ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > KKP Research > KKP Research คาดเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกกว่าเดิม ปรับอีกรอบติดลบ 2.4%

KKP Research คาดเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกกว่าเดิม ปรับอีกรอบติดลบ 2.4%

20 มีนาคม 2020


ภาพการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ที่มาภาพ: https://www.conchovalleyhomepage.com/news/johns-hopkins-offers-live-interactive-map-of-global-coronavirus-cases/

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลงอีกครั้งจาก -0.4% เป็น -2.4% หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐ อเมริกา อีกทั้งยังมีผลกระทบอีกระลอกจากการยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศไทย

การปรับลดการคาดการณ์ GDP ในครั้งนี้ สะท้อนพัฒนาการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อและมาตรการควบคุมทั่วโลก จำนวนผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าตัวจนทำให้ยอดรวมขณะนี้ทะลุ 2 แสนคนทั่วโลกแล้ว ขณะที่รัฐบาลของหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปต่างทยอยออกมาตรการเข้มทั้งด้านการควบคุมการเดินทางและการปิดเมือง (lockdown)เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส มาตรการเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมหรือชะลอการระบาดของโรค แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน 3 ด้านที่ส่งผลต่อการปรับประมาณ GDP ของไทยในครั้งนี้ ได้แก่

1) เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (global recession) ในครึ่งแรกของปีนี้ ขยายตัวได้เพียง 0.3% ในปี 2020 ล่าสุดทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และอาจโตได้เพียง 0.3% ในปีนี้ จากที่เคยคาดไว้ที่ 2.2% ก่อนหน้านี้ และ 3.2% เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะหดตัว 0.8% (จาก +2.1% ในปี 2019) สหภาพยุโรปหดตัวที่ 1.7% (จาก +1.2% ในปี 2019) ส่วนเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะโตเพียง 1.5% (จาก 6.1% ในปี 2019) ซึ่งสามกลุ่มประเทศนี้มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังเป็นคู่ค้าหลัก 3 อันดับแรกของประเทศไทย ดังนั้น อุปสงค์โลกที่ลดลงจากภาวะวิกฤตโควิดและมาตรการรับมือต่างๆ ในต่างประเทศจะซ้ำเติมภาคการผลิตและส่งออกของเศรษฐกิจไทยไปด้วย แม้ค่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าลงแล้วก็ตาม

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 จาก KKP Research

2) การงดเว้นกิจกรรมภายในประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อและเข้มข้นขึ้น การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในไทยทำให้มีการยกเลิกการจัดกิจกรรมต่างๆ และล่าสุดรัฐบาลจำเป็นต้องประกาศปิดสถานศึกษา สถานบันเทิง และสถานที่อื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เป็นเวลา 14 วัน ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศลดลงได้มากอีกทางหนึ่ง และในกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศรุนแรงขึ้นและไม่สามารถควบคุมได้ อาจมีความจำเป็นต้องยืดระยะเวลาและขยายพื้นที่การ ‘ปิดเมือง’ ขึ้นก็เป็นได้จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในการต่อสู้กับการระบาดไวรัสโควิด ส่งกระทบโดยตรงต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศ

3) ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักกว่าที่คาด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมทั้งปีคาดว่าจะลดลงถึง 48% เหลือเพียง 20.7 ล้านคนในปีนี้จากเดิมที่เคยประเมินว่าจะลดลง 25% ในการประมาณการครั้งก่อน โดยตัวเลขจริงของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังประเทศไทยล่าสุดติดลบถึง 80% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่าผลกระทบต่อการท่องเที่ยวน่าจะลากยาวไปจนถึงอย่างน้อยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จากมาตรการของประเทศต่างๆ ที่เข้มงวดมากขึ้นในการห้ามประชาชนเดินทางไปยังประเทศเสี่ยงซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี

ทั้งนี้ ความเสี่ยงในระยะต่อไปของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประสิทธิผลของนโยบายด้านสาธารณสุขในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศ และมาตรการทั้งด้านการเงินและการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ

KKP Research คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ในการประชุมครั้งหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงต้องดูแลด้านสภาพคล่องของตลาดการเงินอย่างต่อเนื่องด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง และอาจรวมถึงมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้เอกชน ในขณะที่นโยบายการคลังจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจ และเตรียมพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย