ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ADB รับรองแผนยุทธศาสตร์หุ้นส่วน หนุนไทยฟื้นตัวจากโควิดยั่งยืน

ADB รับรองแผนยุทธศาสตร์หุ้นส่วน หนุนไทยฟื้นตัวจากโควิดยั่งยืน

6 กรกฎาคม 2021


เอดีบีร่วมกับประเทศไทยผลักดันการเติบโต โดยใช้องค์ความรู้และภาคเอกชนเป็นผู้นำ

มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ (6 กรกฏาคม 2564) – ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้รับรองแผนยุทธศาสตร์หุ้นส่วนการพัฒนาระดับประเทศฉบับใหม่ (Country Partnership Strategy) ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี เพื่อช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงโดยมีความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ปีพ.ศ.2564-2568 นี้ แผนงานและโครงการต่างๆ ของเอดีบีจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนและการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ ช่วยพัฒนาความเชื่อมโยงเชิงกายภาพและแบบดิจิทัล ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในส่วนที่ยังเหลืออยู่ และขจัดอุปสรรคต่อการขยายตัวของภาคเอกชน เอดีบียังจะช่วยแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีในหัวข้อที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เช่นความร่วมมือในภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของเมือง สังคมสูงวัย และการรับมือประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นใหม่

“ยุทธศาสตร์หุ้นส่วนการพัฒนาระดับประเทศฉบับล่าสุดของเอดีบีนี้ ได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายของความมั่งคั่งและยั่งยืนผ่านองค์ความรู้และการเติบโตโดยการนำของภาคเอกชน ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและบูรณาการเพื่อช่วยรับมือประเด็นท้าทายด้านการพัฒนาที่สำคัญของประเทศ” นายราเมช สุบรามาเนียม ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเอดีบีกล่าว

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงซึ่งมีธนาคารและตลาดทุนที่แข็งแกร่ง” นางซูซาน กาบูรี่ ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการภาคเอกชนของเอดีบีกล่าว “ยุทธศาสตร์ของเอดีบีจะมุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้โดยให้การสนับสนุนทางการเงินที่มีมูลค่าเพิ่มและเป็นหุ้นส่วนกับภาคเอกชนที่มีกระบวนการทำงานคล่องตัว มุ่งเน้น และเป็นรูปธรรม”

การดำเนินงานที่จะสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์นี้ จะประกอบด้วยโครงการที่อาจใช้เงินกู้เอดีบีระหว่างปีพ.ศ.2564-2566 จำนวน 5 โครงการ มีมูลค่ารวม 1.58 พันล้านเหรียญสหรัฐในภาคส่วนต่างๆ เช่นการขนส่งและพลังงาน ซึ่งโครงการที่ได้วางแผนไว้แล้วนั้นจะช่วยแก้ไขปัญหาเร่งด่วนต่างๆ เช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของเมือง ความร่วมมือในภูมิภาคและความเสมอภาคทางเพศ และความช่วยเหลือทางวิชาการอีก 1 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการแบ่งปันความรู้ทั้งในและนอกประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพันธมิตรระดับภูมิภาคผ่านเวทีระหว่างประเทศต่างๆ เช่น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ที่สนับสนุนโดยเอดีบี

ในขณะที่ประเทศไทยมีแผนที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบครอบคลุมและยั่งยืนนั้น การทำงานของเอดีบีไม่ว่ากับภาครัฐบาลและภาคเอกชนจะเดินหน้าไปพร้อมกันเพื่อส่งมอบความรู้และแนวทางการแก้ปัญหาทางการเงินด้านต่างๆ ในการสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศไทยจากโควิด-19 และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งสร้างความยืดหยุ่นด้วย

การดำเนินการกับภาครัฐบาลของเอดีบีนั้น เราจะเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการลงทุนของรัฐบาลด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยในโครงการขนส่งต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโครงการพลังงาน และส่งเสริมสตรีเพศ เอดีบียังจะช่วยส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของสถาบัน ผ่านการให้คำปรึกษาเชิงนโยบาย การสร้างขีดความสามารถ และการสนับสนุนความรู้ด้านอื่นๆ ในการแก้ไขประเด็นการพัฒนาระดับประเทศหรือระดับท้องถิ่น เช่น การจัดการขยะ การให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง มิติทางเพศ สุขภาพ และการศึกษา

สำหรับโครงการที่ดำเนินการกับภาคเอกชนนั้น เอดีบีจะตั้งเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ เช่น พลังงานที่ยั่งยืน การขนส่ง การจัดการของเสียและน้ำสะอาดความปลอดภัยด้านอาหาร การสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือกับความเสี่ยงให้ครัวเรือนและชุมชน และการพัฒนาการเกษตร นอกจากนี้ เอดีบียังคงเป้าหมายที่จะลงทุนในภาคสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

เพื่อสนับสนุนบทบาทของประเทศไทยด้านการพัฒนาในระดับภูมิภาค เอดีบีจะดำเนินการตามแผนงานเพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ “ในประเทศไทย เพื่อประเทศไทย และกับประเทศไทย” รวมถึงการให้คำแนะนำด้านนโยบาย ความช่วยเหลือด้านวิชาการ และการประสานงานกับพันธมิตรด้านการพัฒนาอื่นๆ ในประเทศไทย

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค