ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เอดีบี แนะกำจัด “ขยะทางการแพทย์” อย่างเหมาะสม ช่วยรับมือ COVID-19 ระบาด

เอดีบี แนะกำจัด “ขยะทางการแพทย์” อย่างเหมาะสม ช่วยรับมือ COVID-19 ระบาด

23 มีนาคม 2020


ที่มาภาพ: https://blogs.adb.org/blog/proper-disposal-medical-waste-can-help-us-cope-pandemics?fbclid=IwAR2E_OODXZV3Jsjjgsm_9B5AqIlWf3EUc7q4J3wMMgMJKQV58lFYdT2TSds

เอดีบี หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(Asia Development Bank:ADB) เสนอแนะ การกำจัดขยะทางการแพทย์อย่างเหมาะสมสามารถช่วยการรับมือกับการแพร่ระบาด COVID-19 ได้

การกำจัดขยะทางการแพทย์เป็นองค์ประกอบหลักของการวางแผนรับมือกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสและการฟื้นฟูหลังจากที่สามารถควบคุมการระบาด ดังนั้นจึงต้องมีวิธีการกำจัดขยะทางแพทย์ที่ถูกต้องและเหมาะสมระหว่างที่ไวรัสยังระบาดอยู่

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก รัฐบาลในหลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดขยะทางการแพทย์ ประเด็นเตาเผาขยะที่โรงพยาบาลจึงเป็นหัวข้อหลักของรายงานชิ้นนี้

ขยะทางการแพทย์เป็นขยะที่อันตรายที่สุดในบรรดาขยะทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้มีการจัดการก่อนที่นำไปกำจัด

กระบวนการและเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์การกำจัดขยะทางการแพทย์ของโรงพยาบาลนั้นรวมถึงรายการวัสดุสิ้นเปลือง เช่น ถุงมือที่ใช้แล้ว อุปกรณ์ป้องกันและขยะชีวภาพ ซึ่งของเหล่านี้จะมีน้ำหนักเบาและมีปริมาณมาก

มีวัสดุจำนวนมากที่ไม่สามารถไปฝังกลบหรือกำจัดตามมาตรฐานเทศบาลที่นำไปป้อนโรงไฟฟ้า เนื่องจากต้องใช้อุณหภูมิที่สูงและใช้เวลานานในการทำลายเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับวัสดุอุปกรณ์

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นแนวหน้าในการสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ควรได้รับการป้องกันจากการสัมผัสกับขยะหรือของเสียด้านการดูแลสุขภาพที่ติดเชื้อผ่านระบบกำจัดขยะทางการแพทย์ที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหลายประเทศ ยังขาดระบบ เครื่องมืออุปกรณ์และกฎระเบียบที่เหมาะสมสำหรับการจัดการและกำจัดขยะทางการแพทย์และขยะอันตราย ขยะอันตรายมักนำไปเผาในที่โล่งแจ้งร่วมกับขยะมูลฝอยในเขตเทศบาล การรีไซเคิลอย่างผิดกฎหมายและนำไปขายต่อ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อสุขภาพของผู้มีหน้าที่จัดการขยะและสิ่งแวดล้อม

เมื่อนำขยะทางการแพทย์ไปกำจัด มักจะอยู่เป็นสถานที่เก่า ไม่มีเครื่องมือที่เพียงพอ มีความสามารถต่ำและไม่มีการระบบป้องกันความปลอดภัยที่เพียงพอ ซึ่งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ล้าสมัยควรได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยเพื่อหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซพิษและสร้างพลังงานสะอาดจากกองขยะ

ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ในเอเชียไม่มีความสามารถในการทำให้ระบบทันสมัยขึ้น แต่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงความสามารถในการกำจัดขยะทางการแพทย์ให้ทันสมัยในระดับภูมิภาค โดยอาจจะใช้แนวทางการนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ในห่วงโซ่มูลค่าการกำจัดขยะ

