ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > NASA ชี้มิถุนายนร้อนสุด ยุโรปอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 3 องศาเซลเซียส ปี 2019 ทั้งปีจะร้อนติดอันดับเป็นปีที่ 5

NASA ชี้มิถุนายนร้อนสุด ยุโรปอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 3 องศาเซลเซียส ปี 2019 ทั้งปีจะร้อนติดอันดับเป็นปีที่ 5

5 สิงหาคม 2019


ที่มาภาพ: https://public.wmo.int/en/media/news/july-equalled-and-maybe-surpassed-hottest-month-recorded-history

เดือนมิถุนายน 2019 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของปี และทั่วโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ย จากรายงาน Global Climate Report ประจำเดือนมิถุนายน ของศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Centers for Environmental Information: NCEI) ในสังกัด องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration: NASA)

โดยอุณหภูมิเดือนมิถุนายนสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยอย่างเห็นได้ชัดในทุกภูมิภาคทั้งทั่วยุโรป ตะวันออก และยุโรปกลาง รัสเซียทางตอนเหนือ แคนาดาทางตอนเหนือ และทางใต้ของอเมริกาใต้ ซึ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสจากค่าเฉลี่ยปี 1981-2010

นอกจากนี้ อุณหภูมิเดือนมิถุนายนยังสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยเป็นประวัติการณ์ในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง เอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ ทางเหนือของมหาสมุทรอินเดีย และครอบคลุมบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติก

ขณะเดียวกัน มิถุนายนยังเป็นเดือนที่อุณหภูมิเย็นลงมากกว่าค่าเฉลี่ยอีกด้วยในบางส่วนของเอเชียตะวันตก อินโดนีเซีย บางส่วนของแอนตาร์กติก บางส่วนของมหาสมุทรแอตแลนติกและตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปี 1982-2010 อย่างน้อย 1 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น

ที่มาภาพ: https://www.ncdc.noaa.gov/sotc/global/201906

โดยรวมแล้วอุณหภูมิของโลกทั้งบนบกและเหนือผิวน้ำทะเลในเดือนมิถุนายนปี 2019 มีการเบี่ยงเบนประจำเดือนจากค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ 0.95 องศาเซลเซียส หรือ 1.71 องศาฟาเรนไฮต์นับตั้งแต่มีการเริ่มบันทึกข้อมูลปี 1880 และเป็นการทำลายสถิติการเบี่ยงเบนจากค่าเฉลี่ยที่เคยสูงสุด 0.02 องศาเซลเซียสหรือ 0.04 องศาฟาเรนไฮต์

เดือนมิถุนายน 2019 ยังเป็นมิถุนายนที่ร้อนที่สุดเดือนที่ 9 ในจำนวน 10 เดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 2010 ขณะที่เดือนมิถุนายน 1998 เป็นเดือนมิถุนายนเดียวในศตวรรษที่แล้ว ที่ติด 1 ใน 10 เดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุด โดยเดือนมิถุนายน 1998 ร้อนสุดเป็นอันดับที่ 8

ขณะที่เดือนมิถุนายนปี 2015 ปี 2016 ปี 2019 เป็นเดือนที่อุณหภูมิโลกบนบกและผิวน้ำสูงเกินค่าเฉลี่ย 0.90 องศาเซลเซียส หรือ 1.62 องศาฟาเรนไฮต์

เดือนมิถุนายน ปี 2019 ยังเป็นมิถุนายนที่ร้อนที่สุดติดต่อกัน 43 เดือน (เฉพาะมิถุนายน) และเป็นมิถุนายนที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่าศตวรรษที่ 20 ติดต่อกันเดือนที่ 414

อุณหภูมิโลกบนบกในเดือนมิถุนายน 2019 เพิ่มขึ้น 1.34 องศาเซลเซียส หรือ 2.41 องศาฟาเรนไฮต์จากค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 และนับเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดของเดือนมิถุนายนในรอบ 140 ปี อีกทั้งเกินกว่า 1.30 องศาเซลเซียส หรือ 2.34 องศาฟาเรนไฮต์ ที่ได้บันทึกได้ในเดือนมิถุนายน 2015

ยุโรปอุณหภูมิสูงขึ้น 2.93 องศาเซลเซียส

ที่มาภาพ: https://public.wmo.int/en/media/news/july-equalled-and-maybe-surpassed-hottest-month-recorded-history

จากการวิเคราะห์รายภูมิภาค ของ NCEI อเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา ฮาวาย และอ่าวเม็กซิ โกเดือนมิถุนายน 2019 อุณหภูมิสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลปี 1910 ส่วนเอเชียและแคริบเบียน เดือนมิถุนายน 2019 นับเป็นมิถุนายนที่อุณหภูมิสูงสุดครั้งที่ 8 และครั้งที่ 9 ตามลำดับในรอบ 110 ปี ขณะที่อเมริกาเหนือและโอเชียเนีย เดือนมิถุนายน 2019 เป็นเดือนที่มีอากาศเย็นสุด หรืออย่างน้อยไม่ร้อนนับตั้งแต่ปี 2009 และปี 2012 ตามลำดับ

อุณหภูมิโลกเหนือผิวน้ำทะเลในเดือนมิถุนายน 2019 อยู่ในระดับเดียวกันเดือนมิถุนายน 2016 ซึ่งอุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงสุด 0.81 องศาเซลเซียส หรือ 1.46 องศาฟาเรนไฮต์จากค่าเฉลี่ย

เดือนมิถุนายน 2019 และ 2016 เป็นเดือนเดียวที่อุณหภูมิเหนือผิวน้ำทะเลสูงขึ้นเกิน 0.80 องศาเซลเซียส หรือ 1.44 องศาฟาเรนไฮต์ นอกจากนี้ เดือนมิถุนายน 2019 ยังมีอุณหภูมิเหนือผิวน้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูงสุดจากค่าเฉลี่ยเป็นเดือนที่ 10 เช่นเดียวกับเดือนสิงหาคม 2015 เดือนเมษายน 2016 และเดือนมิถุนายน 2016

ในยุโรป อุณหภูมิเดือนมิถุนายน 2019 เพิ่มขึ้น 2.93 องศาเซลเซียส หรือ 5.27 องศาฟาเรนไฮต์ จากค่าเฉลี่ยปี 1910-2000 และสูงกว่าการเพิ่มขึ้น 1.95 องศาเซลเซียส หรือ 3.51 องศาฟาเรนไฮต์ที่บันทึกได้ในปี 2003

เดือนมิถุนายน 2019 ยังเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิของยุโรปในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือ 3.6 องศาฟาเรนไฮต์ เฉพาะสัปดาห์สุดท้ายของเดือน คลื่นความร้อนที่แผ่กระจายทั่วยุโรปทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 6.0-10.0 องศาเซลเซียส หรือ 10.8-18.0 องศาฟาเรนไฮต์จากค่าเฉลี่ย

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสเปนรายงานว่า จากการจัดเก็บข้อมูลของสถานีตรวจวัดอากาศ 29 แห่งพบว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนมิถุนายน โดย 5 สถานีบันทึกอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ เฉพาะที่สนามบินซาราโกซาอุณหภูมิวันที่ 29 มิถุนายนสูงถึง 43.2 องศาเซลเซียส หรือ 109.8 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งสูงเกินระดับสูงสุดเดิมที่ 41.0 องศาเซลเซียส หรือ 105.8 องศาฟาเรนไฮต์ ของวันที่ 21 มิถุนายน 1965 ขณะที่ 10 สถานีได้บันทึกระดับใหม่ของอุณหภูมิต่ำสุด โดยที่สถานีโทเลโดอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 25.0 องศาเซลเซียส หรือ 77.0 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิต่ำสุดในวันที่ 27 มิถุนายน 2012 ถึง 0.2 องศาเซลเซียส หรือ 0.4 องศาฟาเรนไฮต์

ในฝรั่งเศส อุณหภูมิทั้งประเทศโดยรวมเดือนมิถุนายน 2019 เฉลี่ยอยู่ที่ 20.1 องศาเซลเซียส หรือ 68.2 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1.8 องศาเซลเซียส หรือ 3.2 องศาฟาเรนไฮต์ และนับเป็นเดือนมิถุนายนรอบที่ 5 ที่อุณหภูมิสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ช่วงวันที่ 25-30 มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน อุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นไปที่ 45.9 องศาเซลเซียส หรือ114.6 องศาฟาเรนไฮต์ ที่หมู่บ้าน Gallargues-le-Montueux ในเขต Gard ซึ่งหมู่บ้านนี้ในเดือนมิถุนายน ปี 2003 อุณหภูมิได้เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 44.1 องศาเซลเซียส หรือ 111.4 องศาฟาเรนไฮต์มาแล้ว และนับเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิของฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นเกินกว่า 45 องศาเซลเซียส หรือ 113.0 องศาฟาเรนไฮต์

เยอรมนี เดือนมิถุนายน 2019 นับเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเช่นเดียวกับประเทศอื่น โดยอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4.4 องศาเซลเซียส หรือ 7.9 องศาฟาเรนไฮต์จากค่าเฉลี่ย และมีอุณหภูมิสูงสุดที่ 39.6 องศาเซลเซียส หรือ 103.3 องศาฟาเรนไฮต์ ในวันที่ 30 มิถุนายน และจากข้อมูลสถานีตรวจวัดอากาศ 220 แห่งจากทั้งหมด 240 แห่ง มีการบันทึกอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส หรือ 95.0 องศาฟาเรนไฮต์ขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับสูงสุดใหม่

สวิตเซอร์แลนด์ เดือนมิถุนายน 2019 นับเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดครั้งที่ 2 โดยอุณหภูมิสูงสุดที่ 15.2 องศาเซลเซียส หรือ 59.4 องศาฟาเรนไฮต์

เนเธอร์แลนด์ เดือนมิถุนายน 2019 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 1901 โดยอุณหภูมิสูงสุดที่ 18.1 องศาเซลเซียส หรือ 64.6 องศาฟาเรนไฮต์

ฮ่องกง มีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 29 องศาเซลเซียส หรือ 84.2 องศาฟาเรนไฮต์ เป็นเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดรอบที่ 3

อาร์เจนตินา เดือนมิถุนายน 2019 อุณหภูมิสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 1981-2010 ราว 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 2.7 องศาฟาเรนไฮต์ และเป็นเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดรอบที่ 5 นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลในปี 1961

2019 คาดเป็นปีที่ร้อนที่สุดปีที่ 5

ที่มาภาพ: https://www.ncdc.noaa.gov/sotc/global/201906

ในครึ่งปีแรก อุณหภูมิโลกบนบกและเหนือผิวน้ำเหมือนกับปี 2017 ที่ช่วง 6 เดือนแรกของปีร้อนที่สุดในรอบ 140 ปี และอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 0.95 องศาเซลเซียส หรือ 1.71 องศาฟาเรนไฮต์ จากศตวรรษที่ 20 แม้จะต่ำกว่าช่วง 6 เดือนแรกของปี 2016 ที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.11 องศาเซลเซียส หรือ 2.00 องศาฟาเรนไฮต์

NCEI ประเมินว่า ปี 2019 นี้จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดปีที่ 5

นับตั้งแต่ต้นปี อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างชัดเจนในแถบขั้วโลกเหนือ โดยเฉพาะอลาสกา ทางตะวันตกของแคนาดา และตอนกลางของรัสเซีย ซึ่งอุณหภูมิสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ย 3.0 องศาเซลเซียส หรือ 5.4 องศาฟาเรนไฮต์ และอากาศยังอุ่นขึ้นทั่วอเมริกาใต้ตอนกลาง ทางตอนใต้ของแอฟริกา นิวซีแลนด์ และมหาสมุทรโดยรอบ เม็กซิโก มหาสมุทรแอตแลนติก มาดากัสการ์ มหาสมุทรอินเดีย และบางส่วนของเอเชียตะวันออก

รอบ 6 เดือนแรกของปีไม่มีอุณหภูมิบนบกหรือเหนือผิวน้ำทะเลที่เย็นกว่าปกติ โดยรวมอุณหภูมิโลกบนบกสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ย 1.49 องศาเซลเซียส หรือ 2.68 องศาฟาเรนไฮต์ และเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดครั้งที่ 3 ในรอบ 140 ปี รองจากปี 2016 และปี 2017 ส่วนอุณหภูมิเหนือผิวน้ำทะเลในรอบครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 0.74 องศาเซลเซียส หรือ 1.33 องศาฟาเรนไฮต์ เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดครั้งที่ 2 รองจากปี 2016

นอกจากนี้ ในครึ่งปีแรก 5 ใน 6 ทวีปมีอุณหภูมิสูงติด 4 อันดับแรกของภูมิภาคที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยอเมริกาใต้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ ขณะที่โอเชียเนียอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกือบทำสถิติใหม่ ส่วนประเทศออสเตรียอุณหภูมิครึ่งปีแรกเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่เก็บข้อมูลปี 1910 เช่นเดียวกับฮ่องกงที่ทั้งอุณหภูมิเฉลี่ย อุณหภูมิสูงสุด และอุณหภูมิต่ำสุด ต่างทำสถิติใหม่

กรกฎาคมร้อนติดอันดับอีกเดือน

ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2019 แสดงการละลายของทะเลสาบน้ำแข็ง ที่มาภาพ: https://www.apnews.com/65694195c91d4b62b275bd14a6955b4c/gallery/f6527de925824dad83ce5363b459df44

ข้อมูลจากรายงานของ NCEI สอดคล้องกับข้อมูลของ Copernicus Climate Change Programme หน่วยงานด้านดาวเทียม ของ European Centre for Medium-Range Weather Forecasts ที่ระบุว่า เดือนกรกฎาคมอากาศร้อนพอๆ กับหรืออาจจะร้อนกว่าเดือนที่ร้อนที่สุดของปีเท่าที่เคยมีมา

ข้อมูลจาก Copernicus Climate Change Programme ซึ่งได้นำส่งเข้าระบบขององค์กรสหประชาติ โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorogical Organization) หรือ WMO พบว่า ในช่วง 29 วันแรกของเดือนกรกฎาคม อากาศร้อนพอๆ กับเดือนกรกฎาคม 2016 ที่เป็นเดือนที่ร้อนที่สุด และอาจจะร้อนกว่าเล็กน้อย

เดือนกรกฎาคม 2016 เป็นเดือนที่สุดของปีในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ทำให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น ส่วนเดือนกรกฎาคมปีนี้ร้อนขึ้นแต่ไม่มีปรากฎการณ์เอลนีโญ โดยอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส จากช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

นายแอนโตนิโอ กัวร์เตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (United Nations) กล่าวว่า ข้อมูลทั้งหมดบ่งชี้ว่า โลกกำลังเข้าสู่ปีที่ร้อนที่สุดเป็นปีที่ 5 นับจากปี 2015 เฉพาะปีนี้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไปทั่วตั้งแต่นิวเดลีไปจนถึงแองเคอเรจ จากปารีสไปถึงซานดิเอโก จากแอดิเลด ไปจนแถบอาร์กติก และหากเราไม่ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภาคตั้งแต่ตอนนี้ สภาพอากาศที่รุนแรงดูเหมือนว่าเป็นปัญหาเล็ก แต่ปัญหาใหญ่มากกว่านั้นคือ ยอดเขาน้ำแข็งกำลังละลายอย่างรวดเร็ว การเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นการแข่งขันกับชีวิตของเรา

