ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > คลื่นความร้อนยุโรปแผ่ปกคลุมอาร์กติก พื้นที่ขั้วโลกเหนือกำลังละลาย

คลื่นความร้อนยุโรปแผ่ปกคลุมอาร์กติก พื้นที่ขั้วโลกเหนือกำลังละลาย

28 กรกฎาคม 2019


ที่มาภาพ: https://www.washingtonpost.com/weather/2019/07/26/europes-heat-wave-is-about-bake-arctic/?utm_term=.c748c03a29f4

คลื่นความร้อนยุโรปทำให้อาร์กติกพื้นที่ขั้วโลกเหนือกำลังละลาย หลังจากที่แผ่เข้าปกคลุมหลายเมือง หลายประเทศ และขยายวงกว้างไปถึงขั้วโลกเหนือ

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในยุโรป ได้นำคลื่นความร้อนเข้ามาสู่ปารีส ลอนดอน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี อีกทั้งได้เคลื่อนตัวขึ้นไปทางเหนือ และคาดว่าจะขยายวงกว้างปกคลุมขั้วโลกเหนือ

คลื่นความร้อนที่แผ่ปกคลุมในวงกว้างและมีแรงกดอากาศสูงลอยอยู่ด้านบนนี้รู้จักกันในชื่อโดมความร้อน หรือ heat dome เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิของชั้นอากาศใกล้พื้นดินอุ่นกว่าปกติ เพราะความร้อนโดยตรง

โดมความร้อนนี้กำลังมีผลต่อเขตอาร์กติกอย่างที่นักวิทยาศาสตร์กำลังกังวล

นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์ จะมีอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติในสุดสัปดาห์นี้ เพราะพื้นที่ที่มีความกดอากาศสูงในระดับกลางของชั้นบรรยากาศซึ่งปกคลุมอยู่ด้านบนนั้นปิดกั้นความเย็นหรือพายุไม่ให้เข้าถึงบริเวณนี้

อุณหภูมิในบางส่วนของสแกนดิเนเวียจะเพิ่มขึ้นถึง 90 องศาฟาเรนไฮต์หรือสูงกว่านี้ มากกว่าคลื่นความร้อนสูงจัดในปี 2018 ที่ทำให้เกิดไฟป่า ซึ่งอุณหภูมิ ในเบอร์เกน นอร์เวย์ สูงขึ้นแล้วแตะระดับสูงสุดใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ระดับ 91 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 32.8 องศาเซลเซียส

ตั้งแต่ต้นปีนี้ ทะเลน้ำแข็งในอาร์กติกลดลงมาที่ระดับต่ำสุดในช่วงหน้าร้อนที่น้ำแข็งละลาย ลักษณะสภาพอากาศที่มีผลให้น้ำแข็งละลายมากขึ้นได้ครอบงำภูมิภาคนี้ และหน้าร้อนที่เกิดขึ้นแบบผิดปกติแม้ไม่ร้อนเท่ากับหน้าร้อนทั่วไป ก็ทำให้แผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายมากขึ้น

สิ่งที่แตกต่างจากการละลายของทะเลน้ำแข็งทั่วไปคือ น้ำจากแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ที่ละลายนั้นได้ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มน้ำในมหาสมุทร และหากแผ่นน้ำแข็งละลายทั้งหมด จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 23 ฟุต

รูท มอตแทรม นักวิจัยจากสถาบันอุตุนิยมวิทยาเดนมาร์ก ให้ข้อมูลกับ วอชิงตันโพสต์ว่า พื้นที่ที่มีความกดอากาศสูงหรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า blocking ridge ได้ก่อตัวเหนือกรีนแลนด์ ซึ่งจะทำให้เกิดการละลายของน้ำแข็งในวงกว้างและมีปริมาณมากเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2012 ซึ่งหน้าร้อนในปี 2012 แผ่นน้ำแข็งเกือบทั้งหมดละลาย รวมไปถึงในระดับความสูงของยอดเขาซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิยากที่จะแตะระดับ 32 องศาฟาเรนไฮต์

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าทะเลน้ำแข็งอาร์กติกลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดของปี ดังนั้นสถานการณ์ในขณะนี้คือ มีความเป็นไปได้สูงที่ทะเลน้ำแข็งอาร์กติกและแผ่นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ลดลงมากเป็นประวัติการณ์ และมากกว่าปี 2012 เสียอีก แม้จะไม่รู้ชัดจนกว่าจะเกิดขึ้น

ด้านแซค ลาเบ นักวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เออร์วิน ซึ่งเน้นการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แถบอาร์กติก ให้ความเห็นว่า คลื่นความร้อนในบริเวณอาร์กติก อาจจะขยายตัวออกมากและทำให้ทะเลน้ำแข็งลดลงไปที่ระดับต่ำสุดใหม่ในช่วงสิ้นฤดูกาลน้ำแข็งละลาย ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญของแถบอาร์กติก

บริเวณพื้นที่ที่มีความกดอากาศสูง หรือ ridge จะปกคลุมไปทั่วทางตอนเหนือของแอตแลนติก และขยายไปที่กรีนแลนด์ในอีก 2-3 วัน ซึ่งรูปแบบเชิงลบที่เหมือนกันกับความผันผวนแอตแลนติกเหนือจะสัมพันธ์กับอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในกรีนแลนด์

แบบจำลองของ MARv3.9 ที่ใช้ประเมินการละลายของน้ำแข็งชั้นพื้นผิวในกรีนแลนด์บ่งชี้ว่า การละลายของน้ำแข็งในครั้งนี้จะเป็นการละลายน้ำแข็งชั้นพื้นผิวที่มากที่สุดในหน้าร้อน

ภาพจากแบบจำลองที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ความกดอากาศสูงกำลังล้อมรอบกรีนแลนด์
ที่มาภาพ: https://www.washingtonpost.com/weather/2019/07/26/europes-heat-wave-is-about-bake-arctic/?utm_term=.c748c03a29f4

ไม่ว่าน้ำแข็งจะลดลงไปที่ระดับต่ำสุดหรือไม่ในปีนี้ แต่ระดับน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ติดกับอาร์กติกเห็นได้ชัดแล้วในการบันทึกผ่านดาวเทียม และได้มีผลอย่างมากต่อชุมชนบริเวณชายฝั่งในอลาสกาและระบบนิเวศทางทะเล

ในบริเวณอื่นของอาร์กติก หน้าร้อนนี้ก็ร้อนสุดเช่นกัน อลาสกามีอุณหภูมิสูงสุดในเดือนมิถุนายน และพื้นที่กว่า 2 ล้านเอเคอร์ทั่วรัฐประสบกับไฟป่า ส่วนพื้นที่อาร์กติกโดยรวมเกิดไฟป่า กินพื้นที่ไปถึงไซบีเรีย ควันไฟที่ลอยสูงขึ้นสามารถจับภาพได้ด้วยดาวเทียม และยังมีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เพิ่มขึ้น

ที่มาภาพ: https://www.washingtonpost.com/weather/2019/07/26/europes-heat-wave-is-about-bake-arctic/?utm_term=.c748c03a29f4