วิธีการปรับปรุงการกำจัดขยะทางการแพทย์ทั่วทั้งภูมิภาค ประกอบด้วย 5 แนวทางด้วยกันคือ

1) การใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมตามกำหนดขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดย WHO ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคโนโลยีการกำจัดขยะทางการแพทย์ที่เหมาะสม ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในจุดที่จำเป็น สนับสนุนการดำเนินการสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานที่กำกับดูแล ส่งเสริมระบบการกำจัดขยะทางการแพทย์อย่างยั่งยืน และการให้เอกชนมาจัดการเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินของเอดีบี การเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการด้านสุขอนามัยและการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค มีความสำคัญในการฟื้นตัวจากการระบาดของไวสัสโควิด-19 และการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

2) การปรับใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ในการยกระดับและเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในการบำบัดของเสียทางการแพทย์ ทางเลือกด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่ในเชิงพาณิชย์ในขณะนี้สามารถนำมาใช้เพื่อยกระดับหรือเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมืออุปกรณ์ในการบำบัดขยะทางการแพทย์ ในพื้นที่ที่ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ สามารถใช้เทคโนโลยีเริ่มต้นนำร่องได้เลย ซึ่งต้องจัดให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อให้บริการกำจัดขยะได้อย่างต่อเนื่อง การปรับเปลี่ยนแนวคิดความคิด จะทำให้เราสามารถสร้างขีดความสามารถให้กระจายออกไปเพื่อจัดการกับขยะและมีความยืดหยุ่นเกี่ยวกับขยะที่จำเป็นต้องกำจัดในพื้นที่

3) การใช้กลยุทธ์จำกัดขยะในชนบทสำหรับเมืองเล็กอย่างเหมาะสม สำหรับเมืองเล็ก ๆ ในพื้นที่ชนบท มีความจำเป็นที่จะต้องมีการกำจัดขยะทางการแพทย์ ขยะอันตรายและขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ และขยะปนเปื้อนที่จะสร้างความเสียต่อการเกษตร เพราะการขนขยะไปยังส่วนกลางแทบจะทำไม่ได้เลย ในเกาะเล็ก ๆ และประเทศหมู่เกาะที่กำลังพัฒนา การขนส่งมีราคาแพงและต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาบาเซิลซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของเสียข้ามชาติซึ่งป้องกันการถ่ายโอนขยะอันตรายจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศด้อยพัฒนา

4) การควบคุมมลพิษจากการกำจัดของเสียทางการแพทย์อย่างเหมาะสม ของเสียที่เกิดจากกระบวนการเผาขยะทางการแพทย์ถือเป็นขยะอันตราย เถ้าละเอียดที่ถูกขจัดออกจากก๊าซไอเสียจากการเผาไหม้โดยระบบควบคุมมลพิษทางอากาศต้องใช้ความระมัดระวังเนื่องจากอาจมีสารพิษ ปัจจุบันการกำจัดขยะพิษใช้วิธีฝังกลบ ซึ่งในระยะยาวจะใช้วิธีต่อไปไม่ได้ กระบวนที่มีต้นทุนสูงขึ้นจะเปลี่ยนรูปเถ้าเป็นเซรามิก เป็นเทคนิคเดียวกับกระบวนการทำแก้ว วิธีนี้จะนำของเสียมาผสมกับผงแก้วหรือดิน ปั้นและเผาที่อุณหภูมิประมาณ 100 องศาเซลเซียล เมื่อเย็นลงจะจับตัวเป็นก้อน ซึ่งเป็นวิธีการใช้กันในเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ส่วนการขนส่งขยะพิษกฌซับซ้อนและมีราคาแพง

