกใต้ ซึ่งหมายความว่าแนวลมตะวันตกของมหาสมุทรทางซีกโลกใต้มีแนวโน้มที่จะอยู่ใกล้กับแอนตาร์กติกาในช่วงเวลานั้นของปี และก่อให้เกิดกำแพงกั้นตามฤดูกาลที่ลดการถ่ายโอนลมร้อนจากภูมิภาคที่อุณหภูมิสูงกว่าไปยังแอนตาร์กติกา

แต่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2019 ความร้อนสูงของชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์เหนือแอนตาร์กติกาได้ลดขนาดของหลุมโอโซนลงอย่างมาก ซึ่งช่วยเป็นแรงหนุนให้เกิดผลทางลบต่อความแปรปรวนในบรรยากาศซีกโลกใต้ และกำแพงกั้นบางลง

ปัจจัยอื่นๆ ในปลายปี 2019 อาจจะมีผลต่ออากาศที่อุ่นขึ้นในแอนตาร์กติกา ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Indian Ocean Dipole หรือความผิดปกติของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรอินเดีย เพราะลมมรสุมอินเดียอ่อนตัว จึงหมายความว่า น้ำในมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันตกอุ่นกว่าเดิม ลมที่เกิดขึ้นจากสิ่งนี้และหย่อมมหาสมุทรอื่นๆ ที่อุ่น ในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้กลายเป็นแหล่งพลังงานที่เปลี่ยนแปลงเส้นทางของระบบอากาศและทำให้ชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์อุ่นขึ้น

แอนตาร์กติกาที่อุ่นขึ้นดีหรือไม่ดี

น้ำท่วมในพื้นที่ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ต่อแผงมอสในเวสต์ฟิลด์ฮิลล์ที่เดิมแห้งแล้งอย่างมาก ก่อนที่จะเกิดน้ำท่วม มอสส่วนใหญ่จะมีสีเทาและใกล้ตาย แต่หนึ่งเดือนหลังจากน้ำท่วมมอสที่งอกใหม่เหล่านี้มีสีเขียว

เมื่อพิจารณาถึงสภาพอากาศโดยทั่วไปของแอนตาร์กติกา อากาศที่อุ่นขึ้นอาจจะมีผลดีต่อพรรณพืช (มอส ไลเคน และพืชมีท่อลำเลียงอีก 2 ชนิด) รวมทั้งจุลินทรีย์และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ภายใต้เงื่อนไขว่ามีน้ำแข็งละลาย พื้นที่ในเวสต์ฟิลด์ฮิลล์ห่างไกลจากน้ำที่เอ่อท่วมล้นจึงแห้งแล้งหนักในช่วงหน้าร้อน

อุณหภูมิที่สูงอาจจะทำให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดเกิดความเครียดจากความร้อน มอสและไลเคนในแอนตาร์กติกส่วนใหญ่จะมีสีคล้ำ เพื่อที่จะดูดซับแสงแดดสำหรับสร้างอากาศที่อุ่นในพื้นที่เล็กๆ ได้ดี และนี่เป็นวิธีที่ดีเมื่ออุณหภูมิสูงกว่าระดับศูนย์องศาเล็กน้อย แต่ความเครียดจากความร้อนจะเกิดขึ้นในระดับอุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียสขึ้นไป

บนเกาะคิงยอร์ช ใกล้คาบสมุทรแอนตาร์กติก ทีมงานสามารถวัดอุณหภูมิพื้นผิวเหนือยอดมอสในเดือนมกราคม 2019 ได้เกิน 14 องศาเซลเซียสถึง 3% ของช่วงเวลาแต่ในปี 2020 อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4 เท่า เป็น 12% ของเวลา

“จากประสบการณ์ของเราต่อความผิดปกติของหน้าร้อนในแอนตาร์กติกก่อนหน้านี้ เราสามารถคาดการณ์ได้ถึงผลกระทบต่อชีวภาพอย่างมากมาย ทั้งบวกและลบ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของสภาพภูมิอากาศของเรา จากพื้นผิวถึงชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ และจากมรสุมเขตร้อนไปถึงทวีปในขั้วโลกใต้”

ภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง คาดว่าเหตุการณ์สุดขั้วจะเพิ่มขึ้นทั้งความถี่และความรุนแรง และแอนตาร์กติกาก็หนีไม่พ้น