วันนี้(5 มีนาคม 2563) ธนาคารโลกแถลงข่าวภาวะความยากจนและความเลื่อมล้ำของประเทศไทย จาก รายงานความยากจนและความไม่เท่าเทียมในประเทศไทย Taking the Pulse of Poverty and Inequality in Thailand ซึ่งได้วิเคราะห์ความยากจนและแนวโน้มความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยจากสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐ โดย ดร. เบอร์กิท ฮานส์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของธนาคารโลก และ ดร.จูดี้ หยาง นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกและผู้เขียนรายงานฉบับนี้
ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดความยากจนในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ในปี 2560 ประเทศไทยมีอัตราความยากจนสูงที่สุดเพียง 0.03% และจำนวนของคนจนที่รุนแรงที่สุดในขณะนี้มีอยู่เป็นหลักพันคน เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้วอาจมองได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ดี
ในความเป็นจริง ภัยแล้งที่ผ่านมาและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศไทยได้ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ต่างๆ และรายงานข้อมูลล่าสุดแสดงถึงอัตราความยากจนของประเทศไทยท่ามกลางบริบทสภาพแวดล้อมใหม่ และความท้าทายต่างๆที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันด้วย
ประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และผลกระทบจากความขัดแย้งในภาคใต้ รวมถึงจำนวน 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานยังคงใช้ในการเกษตรที่ให้ผลผลิตต่ำ ความยากจนและความเสมอภาคยังคงเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างประเทศไทย
รายงานฉบับล่าสุดพบว่า ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา และนับตั้งแต่ที่มีการตีพิมพ์ข้อมูลภาวะความยากจนอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2531 นั้น ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจที่สำคัญหลายประการ ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการลดความยากจนตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จากปี 2531 ที่มีสัดส่วนคนยากจนมากกว่า 65% เป็น 9.85% ในปี 2561
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีก่อนนี้ การเติบโตของรายได้และการบริโภคของครัวเรือนได้หยุดชะงักทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำล่างสุดของระดับการกระจายรายได้ ส่งผลให้ความก้าวหน้าในการลดความยากจนของประเทศไทยถดถอยลง พร้อมกับจำนวนประชากรยากจนที่เพิ่มขึ้น
ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนประชากรในสองภูมิภาคนี้ยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งล้านคนตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2561
จากการประเมินสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐ ระหว่างปี 2558 ถึงปี 2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 2 สองครั้งในปี 2559 และปี 2561 โดยอัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 9.85% ตามลำดับ และค่าสัมบูรณ์ของประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มสูงขึ้นจาก 4,850,000 คน เป็นมากกว่า 6,700,000 คน ภาคครัวเรือนมีความเปราะบางจากภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ
อัตราความยากจนอย่างเป็นทางการของประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2559 และในปี 2561 นับว่าเป็นอัตราความยากจนอย่างเป็นทางการที่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 4 และครั้งที่ 5 นับแต่ปี 2541 โดยก่อนหน้านี้ อัตราความยากจนของประเทศไทยเคยเพิ่มขึ้นมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2541 ปี 2543 และ ปี 2551 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับวิกฤติการณ์ทางการเงิน
คนอิสาน-ภาคกลางกว่าครึ่งล้านจนมากขึ้น
นับตั้งแต่ปี 2531 ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้จัดพิมพ์อัตราความยากจนอย่างเป็นทางการอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่า ที่ผ่านมาอัตราความยากจนของไทยเพิ่มขึ้น 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือปี 2561 และ 2559 นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 3 ครั้งในปี 2541 ปี2543 และปี 2551 ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่มีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา
ความยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงเวลานี้ จำนวนประชากรที่ยากจนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งล้านคนในแต่ละภาค ขณะที่อัตราความยากจนในพื้นที่ขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้สูงที่สุดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560
ในปี 2561 นับเป็นครั้งแรกที่ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีอัตราความยากจนสูงที่สุดในประเทศ และในปีเดียวกัน จังหวัด 2561 แม่ฮ่องสอน ปัตตานี กาฬสินธุ์ นราธิวาส และตากเป็น 5 จังหวัดที่มีอัตราความยากจนสูงที่สุด จังหวัดในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้พรมแดน หรืออยู่ในเขตพื้นที่ขัดแย้งในภาคใต้
ความยากจนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวข้องกับความท้าทายและสภาพเศรษฐกิจ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใหม่ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจไทย โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ อัตราการเติบโตของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
ในปี 2562 ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ คือ 2.7% ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2562
การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลางทั่วทั้งภูมิภาค เนื่องจากการเติบโตด้านเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลกอ่อนตัวลงและส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทย
นอกจากนี้ภาวะภัยแล้งได้เริ่มส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดอยู่แล้ว ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็เผชิญกับการหดตัว
สาเหตุที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาวะยากจน คือ การเปลี่ยนแปลงด้านรายได้ครัวเรือน โดย
- รายได้ที่แท้จริงจากภาคการเกษตรและภาคธุรกิจลดลงในครัวเรือนที่อยู่ในเขตชนบทและเขตเมืองตามลำดับ รายได้จากค่าแรงของครัวเรือนในเขตเมืองก็ลดลงด้วยเช่นกัน
- เรื่องนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงแนวโน้มความผลิกผันที่เคยเกิดขึ้นทั่วประเทศในอดีต ระหว่างปี 2550-2556 นั้น ค่าแรง รายได้จากภาคการเกษตร และเงินกลับบ้านของแรงงานในประเทศมีผลช่วยให้ความยากจนลดลงแต่ในปี 2558–2560 นี้ สิ่งเหล่านี้กลับเป็นต้นตอทาให้ความยากจนเพิ่มสูงขึ้น
- การสังเกตข้อมูลตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาแสดงให้เห็นว่าครัวเรือนต่างรู้สึกว่าสภาพชีวิตความเป็นอยู่แย่ลงกว่าเดิม
“แนวโน้มความยากจนในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า แม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาการด้านเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง แต่กระนั้น ครัวเรือนก็ยังมีความเปราะบางต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ” ดร. เบอร์กิท ฮานสล์ กล่าว
การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่สถานะประเทศที่มีรายได้สูงอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้นั้น ครัวเรือนของประเทศไทยต้องได้รับการปกป้องจากการที่รายได้ของครัวเรือนปรับลดลงรุนแรง เช่น จากความเจ็บป่วย การตกงาน และภัยธรรมชาติที่ดีกว่านี้ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ประเทศไทยต้องสนับสนุนให้มีการสร้างงานที่มีผลิตภาพและงานที่มีค่าจ้างที่สูงกว่านี้
ขณะที่ประเทศไทยมีตัวชี้วัดระดับสากลด้านภาวะความเป็นอยู่ที่ดีในระดับที่ดี เช่น การเข้าเรียนของเด็กปฐมวัย การมีน้ำใช้ สุขาภิบาล และการมีไฟฟ้าใช้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน อีกทั้ง อัตราความยากจนระดับรุนแรงของประเทศไทยที่ใช้มาตรฐานสากลเป็นตัววัด คือจำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.90 เหรียญสหรัฐต่อวันมีเพียง 0.03%
แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นประเด็นสำคัญของประเทศไทย ความมั่งคั่งยังคงไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชากรที่มีรายได้ต่ำล่างสุด 40% ได้ดีนัก ในช่วงปี 2558-2560 ที่ผ่านมายังพบว่าประชากรกลุ่มนี้มีการบริโภคและรายได้ติดลบอีกด้วย แนวโน้มการเติบโตที่พลิกผันของกลุ่มประชากรกลุ่มนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เกิดจากรายได้แรงงานทุกประเภทลดลง รวมถึงการหยุดนิ่งของการเพิ่มค่าแรง และรายได้จากภาคการเกษตรและธุรกิจลดลง
“ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่ต้องการรายละเอียดมากขึ้นรวมถึงความเข้าใจเรื่องความเปราะบางในเรื่องต่างๆ เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ก้าวไปสู่การสร้างสังคมที่กระจายความมั่งคั่งได้ทั่วถึงทุกคนการกำจัดความยากจนที่ฝังรากมานานต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่ต้องนำการบรรเทาความเสี่ยงในระยะสั้น และประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่ต้องการการลงทุนในระยะยาวมาพิจารณาอย่างทั่วถึง”ดร.จูดี้ หยาง กล่าว
ความเหลื่อมล้ำมีประเด็นรายละเอียดที่สำคัญหลายเรื่อง และต้องเข้าใจความเปราะบางในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้อย่างถ่องแท้ ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาเพื่อที่ประเทศไทยจะได้ก้าวไปสู่การสร้างสังคมมั่งคั่งในอนาคตได้
รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้มีมาตรการและการลงทุนเพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศไทย โดยในระยะสั้น ประเทศไทยต้องมีการบังคับใช้โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม
นอกจากนี้ ต้องมีการระบุประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้เที่ยงตรงกว่านี้ และต้องดำเนินอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างงานที่ดีกว่าให้กับครัวเรือนในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้
การระบุกลุ่มประชากรเป้าหมายที่มีความเปราะบางต้องดำเนินการให้ดีกว่านี้ และจำเป็นต้องทำอย่างรวดเร็ว มีการบริหารจัดการความเสี่ยง และหาทางเลือกของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพอื่น ๆ ไว้รองรับเมื่อเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง
ในระยะยาว การลงทุนในคนรุ่นใหม่อย่างเท่าเทียมกันถือเป็นประเด็นสำคัญ คนรุ่นต่อไปจะมีจำนวนน้อยลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครง สร้างประชากรและอัตราการเจริญพันธุ์ลดลง เด็กทุกคนต้องได้รับความใส่ใจอย่างเท่าเทียมและได้รับโอกาสทางสุขภาพและการศึกษาอย่างเสมอภาคเพื่อให้เด็กเหล่านี้สามารถพัฒนาไปถึงศักยภาพพวกเขาไปถึงจุดสูงสุดได้ ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้ครัวเรือนหลุดพ้นจากกับดักความยากจนจากคนรุ่นก่อน ช่วยส่งเสริมกลุ่มประชากรสูงวัย และกระตุ้นโอกาสการเติบโตของประเทศไทย
รายงานฉบับนี้ เสนอให้มีมาตรการและการลงทุนเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนให้หลุดพ้นจากภาวะความยากจนที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ให้การสนับสนุนกลุ่มคนสูงวัย และกระตุ้นโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
ในอนาคต การลดความเหลื่อมล้ำที่เด็กหลายคนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กทุกคนได้มีโอกาส พัฒนาศักยภาพและผลิตภาพของตนอย่างเต็มที่ในสังคม และมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต
- ยกตัวอย่าง เด็กในกรุงเทพฯ ที่มีอายุระหว่าง 6–14 ปีมากกว่าครึ่งเข้าถึงโอกาสครบทุกด้าน (อาทิ การศึกษา สินทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน) เมื่อเทียบกับเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีเพียงแค่ 10% เท่านั้นที่จะได้รับโอกาสเดียวกันนี้
- ในขณะที่ เด็กทั่วประเทศมีโอกาสเข้าถึงเรื่องพื้นฐานทั่วไป เช่น โอกาสการเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษานั้นเกิดขึ้นแทบจะทั่วทุกพื้นที่แล้วนั้น แต่โอกาสในเรื่องอื่น ๆ ที่มากไปกว่านี้ยังขาดแคลนอยู่ เช่น โอกาสในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต
- คนรุ่นถัดไปจะมีจำนวนลดน้อยลงเนื่องจากสังคมสูงวัยและอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง เด็กทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน และต้องได้รับโอกาสด้านสุขภาพและด้านการศึกษาเพื่อให้พวกเขาสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่
ค่ามาตรฐานต่างๆ ที่ใช้วัดความเป็นอยู่ที่ดีของครัวเรือนจะต้องสูงขึ้น เนื่องจากค่าครองชีพ ความต้องการด้านและความจำเป็นพื้นฐานต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง