ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเคาะงบฯปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน กู้ 7 แสนล้าน

นายกฯเคาะงบฯปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน กู้ 7 แสนล้าน

23 ธันวาคม 2020


ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯ เคาะงบฯปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน คลังคาดรายได้ลดเหลือ 2.4 ล้านล้าน กู้ชดเชยขาดดุล 7 แสนล้าน ชงครม.เห็นชอบ 5 ม.ค.ปีหน้า

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 เวลา 09.30 น.พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ร่วมกับ 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สำนักงบประมาณ , กระทรวงการคลัง , สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

ภายหลังการประชุมนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า การประชุมร่วม 4 หน่วยงานในวันนี้เป็นไปตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ เพื่อกำหนดวงเงินงบประมาณในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้สำนักงบประมาณนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ. 2565 อยู๋ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี พ.ศ. 2564 จำนวน 185,900 ล้านบาทเศษ หรือ ลดลงร้อยละ 5.66 ซึ่งเป็นไปตามประมาณการรายได้ที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท โดยจะเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 7 แสนล้านบาท

การจัดทำงบประมาณในปีนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจที่ สศช. และ ธปท. ได้นำเสนอต่อที่ประชุม โดย สศช.คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.5 ขณะที่ ปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 4 ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 2564 และปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 17.328 ล้านบาท สำหรับงบลงทุนในปี 2565 ในเบื้องต้นมีวงเงินอยู่ที่ 620,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของวงเงินงบประมาณ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ลดลงจากปี 2564 ซึ่งมีวงเงินอยู่ที่ 649,000 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณจะได้นำเสนอรายละเอียดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 5 มกราคม 2564

นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้สำนักงบประมาณไปพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำให้ลดลงอย่างเหมาะสม โดยให้คงไว้สำหรับการดูแลงานประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ บัตรสวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มเปราะบางทั้งหมด คนพิการ คนชรา เด็กเล็ก ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมกำชับให้จัดสรรงบประมาณสำหรับการเยียวยากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำในปี 2564 ได้ตั้งไว้ที่ 2.537 ล้านล้านบาท หรือ ร้อยละ 77 ของวงเงินงบประมาณ ส่วนในปี 2565 ตั้งไว้ที่ 2.354 ล้านล้านบาท หรือ ร้อยละ 75 ของวงเงินงบประมาณ ทั้งนี้ สำนักงบประมาณมีนโยบายในการที่จะลดงบประมาณรายจ่ายประจำมาโดยตลอด โดยจะขอให้ส่วนราชการทบทวน โดยสำนักงบประมาณจะพิจารณาผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ประสิทธิภาพในการใช้จ่าย และผลสัมฤทธิ์ของการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย ทั้งงบลงทุนและงบประจำ กรณีที่เป็นงบรายจ่ายประจำก็ต้องพิจารณาตามเกณฑ์ สำหรับงบรายจ่ายประจำในปี 2565 ในส่วนของค่าใช้จ่ายในรายการที่เกี่ยวกับด้านสังคมยังคงไว้ตามเดิม ไม่ได้ปรับลด

ทั้งนี้ วงเงินดังกล่าวเป็นวงเงินเบื้องต้นที่จะต้องพิจารณาความจำเป็นและคำขอของส่วนราชการต่าง ๆ อีกครั้ง โดยจะมีการหารือกับส่วนราชการถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประจำ หรือ งบลงทุนว่าสามารถชะลอได้หรือไม่ หรือ สามารถใช้มาตรการอื่นจากเงินนอกงบประมาณ เงินกองทุนที่มีอยู่ได้หรือไม่ เช่น กองทุน Thailand Future Fund , รัฐวิสาหกิจ , โครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน PPP ที่จะต้องออกเป็นมาตรการ โดยสำนักงบประมาณจะพยายามรักษาวงเงินงบลงทุนให้อยู่ในระดับต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณให้สูงกว่าในปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องขอความร่วมมือให้ช่วยกัน โดยเลขาธิการ สศช. ได้ขอให้รัฐวิสาหกิจลงลงทุนเพิ่ม ส่วนกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณจะไปพิจารณาว่ามีโครงใดที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะทำร่วมกันได้บ้าง โดยภาพรวมแล้ววงเงินงบประมาณปี 2565 และอื่น ๆ ยังคงดีอยู่ เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ได้

สำหรับงบประมาณในส่วนที่เป็นสวัสดิการต่าง ๆ มีการตั้งงบประมาณไว้เพียงพออยู่แล้ว สำนักงบประมาณพยายามลดรายจ่ายประจำโดยต้องไม่กระทบต่อสังคม ยังมี พรก. กู้เงินฯ ที่สามารถนำมาช่วยดูแลด้านของสังคม สำหรับรายจ่ายประจำที่สามารถชะลอ ลดลงได้ เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ การประชุมสัมมนา New Normal ที่เป็นการประชุมทางไกล ที่ลดลงได้บางส่วน โดยส่วนที่จะลดลงได้คือ เงินที่จะสมทบรายการต่าง ๆ กองทุน ที่ส่วนราชการเสนอขอ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่ากระทรวงการคลังจะขอคืนเงินกองทุนต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ มาเก็บชะลอไว้ก่อน สำหรับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการที่อาจจะลดลง แต่รายได้ต่อหัว สวัสดิการเด็กนักเรียนยังครบถ้วนอยู่ จำนวนเด็กนักเรียนลดลงร้อยละ 5 – 6 ต่อปีอยู่แล้ว ฉะนั้นวงเงินของกระทรวงฯ อาจจะลดลง ด้านงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขก็อาจจะลดลงเพราะมีส่วนหนึ่งที่ไปเป็นค่าจ้างพนักงานและลูกจ้าง ที่ปีที่ผ่านมาได้ปรับสถานะเป็นข้าราชการ 45,000 อัตรา ทำให้ยกสถานะจากเงินกองทุนเป็นงบบุคลากร เป็นต้น ตามที่มีข่าวว่าอาจจะลด แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ลด ยังคงเหมือนเดิม ค่ารักษาพยาบาลก็ไม่ได้ลดลง ยืนยันว่าไม่กระทบในส่วนนี้