5) การค้นหานวัตกรรมใหม่ เช่น การแปรรูปของเสียทางการแพทย์เป็นแก๊สด้วยวิธีพลาสมา(plasma gasification) การทำให้เป็นแก๊สในพลาสมานั้นเหมาะสมกับการทำลายของเสียทางการแพทย์และของเสียอันตราย ซึ่งรวมถึงของเหลือใช้จากเตาเผาขยะทางการแพทย์ที่มีอยู่ ถ้าและการควบคุมมลพิษตกค้างจากขยะทางการแพทย์สามารถนำมาผสมกับเชื้อเพลิงที่มีความหนาแน่นพลังงานมากขึ้นการทำให้เป็นแก๊สในพลาสมาจะลดวัสดุเหล่านี้เป็นตะกรันเซรามิกเฉื่อยจากภายใน ซึ่งจะผลิตพลังงาน ลดผลกระทบต่อมลพิษทางการอากาศอย่างมาก ลดความเสี่ยงในการขนส่ง และบางทีอาจจะถึงเวลาที่ต้องขับเคลื่อนการใช้วิธี plasma gasification เพื่อผิดช่องว่างในห่วงโซ่การกำจัดขยะและสุขอนามัย

ระบบสุขอนามัยที่ดีและยืดหยุ่นในการกำจัดขยะทางการแพทย์จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องมีการกำหนดกรอบห่วงโซ่อุปทานขยะทางการแพทย์ในปัจจุบันเสียใหม่ บริษัทที่รับกำจัดขยะทางการแพทยในปัจจุบันสามารถนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในประเทศที่ให้บริการอยู่ ประเทศที่มีข้อจำกัดทางทรัพยากรสามารถใช้ประโยชน์จากภาคเอกชนในการจัดการห่วงโซ่อุปทานกำจัดขยะทางการแทพย์ให้มีประสิทธิภาพด้านการใช้ระบบและเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด

การกำจัดขยะทางการแพทย์ที่เหมาะสมด้วยระบบระบบสุขอนามัยที่ดีและยืดหยุ่น เป็นส่วนสำคัญในการวางแผนรับมือกับการระบาดครั้งใหญ่และการฟื้นฟู หากสามารถดำเนินการอย่างถูกต้องระหว่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 การรับมือกับการระบาดที่อาจจะมีขึ้นในครั้งต่อไปก็ง่ายต่อการจัดการ

บริษัทจีนยันกำจัดถูกวิธี

บริษัทรับกำจัดขยะทางการแพทย์ในจีนออกมายืนยันว่า ขยะทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆช่วงระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่มีการกำจัดอย่างถูกวิธี จากการรายงานของโกลบอลไทมส์ สื่อทางการของจีน

บริษัทเป่ยจิง ร่วนเท็กซ์ เอ็นไวรอนเมนทัล เทคโนโลยี คอ์ปอเรชัน(Beijing Ruentex Environment Technology Corporation) ซึ่งรับกำจัดขยะทางการแพทย์และขยะทั่วไป เปิดเผยกับ โกลบอลไทมส์ว่าบริษัทมีกำลังความสามารถสูงที่จะกำจัดขยะ โดยสามารถกำจัดได้ถึง 140 ตันต่อวัน ซึ่งมากพอที่จะกำจัดขยะทางการแพทย์ในกรุงปักกิ่งที่มีปริมาณ 80 ตันต่อวัน บริษัทฯยังได้ตำหนิเซ้าท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ที่รายงานว่า จีนขาดเครื่องมืออุปกรณ์ในการกำจัดขยะทางการแพทย์ซึ่งรวมหน้ากากอนามัย ที่ใช้ปริมาณมากระหว่างการระบาดของไวรัสโควิด-19

บริษัทเปิดเผยว่า ณ วันที่ 11 มีนาคม 2563 ได้กำจัดขยะทางการแพทย์ไปแล้ว 230 ตันจากโรงพยาบาลที่ทำสัญญาในกรุงปักกิ่งและ 110 ตันจากสนามบิน สถานีรถไฟฟ้าใหญ่ๆ และสถานที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ

ที่มาภาพ: https://www.globaltimes.cn/content/1181807.shtml

เฉิน ฟางหยวน ผู้จัดการบริษัทกล่าว “เรามีขีดความสามารถกำจัดขยะได้ถึง 140 ตันต่อวัน มากพอที่จะรับกำจัดขยะทางการแพทย์ 80 ตันต่อวัน ทั้งกรุงปักกิ่ง”

ขยะทางการแพทย์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ถูกขนและกำจัดในสถานที่ติดตั้งอุปกรณ์โดยเฉพาะภายในเวลา 48 ชั่วโมง และยึดแนวปฏิบัติที่เข้มงวดกว่าการกำจัดขยะประเภทอื่น โดยขยะที่เกี่ยวกับการระบาดของไวรัสทุกอย่างต้องบรรจุในถุงขยะสองชั้น ทำการฆ่าเชื้อ ปิดผนึกและใส่ในกล่องอัดความดันก่อนที่จะทำการขนมาสถานที่กำจัด

ขณะเดียวพนักงานทุกคนต้องใส่ชุดหรืออุปกรณ์ป้องกันทั้งหน้ากาก ถุงมือหนาพิเศษ ถุงครอบรองเท้าและชุดป้องกัน เป็นมาตรการป้องกันที่เสริมขึ้นเพื่อกำจัดขยะที่เกี่ยวข้องกับยการระบาดของไวรัส

แม้ในแต่การระบาดหนักในเมืองอู่ฮั่น ความสามารถในการกำจัดขยะก็สามารถรองรับปริมาณขยะทางการแพทย์ได้

ศูนย์จัดการและป้องกันมลพิษจากขยะอันตรายและกัมมันตภาพรังสีเมืองอู่ฮั่น( Wuhan Municipal Radiation and Hazardous Solid Waste Pollution Prevention and Management Center) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอู่ฮั่น มีขยะทางการแพทย์ 200 ตันต่อวัน ลดลงทั้งประเภทและปริมาณ

นอกจากสถานที่กำจัดขยะที่มีในปัจจุบัน ได้มีการสร้างโรงกำจัดขยะเพิ่มขึ้นและมีการดัดแปลงโรงกำจัดขยะเดิมเพื่อกำจัดขยะทางการแพทย์ทีเ่กี่ยวกับไวรัส

บริษัทหยุนเฟิง เอ็นไวรอนเมนทัล เทคโนโลยี คอ์ปอเรชัน(Yunfeng Environmental Technology Cooperation) ได้รับมอบหมายให้กำจัดขยะทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับไวรัส เพิ่มขึ้นจากเดิมที่รับกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายอยู่แล้ว โดยบริษัทได้กำจัดขยะทางการแพทย์ไปแล้ว 356.72 ตัน ขณะนี้ขยะลดลง 20% จากระดับสูงสุดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

บริษัท จินไต้ไล่ เอ็นไวรอนเมนทัล เทคโนโลยี คอ์ปอเรชัน (Jintailai Environmental Protection Cooperation) ในเมืองจินหัว มณฑลเจ้อเจียง เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่หันมารับกำจัดขยะทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับไวรัส จากเดิมที่รับกำจัดขยะพิษและขยะอันตรายและได้ดัดแปลงเตาเผาเพื่อรับกำจัดขยะหน้ากากอนามัยภายในเมือง และมีห้องเฉพาะที่แยกขยะและอุปกรณ์ที่ไม่ติดเชื้อ

ไวรัสไม่เพียงกระทบสุขภาพแต่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม

การะบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงมีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากกำจัดขยะไม่ถูกวิธี ดังจะเห็นจาก การทิ้งหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้องในฮ่องกง

กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมออกมาเปิดเผยว่า หน้ากากอนามัยจำนวนมากมีการทิ้งอย่างไม่ถูกต้องและไม่ได้มีการกำจัดอย่างถูกวิธี โดยมีการทิ้งลงในชายฝั่งทะเล ทิ้งลงชายหาด หรือแม้แต่ทิ้งลงในทะเล ซึ่งทำให้สัตว์กินสิ่งเหล่านี้เข้าไป