อากาศทั่วโลกที่ร้อนกว่าปกติในรอบ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้อุณหภูมิของประเทศในยุโรปหลายแห่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และโดมความร้อนแผ่กระจายไปทางตอนเหนือของสแกนดิเนเวีย ไปจนถึงกรีนแลนด์ ยิ่งมีผลให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น

นายเพตเทอรี ทาลาส เลขาธิการ WMO กล่าวว่า ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยในเดือนกรกฎาคม เพราะอุณหภูมิสูงทำสถิติใหม่ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก ซึ่งอากาศที่ร้อนสูงนี้ทำให้คาดว่าปี 2019 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดปีที่ 5 และปี 2015-2019 จะเป็น 5 ปีที่อากาศร้อนมากเป็นประวัติการณ์ และเวลาที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกกำลังจะหมดลง

เบลเยยม เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ ต่างมีอุณหภูมิสูงขึ้นที่ระดับสูงสุดใหม่ในวันที่ 25 กรกฎาคม และเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ในปารีสอุณหภูมิแตะ 42.6 องศาเซลเซียส ซึ่งทำลายสถิติเดิมที่ 40.4 องศาเซลเซียสที่บันทึกได้ในวันที่ 28 กรกฎาคม 1947 นอกจากนี้ อุณหภูมิช่วงกลางคืนวันที่ 24-25 กรกฎาคมยังสูงถึง 28.3 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ฝรั่งเศสทั้งประเทศอุณหภูมิสูงถึง 46 องศาเซลเซียสในวันที่ 28 มิถุนายน ซึ่งเป็นสถิติใหม่

คลื่นความร้อนที่เกิดจากอากาศร้อนจากตอนเหนือของแอฟริกาและสเปน กระจายไปยังยุโรปตอนกลางและสแกนดิเนเวีย ทำให้อุณหภูมิในนอร์เวย์ช่วงกลางคืนอยู่ที่ 20 องศาเซลเซียส ราวกับอยู่ในเขตร้อน ขณะที่กรุงเฮลซิงกิในฟินแลนด์อุณหภูมิแตะ 33.2 องศาเซลเซียสวันที่ 28 กรกฎาคม

มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิที่สูงผิดปกติจะเร่งให้แผ่นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ละลายเร็วขึ้น ดังเห็นได้จากช่วงวันที่ 11-20 มิถุนายนที่ผ่านมา น้ำแข็งละลายอย่างมาก ซึ่งอัตราการละลายของน้ำแข็งในระดับนี้จะทำให้เกิดการละลายของน้ำแข็งในวงกว้างและมีปริมาณมากเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2012

อุณหภูมิที่สถานีตรวจวัดอากาศซึ่งห่างจากขั้วโลกเหนือ 900 กิโลเมตร วัดอุณหภูมิที่ทางตะวันตกของกรีนแลนด์ได้ที่ 16 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิที่ยอดภูเขาน้ำแข็งระดับความสูง 3,200 เมตรจากน้ำทะเลวัดได้ที่ 0 องศาเซลเซียส

ความกดอากาศสูงยังทำให้เกิดไฟป่าในแถบอาร์กติก รวมทั้งกรีนแลนด์ อลาสกา และไซบีเรีย สำนักงานป่าไม้ของรัสเซียประเมินว่า ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2019 ไฟป่าในซีบีเรียกินเนื้อที่ถึง 33,200 ตารางกิโลเมตร จากไฟป่า 745 จุด สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับระบบนิเวศ และสร้างมลภาวะทางอากาศในรัศมีไกลถึงหลายร้อยกิโลเมตร

European Centre for Medium-Range Weather Forecasts และ Copernicus Atmosphere Monitoring Service ประเมินว่า ไฟป่าเดือนกรกฎาคมได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแถบอาร์กติกถึง 75.5047 เมกะตัน เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลของโคลอมเบียในปี 2017 และสูงกว่าระดับปี 2018 ถึง 2 เท่า

25 ก.ค.อุณหภูมิทุบสถิติ

ที่มาภาพ: https://www.ncdc.noaa.gov/sotc/global/201906

ในเดือนมิถุนายน คลื่นความร้อนเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงกว่าปกติทำให้อุณหภูมิทั้งเดือนมิถุนายนสูงขึ้นทำสถิติใหม่ในยุโรป โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 องศาเซลซียสจากระดับปกติ ส่งผลให้เดือนมิถุนายนของปีนี้เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของทวีปยุโรป และยังเป็นเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดของโลก

เดือนกรกฎาคมก็ยังเกิดคลื่นความร้อนตามมา ประกอบกับฝนตกน้อยกว่าปกติ ในวันที่ 31 กรกฎาคม สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งเยอรมนี (Deutscher Wetterdienst) ได้ออกคำเตือนถึงภาวะภัยแล้งโดยระบุว่า ภาวะแห้งแล้งยังมีอย่างต่อเนื่อง และพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปกลางและตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนน้อยกว่าปกติ ซึ่งพื้นที่นี้ในเดือนถุนายนมีฝนเพียง 60-80% จากระดับปกติ และในบางพื้นที่มีฝนน้อยกว่านี้ ส่วนในเดือนกรกฎาคมฝนตกน้อยมากและคาดว่าจะยังน้อยกว่าปกติในเกือบทุกพื้นที่ บางสัปดาห์ไม่มีฝนเลยด้วยความน่าจะเป็นถึง 80%

แม้ในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน บางประเทศในยุโรปเจอฝนตกหนัก แต่ไม่เพียงพอที่จะบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งได้

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งเยอรมนีระบุว่า วันที่ 25 กรกฎาคม เป็นวันที่สร้างประวัติศาสตร์ของสภาพอากาศ เพราะเยอรมนีอุณหภูมิสูงขึ้นทำสถิติใหม่ที่ 42.6 องศาเซลเซียสในเมืองชายแดนติดกับเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้นจากเดิม 2.3 องศาเซลเซียส ที่บันทึกไว้ในเดือนกรกฎาคม 2015

ขณะที่เนเธอร์แลนด์อุณหภูมิสูงขึ้นทำสถิติใหม่ในรอบ 75 ปี โดยอุณหภูมิสูงถึง 40.7 องศาเซลเซียส ส่วนเบลเยียมอุณหภูมิสูงขึ้นเช่นกันมาที่ระดับใหม่ 41.8 องศาเซลเซียส และลักเซมเบิร์กอุณหภูมิสูงขึ้นทำสถิติใหม่ที่ 40.8 องศาเซลเซียส

ในอังกฤษ อุณหภูมิวันที่ 25 กรกฎาคมแตะระดับ 38.7 องศาเซลเซียส สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียสสถิติเดิมในเดือนสิงหาคม 2003

Climate Change รุนแรงจากมนุษย์

นายโยฮันเนส คัลล์แมนน์ ผู้อำนวยการด้านสภาพภูมิอากาศและน้ำของ WMO กล่าวว่า คลื่นความร้อนที่รุนแรงและกระจายในวงกว้าง แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่มีหลักฐานชัดเจนว่า คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นถี่และรุนแรงรวมทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากขึ้น มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ

WMO จะนำเสนอรายงานผลการศึกษาสภาพภูมิอากาศรอบ 5 ปีตั้งแต่ปี 2015-2019 ต่อการประชุม UN Climate Action Summit ในเดือนกันยายนนี้

รายงานของ World Weather Attribution ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น 1.5-3.0 องศาเซลเซียสในเดือนกรกฎาคมที่มีสภาวะอากาศรุนแรง

รายงานระบุอีกว่า จากการวิเคราะห์คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในยุโรปในปี 2003 ปี 2010 ปี 2015 ปี 2017 ปี2018 เดือนกรกฎาคม ปี 2019 พบว่า มีโอกาสที่จะเกิดสูงขึ้นและรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ แต่จะมากเท่าไรขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสถานที่ ฤดูกาล ความรุนแรง และระยะเวลาที่เกิด