กลุ่มนักเคลื่อนไหวนี้มีชื่อว่า โอเชียน เอเชีย(Oceans Asia) ดำเนินการการลดขยะทางทะเลในจีนแผ่นดินใหญ่และที่อื่นๆ ก่อตั้งโดย แกรี่ สโตคส์ ได้ชี้ให้เห็นว่า การทิ้งขยะหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้องได้ซ้ำเติมปัญหามลพิษทางทะเลให้มากขึ้นอีก และสร้างความวิตกว่าจะยิ่งทำให้เชิ้อโรคแพร่กระจาย

“เราเก็บขยะหน้ากากอนามัยได้จำนวนมากและขยะที่เก็บได้มีแต่หน้ากากอนามัยเท่านั้นในรอบ 6-8 สัปดาห์ที่ผ่านมา และเราก็ได้เห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว” แกรี่ กล่าว

ที่มาภาพ: https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-hongkong-environme/discarded-coronavirus-masks-clutter-hong-kongs-beaches-trails-idUSKBN20Z0PP

เทรซี่ย์ รีด ผู้ก่อตั้งกลุ่ม พลาสติก ฟรี ซีส์(Plastic Free Seas) ในฮ่องกง กล่าวว่า หน้ากากอนามัยเหล่านี้ทำจากโพลีโพรไพลีน พลาสติกประเภทหนึ่งซึ่งต้องใช้เวลาในการย่อยสลาย

โอเชียน เอเชีย ได้เก็บขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วนับพันชิ้นบนชายหาดตามหมู่เกาะเล็กๆ ระหว่างฮ่องกงกับเกาะลันเตา แต่เป็นเกาะที่ไม่มีผู้คนอาศัย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นหน้ากากอนามัยที่ใช้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาระหว่างการระบาดของไวรัส

ปริมาณขยะหน้ากากอนามัยยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในการเก็บขยะครั้งก่อน มีปริมาณถึง 100 ชิ้นตลอดความยาว 100 เมตรของชายหาด และเมื่อกลับไปเก็บอีกรอบหลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์เก็บขยะหน้ากากอนามัยได้อีก 30 ชิ้น อีกทั้งยังเก็บขยะที่อุปกรณ์ป้องกัน ซึ่งมีทั้งที่เป็นของโรงพยาบาลและของบุคคลทั่วไป แต่ทั้งหน้ากากนามัยและอุปกรณ์ป้องกันทั้งหมดนี้ไม่ใช่วัสดุย่อยสลายได้ จึงกังวลว่าจะกระทบสิ่งแวดล้อมมากว่าเดิม

ทีมงานโอเชียนเอเชีย ยังพบขยะหน้ากากอนามัยลอยอยู่ในทะเล รวมกับขยะประเภทอื่นๆ

ฮ่องกงมีประชากร 7 ล้านคน มีปัญหาขยะพลาสติกอยู่แล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2017 ที่จีนประกาศมาตรการเรื่องห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิล ฮ่องกงซึ่งเดิมส่งขยะราว 90% ของขยะรีไซเคิลทั้งหมดไปจีนจึงไม่สามารถส่งขยะต่อไปอีก ปัจจุบันราว 70% ของขยะในฮ่องกงใช้วิธีฝังกลบ

กรุงเทพขยะติดเชื้อวันละ 40 ตัน

สำหรับขยะติดเชื้อของกรุงเทพมหานคร บริษัทที่รับจัดการคือบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในฐานะบริษัทฯผู้ดำเนินการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อจากสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากข้อมูลที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด โดยเมื่อวันที่ 17 มี.ค.63 นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในฐานะบริษัทฯผู้ดำเนินการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อจากสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการกำจัดขยะติดเชื้อโดยทั่วไปว่ามีขั้นตอนการจัดเก็บที่ต้องมีความระมัดระวังและมีมาตรฐานในการจัดการขยะที่ต้องรัดกุมมากกว่าขยะทั่วไป แต่กรณีของโรคโคโรน่าไวรัสโควิด – 19 นั้นเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มียารักษา ดังนั้นบริษัทฯจึงกำหนดมาตรการเพิ่มเติม โดยจัดชุดเฉพาะกิจ ซึ่งแยกเจ้าหน้าที่และรถในการจัดเก็บขยะจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ปะปนกับการจัดเก็บติดเชื้ออื่นๆ ซึ่งเมื่อได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่ามีขยะของผู้ป่วยโควิด-19 ก็จะเข้าไปดำเนินการจัดเก็บทันที ต่างจากขยะติดเชื้อทั่วไปที่มีกำหนดรอบเข้าจัดเก็บ

ชุดเฉพาะกิจ ซึ่งแยกเจ้าหน้าที่และรถในการจัดเก็บขยะจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ปะปนกับการจัดเก็บติดเชื้ออื่นๆ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/KrungthepThanakom/

“ขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นคือ ก่อนที่จะนำรถเก็บขยะออกไปเจ้าหน้าที่จะต้องเตรียมชุดป้องกันการสัมผัสขยะเชื้อโรคทุกส่วนของร่างกายและเตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค นำติดรถไปด้วย เมื่อถึงสถานพยาบาลจะสวมชุดป้องกัน และฉีดพ่นน้ำยาที่ตัวเจ้าหน้าที่ ฉีดพ่นน้ำยาที่รถ ฉีดพ่นน้ำยาที่ขยะ จากนั้นนำขยะขึ้นรถและเจ้าหน้าที่ต้องถอดชุดทิ้งไปกับถุงขยะด้วย ซึ่งรถจัดเก็บขยะของบริษัทฯจะปิดทึบทั้งหมดและควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส และเมื่อขยะมาถึงโรงงาน เจ้าหน้าที่จะสวมชุดป้องกันชุดใหม่ พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเช่นเดียวกับกับขั้นตอนการเก็บขยะ จากนั้นนำขยะเข้าสู่กระบวนการเผา โดยถอดชุดป้องกันในขั้นตอนนี้เผาไปพร้อมขยะด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ในการกำจัดขยะติดเชื้อ จะเป็นเตาเผาระบบปิด ทำการเผา 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรก จะเผาโดยความร้อนที่อุณหภูมิ 750 องศาเซลเซียส จากนั้นเป็นขั้นตอนการเผาควันและก๊าซพิษ ที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส โดยเศษเถ้าขยะที่เหลือจะนำไปฝังกลบโดยมีเอกชนนำไปดำเนินการตามมาตรฐานต่อไป”

ปัจจุบันมีขยะติดเชื้อทั่วไปเฉลี่ยวันละ 40 ตัน ที่บริษัทฯดำเนินการจัดเก็บจากโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลีนิก โรงพยาบาลสัตว์ และสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีสถานพยาบาล ครอบคลุม 5,322 แห่งทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/KrungthepThanakom/

ทั้งนี้จากสถานการณ์ของโรคที่มีแนวโน้มผู้ป่วยและผู้ที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้นนี้ บริษัทฯได้ให้ความสำคัญกับขยะหน้ากากอนามัยที่ปัจจุบันมีประชาชนใช้งานกันมากขึ้น ซึ่งหากสำนักงานเขตต่างๆ มีการจัดเก็บแยกจากขยะทั่วไปบริษัทฯก็พร้อมดำเนินการกำจัดเช่นเดียวกับขยะติดเชื้อ โดยขณะนี้ได้เตรียมถังรองรับขยะหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะ ไว้ที่ศูนย์กำจัดขยะติดเชื้อของบริษัทฯทั้งที่ศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช และที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม จึงขอให้มั่นใจในกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อของบริษัทฯ